×

6 ตุลา และ 14 ตุลา: โศกนาฏกรรมปราบปรามล้อมฆ่าประชาชน กับคำถามถึงการเยียวยาผู้สูญเสีย

14.10.2021
  • LOADING...
6 ตุลา 14 ตุลา

HIGHLIGHTS

  • เดือนตุลาคมเป็นอีกหนึ่งเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างเหตุการณ์ ‘14 ตุลาคม 2516’ หรือ ‘6 ตุลาคม 2519’ ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดถึงสองเหตุการณ์นี้ในหลากหลายแง่มุม แต่มุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘กระบวนการเยียวยา’
  • ยังไม่ปรากฏข้อมูลในเอกสารที่เราสืบค้นได้ว่าฝ่ายนักศึกษาประชาชนผู้เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือผู้ที่อาจจะสูญหาย (ถ้ามี) จากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้รับการเยียวยาจากรัฐ
  • จากการพูดคุยกับ รศ.ดร.พวงทอง รวมทั้ง กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ และอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวมาก่อน ทั้งสองยืนยันกับเราว่า ยังไม่พบว่ามีการเยียวยาบุคคลกลุ่มนี้โดยรัฐ

 

เดือนตุลาคมเป็นอีกหนึ่งเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างเหตุการณ์ ‘14 ตุลาคม 2516’ หรือ ‘6 ตุลาคม 2519’ ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดถึงสองเหตุการณ์นี้ในหลากหลายแง่มุม

 

แต่มุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘กระบวนการเยียวยา’

 

ทั้งหลักการทั่วไปว่าเมื่อเกิดความรุนแรงทางการเมืองขึ้น มีหลักการเยียวยาอยู่หรือไม่ เราควรจะเยียวยากันอย่างไร หรือระหว่างทางที่ผ่านมาในการเยียวยาเหล่านี้มีปัญหาใด ไปจนถึงการย้อนดูเส้นทางการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสองเหตุการณ์ ‘เดือนตุลา’ ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย บทความนี้จะชวนหาคำตอบในหลายประเด็นดังกล่าว

 

คนในครอบครัวตัวเองก็ต้องการที่จะรับรู้ว่าอะไรที่ทำให้คนที่เขารักสูญเสียชีวิต ใครที่เกี่ยวข้องใครต้องรับผิดชอบ สังคมเองก็ควรจะต้องได้รับรู้เพื่อที่จะเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้น อีกขั้นหนึ่งก็คือกระบวนการยุติธรรมซึ่งจะต้องคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ ก็คือใครที่ทำผิดก็ต้องรับผิด”

 

‘เยียวยา’ ทำอย่างไร ใครควรได้รับการเยียวยา? 

โดยทั่วไปแล้วการเยียวยาความสูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมืองนั้นมีหลักอย่างไร รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการ ‘โครงการบันทึก 6 ตุลา’ อธิบายว่า การเยียวยาไม่ได้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ก็มีการศึกษาและสามารถวางหลักได้ว่าจะต้องมีในระดับใดบ้าง

 

“การเยียวยามีตั้งแต่การที่จะชดใช้เป็นเงินตอบแทนทดแทนความสูญเสีย เพราะว่าหลายครอบครัวก็สูญเสียคนที่ทำหน้าที่ดูแลครอบครัว หรือแม้กระทั่งลูกเองที่ต่อไปที่หลายสังคมก็คาดหวังว่าลูกจะเป็นคนที่มาดูแลพ่อแม่ต่อนะคะ อันนี้เป็นขั้นต่ำที่สุดของการเยียวยา แต่ว่ามากกว่านั้นการเยียวยามันหมายถึงการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อด้วย ซึ่งการคืนความยุติธรรมเนี่ยมันก็มีหลายระดับ ตั้งแต่การแสวงหาข้อเท็จจริงว่าใครเป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับเหยื่อ ซึ่งคนในครอบครัวตัวเองก็ต้องการที่จะรับรู้ว่าอะไรที่ทำให้คนที่เขารักสูญเสียชีวิต ใครที่เกี่ยวข้องใครต้องรับผิดชอบ สังคมเองก็ควรจะต้องได้รับรู้เพื่อที่จะเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้น อีกขั้นหนึ่งก็คือกระบวนการยุติธรรมซึ่งจะต้องคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ ก็คือใครที่ทำผิดก็ต้องรับผิด

 

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์

 

รศ.ดร.พวงทอง บอกว่า ความรุนแรงระดับใหญ่ในหลายๆ สังคมเกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาล หรือของกลไกรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพหรือตำรวจ ซึ่งบ่อยครั้งรัฐมักจะปฏิเสธ ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ยอมรับผิดชอบ และโยนให้เป็นความผิดของเหยื่อหรือกระบวนการของอีกฝ่ายหนึ่ง ว่าเป็นผู้ที่สร้างความวุ่นวายขึ้นมาคุกคามความมั่นคงของรัฐ ของสังคม รัฐจึงต้องจัดการปราบปราม

 

“ฉะนั้นบ่อยครั้งหลายๆ ประเทศ กระบวนการเยียวยามันเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงนั้นหมดอำนาจลง และภาคประชาสังคมหรือขบวนการประชาธิปไตยหรือรัฐบาลใหม่ก็ต้องมาทำหน้าที่ในการเยียวยาให้กับเหยื่อ” 

 

เมื่อถามว่าใครที่ควรได้รับการเยียวยา รศ.ดร.พวงทอง ระบุว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นมีระบบการเยียวยาอยู่แล้ว อาทิ การเยียวยาจากการบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต รวมถึงเงินบำเหน็จบำนาญหรือการเลื่อนยศต่างๆ แต่สำหรับประชาชนนั้น ครอบครัวของผู้เสียชีวิตก็ควรได้รับการเยียวยา คนที่บาดเจ็บยังมีชีวิตอยู่ก็ควรจะได้รับการเยียวยา เพราะบางคนอาจจะพิการ หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาที่รักษาพยาบาลอยู่คนเหล่านั้นก็สูญเสียโอกาสในการที่จะทำมาหากินเลี้ยงชีพ

 

6 ตุลาคมมันเป็นประวัติศาสตร์ที่รัฐไทยไม่ยอมรับ

 

ย้อนอดีตดูการเยียวยา 2 เหตุการณ์เดือนตุลา และมุมมองต่อการเยียวยาที่ยังไม่ปรากฏในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

สำหรับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น ข้อมูลจากหนังสือ ‘เกียรติยศข้างถนน วีรชน ๑๔ ตุลา’ ซึ่งจัดพิมพ์โดยคณะกรรมการญาติวีรชนเดือนตุลา, วิทยานิพนธ์ ‘มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองและเยียวยาผู้ใช้แรงงานซึ่งได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง’ ของ กานต์มณี สาเพิ่มทรัพย์, เอกสารเรื่อง ‘การให้ความช่วยเหลือค่าจัดการศพ และเงินดำรงชีพแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖’ ของส่วนนิติการ ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 

 

ตลอดจนเอกสารวิจัยส่วนบุคคลของ พีระ ทองโพธิ์ เรื่อง ‘แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง’

 

ตลอดจนการพูดคุยกับ ละเมียด บุญมาก ภรรยาของ จิระ บุญมาก ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 

 

ทำให้เราเห็นว่ามีความพยายามในการหาวิธีช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าวตั้งแต่หลังเกิดเหตุการณ์ได้ไม่นานนัก ตั้งแต่ในรูปกองทุนที่มาจากการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเพื่อจัดตั้งของนายกรัฐมนตรี สู่การจัดตั้งมูลนิธิสงเคราะห์ผู้ประสบภัย มาจนถึงยุคของการอนุมัติจ่ายเงินในรูปแบบต่างๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีจนถึงครั้งล่าสุดเมื่อปี 2560 แม้ว่าช่วงหนึ่งการดำเนินการให้ความช่วยเหลือของมูลนิธิสงเคราะห์ผู้ประสบภัยจะถูกสะท้อนปัญหา ตั้งคำถาม และถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือ ‘เกียรติยศข้างถนน วีรชน ๑๔ ตุลา’ ดังกล่าวก็ตาม

 

แต่กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สถานการณ์นั้นไม่เหมือนกัน

 

ยังไม่ปรากฏข้อมูลในเอกสารที่เราสืบค้นได้ว่าฝ่ายนักศึกษาประชาชนผู้เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือผู้ที่อาจจะสูญหาย (ถ้ามี) จากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้รับการเยียวยาจากรัฐ และจากการพูดคุยกับ รศ.ดร.พวงทอง รวมทั้ง กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ และอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวมาก่อน ทั้งสองยืนยันกับเราว่ายังไม่พบว่ามีการเยียวยาบุคคลกลุ่มนี้โดยรัฐ

 

6 ตุลาคมมันเป็นประวัติศาสตร์ที่รัฐไทยไม่ยอมรับ เวลาที่คุณบอกว่ารัฐ คุณจะเข้าไปเยียวยาในกรณีใดกรณีหนึ่ง หมายความว่ารัฐบาลที่ทำยอมรับว่านี่เป็นผลงานของการกระทำที่ผิดพลาดของรัฐบาลหรือกลไกรัฐที่เกี่ยวข้อง อาจจะไม่ใช่ตัวรัฐบาลที่สั่งเยียวยาเป็นคนทำ แต่ว่าหลังจากนั้นเขาก็ถือว่านี่เป็นความผิดพลาดและการเยียวยาด้านหนึ่งมันก็เป็นการขอโทษที่กลไกรัฐมันได้กระทำผิดไป ทีนี้ถ้าไปดูสถานะประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม มันต่างจากกรณีอื่น” รศ.ดร.พวงทอง ระบุ 

 

จากนั้นยังเปรียบเทียบกับกรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 (หรือที่อาจรู้จักกันในชื่อ ‘พฤษภาทมิฬ’) โดยบอกว่าสังคม รวมถึงรัฐบาลที่ปกครองประเทศหลังจากเหตุการณ์เหล่านี้ก็ยอมรับหรือมองว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ เป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย และเป็นชัยชนะของประชาชน หรืออีกหนึ่งตัวอย่างที่เธอยกขึ้นมาคือเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ซึ่งอย่างน้อยที่สุดรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยหรือกลุ่มคนเสื้อแดงมองว่าเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จึงนำมาสู่การเยียวยาเมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล

 

ทั้งนี้กรณีการเยียวยาเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ดังกล่าวนำไปสู่การยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี และ ครม. รวม 36 ราย เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองโดยไม่มีอำนาจและระเบียบรองรับ ซึ่งมีรายงานข่าวจากสื่อหลายสำนักเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ว่า องค์คณะไต่สวนของ ป.ป.ช. มีมติเตรียมเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะชี้มูลความผิดเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อยิ่งลักษณ์กับพวกตามข้อกล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหาไม่มีเจตนาที่จะคดโกงนำเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง 

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เมื่อเราสอบถามไปยังเลขาธิการ ป.ป.ช. ก็พบว่าเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างรอการเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชุดใหญ่อยู่

 

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.พวงทอง บอกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคมนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากที่จะเอาตัวเองเข้าไปผูกพัน และในขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ทารุณของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

“ถ้าใช้คำของอาจารย์ธงชัย (วินิจจะกูล) คือประวัติศาสตร์ที่มัน ‘ลืมไม่ได้ จำไม่ลง’ ก็คือลืมไม่ได้ ในด้านหนึ่งคุณไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามันไม่มีอยู่จริงนะคะ เพราะว่ามันมีข้อมูลหลักฐานมีอะไรเยอะแยะที่แสดงว่ามันเกิดขึ้นจริง ขณะเดียวกันจำไม่ลงก็คือการไม่ยอมรับมันว่ามันมีอยู่ มันอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ ดังนั้นสิ่งที่ฝ่ายขวาซึ่งก็ยังคงมีอำนาจอยู่ในรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยหลัง 6 ตุลาคมกระทำก็คือการไม่พูดถึงมัน หรือเวลาที่มีการพูดถึงมันบ่อยๆ มีการจัดงานใหญ่โตก็มักจะมีเสียงเตือนว่าอย่าไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ เรื่องที่มันผ่านไปแล้วเราควรจะมูฟออนต่อไป”

 

อีกด้านหนึ่ง รศ.ดร.พวงทอง ระบุว่า วาทกรรมของรัฐหรือฝ่ายขวาที่มีต่อเหตุการณ์นี้คือ เรื่องเกิดจากการการยั่วยุปลุกปั่นของขบวนการนักศึกษาปัญญาชนในขณะนั้นที่ต้องการที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และรวมไปถึงการกระทำที่ต้องการเล่นละคร ซึ่งเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการคุกคามความมั่นคงของชาติ ต้องการที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นระบอบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถที่จะปล่อยให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้นก็จำเป็นที่รัฐจะต้องเข้าไปควบคุมปราบปราม อีกทั้งในกรณี 6 ตุลาคมมันมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่สามารถที่จะยอมรับการกระทำของขบวนการนักศึกษาได้ จึงเข้าไปร่วมการใช้ความรุนแรงเพื่อที่จะหยุดยั้งการกระทำของนักศึกษา เธอบอกว่าคำอธิบายรูปแบบนี้ปรากฏอยู่ในรายงานสมุดปกขาวของคณะรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม

 

ขณะที่ กฤษฎางค์ บอกกับเราว่า ไม่เห็นความพยายามของรัฐบาลใดเลยในการเยียวยาดังกล่าวในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เขายังกล่าวถึงความพยายามในการยื่นเรื่องสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศตามที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเขาบอกว่ามีทนายความกลุ่มหนึ่งเสนอเรื่องผ่านทางเขาเพื่อดำเนินการดังกล่าว และเขาเชื่อว่าเรื่องนี้ในทางข้อกฎหมายสากลสามารถนำไปสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศได้

 

“รัฐไทยทุกรัฐบาล แม้แต่รัฐบาลพลเรือน เช่น รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาลของชวลิตก็ดี รัฐบาลของทักษิณก็ดี หรือแม้แต่ปัจจุบันนี้ ยิ่งลักษณ์ มาจนถึงรัฐบาลของประยุทธ์ เขาก็ไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมไม่เห็นครับ”

 

กฤษฎางค์ นุตจรัส

 

อย่างไรก็ดี กฤษฎางค์ มีมุมมองว่า การปราบปรามประชาชนไม่ว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือถังแดง หรือ 14 ตุลา พฤษภาทมิฬ หรือ พฤษภา 53 เมษายน 53 ล้วนเป็นการที่อำนาจรัฐใช้ในการปราบปรามประชาชนอย่างทารุณทุกครั้ง แต่สำหรับเขาแล้วเหตุการณ์ 6 ตุลาคมนับเป็นเหตุการณ์ที่เป็นหมุดหมายสำคัญ เพราะตั้งแต่ปี 2475 และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เขาอธิบายว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐไทยในความคิดเผด็จการกับประชาชนที่ต้องการเสรีภาพประชาธิปไตยในรูปแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นการต่อสู้ที่พลังเก่าที่สูญเสียอำนาจในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตกใจกับสิ่งเหล่านั้น จึงใช้ความรุนแรงและเป็นความจงใจที่จะสร้างให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคมขึ้น

 

“เราสังเกตเห็นว่าการปลุกปั่นยุยงให้ผู้คน เข้ามาสนับสนุน ผมใช้คำว่าสนับสนุน ไม่ใช้คำว่าฆ่า เพราะว่าคนที่เข้ามาฆ่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นองค์กรจัดตั้งฝ่ายขวา ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง ที่ กอ.รมน. จัดตั้งขึ้น แล้วก็ทหาร ตำรวจ กองปราบ ตำรวจของพลร่มค่ายนเรศวร ซึ่งเป็นคนของรัฐโดยตรง แต่รัฐได้ปลุกปั่นยุยงผ่านวิทยุทหารยานเกราะและสื่อของรัฐในขณะนั้น โดยใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหมุดหมายที่สำคัญที่จะอ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อดึงอำนาจกลับไป” กฤษฎางค์ ระบุ เขาบอกว่าหลังจากประสบความสำเร็จจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ก็มีความพยายามใช้เรื่องเหล่านี้ในการปราบปรามผู้ที่ต้องการประชาธิปไตย โดยเขายกตัวอย่างการใช้มาตรา 112 ในการปราบปรามจับกุมเยาวชนที่ออกมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง

 

ว่าด้วยการเยียวยา รศ.ดร.พวงทอง ชี้ว่า บางคนอาจไม่ได้ต้องการการเยียวยาในรูปแบบของเงินทอง แต่ครอบครัวน่าจะต้องการให้พูดความจริงเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และการกล่าวถึงผู้เสียชีวิตในฐานะวีรชน ขณะที่กฤษฎางค์บอกว่าการชดเชยผู้สูญเสียอาจไม่ได้เป็นเงิน แต่เป็นการขอโทษในนามรัฐไทย การนำเกียรติประวัติมาจารึกหรืออธิบายในหนังสือแบบเรียนให้เป็นประวัติศาสตร์ที่รัฐยอมรับ หรือแม้แต่การสร้างอนุสาวรีย์แก่ผู้เสียชีวิต มอบเกียรติบัตร มอบปริญญากิตติมศักดิ์แก่นักศึกษาที่เสียชีวิต นอกจากนี้ กฤษฎางค์ ยังบอกว่า ต้องการให้รัฐ ‘ชี้ถูกชี้ผิด’ ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ตรวจสอบผู้กระทำผิด ผู้บงการ และตรวจสอบว่าจะสามารถนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดได้หรือไม่

 

“ในนามของคน 6 ตุลาคมที่บาดเจ็บล้มตาย ผมอาจจะพูดไม่ได้ทั้งหมด แต่เท่าที่สัมผัสกับญาติพี่น้องของคนตายหลายครอบครัว เขาไม่ได้มีความประสงค์ที่จะได้เงิน คือถ้าจะให้ก็ได้ แต่สิ่งที่เขาประสงค์ก็คือฟื้นฟูเกียรติภูมิของเขา” กฤษฎางค์ กล่าว

 

“ตราบเท่าที่สังคมไทยให้คุณค่ากับชีวิตของปัจเจกชนน้อยและมองว่าความรุนแรงสามารถที่จะใช้เป็นวิธีการในการที่จะสร้างความสงบสุขให้กับสังคมได้ เราก็ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ที่จะต้องสูญเสียประชาชนไปแล้วก็ต้องมาคิดว่าจะเยียวยาคนที่เสียชีวิตอย่างไร”

 

เจาะปัญหาการเยียวยาความรุนแรงโดยรัฐ เมื่อ ‘เงิน’ อาจเป็นเพียงขั้นต่ำ และอาจมีโจทย์รออยู่ที่ชายแดนใต้

เมื่อถามถึงปัญหาต่างๆ ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงโดยรัฐ รวมถึงประเด็นการมีกองทุนเพื่อการเยียวยาเหตุความรุนแรงทางการเมืองโดยทั่วไป รศ.ดร.พวงทอง เห็นด้วยกับการเยียวยา ชดเชยให้กับผู้สูญเสียโดยรัฐบาลที่อาจจะไม่ได้เป็นผู้ใช้ความรุนแรงแต่ก็เป็นผู้สืบทอดกลไกรัฐ แต่เธอบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการมีกองทุนถาวรในเรื่องนี้ เพราะเธอบอกว่าขึ้นอยู่กับเจตจำนงทางการเมืองว่ารัฐจะยอมรับหรือไม่ว่านี่เป็นความรับผิดชอบที่จะต้องเข้าไปเยียวยา เช่น ในกรณีเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 รศ.ดร.พวงทอง ระบุความเห็นว่า รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นเห็นว่ารัฐไม่ควรต้องรับผิดชอบกับกรณีนี้ เธอจึงคาดการณ์ว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเป็นรัฐบาลต่อเนื่องยาวนานหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้เสียหายจากกรณีนี้ก็จะไม่ได้รับเงินเยียวยาใดๆ

 

“มันขึ้นอยู่กับเจตจำนงทางการเมืองของรัฐที่จะให้ ต่อให้คุณมีกองทุนที่จะให้ แต่ถ้าเขาไม่ให้ก็ไม่ให้” รศ.ดร.พวงทอง กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม เธอบอกถึงอีกกรณีคือการเยียวยาเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ยังเป็นปัญหาและคดีความกันอยู่ ต่างกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมทางการเมืองในอดีตซึ่งเกิดขึ้นแล้วจบไปที่ตัวเลขจะเริ่มนิ่งและรัฐจะพอทราบว่ามีผู้เกี่ยวข้องเท่าใด ต้องใช้งบประมาณเท่าใด แม้ที่ผ่านมาจะมีการเยียวยาความสูญเสียจากเหตุการณ์ที่ตากใบ ซึ่งเธออธิบายว่าเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์สามารถเยียวยาคนเสื้อแดงได้ก็กลายเป็นบรรทัดฐานนำไปสู่การเยียวยาคนที่เสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของรัฐเช่นกรณีตากใบ และคนที่ถูกซ้อมทรมานในค่ายทหาร คนกลุ่มนี้ก็สามารถเรียกร้องเงินเยียวยาจากรัฐได้ แต่ในอนาคตการเยียวยากรณีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย

 

“ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันยังมีกรณีที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องอยู่ทุกวัน และเป็นคดีความหรือคนที่เสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ เช่น ถูกยิงโดยเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งพบว่าเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรง เจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจผิดแบบนี้นะคะ ก็เป็นปัญหามากว่าแล้วยังไง เจ้าหน้าที่รัฐอาจจะบอกว่าคนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการ กลุ่มแบ่งแยกดินแดน หรือก็มีการฟ้องร้อง มันก็เป็นปัญหามากว่าจะเยียวยาเขายังไง แล้วถ้าสมมติในอีก 10 ปี 20 ปีข้างหน้าปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยุติลง มันจะเกิดคำถามมากว่าคนกลุ่มไหนเข้าข่ายไม่เข้าข่าย เพราะว่าขอบเขตของการกระทำมันเยอะไปหมด มันต้องมานั่งไล่ดูทีละกรณีว่าใครเกี่ยวข้องไม่เกี่ยวข้อง ก็จะเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ได้ง่าย” เธอระบุ

 

รศ.ดร.พวงทอง ยังบอกถึงอีกปัญหาของการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงโดยรัฐว่า สังคมไทยมักมองการชดเชยเป็นเพียงตัวเงิน ซึ่งเป็นเพียง ‘ขั้นต่ำสุด’ ของการเยียวยาเพื่อให้คนในครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้โดยได้รับได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในทางเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากผู้เสียชีวิตจำนวนมากจะเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเป็นบุตรที่อยู่ในวัยทำงานแล้วต้องดูแลครอบครัวแล้ว ครอบครัวผู้สูญเสียยังจะต้องเสียเวลากับการต้องสละเวลามาติดตามร้องเรียนฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ ยังไม่นับรวมสภาพจิตใจที่ย่ำแย่

 

“แต่ว่าสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราเห็นกรณีอื่นด้วย เอาจริงๆ ตั้งแต่ 14 ตุลาคมเป็นต้นมา เราไม่เคยเยียวยาเหยื่อโดยการคืนความยุติธรรมให้กับพวกเขาเลย เบื้องต้นคืนความยุติธรรมในเรื่องของความจริงว่าใครที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น คนที่เขารักตายเพราะอะไร ก็ยังไม่มี”

 

กลับมาที่การศึกษาวิชาการกันอีกสักเล็กน้อย งานวิจัยส่วนบุคคลของ พีระ ทองโพธิ์ เรื่อง ‘แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง’ ที่ศึกษาการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในหลายยุคสมัย ยังระบุปัญหาอุปสรรคในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง อาทิ การมีมติคณะรัฐมนตรีตามเหตุการณ์ และเป็นการกำหนดแนวทางความช่วยเหลือหลังเหตุการณ์เกิดไปแล้ว ทำให้การช่วยเหลือล่าช้าไม่ทันต่อความเสียหาย, หลักเกณฑ์ในแต่ละมติคณะรัฐมนตรีมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านของเงื่อนไข อัตราการให้ความช่วยเหลือ, คณะกรรมการที่มีหน้าที่ในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือในแต่ละเหตุการณ์มีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน ทั้งหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือก็แตกต่างกัน ซึ่งทำให้มาตรฐานในการช่วยเหลือแตกต่างกันออกไป เป็นต้น

 

มองบทเรียน (อีกสักครั้ง) จากสองเหตุการณ์เดือนตุลา

เมื่อถามถึงบทเรียนที่จะทำให้ไม่เกิดความรุนแรงทางการเมืองขึ้นอีก นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา ในฐานะผู้ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มองว่า การป้องกันความรุนแรงทำได้ยาก เพราะการที่ผู้อยู่ในอำนาจจะยอมลงจากอำนาจไม่ใช่เรื่องง่าย

 

“มันเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อที่จะเปลี่ยนอำนาจ ผู้ที่อยู่ในอำนาจ โอกาสที่เขาจะลงจากอำนาจไม่ใช่เรื่องง่าย ทีนี้ถ้าหากว่าผู้ที่อยู่ใต้อำนาจพยายามจะเปลี่ยน ก็มีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรง ถ้าจะไม่ให้เกิดความรุนแรงมันก็อยู่ที่ว่าผู้ที่จะอยู่ในอำนาจมองเห็นอนาคต ว่าควรที่จะมุ่งที่ทำอย่างไร ที่จะให้สังคมหรือประเทศมันเกิดความเจริญ เกิดการมีส่วนร่วมแล้วก็เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ถ้าเป็นการเปลี่ยนความคิดจากข้างบนแล้วพยายามที่จะสร้างสังคมที่มันดีขึ้น อันนั้นโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงก็จะน้อยลง”

 

นพ.วิชัย โชควิวัฒน

 

นพ.วิชัย เห็นว่าสถานการณ์ในปี 2516 เกิดจากความสุกงอมของสถานการณ์สากลในภาวะที่มีสงครามเย็น ขณะที่สงครามอินโดจีนก็งวดเข้ามา ส่วนสถานการณ์ภายในประเทศขณะที่ฝ่ายผู้มีอำนาจเกิดการแตกแยกและไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ เพราะว่าเป็นกลุ่มที่แคบเกินไป ขณะที่ภาคประชาชนเองก็สามารถที่จะผนึกกำลังกันได้อย่างกว้างขวางและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เขาเห็นว่ามีลักษณะที่คล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 ที่จำกัดขอบเขตของประชาธิปไตยหรือมีการมีส่วนร่วมที่ค่อนข้างน้อย และโครงสร้างของรัฐธรรมนูญเองทำให้ทางออกเกิดขึ้นได้ยาก คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถจะมาเปลี่ยนแปลงได้โดยกลไกของรัฐธรรมนูญ ขณะที่ผู้มีอำนาจผนึกกำลังกันได้แน่นหนา และประชาชนมีความแตกแยกเป็นสองขั้วอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังเขายังเชื่อว่าเป็นความแตกต่างระหว่างรุ่น โดยเป้าหมายการต่อสู้ของคนรุ่นปัจจุบันมีความต่างกับคนรุ่น 14 ตุลาคม 2516 ‘อย่างรุนแรงและโดยสิ้นเชิง’

 

เมื่อถามว่าจำเป็นต้อง ‘ถอดสลัก’ สิ่งใดในรัฐธรรมนูญหรือไม่ นพ.วิชัย ระบุว่า หากรัฐธรรมนูญยังคงเป็นอยู่เช่นนี้ ผู้ที่ต่อต้าน ผู้ที่ไม่เห็นด้วย ย่อมมองไม่เห็นทางว่าจะสามารถที่จะต่อต้านหรือว่าเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ โดยใช้กลไกที่มีอยู่ในปัจจุบัน “ฉะนั้นสิ่งที่คนรุ่นใหม่เขาเรียกร้อง คือเขาเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ” เขาระบุ และเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลรับฟังเสียงของประชาชนและเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยสันติ ตลอดจนสหรัฐอเมริกา ซึ่ง มาร์กาเร็ต มีด นักมานุษยวิทยาเขียนระบุไว้ในหนังสือ ‘เกวียนอพยพและดวงดารา’ ว่าสหรัฐฯ สร้างชาติด้วยปัจจัย 3 ประการคือ หนึ่ง การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้ประชาชนสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยหีบบัตรเลือกตั้ง และแม้จะมีความรุนแรงประปรายก็ยังควบคุมได้, สอง ศาลที่ยุติธรรม กลไกศาลสูงสุดที่ถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติและบริหาร ระบบศาลที่เป็นกลไกซึ่งยึดโยงกับประชาชน และระบบนิติศาสตร์ที่เข้มแข็ง หากมีสิ่งใดไม่ชอบมาพากลก็จะมีการวิพากษ์วิจารณ์โดยสถาบันการศึกษา และสาม คือชุมชนที่เข้มแข็ง

 

ถ้าจะไม่ให้เกิดความรุนแรงมันก็อยู่ที่ว่าผู้ที่จะอยู่ในอำนาจมองเห็นอนาคต ว่าควรที่จะมุ่งที่ทำอย่างไร ที่จะให้สังคมหรือประเทศมันเกิดความเจริญ เกิดการมีส่วนร่วมแล้วก็เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ถ้าเป็นการเปลี่ยนความคิดจากข้างบนแล้วพยายามที่จะสร้างสังคมที่มันดีขึ้น อันนั้นโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงก็จะน้อยลง

 

ขณะที่ กฤษฎางค์ ซึ่งเป็นผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ระบุว่า การเผยแพร่ข้อมูลและอธิบายที่มาของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม จะทำให้สังคมกลายเป็นกำแพงที่ช่วยปกป้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ขณะที่การจัดงานรำลึก 6 ตุลาคมนั้นไม่ใช่แค่การรำลึกหรือเชิดชูผู้ตายเท่านั้น แต่เป็นการป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และเป็นการรักษาชีวิตของผู้ที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบันด้วย

 

“ในความเห็นส่วนตัวผมเห็นว่าการปราบปรามประชาชนล้อมฆ่าแบบเดียวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 น่าจะไม่เกิดขึ้นอีก ไม่ใช่เพราะว่าฝ่ายพลังเก่าเขาเห็นความถูกต้องชอบธรรม และปรับปรุงตัวเอง แต่เป็นเพราะว่าโลกสมัยนี้มันเปลี่ยนไปเยอะ เศรษฐกิจสังคมเทคโนโลยีเปลี่ยนไป ถ้าหากคุณกระทำเหตุการณ์แบบเดียวกับหรือครึ่งหนึ่งของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 19 ณ วันนี้ รัฐบาลที่ทำอยู่ไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว เพราะว่าในโลกคือไม่มีใครนับถือคุณ คุณต้องไปขึ้นศาลโลกแน่นอน ถึงแม้คุณจะบอกว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิก แต่คุณก็บินออกนอกประเทศไม่ได้” เขาระบุ

 

ส่วน รศ.ดร.พวงทอง หนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการ ‘โครงการบันทึก 6 ตุลา’ ระบุว่า เธอไม่แน่ใจว่าสังคมไทยอยากจะสนใจบทเรียนอะไร เพราะเมื่อมีความขัดแย้งทางการเมืองในหลายกรณีตั้งแต่ 6 ตุลาคม, พฤษภาคม 2553 หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สังคมก็จะมีทรรศนะที่แบ่งขั้วอย่างชัดเจนว่าแต่ละบุคคลสนับสนุนหรือต่อต้านฝ่ายใด และฝ่ายที่สนับสนุนรัฐก็มักจะเชียร์ให้มีการใช้ความรุนแรงเข้าจัดการฝั่งตรงข้ามอย่างเด็ดขาด เธอบอกว่าต้องให้คุณค่ากับชีวิตของปัจเจกชน และสำหรับรัฐเองต่อให้มีอำนาจทางกฎหมายอำนาจที่จะใช้ความรุนแรงกับประชาชน แต่ก็มีขอบเขตของการใช้ความรุนแรงด้วย ไม่ใช่ใช้ได้ตามอำเภอใจ

 

“เช่น ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะประท้วง ชุมนุม วิพากษ์วิจารณ์กฎหมาย อำนาจรัฐ ตราบเท่าที่เขาไม่ได้เป็นกองกำลังที่จะมาล้มล้างตัวระบอบ ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะทำสิ่งเหล่านี้ รัฐจะละเมิดสิทธิในชีวิตของเขาไม่ได้เพียงแค่เขามาชุมนุมเรียกร้องหรือวิพากษ์วิจารณ์ตัวกฎหมาย วิจารณ์ตัวระบอบตัวสถาบันต่างๆ แต่รัฐไทยไม่ได้คิดแบบนั้น คนไทยจำนวนมากไม่ได้คิดแบบนั้น”

 

“ตราบเท่าที่สังคมไทยให้คุณค่ากับชีวิตของปัจเจกชนน้อยและมองว่าความรุนแรงสามารถที่จะใช้เป็นวิธีการในการที่จะสร้างความสงบสุขให้กับสังคมได้ เราก็ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ที่จะต้องสูญเสียประชาชนไปแล้วก็ต้องมาคิดว่าจะเยียวยาคนที่เสียชีวิตอย่างไร”

 

 

ภาพ: แฟ้มภาพโดยศวิตา พูลเสถียร, ณัฐพงษ์ กุลพันธ์, มูลนิธิ 14 ตุลา, ชุดภาพถ่ายขาวดำจากคุณปฐมพร ศรีมันตะ โครงการบันทึก 6 ตุลา 

อ้างอิง:

  • หนังสือ ‘เกียรติยศข้างถนน วีรชน ๑๔ ตุลา’ จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการญาติวีรชนเดือนตุลา
  • วิทยานิพนธ์ ‘มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองและเยียวยาผู้ใช้แรงงานซึ่งได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง’ ของกานต์มณี สาเพิ่มทรัพย์ (มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์) https://dric.nrct.go.th/Search/SearchDetail/290096
  • เอกสารเรื่อง ‘การให้ความช่วยเหลือค่าจัดการศพ และเงินดำรงชีพแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖’ เรียบเรียงโดยวิสุทธิ์ ฉัตรานุฉัตร ของส่วนนิติการ ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี https://www.opm.go.th/opmportal/multimedia/phoobeas/FilePDF/data1573.pdf
  • งานวิจัยส่วนบุคคล เรื่อง ‘แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง’ ของพีระ ทองโพธิ์ (วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร) http://www.dsdw2016.dsdw.go.th/doc_pr/ndc_2560-2561/PDF/8471p/%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1.pdf
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising