×

OECD สำคัญอย่างไร ทำไมไทยต้องเข้าร่วม?

18.06.2024
  • LOADING...
OECD

รัฐบาลไทยแสดงเจตจำนงในการสมัครเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา โดยถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และทำให้ไทยกลับมาเป็นที่ยอมรับในเวทีโลกมากขึ้น

 

OECD เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานร่วมกับรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบายและพลเมืองของประเทศต่างๆ เพื่อสร้างนโยบายที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิต ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรือง ความเสมอภาค โอกาส และความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน ตามวิสัยทัศน์ Better Policies for Better Lives โดยมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือด้านข้อมูลวิจัย ให้คำปรึกษา และแนวปฏิบัติที่ดี ตลอดจนการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

 

อย่างไรก็ตาม การจะสมัครเป็นสมาชิก OECD ยังคงมีความท้าทาย และกระบวนการทั้งหมดอาจใช้เวลาดำเนินการอีกหลายปี แต่เชื่อว่ามีโอกาสที่ดี เนื่องจาก OECD มีท่าทีเชิงบวกต่อการเข้าเป็นสมาชิกของไทย ซึ่งเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ทำงานกับ OECD มา 42 ปี

 

OECD สำคัญอย่างไร?

 

OECD ก่อตั้งขึ้นในปี 1961 พัฒนามาจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจของยุโรป หรือ OEEC (Organization for European Economic Co-operation) ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และแคนาดา ภายใต้แผนการมาร์แชลล์ (Marshall Plan) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณะฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมของยุโรป ซึ่งประสบความเสียหายอย่างหนักหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น OECD ในวันที่ 30 กันยายน 1961 หรือหลังยุคสงครามเย็น โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

นับตั้งแต่ปี 1961 เป็นต้นมา OECD มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและสังคมในหมู่ประเทศสมาชิก ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่งเสริมการค้าเสรี และให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา โดยมีความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศและกลุ่มประเทศต่างๆ อาทิ กลุ่ม BRIC และประเทศกำลังพัฒนาระดับสูง (Advanced Developing Countries) เช่น แอฟริกาใต้, อียิปต์, โมร็อกโก, อาร์เจนตินา, ชิลี, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และไทย

 

ปัจจุบัน OECD มีสมาชิกทั้งหมด 38 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีรายได้สูงและเป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยมุ่งเน้นการขยายบทบาทและภารกิจไปสู่การจัดการกับประเด็นความท้าทายข้ามพรมแดนในยุคโลกาภิวัตน์ เช่น การส่งเสริมการค้าเสรี การให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา การจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ และการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ โดยมีบทบาทหน้าที่หลักๆ ได้แก่

 

  1. ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลก โดยจัดให้มีเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์เชิงนโยบายระหว่างกัน

 

  1. รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลสถิติที่สำคัญ โดย OECD จะจัดทำหนังสือเผยแพร่ความรู้ด้านต่างๆ เป็นประจำทุกปี รวมถึงมีฐานข้อมูลเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกมากกว่า 40 รายการฐานข้อมูล

 

  1. เป็นแหล่งความรู้และเผยแพร่ข้อมูลเชิงลึกรายประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ

 

  1. ให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานของรัฐบาลของประเทศต่างๆ และให้บริการศึกษาวิจัยแก่องค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น UN, IMF

 

  1. กำหนดมาตรฐานของโลกที่ครอบคลุมหลากหลายสาขาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยการกำหนดเป็นตราสารหรือเอกสารอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น ภาษี สิ่งแวดล้อม พลังงาน การศึกษา การต่อต้านคอร์รัปชัน และธรรมาภิบาล

 

ทำไมไทยต้องเข้าร่วม?

 

ที่ผ่านมาไทยและ OECD มีความร่วมมือกันมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่เข้าเป็นภาคีตราสารของ OECD ในปี 1981 โดยปัจจุบันมีหน่วยงานของไทยที่มีส่วนร่วมในกลไกและโครงการต่างๆ ของ OECD ถึง 48 กลไกและโครงการ ซึ่งรวมถึงโครงการประเมินผลนักเรียนระหว่างประเทศ หรือ PISA

 

ขณะที่ไทยยังเป็นภาคีตราสารทางกฎหมายของ OECD ถึง 10 ฉบับ และปัจจุบันยังเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีโครงการความร่วมมือทวิภาคีกับ OECD ในรูปแบบ Country Programme โดยอยู่ระหว่างดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยโครงการย่อย 20 โครงการ ครอบคลุมด้านธรรมาภิบาล การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

 

ความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD ของไทย เริ่มปรากฏขึ้นหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2022 ให้กระทรวงการต่างประเทศศึกษาความพร้อมและความเป็นไปได้ในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ก่อนที่กระทรวงการต่างประเทศจะว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) ให้ดำเนินการศึกษาและวิจัยความเหมาะสมในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย

 

ผลการศึกษาของ TDRI ที่นำเสนอในเดือนกันยายนปีเดียวกัน สรุปได้ว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิก OECD แบบเต็มรูปแบบ (Full Member) เช่น การปฏิรูปโครงสร้างหลายมิติและมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสเข้าถึงตลาดประเทศสมาชิกมากกว่าเข้าร่วมในคณะกรรมการต่างๆ ในฐานะของประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก (Non Member)

 

หลังจากนั้นในเดือนเมษายน 2023 สศช. และกระทรวงการต่างประเทศได้ประชุมหารือร่วมกับผู้แทน OECD เกี่ยวกับกระบวนการเข้าสู่การเป็นสมาชิกของไทย โดยได้ข้อสรุปว่า ไทยมีความพร้อมที่จะเข้าเป็นสมาชิก OECD เนื่องจากมีการพัฒนามาตรฐานภายในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และมีความร่วมมือกับ OECD หลายด้าน และ OECD มีท่าทีเชิงบวกต่อการเข้าเป็นสมาชิกของไทย

 

ท่าทีดังกล่าวส่งผลให้ในวันที่ 26 ธันวาคม 2023 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ไทยยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงในการสมัครเป็นสมาชิก OECD และมอบหมายให้ สศช. และกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินการ

 

การยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา โดย ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น เป็นผู้ทำหน้าที่นำหนังสือไปยื่นแก่ มาธีอัส คอร์แมนน์ (Mathias Cormann) เลขาธิการ OECD ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงปารีส

 

ปานปรีย์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD มีทั้งการยกระดับมาตรฐานประเทศไทยให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้า กฎหมาย และความโปร่งใส ซึ่งในส่วนการพัฒนาทางเศรษฐกิจจากการศึกษาของ TDRI พบว่า การเข้าเป็นสมาชิก OECD จะทำให้ตัวเลขจีดีพีของไทยโตขึ้น 1.6% หรือคิดเป็นมูลค่าถึงกว่า 2 แสนล้านบาท

 

“ความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น เพราะกลุ่มของประเทศสมาชิก OECD เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา และเรามีความประสงค์ที่จะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางที่เราติดกับดักมาหลายปี และเรามีความประสงค์จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่คาดว่าจะทำได้ในปี 2037 หรืออาจทำได้ก่อนหน้านั้นก็ได้ ถ้าเราสามารถเข้าเป็นสมาชิก OECD ได้เร็ว” เขากล่าว

 

สำหรับประชาชนไทย ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดคือการลงทุนในประเทศไทยจะมากขึ้น ส่งผลให้การจ้างงานมีมากขึ้น ซึ่ง OECD ยังมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว เทคโนโลยี และเอไอ ซึ่งจะช่วยสร้างบุคลากรของไทยให้มีศักยภาพมากขึ้นด้วย เพราะการเข้าเป็นสมาชิก OECD ไทยจะต้องปฏิรูปในส่วนนี้ไปในเวลาเดียวกัน

 

ด้าน มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบัน ยืนยันว่า การสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD เป็นการทำให้ไทยมีบทบาทมากขึ้น และต้องการเสริมสร้างศักยภาพของไทย เพื่อให้สามารถมีบทบาทร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว ในการชี้นำหรือวางแนวทางการพัฒนาของประชาคมโลกต่อไป

 

เงื่อนไขและระยะเวลา

 

ในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย ต้องยึดหลักเกณฑ์จาก Framework for the Consideration of Prospective Members อันเป็นหลักเกณฑ์ที่ OECD จัดทำขึ้นเพื่อให้ประเทศที่สนใจจะเข้าเป็นสมาชิกใช้ประเมินความพร้อมในเบื้องต้น ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ได้แก่

 

  1. ความพร้อมของประเทศในการปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกับ OECD (State of Readiness) ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบในประเทศไทยให้สอดคล้องตราสารทางกฎหมายของ OECD

 

  1. ความมุ่งมั่นของประเทศในการปฏิบัติตามคำนิยมและผลผูกพันประเทศสมาชิก OECD (County’s Commitment to OECD Values and Membership Obligations) เช่น ความพร้อมเปิดเสรีการลงทุนโดยตรง สิทธิแรงงาน เสรีภาพสื่อมวลชน ภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

 

  1. กรอบการบริหารภาครัฐและโครงสร้างเชิงสถาบัน (Institutional Framework) เช่น ความพร้อมด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ระบบราชการ การบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า

 

  1. ตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ (Key Economic Indicators) เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross National Product: GNP) การส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการ อัตราว่างงาน มูลค่าการลงทุนโดยตรงสะสม

 

  1. การมีส่วนร่วมกับ OECD (Relations with OECD) เช่น การเข้าไปมีสถานะในคณะกรรมาธิการ OECD การเข้าเป็นภาคีตราสารทางกฎหมาย การมีส่วนร่วมในกลไกความร่วมมือต่างๆ ของ OECD

 

ปัจจุบันมี 7 ประเทศรวมถึงอินโดนีเซีย ที่ยังรอการพิจารณาเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งไทยยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น

 

โดยระยะเวลาในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ขึ้นอยู่กับว่าไทยสามารถทำตามเงื่อนไขต่างๆ ได้เร็วแค่ไหน ขณะที่ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่กว่า 20 ประเทศ ให้การสนับสนุนไทยในการแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิก และไทยอยู่ในขั้นน่าสนใจเพราะเป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่ทำงานร่วมกันกับ OECD มา 42 ปี

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising