วันนี้ (7 สิงหาคม) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,838 ราย โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็น กรุงเทพฯ และปริมณฑล 9,015 ราย 4 จังหวัดภาคใต้ 813 ราย จังหวัดอื่น (67 จังหวัด) 11,083 ราย เรือนจำและที่ต้องขัง 923 ราย
โดยจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 4 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดเดินทางกลับต่างจังหวัดและเข้าระบบการดูแลรักษาแล้ว 94,664 คน โดยมากกว่าครึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคกลางและตะวันออก และภาคใต้ ตามลำดับ
ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สาเหตุที่ผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงนี้มาจาก 3 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 ผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือพื้นที่ระบาด เพื่อกลับภูมิลำเนาและทำการรักษา โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่าง โดยกลุ่มนี้หากมีการสื่อสารและเร่งติดต่อประสานงานล่วงหน้าไปที่โรงพยาบาลก่อน จะช่วยลดการแพร่เชื้อลงได้
ส่วนที่ 2 คนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาก่อนหน้านี้โดยไม่ได้ประสานงานล่วงหน้ากับทางโรงพยาบาล และคิดว่าตนเองไม่ติดเชื้อหรือไม่มีความเสี่ยง แต่ในความเป็นจริงคือคนที่มีความเสี่ยง เช่น ติดเชื้อแล้วแต่ไม่มีอาการและไปแพร่เชื้อต่อให้คนที่บ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นได้
ส่วนที่ 3 การติดเชื้อภายในจังหวัดที่มีโรงงานและสถานประกอบการค่อนข้างมาก และอาจจะมีคนที่ติดเชื้ออยู่ตอนนี้
“เพราะฉะนั้นใน 3 ส่วนนี้ต้องพยายามควบคุมให้ได้ โดยคนที่เดินทางไปต่างจังหวัด กลับภูมิลำเนา หรือมาทำธุรกิจในพื้นที่ที่มีการระบาดหนัก ต้องคิดเสมอนะครับว่าตัวเองมีความเสี่ยงแล้ว ต้องปฏิบัติตัวเหมือนอยู่ใกล้คนที่ติดเชื้อตลอดเวลา ก็จะได้ลดการติดเชื้อลงได้”
สำหรับสถานการณ์ในช่วงสองสัปดาห์ข้างหน้า ถึงแม้ว่าการคาดการณ์จะระบุไว้ว่าจะถึงจุดสูงสุดของการระบาด (ประมาณ 35,000 ราย) แต่หากมีการป้องกันตนเองได้ดี และสามารถดูแลไม่ให้คนในครอบครัวติดเชื้อได้ ก็คงจะไม่เห็นสถานการณ์ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อไปถึงจุดสูงสุด นั่นหมายความว่าต้องป้องกันตนเองและคนในครอบครัว และเร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุรวมถึงกลุ่มเสี่ยงด้วย