วันนี้ (15 พฤษภาคม) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงข่าวถึงการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ และการเตรียมประกาศผลการเลือกตั้ง 2566 ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือคะแนนจะเผยแพร่อย่างเป็นทางการด้วยการติดไว้หน้าหน่วยทุกหน่วย กระบวนการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการที่ปฏิบัติมาราว 99% รวมถึงกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้รายงานผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นไม่เกิน 5 วันหลังจากนั้น
กฎหมายบอกว่า กกต. มีหน้าที่ต้องประกาศผลการเลือกตั้งผ่านระบบ 10 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง กระบวนการนี้ใช้เวลาเท่าใดขึ้นอยู่กับการตรวจสอบผลการลงคะแนนก่อน หลังจากนั้นดูว่ามีข้อร้องเรียนอะไรที่จะทำให้ กกต. ต้องมาพิจารณา ตอนนี้เหลือเวลา 59 วัน จาก 60 วัน ถ้านับแต่เมื่อวานนี้ เราจะดำเนินการให้เร็วที่สุด ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย เพื่อประกาศผลการเลือกตั้ง
อิทธิพรกล่าวต่อไปว่า เมื่อตรวจผลการนับคะแนนแต่ละหน่วยแล้ว หลังจากนั้นกฎหมายจะให้เราดูว่าการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 มีสิ่งไหนไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และให้ กกต. พิจารณาว่าควรจัดเลือกตั้งใหม่หรือไม่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การร้องเรียนกล่าวหา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีถือครองหุ้นสื่อ จะส่งผลต่อการประกาศรับรองการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือใช้ระยะเวลารับรองผลมากน้อยแค่ไหน อิทธิพรกล่าวว่า เมื่อมีคำร้องแล้วทุกๆ คำร้องเหมือนกันหมด คณะกรรมการสืบสวนไต่สวนและผู้อำนวยการ กกต. จังหวัด จะทำการตรวจสอบเบื้องต้นเมื่อรับแล้ว ต้องดำเนินการกระบวนการสืบสวน ไต่สวน เรื่องจะมาอยู่ที่เลขาธิการ กกต. ให้ความเห็น เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต.
อิทธิพรกล่าวอีกว่า ในส่วนคำร้องเรียนกล่าวหาว่ามีการกระทำผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งจนถึงเวลา 09.00 น. ของวันนี้ ที่ได้รับรายงานมีทั้งหมด 168 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องซื้อสิทธิขายเสียง 59 เรื่อง หลอกลวงใส่ร้าย 58 เรื่อง เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ 18 เรื่อง อื่นๆ เช่น การฝ่าฝืนกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ซึ่งน้อยกว่าการเลือกตั้งปี 2562 มีทั้งหมด 552 เรื่อง สะท้อนให้เห็นว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย ทั้งผู้สมัคร ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ประชาชนทุกคน ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ทำการฝ่าฝืนกฎหมาย
ส่วนหลักเกณฑ์ในการแจกใบเหลือง ใบส้ม ใบแดงของ กกต. อิทธิพรกล่าวว่า ใบอื่นที่ไม่ใช่ใบส้ม ต้องยื่นให้ศาลฎีกาตัดสินหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ส่วนใบส้ม กกต. เป็นผู้ให้ตามความผิดต่างๆ ที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งและพรรคการเมือง การให้ใบส้มของ กกต. ต้องให้ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนใบแดงขึ้นอยู่ว่าในคำร้องนั้น ในคดีนั้น เราเห็นว่าผู้กระทำผิดต้องรับโทษอย่างไรบ้าง เพิกถอนสิทธิด้วยหรือไม่ หรือโทษทางอาญาเฉยๆ ต้องให้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายหรือไม่ ถ้าตัดสิทธิไม่ให้สมัคร ไม่ให้เลือกตั้ง แต่ถ้าเป็นการดำเนินคดีหลังจากประกาศผลแล้ว ต้องยื่นศาลฎีกา กกต. ไม่มีอำนาจตัดสินเอง
ทั้งนี้ ในส่วนของการรายงานเหตุการณ์ในวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม พบว่ามีการฉีกบัตรเลือกตั้ง 24 ราย จำหน่ายสุรา 7 ราย และถ่ายรูปบัตรเห็นเครื่องหมายลงคะแนน 4 ราย