×

งานศึกษาเผย ตรวจพบอนุภาคพลาสติกกว่า 170 ล้านล้านชิ้นในมหาสมุทร หลังมลพิษพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

09.03.2023
  • LOADING...
พลาสติก มหาสมุทร

ผลงานศึกษาล่าสุดจากทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติเผยว่า ปัจจุบันมหาสมุทรหลายแห่งทั่วโลกกำลังประสบปัญหา ‘หมอกควันพลาสติก’ (Plastic Smog) ซึ่งเกิดจากพลาสติกที่แตกตัวเป็นอนุภาคขนาดเล็กประมาณ 171 ล้านล้านชิ้น และหากรวมตัวกันแล้วอาจมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 2.3 ล้านตัน 

 

โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ได้รวบรวมข้อมูลจากทั่วโลกช่วงปี 1979-2019 จากจุดสุ่มตัวอย่างเกือบ 12,000 จุดในมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พบว่าปัญหามลพิษจากพลาสติกในมหาสมุทรมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอยู่ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่ปี 2005 ซึ่งหากปราศจากการดำเนินการแก้ไขเร่งด่วน อาจทำให้ปริมาณพลาสติกในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นราว 2.6 เท่า ตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 2040 

 

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาโลกมีอัตราการผลิตพลาสติกเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics) ในขณะที่ระบบการจัดการขยะนั้นถือว่ายังไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ โดยมีขยะพลาสติกเพียงประมาณ 9% ของขยะพลาสติกทั้งหมดเท่านั้นที่ได้รับการนำไปรีไซเคิลในแต่ละปี ซึ่งขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลนั้นมักจบลงที่มหาสมุทร และเมื่อพลาสติกเหล่านั้นลงสู่มหาสมุทรแล้วมักจะไม่ได้ย่อยสลาย แต่กลับแตกตัวเป็นอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กซึ่งยากต่อการจัดการ อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล และมีส่วนชะล้างสารเคมีที่เป็นพิษลงสู่น้ำทะเลอีกด้วย

 

พลาสติกไม่เพียงส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังผูกโยงกับปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน เนื่องจากการจัดการพลาสติกนับตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการกำจัดต่างก็ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการจัดการทั้งสิ้น ซึ่งเป็นตัวการในสร้างมลพิษที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ทางองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้มีมติเห็นชอบในการผลักดันร่างสนธิสัญญาว่าด้วยมลพิษพลาสติกฉบับแรกของโลก ที่จะมีผลผูกพันตามกฎหมายภายในปี 2024 ซึ่งคาดว่าจะระบุถึงอายุการใช้งานทั้งหมดของพลาสติก นับตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการกำจัด เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดจากอนุภาคพลาสติกนี้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยหน่วยงานขนาดใหญ่กำลังพิจารณาว่าจะปรับลดการผลิตพลาสติกด้วยหรือไม่ ซึ่งคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า ภายในปี 2050

 

ทางด้านจูดิธ เอนซก์ ประธานองค์กร Beyond Plastics ซึ่งเป็นกลุ่มไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งเน้นงานวิจัยและศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคระบุว่า “งานศึกษาวิจัยใหม่ๆ มีประโยชน์อย่างมาก แต่เราไม่จำเป็นต้องรอให้มีงานศึกษาใหม่ๆ เหล่านี้ออกมาแล้วค่อยลงมือทำ ปัญหาเหล่านี้เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสะสมอนุภาคพลาสติกในมหาสมุทร อากาศ ดิน อาหาร หรือแม้แต่ในร่างกายของมนุษย์เรา”

 

ภาพ: StockFamily / Shuterstock 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X