เมื่อเดือนที่แล้วองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ในสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศเตือนว่า โลกกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 และกำลังส่งผลกระทบต่ออย่างน้อย 53 ประเทศทั่วโลก
เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) แนวปะการังนอกชายฝั่งขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งประสบกับฤดูร้อนที่เลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์ เป็นหนึ่งในแนวปะการังที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากอุณหภูมิโลกที่พุ่งสูงทำลายสถิติในปีที่ผ่านมา อันมีสาเหตุหลักมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น และถูกเร่งโดยปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรสูงขึ้น
จากการลงพื้นที่สำรวจ CNN พบเห็นการฟอกขาวบนแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ บนแนวปะการัง 5 แห่งที่ทอดยาวไปทางตอนเหนือและตอนใต้ของระบบนิเวศระยะทาง 2,300 กิโลเมตร
“สิ่งที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรของเราตอนนี้เหมือนกับการเกิดไฟป่าใต้น้ำ” เคท ควิกลีย์ นักวิจัยที่มูลนิธิมินเดอรู (Minderoo Foundation) ของออสเตรเลีย กล่าว
โดยนอกจากแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟแล้ว คลื่นความร้อนใต้ท้องทะเลขนาดมหึมาที่แผ่ขยายไปทั่วโลกยังส่งผลกระทบต่อแนวปะการังที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลกแห่งอื่นๆ ซึ่งรวมถึงแนวปะการังในทะเลแดง อินโดนีเซีย และเซเชลส์ด้วย
ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของน้ำทะเลอุ่นเกินไป ปะการังจะขับสาหร่ายขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อของพวกมันออกมา ทำให้ปะการังมีสีซีดจางลง ปะการังสามารถฟื้นตัวจากภาวะฟอกขาวได้หากอุณหภูมิกลับสู่ปกติ แต่จะตายไปหากน้ำอุ่นกว่าปกติ
“มันคือการตายหมู่” ศาสตราจารย์โอวี ฮอฟ-กัลด์เบิร์ก นักภูมิอากาศวิทยาจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย และหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของมูลนิธิเกรตแบร์ริเออร์รีฟ กล่าว “อุณหภูมิอุ่นขึ้นมากจนทะลุชาร์ต…มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในระดับนี้”
ระบบนิเวศทางทะเลที่ถูกทำลายจะส่งผลกระทบต่อ 1 ใน 4 ของสัตว์ทุกชนิดที่ต้องอาศัยแนวปะการังเพื่อความอยู่รอด รวมทั้งคุกคามผู้คนประมาณพันล้านคนที่พึ่งพาปลาในแนวปะการังเพื่อเป็นอาหารและดำรงชีพ นอกจากนี้ แนวปะการังยังมีความสำคัญในการช่วยปกป้องแนวชายฝั่งอีกด้วย โดยช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วม พายุหมุน และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
“มนุษยชาติกำลังถูกคุกคามในระดับความเร็วที่ผมไม่แน่ใจว่าพวกเราเข้าใจจริงๆ” นักภูมิอากาศวิทยาจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์กล่าว “ผมได้แต่ภาวนาขอให้ปะการังฟื้นกลับคืนมา”
ยื้อชีวิตปะการัง
ในขณะที่โลกยังไม่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนได้ เหล่านักวิจัยก็พยายามซื้อเวลาให้กับแนวปะการัง โดยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ปีเตอร์ แฮร์ริสัน และทีมงานของเขาจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น ครอส ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้พัฒนาโครงการ ‘ผสมเทียมปะการัง’ เพื่อเพิ่มการสืบพันธุ์ของปะการังบนแนวปะการัง
นอกจากนี้ยังมีโครงการวิจัยที่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งออสเตรเลีย (AIMS) กำลังศึกษาการเพาะพันธุ์ปะการังทนความร้อนซึ่งสามารถอยู่รอดได้ในอุณหภูมิที่สูงขึ้น รวมทั้งการพัฒนาเครื่องมือ AI เพื่อขยายการดำเนินการตามขนาดของแนวปะการัง
“เราต้องลงมือทำในตอนนี้เพื่อให้ปะการังบนแนวปะการังต่างๆ ทั่วโลกมีชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” แฮร์ริสันกล่าว
อย่างไรก็ดี รัฐบาลออสเตรเลียเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากการทุ่มเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ให้กับโครงการวิจัยแนวปะการังจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็ลงทุนเพิ่มเป็นสองเท่าไปกับการใช้และการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งรวมถึงการอนุมัติให้เปิดเหมืองถ่านหินใหม่ 4 แห่งในปี 2023
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า หากโลกยังร้อนขึ้นในระดับเดียวกับระดับปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอาจสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 2 องศาเซลเซียสภายในปี 2050 ซึ่ง 99% ของแนวปะการังจะตายลงที่ความร้อนระดับดังกล่าว
ภาพ: Fairfax Media via Getty Images
อ้างอิง: