– genic
a combining form often corresponding to nouns ending in -gen or -geny, with the following senses: “producing or causing”
ทุกอย่างล้วนมีสาเหตุที่ ‘ก่อให้เกิด’ เมื่อคำว่า -genic ต่อท้าย มักหมายถึงการก่อให้เกิดสิ่งนั้นๆ เช่น Comedo (สิวอุดตัน) บวกเข้ากับ -genic กลายเป็น Comedogenic จะหมายถึงก่อให้เกิดสิวอุดตัน
เมื่อ Obese (อ้วน) มารวมกับ -genic กลายเป็น Obesogenic จึงหมายถึงการก่อให้เกิดความอ้วน
สาเหตุที่ก่อให้เกิดความอ้วนนั้นมีหลากหลายปัจจัย แม้คนส่วนใหญ่จะคิดว่า ‘โรคอ้วน’ เกิดจากกินเยอะ ออกกำลังกายน้อย แต่แท้จริงแล้วความอ้วนไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบนั้น พบว่าคนอ้วนหลายคนไม่ได้กินอาหารปริมาณเยอะ คนอ้วนหลายคนออกกำลังกายมากกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป คนอ้วนหลายคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่ก็ยังคงมีปัญหากับเครื่องชั่งน้ำหนักและไซส์กางเกง
งานวิจัยระยะหลังพบว่าความอ้วนนั้นเป็นปัญหาที่ซับซ้อน การบอกให้คนที่กำลังมีปัญหาน้ำหนักตัว ‘กินน้อยลง ออกกำลังกายมากขึ้น’ ไม่ใช่ทางออก หากแต่ต้องเข้าใจว่าปัญหาความอ้วนนั้นเกิดจากปัจจัยอย่างพันธุกรรม ประชากรแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ระดับของฮอร์โมน สภาพจิตใจ คุณภาพการนอน รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่
‘Obesogenic environment’ หมายถึงสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้น้ำหนักขึ้น และไม่สนับสนุนให้น้ำหนักลด มีงานวิจัยจากนอร์เวย์พบว่าในคนที่มีพันธุกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนนั้น การต้องอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมความอ้วนจะส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอีก 7.1 กิโลกรัม หากเทียบกับสิ่งแวดล้อมปกติทั่วไป
ในระดับภาพมุมกว้าง สิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมต่อความอ้วนนั้นหมายรวมถึง
- เมืองที่วางโครงสร้างพื้นฐานและผังเมืองให้เหมาะกับการขับรถหรือใช้รถโดยสารสาธารณะ แต่ไม่เหมาะกับการเดินหรือขี่จักรยาน
- มีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ส่งเสริมให้วิ่งหรือเดินผ่อนคลายตามท้องถนนได้ เช่น อากาศร้อน มลพิษทางอากาศหนาแน่น หรือเสี่ยงต่อการถูกฉกชิงวิ่งราว
- การขาดแคลนพื้นที่สาธารณะสำหรับออกกำลังกาย หรือจัดว่าไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร
- ความหนาแน่นของฟาสต์ฟู้ดหรือร้านอาหารที่นำเสนอ Calorie-dense foods (อาหารที่ให้พลังงานสูง แต่สารอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่ำ) เป็นทางเลือกจำนวนมากในละแวกบ้าน
ซึ่งหากคิดตามนิยาม 4 ข้อนี้ กรุงเทพฯ ก็น่าจะจัดเป็นเมืองใหญ่ที่ Obesogenic ไม่น้อย
แต่การจะไปเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในระดับแมคโครคือเมืองที่อาศัยอยู่นั้นเป็นเรื่องที่ยากเกินไปสำหรับประชาชนอย่างเราๆ (คงต้องฝากความหวังไว้กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่) ก้าวแรกที่อาจจะเริ่มต้นได้ง่ายกว่าคือการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมระดับไมโครที่บ้านของเราเองให้ลดความ Obesogenic ลงบ้าง เช่น
- กำจัดอาหารที่ส่งเสริมความอ้วน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม น้ำหวาน
- สะสมอาหารที่ดีต่อสุขภาพไว้เป็นตัวเลือกยามหิว เช่น ผัก ผลไม้ นมถั่วเหลืองรสจืด โยเกิร์ตรสธรรมชาติ ถั่วเปลือกแข็งไม่ปรุงรส
- จัดระเบียบครัวให้มีเสน่ห์ ชวนให้อยากใช้เวลาทำอาหารกินเองที่บ้าน พบว่าการทำอาหารกินเองที่บ้านบ่อยครั้งจะส่งผลดีต่อรอบเอวมากกว่า
- เลือกใช้จานชามขนาดเล็ก ซึ่งพบว่ามีผลต่อปริมาณอาหารที่รับประทาน
- บริเวณโต๊ะอาหารไม่มีโทรทัศน์หรืออุปกรณ์ให้ความบันเทิงที่เบี่ยงเบนความสนใจจนเกิดการกินแบบขาดสติ (Mindless Eating)
- จัดพื้นที่โล่งเล็กๆ ที่เพียงพอสำหรับการขยับตัวออกกำลังกายง่ายๆ ตามคลิปในยูทูบ
- ในห้องนอน เลือกผ้าม่านที่ปิดได้มืดสนิทยามค่ำคืนเพื่อให้นอนได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อการลดน้ำหนัก
นอกจากสิ่งแวดล้อมที่บ้านแล้ว สิ่งแวดล้อมบนหน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์ที่เราเปิดใช้งานอยู่ทุกวันก็มีส่วนในการส่งเสริมความอ้วนได้เช่นกัน ลองสำรวจสิ่งแวดล้อมบนโลกออนไลน์ของคุณนะคะว่าเพจที่คุณกดไลก์ คนที่คุณฟอลโลว์ หรือแฮชแท็กที่กำลังตามติด มีส่วนส่งเสริมให้คุณน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด
ความอ้วนนั้นเกิดจากหลายปัจจัย ปัจจัยอย่างรหัสพันธุกรรมเป็นสิ่งที่เราแก้ไขไม่ได้ (ณ ปัจจุบัน) แต่สิ่งแวดล้อมรอบตัวบางอย่างเรายังพอจะปรับได้ ชวนกันมาเปลี่ยน Obesogenic environment เป็น Slimgenic environment สร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพดีที่ยั่งยืนกันเถอะค่ะ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- BMJ 2019;366:l4067
- Lake, Amelia, and Tim Townshend. “Obesogenic environments: exploring the built and food environments.” The Journal of the Royal society for the Promotion of Health 126.6 (2006): 262-267.