วันนี้ (14 กุมภาพันธ์) สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา โดยให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย ทบทวนระเบียบ แผน และมาตรการการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ ให้เหมาะสม ทันสมัย มีการฝึกซ้อม และประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชนเพื่อเป็นการถวายความปลอดภัยให้สมพระเกียรติ และรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ โดยมี เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นผู้เสนอ
โดยหนึ่งในกฎหมายที่ถูกพูดถึงในญัตตินี้ คือ พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 THE STANDARD ชวนเปิดอ่านสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้
พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 คืออะไร
เป็นกฎหมายที่ปัจจุบันใช้เพื่อรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และผู้แทนพระองค์ รวมถึงพระราชอาคันตุกะ
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560
- ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2560
- มีทั้งหมด 9 มาตรา
- นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่รักษาการตามกฎหมายนี้
- มาตราที่ 4 กำหนดบทนิยามความหมาย 4 คำ คือ ‘การถวายความปลอดภัย’ ‘ความปลอดภัย’ ‘ส่วนราชการในพระองค์’ และ ‘หน่วยงานของรัฐ’
- มาตราที่ 5 ให้ส่วนราชการในพระองค์มีหน้าที่วางแผนถวายความปลอดภัย ตลอดจนอำนวยการ ประสานงาน ควบคุม และปฏิบัติงานในการถวายความปลอดภัย โดยมีราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์เป็นผู้บังคับบัญชา
- มาตราที่ 6 ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งมีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัย หรือร่วมมือในการถวายความปลอดภัยตามที่ราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์กำหนด
- มาตราที่ 7 ให้ราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์มีอำนาจกำหนดระเบียบหรือออกประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ในการถวายความปลอดภัย
อ้างอิง:
- พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560