×

งานวิจัยพบหมึกยักษ์เริ่มสูญเสียการมองเห็น เมื่ออุณหภูมิมหาสมุทรโลกเริ่มสูงขึ้น

โดย Mr.Vop
13.04.2024
  • LOADING...
หมึกยักษ์

ทีมนักวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยแอดิเลด ประเทศ​ออสเตรเลีย​ พบอาการที่น่าห่วงของหมึกสาย (Octopus) ที่จะสูญเสียการมองเห็น และการสืบพันธุ์เมื่อน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน

 

หมึกสายที่คนไทยนิยมเรียกกันว่า ‘หมึกยักษ์’ นั้น เป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลที่สามารถปรับตัวเพื่ออยู่รอดได้ถึงระดับ RNA ตามงานวิจัยที่ตีพิมพ์​ในปี 2023 ที่พบว่าหมึกสายสามารถปกป้อง​สมองของมันเอาไว้จากอุณหภูมิ​น้ำ​ทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น

 

แต่งานวิจัย​ล่าสุดของมหาวิทยาลัยแอดิเลด ที่ลงตีพิมพ์​เมื่อต้นเดือน​เมษายน​ 2024 ที่ผ่านมา พบว่า ความเครียดจากอุณหภูมิของ​น้ำ​ทะเลส่งผลให้ประสิทธิภาพการ​มองเห็นของพวกหมึกสายลดลง และยังส่งผลกระทบไปถึงอัตราการรอดชีวิตของตัวอ่อนด้วย

 

“ทีมงานเราพบว่าความเครียดจากความร้อนส่งผลถึง​โปรตีนหลายชนิดที่สำคัญต่อการมองเห็นของหมึก​ชนิดนี้” Dr.Qiaz Hua หนึ่งในผู้นำทีมวิจัย​กล่าว

 

“ที่โดนผลกระทบโดยตรง​เลยคือโปรตีนเอส-คริสตอลลีน (S-crystallins)​ โปรตีน​ตัวนี้ทำหน้าที่​ในการรักษาความโปร่งใสของเลนส์และความชัดเจนของแสง ถัดไปคือโปรตีนเรตินอลดีไฮโดรจีเนส 12 (RDH12)​ ที่ทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดสีในตัวรับแสงของดวงตา

 

“ระดับของโปรตีนทั้งสองนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากอุณหภูมิ​ของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าการมองเห็นของหมึกสายมีแนวโน้มที่จะเกิดความบกพร่องภายใต้ความเครียดจากความร้อน

 

“การมองเห็นเป็นประสาทสัมผัส​ที่สำคัญ​ต่อหมึกสายมาก หมึกสายใช้สมองถึงร้อยละ 70 เพื่อการนี้ ซึ่งมากกว่าในมนุษย์เราถึงร้อยละ 20

 

“หมึกสายใช้ดวงตาของมันแทบจะตลอดเวลาเพื่อตัดสินใจในเรื่องต่างๆ มันต้องเห็นระดับความสว่างในน้ำทะเลเพื่อรับรู้ระดับความลึก ต้องเห็นสภาพรอบตัวอย่างชัดเจนเพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของเหยื่อและผู้ล่า ตลอดจนยังต้องใช้ดวงตาเพื่อการสื่อสาร” Dr.Qiaz Hua กล่าว

 

“หมึกสายที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น จะส่งผลต่อโอกาสรอดชีวิตจากนักล่า รวมถึงความสำเร็จในการหาอาหารที่ลดลง”

 

และเพื่อศึกษาถึงผลกระทบที่มีต่อการสืบพันธุ์ ทีมวิจัยได้ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส นำแม่หมึกสายพันธุ์เบอร์ริมาท้องแก่จำนวน 3 ตัว ไปวางไข่ในแท็งก์น้ำที่มีการควบคุมอุณหภูมิเอาไว้ 3 ระดับ คือ 19 องศาเซลเซียส เพื่อจำลองอุณหภูมิน้ำทะเลปัจจุบัน และ 22 องศาเซลเซียส เพื่อจำลองอุณหภูมิน้ำทะเลปัจจุบันในช่วงฤดูร้อน และสุดท้ายคือ 25 องศาเซลเซียส เพื่อจำลองอุณหภูมิน้ำทะเลในอนาคตของปี 2100 ตามการคาดการณ์ของ IPCC

 

“อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสนี้เราอ้างอิงจากข้อมูลของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ที่คาดการณ์ว่าภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 3 องศาเซลเซียสภายในปี 2100” Dr.Qiaz Hua กล่าว

 

ผลการทดลองพบว่า ไข่ของแม่หมึกทั้ง 3 ตัวฟักออกมาเป็นลูกหมึกได้สำเร็จที่อุณหภูมิน้ำไม่เกิน 22 องศาเซลเซียส แต่เมื่อเพิ่มอุณหภูมิน้ำไปที่ 25 องศาเซลเซียส ไข่ของแม่หมึก 2 ตัวแรกไม่มีใบไหนฟักเป็นลูกหมึกได้สำเร็จเลย ส่วนไข่ของแม่หมึกอีกตัวสามารถฟักออกมาเป็นลูกหมึกได้เพียง 43% เท่านั้น และลูกหมึกที่ฟักออกมาได้ก็มีน้ำหนักตัวที่เบาผิดปกติ

 

โดยทั่วไปแล้วแม่หมึกสายหรือ ‘หมึกยักษ์’ จะเฝ้าดูแลไข่ทุกฟองจนฟักเป็นตัวครบแล้วจึงจะเสียชีวิตไปตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่ได้ออกไปหาอาหารเลย แต่สำหรับแม่หมึกสายในถังทดลอง 25 องศาเซลเซียสนั้น กลับตายอย่างรวดเร็วนั่นคือหลังวางไข่ไม่นาน และไม่มีโอกาสรู้ว่าไข่ของมันฟักเป็นตัวสำเร็จหรือไม่

 

“การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า แม้แต่สัตว์ทะเลที่สามารถปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมได้สูง เช่น หมึกยักษ์ ก็ไม่อาจอยู่รอดจากการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทรจากวิกฤต​โลก​ร้อน​ในอนาคตได้” Dr.Qiaz Hua ให้ความเห็น​ ซึ่งตรงกับสิ่งที่ จัสมิน มาร์ติโน นักนิเวศวิทยาทางน้ำแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ผู้สังเกตการณ์​ที่อยู่​นอกทีมวิจัยนี้คิดเอาไว้

 

ผลกระทบอื่นๆ ของอุณหภูมิที่สูงขึ้นซึ่งสังเกตได้ในหมึกสาย ได้แก่ ขนาดร่างกายที่เล็กกว่าปกติเมื่อโตเต็มวัย และพวกเขายังพบอัตราการเผาผลาญที่สูงขึ้นในร่างกายหมึกด้วย 

 

ทีมงานยังติดตามผลกระทบเรื่องนี้อยู่ต่อไป “เราติดตามหมึกในรุ่นต่อไปเพื่อดูว่าหมึกมีวิวัฒนาการในเรื่องความทนทานต่อความเครียดจากสิ่งแวดล้อมที่ถูกส่งต่อจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งหรือไม่ ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจถึงผลกระทบต่อการคงอยู่ของหมึกสายพันธุ์นี้ในอนาคต” Dr.Qiaz Hua กล่าวทิ้งท้าย

 

ทีมงานตีพิมพ์ผลงานวิจัยนี้ลงใน https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/gcb.17255

 

ภาพ: Reinhard Dirscherl / ullstein bild via Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X