×

กรมควบคุมโรคเสียใจ หลังพบพยาบาลติดโควิดเสียชีวิตแม้ฉีด Sinovac ครบ 2 เข็ม เผยบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิดแล้ว 880 ราย เสียชีวิต 7 ราย มี 2 รายฉีดวัคซีน Sinovac แล้ว

โดย THE STANDARD TEAM
11.07.2021
  • LOADING...
ฉีด Sinovac ครบ 2 เข็ม

วันนี้ (11 กรกฎาคม) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงรายละเอียดหลังมีข่าวพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งติดเชื้อโควิดและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยพบว่าผู้เสียชีวิตได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 โดสแล้ว โดย นพ.โสภณกล่าวว่า

 

“ในช่วงแรกผมต้องถือโอกาสแสดงความเสียใจกับน้องพยาบาลที่ได้เสียชีวิตเมื่อวาน ซึ่งเราได้รับทราบข่าวทางโซเชียลมีเดียเมื่อเช้า หลังติดเชื้อโควิดจากการปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ขอแสดงความเสียใจมายังญาติพี่น้องของคุณพยาบาลด้วย แล้วก็ถือว่าเป็นความเสียสละที่น้องพยาบาลได้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท และติดโควิดอยู่ในการดูแลรักษาพยาบาลของทีมแพทย์ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม จนกระทั่งถึงเมื่อวานนี้”

 

นพ.โสภณกล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวอยู่ในความสนใจของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในเรื่องวัคซีนโควิด จากการตรวจสอบข้อมูลการรับวัคซีนเบื้องต้น พบว่าพยาบาลรายนี้ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกในเดือนเมษายน และฉีดเข็มที่ 2 ในช่วงเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตามด้วยการปฏิบัติงานที่ดูแลผู้ป่วยโควิดอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนมิถุนายน ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อจากการปฏิบัติงาน และด้วยประวัติเสี่ยงคือภาวะอ้วน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง

 

อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด 2 เข็มเพียงพอหรือไม่ ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทางอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ไวรัสวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่าการฉีดวัคซีน Sinovac 2 เข็ม มีข้อมูลสนับสนุนว่าภูมิคุ้มกันจะลดลงหลังจากที่ฉีดวัคซีนไประยะหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการเสนอให้มีการฉีดวัคซีนกระตุ้น ถือเป็นการฉีดเข็มที่ 3 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่มีความเสี่ยง มีหน้าที่ให้การดูแลผู้ป่วยโควิด

 

ซึ่งจะมีการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนที่แตกต่างจากชนิดแรก อาจจะเป็นชนิดไวรัลเวกเตอร์ (AstraZeneca) หรือจะเป็นชนิด mRNA ซึ่งในอนาคตก็มีวัคซีนที่น่าจะได้รับการบริจาคเข้ามาคือ Pfizer ซึ่งข้อเสนอของคณะกรรมการด้านวิชาการนี้ก็จะนำไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม รายละเอียดจะเป็นไปตามที่ทางคณะกรรมการวิชาการได้ให้ข้อเสนอแนะไว้

 

นพ.โสภณเปิดเผยว่า ในรอบการระบาดเดือนเมษายน – 10 กรกฎาคม มีรายงานผู้ติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 880 ราย ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีน 173 ราย (คิดเป็น 19.7%) ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรหญิง โดย 54% เป็นพยาบาลหรือผู้ช่วยพยาบาล รองลงมาคือวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ป่วย และส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน อายุประมาณ 20-29 ปีเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือ 30-39 ปี และลดหลั่นกันไปตามอายุที่มากขึ้น 

 

ในจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด 880 ราย มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และมี 5 รายที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนช่วงที่ติดเชื้อจนเสียชีวิต ขณะที่ 2 ราย มีประวัติการรับวัคซีน (1 รายได้รับ Sinovac 1 เข็ม และอีก 1 รายได้รับ Sinovac 2 เข็ม) 

 

จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา พบว่าในภาพรวมมีบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 97% จากเป้าหมายประมาณ 7 แสนคน พบว่าสถิติการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อโควิดของบุคลากรทางการแพทย์มีดังนี้

 

  • ฉีด Sinovac 1 เข็ม จำนวน 22,062 คน ติดเชื้อ 68 คน (308 : 100,000 ราย) ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 67 คน เสียชีวิต 1 คน

 

  • ฉีด Sinovac 2 เข็ม จำนวน 677,348 คน ติดเชื้อ 618 คน (91 : 100,000 ราย) ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 597 คน อาการปานกลาง 19 คน อาการรุนแรง (ใช้ออกซิเจน High Flow) 1 คน เสียชีวิต 1 คน (พยาบาลที่เป็นข่าว)

 

  • ฉีด AstraZeneca 1 เข็ม 66,913 คน ติดเชื้อ 45 คน (67 : 100,000 ราย) ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 43 คน อาการปานกลาง 1 คน อาการรุนแรง 2 คน (ใช้ออกซิเจน High Flow และใส่ท่อช่วยหายใจอย่างละ 1 คน) ไม่มีผู้เสียชีวิต

 

ขณะที่บางส่วนอยู่ระหว่างการตรวจสอบกับทางโรงพยาบาลต้นสังกัด เนื่องจากชื่อที่มีการแจ้งเข้ามาอาจจะมีการคลาดเคลื่อน

 

“ต้องเรียนว่าบุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับวัคซีนครบตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน มีส่วนน้อยที่ได้รับหลังจากนั้น เมื่อเกิดการระบาดในระลอกเดือนเมษายน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว อย่างไรก็ตามข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น เนื่องจากมีการจัดทำเพื่อจะได้สื่อสารกับประชาชนในช่วงนี้ ก็ต้องขอยืนยันว่าคนที่ฉีดวัคซีนมีโอกาสที่จะป่วยรุนแรงน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัสในช่วงเดือนมิถุนายนต่อมาถึงกรกฎาคมที่มีสายพันธุ์เดลตาเป็นหลัก ทำให้การป้องกันโดยวัคซีน Sinovac อาจจะไม่ได้ผลดีเท่ากับเชื้อเดิม ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว 2 เข็ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วย คณะกรรมการวิชาการก็ได้ให้ความเห็นว่าควรจะได้รับวัคซีนกระตุ้นอีก 1 เข็ม ซึ่งตอนนี้เราก็เตรียมวัคซีน AstraZeneca ซึ่งสามารถที่จะดำเนินการได้ในสัปดาห์หน้าในการฉีดเป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น ส่วนท่านที่ประสงค์ที่จะฉีดวัคซีน mRNA หรือ Pfizer ก็ต้องรออีกสักระยะหนึ่ง” นพ.โสภณกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X