×

ผอ.สถาบันวัคซีนฯ แจงไทยไม่ร่วม COVAX เพราะมีโอกาสไม่ได้วัคซีน-กฎหมายไม่เอื้อ แต่ตอนนี้แก้กฎหมายแล้ว อยู่ระหว่างเจรจาใหม่

11.02.2021
  • LOADING...
ผอ.สถาบันวัคซีนฯ แจงไทยไม่ร่วม COVAX เพราะมีโอกาสไม่ได้วัคซีน-กฎหมายไม่เอื้อ แต่ตอนนี้แก้กฎหมายแล้ว อยู่ระหว่างเจรจาใหม่

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ THE STANDARD NOW กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยตัดสินใจซื้อวัคซีนจากผู้ผลิตโดยตรง ไม่เข้าร่วม COVAX คือในขณะนั้นช่วงเดือนตุลาคม-พฤจิกายน แผนการจัดหาวัคซีนของ COVAX มีเพียงวัคซีนจาก AstraZeneca ซึ่ง AstraZeneca ได้ร่วมมือกับประเทศไทยอยู่แล้วในการถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงตัดสินใจไม่ทำข้อตกลงกับ COVAX เพราะมันคือวัคซีนตัวเดียวกัน รวมถึงช่วงเวลาที่ส่งมอบก็ไม่ต่างกัน 

 

ส่วนวัคซีน Pfizer มาเข้าร่วม COVAX ทีหลังในเดือนมกราคม และได้รับวัคซีนในจำนวนจำกัดประมาณ 40 ล้านโดส ถ้าตามข้อมูลของ COVAX จะจัดให้กับ 92 ประเทศที่ได้รับการสนับสนุนแจกจ่ายฟรี เพราะฉะนั้น 40 ล้านโดส จำนวน 92 ประเทศ ก็ลองนึกดูว่าแต่ละประเทศจะได้จำนวนเท่าไร รวมถึงยังขึ้นอยู่ความเหมาะสมของแต่ละประเทศด้วยว่าจะสามารถรับวัคซีนของ Pfizer ไปบริหารจัดการได้หรือไม่

 

ส่วนประเด็นเรื่องการจองวัคซีนล่วงหน้าเป็นการขัดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของราชการ นพ.นคร กล่าวว่า ได้มีการแก้ในเรื่องของการจองวัคซีนล่วงหน้าแล้ว ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีกฎหมายในการรองรับการจองวัคซีนล่วงหน้าโดยที่มีโอกาสที่จะไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งการจองผ่าน COVAX มีการระบุเงื่อนไขว่า ‘มีโอกาสจะไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนช้า’ เพราะฉะนั้นวิธีการก็ต้องไปออกช่องทางกฎหมายที่ทำให้จองวัคซีนล่วงหน้าได้

 

เมื่อออกกฎหมายแล้ว ก็มีการใช้กฎหมายดังกล่าวในการจองวัคซีนล่วงหน้าจาก AstraZeneca พอจองได้สำเร็จ จะกลับมาดู COVAX ก็พบว่าซ้ำกับวัคซีนที่จองกับ AstraZeneca แล้ว

 

“ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าไทยไม่เข้าร่วม COVAX เรายังอยู่ในช่วงของการดูเงื่อนไขของวัคซีนต่างๆ ที่พอจะส่งมอบให้เราได้ในช่วงเวลาหลัง โดยเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีการเจรจาต่อเนื่องกับทางด้าน COVAX Facility อยู่ แต่ที่สำคัญคือในทางกฎหมาย ขณะนี้ทำได้แล้วในการจองล่วงหน้า” นพ.นครกล่าว

 

นพ.นคร ยังกล่าวถึงแผนการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ว่า ทางทฤษฎีต้องฉีดวัคซีนราว 60-70% ของประชากรทั้งหมด จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) แต่ในทางปฏิบัติ แผนงานที่วางไว้คือ จัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการของคนทั้งหมดที่ต้องการฉีดวัคซีน แต่คำว่าทั้งหมดก็มีหลักเกณฑ์ ปัจจุบันวัคซีนยังไม่อนุญาตให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากยังไม่เคยมีการทดลองมาก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อตัดออกไปก็จะเหลือประชากรจำนวน 50 ล้าน

 

ถ้าวางเป้าว่าฉีดให้ได้ตามต้องการมากที่สุดเท่าที่ประชาชนจะเข้ามารับวัคซีนได้ จากจำนวนวัคซีนที่เราหาได้ในขณะนี้เบื้องต้น 63 ล้านโดส ก็จะสามารถประเมินได้ว่ามีผู้ประสงค์รับวัคซีนมากเท่าไร และจะประเมินได้ว่าจะต้องหาวัคซีนในไตรมาสที่ 2 และ 3 เพิ่มอีกมากน้อยเท่าไร ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วพบว่าในไตรมาสที่ 2 และ 3 ยังมีวัคซีนอีกหลายเจ้าให้พิจารณาได้

 

“เราสามารถกระจายวัคซีน 63 ล้านโดสให้ได้อย่างกว้างขวาง แม้ว่าในช่วงแรกอาจจะมีการติดขัดเล็กน้อย เนื่องจากต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ พื้นที่ที่มีความสำคัญ แต่เมื่อเริ่มกระจายวัคซีนได้เต็มที่ช่วง 1-2 เดือนแล้ว จะไม่มีข้อจำกัดว่าต้องฉีดให้ใครก่อน จะสามารถทยอยฉีดให้ทุกคนได้” นพ.นครกล่าว

 

ท้ายที่สุด นพ.นคร กล่าวถึงแผนการกระจายและฉีดวัคซีนว่า ระยะแรกที่มีวัคซีน 2 ล้านโดสจากซิโนแวค อย่างไรก็ทำได้อยู่แล้ว ในล็อตแรกจำนวน 2 แสนโดส ถ้ามาปลายกุมภาพันธ์ก็จะเริ่มฉีดได้ช่วงต้นมีนาคม โดยจะเริ่มในพื้นที่ที่มีการระบาด และทยอยไปที่อื่นตามแผน

 

ส่วนล็อตใหญ่จาก AstraZeneca ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการวางแผนว่าการกระจายวัคซีนอยู่ที่ 10 ล้านโดสต่อเดือน เพราะฉะนั้น 60 กว่าโดสของ AstraZeneca จะใช้เวลา 6 เดือน ทั้งนี้เมื่อดำเนินการจริง ต้องดูว่าเราจะสามารถดำเนินการได้เท่าไร รวมถึงขึ้นอยู่กับการมีประชาชนลงทะเบียนเข้ามารับวัคซีนด้วย

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising