ดร.ทัตยานา เทปโลวา หัวหน้าแผนกและที่ปรึกษาอาวุโสด้านกระบวนการยุติธรรม ฝ่ายกำกับดูแลสาธารณะ องค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Thailand Rule of Law Fair งานแฟร์เพื่อความแฟร์ ในหัวข้อ ‘Investing in the Rule of Law for a Sustainable Future’ หรือการลงทุนในหลักนิติธรรมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน โดยชี้ถึงความสำคัญของหลักนิติธรรมว่าเป็นรากฐานการทำงานของสังคมประชาธิปไตย เสริมสร้างความชอบธรรมในการปกครอง ส่งเสริมความรับผิดชอบ และสร้างความไว้วางใจของสาธารณชนที่มีต่อหน่วยงานต่างๆ อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกด้วย
เทปโลวากล่าวว่า ผลสำรวจทางเศรษฐกิจของ OECD ที่แสดงให้เห็นว่าระบบยุติธรรมที่ทำงานได้ดีจะช่วยสนับสนุนความมั่นคงทางธุรกิจ การลงทุน และเสถียรภาพในระยะยาว
แต่ในทางกลับกัน ความล่าช้าในการแก้ไขข้อพิพาทในกระบวนการยุติธรรมต่างๆ อาจขัดขวางการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ซึ่งสำหรับ SMEs บางราย ความไม่แน่นอนทางกฎหมายที่ยาวนานอาจส่งผลกระทบถึงขั้นบีบบังคับให้ต้องปิดกิจการ
ทั้งนี้ งานวิจัยของ OECD แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างระยะเวลาการพิจารณาคดีและความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรม ตัวอย่างเช่น ระยะเวลาการพิจารณาคดีที่เพิ่มขึ้น 10% สัมพันธ์กับความไว้วางใจของสาธารณชนที่ลดลง 2%
เทปโลวาชี้ว่า การเข้าถึงความยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียมกัน ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการศึกษา สุขภาพ และการจ้างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุ
จากการวิเคราะห์ของ OECD ประเมินว่า ปัญหาทางกฎหมายที่ไม่ได้รับการแก้ไขอาจคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 3% ของ GDP ในหลายประเทศ
“เราเข้าใจว่าการปฏิรูปหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทย ความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมสร้างต้นทุนมหาศาลต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมของไทย” เทปโลวากล่าว
ขณะที่เธอชี้ถึงผลการศึกษาของ OECD ที่ประเมินว่ามูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากปัญหาด้านอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในปี 2022 สูงถึง 9.73 แสนล้านบาท หรือเทียบได้ราว 5.6% ของ GDP ของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม OECD แสดงความพร้อมสนับสนุนไทยในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรมที่สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD ซึ่งมุ่งเน้นระบบยุติธรรมที่เข้าถึงได้ มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส
“เรามุ่งหวังที่จะร่วมมือกับประเทศไทยในการพัฒนาระบบยุติธรรมที่สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD ของไทยที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยกระบวนการนี้ถือเป็นโอกาสทางประวัติศาสตร์ในการยืนยันความมุ่งมั่นต่อหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน”