วันนี้ (2 เมษายน) ที่ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวก่อนการเข้าประชุมสภากรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดจากเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ภาพรวมของกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว มีเพียงจุดเดียวที่จตุจักร ยังคงต้องเดินหน้าค้นหาผู้รอดชีวิตควบคู่กับการรื้อถอนไปพร้อมกัน ขณะเดียวกันอาคารส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ได้รับการตรวจสอบแล้ว ส่วนใหญ่สามารถใช้งานได้ปกติ แต่ยังมีอาคารบางส่วน ที่กรุงเทพมหานครเข้าไปตรวจสอบยังไม่อนุญาตให้ใช้อาคาร
ชัชชาติกล่าวว่า การค้นหาผู้รอดชีวิตภายในอาคาร สตง. ที่ถล่มนั้น แม้จะเลย 72 ชั่วโมงมาแล้ว แต่การกู้ชีพค้นหาผู้รอดชีวิตยังต้องทำอยู่ แต่มีการปรับยุทธวิธีด้วยการใช้เครื่องจักรเข้ารื้อถอนมากขึ้น ขณะนี้สามารถขยับคอนกรีตได้แล้วมากกว่า 100 ตันแล้ว
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เจาะช่องอุโมงค์ไว้หลายจุดแล้ว เพื่อจะเร่งหาผู้รอดชีวิตให้ได้มากที่สุดในวันนี้ หลังจากนั้น 18.00 น. วันนี้จะมีการประชุมอีกครั้ง เพื่อนำเครื่องจักรใหญ่เข้าพื้นที่เพิ่มขึ้น และรื้ออาคารด้านบนให้มากขึ้น แต่ก็ต้องดูว่ามีผู้รอดชีวิตอยู่หรือไม่
ถ้ารื้ออาคารด้านบนทีมกู้ชีพค้นหาผู้รอดชีวิตก็ต้องหยุดปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัย แต่ถ้าระหว่างรื้อ พบสัญญาณชีพ ทีมกู้ชีพก็จะเข้าพื้นที่ จากการสำรวจของทีมกู้ภัยยืนยันแล้วว่า พบ10กว่าศพที่ยังติดค้างในอาคาร ยังไม่สามารถนำร่างออกมาได้ ทั้งนี้ การทำงานของทีมกู้ชีพที่ผ่านมาถือว่าทำมาถูกทางแล้ว
ชัชชาติย้ำว่า การช่วยชีวิตและการรื้อถอนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ช่วงแรกเป็นการช่วยชีวิตอย่างเดียว จากนั้นผ่านไป 2 วันจะเป็นการเริ่มรื้อถอน ทั้ง 2 อย่างแยกออกจากกันไม่ได้ แต่จะเป็นการปรับยุทธวิธี เพิ่มเครื่องจักรหนักเข้าไป อาจจะกระทบผู้อยู่ในอาคารบ้าง แต่การค้นหาผู้รอดชีวิตยังต้องทำต่อไป จะไม่มีจุดแบ่งที่ระบุว่าหยุดค้นหาชีวิตแล้วรื้อถอน จะเป็นการทำไปด้วยกัน
ซึ่งจากการคุยกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่ทำงานมา 40 ปี ยอมรับว่าเหตุการณ์นี้หนักที่สุด เพราะอาคารปูนสูง 30 ชั้น ถล่มลงมาพร้อมกัน
ขณะที่ ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการเยียวยาสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวว่า หากเป็นห้องที่อยู่ในอาคารที่ กทม. ห้ามใช้อาคารถือเป็นความเสียหายทั้งหมดจะได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 49,500 บาท ส่วนห้องที่เสียหายบางส่วนก็จะต้องมีการประเมินก่อนโดยวิศวกร และสำนักงานเขตรับรองว่าจะต้องเบิกจ่ายเท่าไรในอัตราไม่เกิน 49,500 บาท
ส่วนผู้ที่เป็นผู้ป่วยในจะเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ส่วนผู้ป่วยนอกก็จะมีค่าใช้จ่ายที่เบิกให้ในแต่ละรายพร้อมทั้งค่าปลอบขวัญ ในขณะเดียวกันถ้าอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาชีพมีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวก็ให้เก็บหลักฐานเป็นรูปถ่ายและนำไปแจ้งได้ที่สำนักงานเขต
ทั้งนี้ ประชาชนที่ที่พักอาศัยหรืออาคารได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวสามารถถ่ายภาพความเสียหายนำมาประกอบการแจ้งความ โดยสามารถแจ้งได้ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานคร บริเวณอาคาร สตง. ถล่ม หรือที่สำนักงานเขต ก่อนนำเอกสารไปยื่นคำร้องขอการเยียวยาอีกครั้ง