วันที่ 7 มกราคม 2564 คือวันแรกที่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เปิดตัวอย่างเป็นทางการ หลังการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ซึ่งนับเป็นการควบรวมกิจการครั้งประวัติศาสตร์ และทำให้ NT กลายเป็นบริษัทที่มีโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรมากที่สุดด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 3 แสนล้านบาท พร้อมสนับสนุนภารกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านดิจิทัลของประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ
1 ปีผ่านไปหลังการควบรวมกิจการ NT ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้ายกระดับการสื่อสารและดิจิทัลให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เรามาพูดคุยกับ สมยศ ธนพิรุณธร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ที่จะมาเปิดเผยถึงภารกิจใหญ่ของ NT ในอนาคต
‘ให้บริการอย่างไร้รอยต่อ’ ภารกิจแรกของ NT หลังการควบรวม
สำหรับภาพรวมของการควบรวมกิจการของ NT ในขวบปีแรก ถือได้ว่าเป็นไปอย่างราบรื่นและค่อยเป็นค่อยไป โดยสมยศกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้บริการฐานลูกค้ากลุ่มเดิมของทั้งสององค์กรให้ ‘ไร้รอยต่อมากที่สุด’
“ภารกิจหลักในปีแรกตั้งแต่วันที่เราควบรวมกิจการยอมรับว่าต้องใช้เวลาในการปรับตัว และเรายังคงให้บริการจากฐานลูกค้าเดิมของทั้งสององค์กรก่อน ในช่วงแรกลูกค้าอาจจะยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของ NT มากนัก แต่หลังจากผ่านไประยะหนึ่ง เราได้นำบริการที่มีโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายโทรคมนาคมที่ซ้ำซ้อนของทั้งสององค์กรมาจัดสรรใหม่ ซึ่งช่วยลดต้นทุนและสามารถให้บริการที่ครอบคลุมได้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันลูกค้า NT จึงได้รับประสบการณ์การใช้งานในบริการสื่อสารของเราอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
“แต่อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าธุรกิจโทรคมนาคมไม่เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ เพราะโทรคมนาคมคือการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน การควบรวมกันเป็นหนึ่งอาจมีข้อดีในการช่วยลดต้นทุน แต่หากระบบเครือข่ายขัดข้องขึ้นมาโดยที่ไม่มีระบบเครือข่ายสำรอง อาจจะทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างกันเกิดขาดหายขึ้นมาได้ ดังนั้นการที่มีเครือข่ายที่ยังคงแยกกันให้บริการอยู่จึงเป็นอีกจุดแข็งหนึ่งของ NT ที่จะสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเรามีเครือข่ายที่สำรองซึ่งกันและกัน และอย่าลืมว่าภาคธุรกิจนั้น ระบบสื่อสารข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถขาดหายได้ในระหว่างการใช้งาน เช่น ภาคธุรกิจน้ำมัน หากระบบล่มไป 1 วินาที อาจสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าหลักร้อยๆ ล้านบาทได้ ดังนั้นการมีระบบเครือข่ายสำรองจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก
“เราเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เราก็ต้องลงทุนเพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อให้ทุกธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ประชาชนได้โอกาสในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม โดยการยึดมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น” สมยศกล่าว
หลอมรวมเพื่อความแข็งแกร่ง พร้อมขับเคลื่อนภารกิจดิจิทัลของประเทศ
นอกจากจะมีภารกิจหลักเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนของภาครัฐ เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนนโยบายของรัฐในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศแล้ว อีกด้านหนึ่ง NT ยังมีภารกิจใหญ่ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าไปได้ภายใต้ความท้าทายที่หลากหลายด้วย
“เราเกิดมาจาก 2 หน่วยงานที่มีความเข้มแข็งทั้งคู่ การรวมกันนี้จะทำให้ศักยภาพในการให้บริการของ NT สูงมากขึ้น โดยถือครองโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรที่สุดด้วย 7 จุดเด่นที่เหนือชั้น ได้แก่
- เสาโทรคมนาคมกว่า 25,000 ต้น ทั่วประเทศ
- เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศเชื่อมต่อไปยังทุกทวีป
- ถือครองคลื่นความถี่หลักเพื่อให้บริการรวม 6 ย่าน มีปริมาณ 600 เมกะเฮิรตซ์
- ท่อร้อยสายใต้ดินมีระยะทางรวม 4,600 กิโลเมตร
- สายเคเบิลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร
- Data Center 13 แห่งทั่วทุกภูมิภาค
- ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงจากทุกประเทศทั่วโลก ไร้ข้อจำกัดแบบเดิม เชื่อมโยงโลกการสื่อสารเข้าด้วยกัน
“และขอเสริมความมั่นใจว่าโครงข่ายเน็ตเวิร์กต่างๆ ที่ NT มีให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการด้านสื่อสารข้อมูล Network Solution ไม่ว่าจะเป็นบริการ NT Corporate Internet อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับองค์กรที่ออกแบบความเร็วได้ตามความต้องการของธุรกิจ บริการ NT SD-WAN เทคโนโลยีเชื่อมต่อโครงข่ายสื่อสารข้อมูลระหว่างสาขาด้วยเทคโนโลยี Software Defined Wide Area Network บริการ NT Direct Cloud Connect เชื่อมต่อระหว่างข้อมูลธุรกิจสู่ Cloud ระดับโลกด้วย Private Network หรือ NT IIG บริการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเกตเวย์สู่สากล เป็นต้น
“บริการต่างๆ เหล่านี้เกิดจากการนำจุดแข็งของ 2 องค์กรมารวมกัน จึงเป็นการช่วยเสริมศักยภาพให้กับประเทศ และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจระดับชาติหรือระดับครัวเรือน เพราะในระยะยาวเมื่อเราลดต้นทุนลงไปได้ สุดท้ายผู้ใช้บริการก็จะได้ประโยชน์จากค่าบริการที่ลดลง เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่คือรัฐบาล ต้นทุนที่ถูกลงก็จะสะท้อนไปสู่ค่าบริการที่ลดลงในท้ายที่สุด”
นอกจากนี้สมยศยังกล่าวถึงภารกิจอีกหลากหลายด้านของ NT ทั้งการแก้ปัญหาเรื่องสายสื่อสารที่พันกันยุ่งทั่วประเทศ โดยจะปรับเปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้ให้บริการท่อร้อยสายใต้ดิน ซึ่งผู้ให้บริการสื่อสารอื่นๆ สามารถมาใช้บริการได้ การลงทุนในระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือ Low Earth Orbit เพื่อเพิ่มศักยภาพการสื่อสารของประเทศในอนาคต นอกจากนี้ยังมีภารกิจในการเป็นสะพานเชื่อมต่อเครือข่ายดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน โดยลงทุนกับ Gateway ที่จะเชื่อมเน็ตเวิร์กไปยังต่างประเทศอีกด้วย
“ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเจอกับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดที่ทำให้หลายคนต้อง Work from Home กันมากขึ้น เราเห็นเทรนด์การสื่อสารดิจิทัลที่มีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้นปี 2565 จะเป็นปีที่ธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเรื่อง Cloud ซึ่ง NT ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทุกด้านที่เรามีอย่างต่อเนื่อง และแน่นอนว่าเราจะพยายามหาพันธมิตรที่มีจุดแข็งมาช่วยเสริมทัพเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่โลกอนาคตที่มีบริการดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญให้ทัดเทียมกับนานาชาติ” สมยศกล่าวทิ้งท้าย