×

รู้จัก Ocean Climate Action Plan แผนการใช้มหาสมุทรต่อสู้ภาวะโลกรวน ผลงานล่าสุดจากรัฐบาลไบเดน

23.03.2023
  • LOADING...
Ocean Climate Action Plan

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 มีนาคม) รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้เปิดตัวแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ภายใต้ชื่อ ‘Ocean Climate Action Plan’ ซึ่งเป็นโร้ดแมปที่สหรัฐฯ จะใช้ประโยชน์จากพลังอันมหาศาลของมหาสมุทร เพื่อช่วยต่อสู้กับวิกฤตโลกรวน พร้อมช่วยอนุรักษ์ท้องทะเลไปพร้อมๆ กัน

 

ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มหาสมุทรได้ช่วยดูดซับความร้อนบนโลกของเราไว้มากกว่า 90% จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ท้องทะเลเป็นทรัพยากรที่มีบทบาทอย่างมากในการต่อสู้กับภาวะโลกรวนที่กำลังดำเนินอยู่นี้

 

ลารา เลวิสัน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายของรัฐบาลกลาง ประจำกลุ่มอนุรักษ์มหาสมุทร Oceana กล่าวว่า แม้โลกจะมีการหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่บ่อยครั้ง แต่ที่ผ่านมานั้นนโยบายด้านมหาสมุทรมักเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามอยู่เสมอ โดยเธอกล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางที่จะแก้ไขหรือรับมือกับวิกฤตบนพื้นดินมากมายแล้ว แต่นโยบายสำหรับมหาสมุทรนั้นยังไม่เพียงพอและไม่ใกล้เคียงกับคำว่า ‘พอ’ เลยด้วยซ้ำ 

 

ฉะนั้นการประกาศครั้งล่าสุดนี้จึงเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญต่อท้องทะเลของสหรัฐฯ อย่างมาก

 

📍 ทะเลโลกวิกฤต วิจัยเผย อุณหภูมิผิวน้ำร้อนขึ้นกว่าเดิม

 

ก่อนจะลงลึกถึงรายละเอียดของ Action Plan ล่าสุดจากสหรัฐฯ THE STANDARD ขออธิบายถึงภาพรวมของทะเลโลกกันก่อนว่าขณะนี้เป็นอย่างไร และมีใครลงมือทำอะไรเพื่อปกป้องแผ่นน้ำสีครามที่กินพื้นที่ถึง 71% ของโลกไปแล้วบ้าง

 

  • ข้อมูลแบบสดๆ ร้อนๆ จาก Climate Reanalyzer ระบุว่า ณ วันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา อุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลในมหาสมุทรทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เฉลี่ยแตะที่ 21 องศาเซลเซียส ถือว่าเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่มีการเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 1981 และเป็นอุณหภูมิที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2016 ซึ่งเป็นปีที่โลกเจอกับปรากฏการณ์เอลนีโญ

 

  • ขณะที่รายงานล่าสุดจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งมีการเปิดเผยออกมาเมื่อวันจันทร์ (20 มีนาคม) ระบุว่า สภาพชั้นบรรยากาศและท้องทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นนั้นส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนรุนแรงที่เกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ สภาพอากาศที่แห้งแล้งหนักขึ้น หรือฝนที่ตกกระหน่ำแบบไม่ลืมหูลืมตา

 

  • อย่างไรก็ตาม โลกไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ เกือบ 200 ประเทศ ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาทะเลหลวง (High Seas Treaty) ฉบับแรก เพื่อเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดตั้งและจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล รวมถึงปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะเดียวกันสนธิสัญญาดังกล่าวยังให้คำมั่นว่าจะปกป้องพื้นที่ 30% ของมหาสมุทรของโลกอีกด้วย 

 

  • ในปัจจุบันมีการขนานนามให้ทะเลหลวงว่า เป็น ‘ถิ่นทุรกันดารแห่งสุดท้ายของโลก’ เนื่องจากโลกรวนทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้น และทำให้น้ำมีค่าความเป็นกรดมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล นอกจากนี้กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ในมหาสมุทร เช่น การประมงเชิงอุตสาหกรรม การเดินเรือ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ใต้ทะเลลึก และการแข่งขันเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในมหาสมุทร ล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบเชิงลบให้กับท้องทะเลและมหาสมุทรแทบทั้งสิ้น

 

  • ทะเลหลวงนับเป็นผืนน้ำขนาดมหึมาที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของมหาสมุทรทั่วโลก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งยังเป็นแหล่งประมงที่สำคัญสำหรับผู้คนหลายพันล้านชีวิต นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นกันชนให้กับมนุษย์ต่อวิกฤตสภาพอากาศ เนื่องจากมหาสมุทรได้ดูดซับความร้อนส่วนเกินของโลกไว้มากกว่า 90% ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา 

 

  • แต่ปัจจุบันมีพื้นที่เขตทะเลหลวงหรือน่านน้ำสากลราว 1.2% เท่านั้นที่ได้รับการปกป้อง และมีเพียง 0.8% เท่านั้นที่ได้รับการปกป้องสูงสุดจากประชาคมระหว่างประเทศ

 

  • อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาฉบับนี้ยังอยู่ในระหว่างรอการให้สัตยาบันจากนานาชาติ โดยมันจะถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลจากอย่างน้อย 60 ประเทศประกาศให้การรับรองเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะมีการผลักดันได้จนสำเร็จหรือไม่

 

📍 สาระสำคัญของ Ocean Climate Action Plan คืออะไร 

 

  • Ocean Climate Action Plan คือแผนการดำเนินงานที่คณะกรรมการนโยบายมหาสมุทร (Ocean Policy Committee) ของสหรัฐฯ เป็นผู้ทำจัดขึ้นมา โดยมีเป้าหมายหลักๆ คือการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรในการต่อสู้กับภาวะโลกรวน พร้อมส่งเสริมความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนเศรษฐกิจมหาสมุทร (Ocean Economy) ที่มีความยั่งยืน

 

  • Ocean Climate Action Plan มีเป้าหมายหลัก 3 ประการด้วยกันคือ 

 

  1. สร้างอนาคตที่เป็นกลางทางคาร์บอน โดยจะต้องไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกรวน

 

  1. เร่งใช้แนวทางแก้ปัญหาแบบพึ่งพาธรรมชาติ (Nature-based) เพื่อปกป้องพื้นที่ชายฝั่งและลดภัยคุกคามจากภาวะโลกรวน พร้อมปกป้องชุมชนและระบบนิเวศจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

 

  1. เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับชุมชน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทร ผ่านการพัฒนาโซลูชันที่สามารถช่วยให้ชุมชนปรับตัวและเติบโตได้

 

  • นอกจากนี้รัฐบาลของไบเดนยังระบุด้วยว่า ทางการได้เริ่มดำเนินการตามเป้าหมายที่ได้มีการกำหนดไว้ก่อนหน้านี้แล้วหลายอย่าง อาทิ การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่งและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติ พร้อมขยายพื้นที่คุ้มครองมหาสมุทร ขณะเดียวกันทางการยังได้แบ่งผลประโยชน์จากการลงทุนของรัฐบาลกลาง 40% เพื่อนำไปแก้ปัญหาด้านโลกรวนที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ด้อยโอกาส และดำเนินการตามเป้าหมายการผลิตพลังงานจากลมนอกชายฝั่งให้ได้ 30 กิกะวัตต์ภายในปี 2030 รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษจากการขนส่งระหว่างประเทศเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และส่งเสริมความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของชุมชน ชนเผ่า และชนพื้นเมือง

 

📍 เดินหน้าบรรลุเป้าหมาย 30×30

 

  • ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เกือบ 200 ประเทศเห็นพ้องกำหนดเป้าหมายในการปกป้องและอนุรักษ์ผืนดิน 30% และทะเล 30% ทั่วโลกภายในปี 2030 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับก่อนหน้าที่เคยให้คำมั่นว่าจะปกป้องผืนดิน 17% และทะเล 7% เพื่อป้องกันไม่ให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไปมากกว่านี้

 

  • แต่หากดูเฉพาะในสหรัฐฯ จะพบว่า มีพื้นที่ดินประมาณ 12% ของประเทศที่ได้รับการคุ้มครอง ส่วนพื้นที่ทางทะเลอยู่ที่ 23% ซึ่งเหลืออีกแค่เพียง 7% เท่านั้น 

 

  • ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาฝ่ายบริหารของไบเดนกล่าวว่า รัฐบาลเตรียมสั่งการให้ จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาริเริ่มการกำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำแห่งชาติแห่งใหม่บริเวณรอบหมู่เกาะห่างไกลแปซิฟิก (Pacific Remote Islands) ภายใน 30 วัน ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐฯ บรรลุเป้าหมายในการปกป้องพื้นที่ 30% ของมหาสมุทรในประเทศได้สำเร็จ

 

  • อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า เป้าหมายที่ระดับ 30% นี้ยังถือว่าต่ำมาก และควรเพิ่มให้ถึงระดับ 50% เพื่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติในระยะยาว โดยข้อมูลจาก Greenpeace ระบุว่า ปัจจุบันเหลือผืนป่าบนโลกเพียงแค่ 15% และมหาสมุทรเพียง 3% เท่านั้นที่ยังไม่ถูกมนุษย์เข้าไปตักตวงทรัพยากร 

 

📍 ผู้สนับสนุนว่าอย่างไรบ้าง

 

  • กลุ่มอนุรักษ์ได้ขานรับและยกย่องแผนการของไบเดน แต่ในขณะเดียวกันก็กังวลว่ารัฐบาลจะไม่เอาจริงกับการยุติการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลในทะเล รวมถึงปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก

 

  • เลวิสันกล่าวว่า Oceana ชื่นชมความตั้งใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะยกระดับความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม แต่ขณะเดียวกันก็แสดงความกังวลว่า ‘สิ่งที่สำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียวที่ควรทำ’ หรือก็คือการยุติสัญญาเช่าที่ดินรัฐและใบอนุญาตสำหรับการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จะเป็นเพียงแค่ ‘เชิงอรรถ’ เล็กๆ แทนที่จะเป็นหัวข้อใหญ่ที่รัฐบาลเร่งแก้ไข

 

  • วิกกี เอ็น สปรูอิล ประธานและซีอีโอของ New England Aquarium กล่าวว่า เศรษฐกิจมหาสมุทรที่มีความรับผิดชอบตาม Action Plan ของไบเดนนั้นจะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้ประเทศสามารถแก้วิกฤตโลกรวน และรับมือกับปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลที่เพิ่มขึ้นได้ 

 

  • “ตอนนี้เป็นเวลาที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงินแห่งอนาคต ซึ่งทรัพยากรของมหาสมุทรจะถูกใช้เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานสะอาดและความมั่นคงทางอาหารของเรา ในขณะเดียวกันเราก็ต้องปกป้องชีวิตสัตว์ทะเลและแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญ ตลอดจนแนวชายฝั่งและชุมชน” สปรูอิลกล่าว

 

แม้แผนการนี้จะดูยิ่งใหญ่ แต่ก็เป็นเพียงแค่ก้าวเล็กๆ ของประเทศเพียงหนึ่งประเทศในภารกิจกอบกู้มหาสมุทร ซึ่งในที่สุดแล้วต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายทั่วโลก

 

ภาพ: Andrei Armiagov Via Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising