×

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าด้วยวิทยาศาสตร์ ใครกันที่อยู่เบื้องหลัง? [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
22.03.2019
  • LOADING...

เราทุกคนรู้ดีว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรานั้นล้วนเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ แต่ทุกครั้งที่ได้ยินคำนี้ หลายคนก็มักนึกถึงห้องทดลองสีขาวโพลน หลอดทดลองและน้ำยาสารพัดสี จนไม่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตประจำวันของเราได้ ทั้งที่จริงแล้วงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ นั้นเป็นอีกสิ่งที่คอยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจประเทศไทยมาโดยตลอด อยู่เคียงข้างการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดต้นทุนในการผลิตสินค้า กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมมาแก้ปัญหาเดิมๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

 

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน เพียงแต่เราอาจจะยังไม่รู้ว่าโครงการเหล่านั้นมีอะไรบ้าง และใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแนวใหม่นี้!

 

สวทช. หรือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์กรวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเต็มไปด้วยนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางกว่า 1,000 คนนี่แหละ คือผู้อยู่เบื้องหลังการค้นพบแนวทางใหม่ๆ ในการพัฒนาประเทศ พวกเขาและพันธมิตรได้นำผลการค้นคว้าวิจัยในห้องทดลองมาถ่ายทอดให้ประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ เกษตรกรรม เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ เป้าหมายหลักของพวกเขาในปีนี้ก็คือ การนำโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ที่แตกต่างกันถึง 6 ด้าน

 

เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)

เป็นการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และต้นทุนความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย มาเป็นตัวช่วยสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ

 

ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ

 

ตัวอย่างเช่น ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank Thailand) ของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ไม่รับฝากเงินเหมือนธนาคารทั่วไป แต่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อจัดเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพโดยเฉพาะ ภายในธนาคารนี้จะจัดเก็บวัสดุชีวภาพ (Biomaterial) และข้อมูลทางชีวภาพ (Biodata) แบบระยะยาว (Long-term Preservation) อาศัยกระบวนการจัดเก็บที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพราะประเทศไทยมีจุดแข็งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่มีอัตราการทำลายพื้นที่ทางธรรมชาติสูงกว่า การค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าจากทรัพยากรชีวภาพเหล่านี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้มีแหล่งวัตถุดิบทางธรรมชาติที่มีคุณภาพ มีรายละเอียดทางพันธุกรรมครบถ้วน ถือเป็นการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมขนาดใหญ่ (Big Genome Data) นำมาใช้ทั้งในระดับการอนุรักษ์พืชพันธุ์ในชุมชน การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของ SME ไปจนถึงการคัดสรรวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เลยทีเดียว

 

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

แนวคิดในการใช้ประโยชน์จากวัสดุต่างๆ อย่างคุ้มค่าที่สุด เป็นการหมุนเวียนทรัพยากรที่มีอยู่ในระบบโดยไม่ต้องนำทรัพยากรใหม่มาใช้ นำของเหลือทิ้งมาใช้เป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง

 

ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาผลิตไบโอดีเซลจากเปลือกไข่ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ใกล้ตัวจากการที่คนไทยบริโภคไข่กันมากถึง 43 ล้านฟองต่อวัน นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ค้นพบว่า เปลือกไข่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีระดับนาโนเมตร ในรูปแบบของแข็งที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง เหมาะกับการใช้เร่งปฏิกิริยาการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ช่วยร่นระยะเวลาในการผลิตไบโอดีเซลทำให้ได้กลีโซรีนที่มีความบริสุทธิ์สูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่ทำให้เกิดของเสียในกระบวนการผลิต แถมยังนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าตัวเร่งปฏิกิริยาแบบเหลว และที่สำคัญช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดเปลือกไข่เหลือทิ้งปีละกว่า 60,000 ตันอีกด้วย

 

 

เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

มุ่งเน้นประหยัดพลังงาน ลดความเสี่ยงที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย ตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะงานวิจัยเกี่ยวกับยางพารา ที่นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. นำไปใช้กับชุมชนในจังหวัดน่าน พัฒนาสารบีเทพ (BeThEPS) ช่วยยืดอายุน้ำยางสดได้นาน 1-3 วัน ได้ยางแผ่นที่มีคุณภาพทดแทนการใช้แอมโมเนียที่เป็นพิษต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม หรือโซเดียมซัลไฟต์ที่ทำให้แผ่นยางมีคุณภาพต่ำลง

 

 

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมน้ำยางชนิดใหม่ที่เรียกว่า ParaFIT มาทดลองใช้กับสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จังหวัดพัทลุง นำมาผลิตหมอนและที่นอนยางพาราคุณภาพดีทดแทนการใช้น้ำยางพาราข้น ช่วยลดเวลาในการบ่มน้ำยางก่อนนำไปใช้งานจาก 21 วัน เหลือเพียง 3 วันเท่านั้น แถมกระบวนการผลิตยังไม่เป็นพิษเป็นภัยกับทั้งคนทำงาน สิ่งแวดล้อม และชุมชนอีกด้วย

 

เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Intelligence Economy)

คือระบบเศรษฐกิจที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ ด้วยเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับการคำนวณ ประมวลผล เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) นำระบบอัจฉริยะต่างๆ มาช่วยแก้ปัญหาได้มากกว่าแค่เพียงอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน

 

ตัวอย่างที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนเมืองที่ต้องหลบฟุตปาธน้ำดีดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็คือ Traffy Fondue แอปพลิเคชันแจ้งและติดตามปัญหาเมือง ให้ประชาชนแจ้งปัญหาที่พบเจอในพื้นที่สาธารณะต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบได้โดยตรง โดยการระบุข้อมูล ตำแหน่งบนแผนที่ ภาพถ่าย ติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ว่าการปรับปรุงอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมืองที่ตัวเองอาศัยอยู่

 

 

ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP: Thai People Map and Analytics Platform) เกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) โดยขยายข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลคนจนแบบชี้เป้าให้ครอบคลุมปัญหาได้กว้างขึ้น ตั้งแต่เด็กแรกเกิด การศึกษา ผู้สูงอายุ ไปจนถึงการพัฒนาสภาพที่อยู่อาศัย ทำให้ระบุปัญหาความยากจนในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น/ท้องที่ จังหวัด ประเทศ หรือปัญหาความยากจนรายประเด็นได้อย่างแม่นยำ ทำให้การแก้ปัญหาตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยกระจายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดใช้รวบรวมเพื่อให้ได้ฐานข้อมูลกลางของประชาชน ให้รัฐบาลนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนบริหารประเทศ

 

เศรษฐกิจร่วมใช้ประโยชน์ (Sharing Economy)

มาจากพื้นฐานแนวคิดความร่วมมือระหว่างกัน ทำให้เกิดรูปแบบสินค้าและบริการใหม่ สร้างรายได้แบบพึ่งพากัน ใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ ร่วมกัน โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น

 

หลายคนคงเคยเห็นผ่านตามาบ้างสำหรับ โครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติฯ (oer.learn.in.th) เพื่อขยายการพัฒนาบทเรียนออนไลน์ จากที่เคยทำระบบ eDLTV ให้ครอบคลุมการใช้งานได้มากขึ้น ซึ่ง MOOC หรือ Massive Open Online Courses เป็นระบบ e-Learning ระดับใหญ่แบบเปิดที่ให้คนทุกระดับชั้นหรือบุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาศึกษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ มีเนื้อหาความรู้ครบทุกสาระวิชา รวมถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยอีกระบบที่เชื่อมโยงกันคือ OER หรือ Open Education Resource ซึ่งเป็นคลังสื่อแบบเปิดเช่นเดียวกัน เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถหาสื่อความรู้ทุกรูปแบบไปใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสื่อแต่ละชิ้นใช้สัญญาอนุญาตแบบ Creative Commons (CC) ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้นำสื่อไปใช้ได้โดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ใคร

 

 

ส่วนปัญหาตลาดแรงงานของไทยยังขาดแคลนวิศวกรวิจัย สวทช. ก็ไม่นิ่งเฉย สร้างโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือ Fabrication Lab (Fab Lab) ขึ้นมา รวบรวมอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิศวกรรมตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค ให้เยาวชนได้ฝึกทำการทดลอง และลงมือสร้างชิ้นงานจากความคิดและจินตนาการ เพื่อปลูกฝังแนวคิดการแก้ปัญหาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยตัวเองตั้งแต่เด็ก โดยมุ่งหวังว่าภายในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยจะมีนักวิจัยเพิ่มเป็นสองเท่าของที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

เศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver Economy)

เป็นระบบที่นำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้

 

 

หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจก็คือ โครงการอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งนำความรู้ด้านวัสดุศาสตร์มาพัฒนาโครงสร้างสามมิติให้ชิ้นเนื้อหมูที่ประกอบด้วยเนื้อหมูไขมันต่ำ กรดอะมิโน น้ำ สารก่อเจลอาหารประเภทพอลิแซ็กคาไรด์ ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการ ยังคงรูปร่างได้ ตัดเป็นชิ้นได้ แต่มีเนื้อสัมผัสที่อ่อนนุ่ม กดให้เป็นชิ้นเล็กลงได้ด้วยเหงือกและลิ้น ช่วยแก้ปัญหาการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเคี้ยว หรือโครงการวิจัยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติทางทันตกรรมและศัลยกรรมบริเวณช่องปากและใบหน้า (Dentiiscan) ซึ่งเริ่มวิจัยพัฒนาและเปิดตัวใช้งานแล้วเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา และกำลังขยายผลไปยังโรงพยาบาล 50 แห่งทั่วประเทศ

 

 

Dentiiscan

 

อนาคตอันน่าตื่นเต้นของประเทศไทยอยู่ใกล้เราแค่เอื้อม ใครอยากรู้ก่อน เห็นก่อนว่าเศรษฐกิจแนวใหม่ที่กล่าวมาจะช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง เชิญไปชมและพิสูจน์ผลงานด้วยตัวเองได้ที่ 15th NSTDA Annual Conference: NAC2019 หรืองานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 15 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 25-28 มีนาคม 2562 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี (ติดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต)

 

ภายในงานจะพบกับเรื่องราวของงานวิจัยและเทคโนโลยีที่จะตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคใหม่ ทั้งในรูปแบบของการเสวนา และชมผลงานวิจัยของ สวทช. และกิจกรรม Open House ซึ่งผู้ประกอบการยุคนี้ไม่ควรพลาดที่จะมองหาโอกาสค้นหาตัวช่วยในการทำธุรกิจด้วยวิทย์และนวัตกรรมครอบคลุม 7 กลุ่มธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่ เกษตรสมัยใหม่ อาหารเพื่ออนาคต เครื่องสำอาง ธุรกิจฐานชีวภาพ ขนส่งอัจฉริยะ ธุรกิจดิจิทัล และพลังงาน ชมฟรีตลอดงาน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nstda.or.th/nac

 

แล้วจะรู้ว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้แค่อยู่ใกล้ตัว หากแต่อยู่รอบตัวเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยจริงๆ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI

NAC2019 มีรถบริการรับ-ส่งผู้เข้าร่วมงานระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม 2562

  • บริการรับจากหน้าวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี (สถานี BTS อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) รถออกทุก 30 นาทีตั้งแต่เวลา 08.00-12.00 น.
  • บริการส่งจากอาคารศูนย์ประชุมอุทยานฯ ส่งถึงหน้าวิทยาลัยพยาบาลบรมราชนนี มี 3 รอบ เวลา 16.30 น., 17.00 น. และ 17.30 น.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X