×

ส.อ.ท. เผย แบงก์ลดดอกเบี้ย-รัฐแจกเงิน 10,000 บาท ดันดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนตุลาคมพลิกบวกครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ห่วงไตรมาสสุดท้าย กำลังซื้อแผ่ว-หนี้ครัวเรือน NPL ยังพุ่งสูง

13.11.2024
  • LOADING...
ส.อ.ท.

สัญญาณดี! ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2567 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 89.1 หลังรัฐบาลแจกเงิน 10,000 บาท แบงก์ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ห่วงไตรมาสสุดท้าย เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัจจัยลบ กำลังซื้ออ่อนแอ และหนี้ครัวเรือน NPL ยังพุ่งสูง พร้อมจับตาส่งออกไทยอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้นภาษีของทรัมป์ แนะตั้งกองทุนส่งเสริม SMEs 

 

วันนี้ (13 พฤศจิกายน) นาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 89.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 87.1 ในเดือนกันยายน 2567 และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในรอบ 3 เดือน สาเหตุหลักมาจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย 

 

ขณะที่ภาครัฐเร่งฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงโครงการแจกเงิน 10,000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบาง ส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์การเกษตรและปุ๋ยเคมี ด้านธนาคารพาณิชย์ก็เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 2.50% สู่ระดับ 2.25% ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการลดลง ภาคการท่องเที่ยวมีการขยายตัวต่อเนื่อง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 27 ตุลาคม 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 28,378,473 คน สร้างรายได้ประมาณ 1,325,359 ล้านบาท ภาคการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเช่นกันตามอุปสงค์ในตลาดโลกและจากความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย และอาเซียน โดยการส่งออกในเดือนกันยายน 2567 มีมูลค่า 25,983.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.1% รวมถึงอัตราค่าระวางเรือ (Freight Rate) ขนส่งสินค้า ปรับตัวลดลงในเส้นทางสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการลดลง

 

“ในเดือนตุลาคมต้องจับตาเศรษฐกิจที่ยังมีปัจจัยลบจากกำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะหนี้เสีย (NPL) ที่เพิ่มขึ้น 13.3%YoY อยู่ที่ระดับ 1.18 ล้านล้านบาท สถานการณ์น้ำท่วมในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น สินค้าวัสดุก่อสร้างได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์”

 

โดยเป็นผลมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือน อีกทั้งสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะ SMEs รวมไปถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทย และสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการค้าโลก

 

นอกจากนี้จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,365 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนตุลาคม 2567 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 50.4% สำหรับปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ 60.1% เศรษฐกิจโลก 55.1% ราคาน้ำมัน 42.7% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 32.3% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 31.2% ตามลำดับ

 

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 96.7 ในเดือนกันยายน 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการแจกเงิน 10,000 บาท, มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว, การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ รวมถึงโครงการลงทุนและการก่อสร้างต่างๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 

 

ส่วนการส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก การท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวและการเข้าสู่ฤดูหนาวในทวีปยุโรป แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังคงห่วงกังวล ได้แก่ สถานการณ์ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจการค้า, มาตรการขึ้นภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ ยังเป็นความเสี่ยงต่อภาคการส่งออก

 

ทั้งนี้ ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ภาคเอกชนขอเสนอรัฐบาล 4 ข้อเร่งด่วน ดังนี้ 

 

  1. เสนอให้สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs อาทิ ผ่อนปรนเรื่องการขาดทุนปีล่าสุด โดยให้พิจารณากำไรจากการดำเนินงานในรูปของเงินสด (EBITDA) ของบริษัทปีล่าสุด 

 

  1. เสนอให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม 

 

  1. ออกมาตรการทางภาษีและการเงินเพื่อกระตุ้นการซื้อรถยนต์ภายในประเทศ และเร่งการจัดซื้อภาครัฐในหมวดพาหนะของปี 2568

 

  1. เสนอให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคและการแข่งขันทางการค้าอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเข้มงวดในการตรวจจับสินค้านำเข้าราคาถูกที่ไม่ได้คุณภาพ

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising