×

‘กองทุนการออมแห่งชาติ’ เผย ‘แรงงานนอกระบบ’ กว่า 16 ล้านคน ไม่มีเงินออมหลังเกษียณ คิดเป็น 55% ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด

06.02.2023
  • LOADING...

กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เผย แรงงานนอกระบบกว่า 16 ล้านคน ไม่มีเงินออมหลังเกษียณ คิดเป็น 55% ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด พร้อมเผยแผนยุทธศาสตร์ 5 ด้าน สร้างบำนาญให้ประชาชนอาชีพอิสระ โดยมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้กลุ่มแรงงานนอกระบบเห็นความสำคัญของระบบการออมเพื่อการเกษียณอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

 

วันนี้ (6 กุมภาพันธ์) กองทุนการออมแห่งชาติเปิดเผยว่า ในปี 2565 พบว่าแรงงานนอกระบบ 29.5 ล้านคน มีการออมเพื่อการเกษียณ 13.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 45% ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด แบ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งกฎหมายประกันสังคม จำนวน 10.9 ล้านคน และสมาชิก กอช. จำนวน 2.5 ล้านคน จึงทำให้มีแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีการออมเพื่อการเกษียณอีก 16.1 ล้านคน หรือ 55% ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด

 

ทั้งนี้ สำหรับแรงงานในระบบมีการออมเงินภาคบังคับตามกฎหมายผ่านกองทุนประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ขณะที่กลุ่มแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระมีระบบการออมภาคสมัครใจรองรับ โดยสามารถส่งเงินออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ หรือกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 40 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม

 

ด้านอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมมอบนโยบายบทบาทกองทุนการออมแห่งชาติ ในการส่งเสริมการออมภาคประชาชน ประจำปี 2566 กล่าวว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุมากกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2548

 

โดยปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 19% ของประชากรทั้งประเทศ และจากอัตราการเกิดที่ลดลง ประกอบกับประชากรมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนของประชากรสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุมากกว่า 20% ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) หรือมีประชากรสูงอายุมากกว่า 28% ในปี 2577

 

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยดังกล่าวยังส่งผลให้มีประชากรที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมากขึ้น ดังนั้นประชาชนทุกคนจึงควรเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการออมเงินระยะยาวให้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายตลอดช่วงวัยเกษียณ ดังนั้นการส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระมีการออมเพื่อการเกษียณที่เพียงพอ จึงเป็นภารกิจที่ต้องเร่งผลักดัน

   

กอช. ยังเปิดเผยว่า จำนวนสมาชิก กอช. เพิ่มขึ้นจาก 4 แสนคน ในปี 2558 เป็น 2.5 ล้านคน ในปี 2565 ขณะที่เงินกองทุนเพิ่มจาก 1,155 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 เป็น 11,669 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 เนื่องจากที่ผ่านมา กอช. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการเพิ่มจำนวนสมาชิก และส่งเสริมให้สมาชิกออมอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกระทรวงมหาดไทย, ผู้ว่าราชการจังหวัด, สถาบันการเงินของรัฐ, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.), หน่วยงานภาคีเครือข่าย และหน่วยงานอื่นๆ

 

กระทรวงการคลังระบุอีกว่า ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการออมของแรงงานนอกระบบ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 โดยปรับเพิ่มเพดานเงินสะสมของสมาชิกจาก 13,200 บาทต่อปี เป็น 30,000 บาทต่อปี เพื่อให้สมาชิกส่งเงินออมได้มากขึ้น และปรับเพิ่มเพดานเงินสมทบของรัฐบาลจากเดิม 600-1,200 บาทต่อปี ตามช่วงอายุของสมาชิก เป็น 1,800 บาทต่อปีทุกช่วงอายุของสมาชิก เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิก และสมาชิกทุกช่วงอายุมีการออมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนเงินสะสมและเงินสมทบที่สูงขึ้นจะทำให้สมาชิก กอช. มีเงินบำนาญเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงในอนาคตให้มีเงินเพียงพอในการดำรงชีพยามชราภาพ

 

โดยสมาชิก กอช. ที่เริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี และออมต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปี จะมีโอกาสได้รับเงินบำนาญประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน จากเดิมประมาณ 5,300 บาทต่อเดือน ในกรณีส่งเงินสะสมเต็มเพดานเงินสะสม ซึ่งการปรับเพิ่มจำนวนเงินสะสมและจำนวนเงินสมทบดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนการออมของแรงงานนอกระบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มแรงจูงใจในการออม รวมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงอายุ โดยเฉพาะส่งเสริมให้กลุ่มเยาวชนมีการออมเพื่อการเกษียณเร็วขึ้น

 

กอช. เผยแผนยุทธศาสตร์ 5 ด้าน สร้างบำนาญให้ประชาชนอาชีพอิสระ 

 

ในส่วนของ กอช. ภารกิจสำคัญในระยะต่อไปยังคงต้องมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้กลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เห็นความสำคัญและความจำเป็นของการมีระบบการออมเพื่อการเกษียณอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน กอช. ก็ควรพัฒนาระบบงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกให้กับทั้งสมาชิกใหม่และสมาชิกปัจจุบัน พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ และสร้างวินัยการออมให้แก่สมาชิกและประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง

 

โดยการดำเนินการในระยะต่อไป กอช. มีแผนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2566-2570 ทั้งหมด 5 ด้าน ดังนี้

 

  1. มุ่งเน้นการสื่อสารคุณค่าของการออมผ่าน กอช. โดยมุ่งส่งเสริมภาพลักษณ์ของ กอช. ให้เป็นที่รู้จักของประชาชน รวมทั้งจัดให้มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกและเชิงรับ เพื่อสนับสนุนพันธกิจของ กอช. และเสริมสร้างค่านิยมสังคมการออม

 

  1. พัฒนาการตลาดให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่สมาชิก (Customer Centric) โดยมุ่งเพิ่มยอดสมาชิกใหม่ กระตุ้นการออมสมาชิกเก่า และสร้างประสบการณ์ที่ดีของสมาชิกจากการรับบริการจาก กอช. 

 

  1. บริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคง โดยปรับปรุงกฎหมายและการบริหารเงินทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิก และสร้างโอกาสความยั่งยืนของกองทุนในระยะยาว

 

  1. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อยกระดับการให้บริการสมาชิกและเพิ่มผลิตภาพขององค์กร โดยเตรียมความพร้อมของเทคโนโลยีและฐานข้อมูลภายในองค์กร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาไปสู่องค์กรดิจิทัล

 

  1. ยกระดับขีดความสามารถการบริหารจัดการภายในองค์กร โดยการพัฒนาองค์กรทั้งในเชิงโครงสร้าง การบริหารจัดการ การส่งเสริมสมรรถนะภายในองค์กร รวมทั้งความสามารถรองรับการบริการในสภาวะวิกฤต ภายใต้การบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล          

 

การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้านนี้ จะช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการออมเพื่อการเกษียณ รู้จัก และเข้าร่วมเป็นสมาชิก กอช. เพิ่มมากขึ้น และ กอช. จะมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ตลอดจนระบบเทคโนโลยีรองรับและอำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกได้ดียิ่งขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X