×

โตเกียวโอลิมปิก 2020 กับภารกิจของการเป็น ‘มากกว่า’ โอลิมปิกที่ดีที่สุดที่เคยมีมา

24.12.2019
  • LOADING...
Tokyo olympic 2020

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • โอลิมปิก 2020 ญี่ปุ่นได้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง หลังว่างเว้นไปนานถึง 56 ปี โอลิมปิกครั้งนี้จึงเป็นมากกว่ามหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ แต่กลายเป็นความหวังของประเทศเจ้าภาพในการสร้างมาตรฐานโอลิมปิกที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาให้ทั้งโลกได้เห็น
  • คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งกรุงโตเกียวเชื่อมั่นว่า โอลิมปิกครั้งนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงอนาคตของญี่ปุ่น เช่นเดียวกับ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่เชื่อว่า โอลิมปิกครั้งนี้จะช่วยฟื้นฟูทุกภาคส่วนของประเทศ พวกเขาจึงยอมวางเดิมพันด้วยการเตรียมความพร้อม เพื่อทำให้โอลิมปิกครั้งนี้สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 
  • ท่ามกลางสถานการณ์ของโอลิมปิกที่ถูกตั้งคำถามถึงความฟุ่มเฟือยอย่างไร้ประโยชน์ การพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้เอง คือสิ่งที่เราคาดหวังว่า จะได้เห็นจากโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวในปี 2020 และเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งที่ญี่ปุ่นจะแสดงศักยภาพให้โลกเห็นถึงการพัฒนาเมืองด้วยนวัตกรรมและการต้อนรับขับสู้ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกอีกครั้ง

ปี 2020 จะเป็นปีที่ ‘โอลิมปิก’ มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกกลับมาแข่งขันกันอีกครั้ง และเป็นอีกครั้งที่โอลิมปิกโคจรมาสู่เมืองที่บุกเบิกโอลิมปิกครั้งแรกในเอเชียเมื่อ 56 ปีก่อน นั่นก็คือกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020

 

สำหรับนักกีฬา การเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกคือเกียรติยศสูงสุดเท่าที่นักกีฬาคนหนึ่งจะได้รับ โดยมีเหรียญรางวัลเป็นเป้าหมายปลายทางสูงสุด 

 

ในยุคโบราณ การแข่งขันโอลิมปิกเริ่มต้นขึ้นด้วยความหวังที่จะให้ทุกรัฐในกรีกหยุดทำสงคราม แล้วหันมาแข่งขันกันด้วยกีฬา ส่วนในยุคสงครามเย็น โอลิมปิกถูกใช้เพื่อสะท้อนจุดยืนทางการเมือง จนมาถึงในปี 2008 ในโอลิมปิกฤดูร้อนที่ประเทศจีน โลกจึงได้ค้นพบกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในฐานะเครื่องมือในการแสดงศักยภาพของประเทศ 

 

และมาถึงโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นได้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพอีกครั้งหลังว่างเว้นไปนานถึง 56 ปี โอลิมปิกครั้งนี้จึงเป็นมากกว่ามหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ แต่กลายเป็นความหวังของประเทศเจ้าภาพในการสร้างมาตรฐานโอลิมปิกที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาให้ทั้งโลกได้เห็น

Tokyo olympic 2020

โอลิมปิกปี 1964 โอลิมปิกที่ดีที่สุดที่เคยมีมา

นิตยสาร Life ได้ยกย่องให้โอลิมปิกฤดูร้อนในปี 1964 ที่กรุงโตเกียว เป็นมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ดีที่สุดที่เคยมีมา เนื่องจากความพร้อม ประสิทธิภาพในการต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักกีฬา รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโอลิมปิกครั้งแรกของทวีปเอเชียที่เกินความคาดหวังของทุกคนในเวลานั้น 

 

บริบททางสังคมของญี่ปุ่นในเวลานั้น การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก คือโอกาสสำคัญของการที่ประเทศจะเข้าร่วมสังคมโลกในฐานะประเทศพัฒนา หลังจากพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ 19 ปีก่อน 

 

กรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ก่อนปี 1964 มีภาพต่างจากที่ทุกคนคุ้นเคยในวันนี้มาก 

 

ห้องน้ำถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของความอุ่นใจในการเที่ยวกรุงโตเกียวในปัจจุบัน แต่หากย้อนกลับไปในปี 1964 รายงานจาก Foreign Policy เผยว่า มีประชากรเพียง 25% ของโตเกียวเท่านั้นที่ใช้ห้องน้ำระบบชักโครก

 

แต่เนื่องจากชาวญี่ปุ่นในกรุงโตเกียวต้องการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก พวกเขาจึงต้องเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศ โดยเริ่มจากห้องน้ำภายในบ้าน อย่างที่ปรากฏในหนังสือ 1964 – The Greatest Year in the History of Japan ว่า 

 

“คนในพื้นที่ชิบูย่าจำได้ว่า เจ้าหน้าที่ในกรุงโตเกียวได้รณรงค์ให้ทุกคนในโตเกียวเปลี่ยนแปลงห้องน้ำในบ้าน (ซึ่งส่วนใหญ่ในเวลานั้นเป็นส้วมหลุม) มาใช้ชักโครกแบบตะวันตกแทน จนต้องมีการกู้เงินเพื่อเปลี่ยนสภาพห้องน้ำ”

 

นอกจากนี้ภายในบทความ Rebuilding the Japanese Nation at the 1964 Tokyo Olympic ของ ซาโตชิ ชิมิซุ เผยว่า 

 

“ในช่วงฤดูร้อนของปี 1964 เราแทบไม่มีฝนตกลงมา และเมื่อผมฉีดน้ำใส่ถนนหน้าบ้าน เพื่อนบ้านผมโมโหมาก และเดินมาเตือนผมว่า ‘ประหยัดน้ำไว้ให้ชาวต่างชาติ’ พร้อมกับมองผมว่าเป็นคนไม่รักชาติ” 

 

ในด้านของการพัฒนาศักยภาพของตัวเมือง โตเกียวได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งด้วยการลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงชินคันเซนจากโอซาก้าไปโตเกียว ที่เปิดใช้งานก่อนพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเพียง 9 วัน รวมถึงสนามบินฮาเนดะ ทางด่วน และรถไฟใต้ดินที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ทั้งหมดก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น 

 

จากทุกภาคส่วนที่เร่งพัฒนาประเทศ จนนำมาสู่ความสำเร็จของโอลิมปิก 1964 ที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นโอลิมปิกที่ดีที่สุดในเกือบทุกด้าน ซึ่งการลงทุนเหล่านั้นก็คุ้มค่า เพราะโอลิมปิกครั้งนั้นได้เปลี่ยนโฉมหน้าของกรุงโตเกียวที่เคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของประเทศผู้แพ้สงคราม ให้กลายเป็นมหานครที่เจริญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมาจนถึงปัจจุบัน

ญี่ปุ่นมองไกลไปกว่าแค่การสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมมหกรรมกีฬาครั้งนี้ แต่ยังคิดไกลเผื่อไปถึงสังคมที่น่าอยู่สำหรับคนญี่ปุ่นเองในวันข้างหน้าด้วย

 

โตเกียว 2020 กับภารกิจป้องกันแชมป์โอลิมปิกที่ดีที่สุด
“ด้วยเทคโนโลยีและการต้อนรับขับสู้ที่คนญี่ปุ่นมี เราก็อยากจะแสดงให้โลกเห็นถึงมาตรฐานใหม่ของโอลิมปิก” 

 

โทรุ โคบายาชิ หัวหน้าคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ (National Olympic Committee – NOC) ของประเทศญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ระหว่างการประชุมใหญ่สามัญของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย หรือ OCA ครั้งที่ 38 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2019 

 

แม้โอลิมปิกในปี 2020 จะดูน่าตื่นเต้นน้อยกว่าเมื่อ 56 ปีที่แล้ว เพราะชาวญี่ปุ่นครึ่งต่อครึ่งไม่เห็นด้วยกับการจัดโอลิมปิกครั้งนี้ ด้วยมองว่า การลงทุนด้วยงบประมาณที่สูงอาจได้ไม่คุ้มเสีย ตามที่ รอย โทมิซาวะ ผู้เขียนหนังสือ 1964 The Greatest Year in The History of Japan ยอมรับผ่านรายการพอดแคสต์ Olympic Fever ในช่วงเวลานับถอยหลัง 1 ปี สู่โตเกียวโอลิมปิก 

 

เช่นเดียวกับหลายประเทศที่เริ่มต้นตั้งคำถามว่า โอลิมปิกจะกลายเป็นมหกรรมที่ได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่ เมื่องบประมาณในการจัดสูงขึ้นเรื่อยๆ จนบางฝ่ายเชื่อว่า การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2004 ซึ่งใช้งบประมาณสูงถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นหนึ่งในสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศกรีซ รวมถึงบราซิลที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2014 ต่อด้วยเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2016 แต่กลับได้รับผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของประเทศ

 

โดยสถิติจาก Foreign Policy เมื่อปี 2016 ยังระบุว่า เจ้าภาพโอลิมปิกตั้งแต่ปี 1960-2012 มีค่าใช้จ่ายเกินงบประมาณที่ตั้งไว้ถึง 60% โดยเฉลี่ย จึงไม่แปลกที่หลายคนจะมองว่า การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกคือความฟุ่มเฟือยที่สูญเปล่า

 

Tokyo olympic 2020

 

แต่ถึงอย่างนั้น ในอีกด้าน คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งกรุงโตเกียวก็เชื่อมั่นว่า โอลิมปิกครั้งนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงอนาคตของญี่ปุ่น เช่นเดียวกับ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่เชื่อว่า โอลิมปิกครั้งนี้จะช่วยฟื้นฟูทุกภาคส่วนของประเทศ พวกเขาจึงยอมวางเดิมพันด้วยการเตรียมความพร้อม เพื่อทำให้โอลิมปิกครั้งนี้สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

 

Tokyo olympic 2020

 

ในด้านนวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับมหกรรมโอลิมปิกครั้งนี้ไปอีกขั้น โตเกียวได้นำหุ่นยนต์มาใช้ในการช่วยสื่อสารกับนักท่องเที่ยว รองรับความสะดวกสบายในการเดินทางด้วยการใช้รถยนต์พลังงานแบตเตอรี่อัตโนมัติ ถ่ายทอดภาพการแข่งขันไปทั่วโลกด้วยความคมชัดระดับ 8K ผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็ว 5G รวมไปถึงการสร้างฝนดาวตกจำลอง เพื่อสร้างความประทับใจให้กับแฟนกีฬาทั่วโลก และมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นโอลิมปิกที่มีนวัตกรรมที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา

 

Tokyo olympic 2020

 

การเปิดตัวหุ่นยนต์โอลิมปิกของญี่ปุ่นมีความสำคัญอย่างมากต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ภายในประเทศ โดยภารกิจของหุ่นยนต์ในโอลิมปิกนี้คือ การช่วยสื่อสาร เสิร์ฟอาหาร และพาแฟนกีฬาไปยังที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวชุดหุ่นยนต์ยกของหนัก เพื่อทุ่นแรงให้กับเจ้าหน้าที่ต่างๆ อีกด้วย

 

ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้โลกได้เห็นชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นที่มีหุ่นยนต์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน สอดคล้องกับสังคมผู้สูงอายุที่นับวันสัดส่วนจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ 

 

ในด้านการผลักดันประเทศไปสู่สังคมแห่งความเท่าเทียม ญี่ปุ่นได้สร้างห้องน้ำสำหรับทุกเพศตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยจะมีขนาดโดยรวมเล็กกว่าห้องน้ำปกติ ซึ่งภายในห้องน้ำแต่ละห้องจะมีพื้นที่เพียงพอสำหรับ 2 คน ไว้สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในการเข้าห้องน้ำ รวมถึงยังมีการจัดสรรโควตาในบางประเภทกีฬา ให้นักกีฬาหญิงและชายในสัดส่วนที่เท่าเทียมกันอีกด้วย 

 

ส่วนการพัฒนากรุงโตเกียว ยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียว เผยว่า เป้าหมายที่แท้จริงของกรุงโตเกียวในปี 2020 คือความสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันพาราลิมปิก 2020 

 

“ความสำเร็จของพาราลิมปิกคือหัวใจสำคัญของความสำเร็จทั้งหมดในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ฉันเชื่อว่า ความสำเร็จของพาราลิมปิกครั้งนี้สำคัญกว่าความสำเร็จของโอลิมปิก”

 

โดยผู้ว่าการหญิงคนแรกของกรุงโตเกียวเชื่อว่า ความสำเร็จของพาราลิมปิกจะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนากรุงโตเกียว ให้สามารถเป็นเมืองที่สนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว 

 

“ในโตเกียวและประเทศญี่ปุ่น เรากำลังพบเจอกับสังคมสูงวัย และแน่นอนว่า ในอนาคต ผู้คนจะต้องใช้งานรถเข็นหรือไม้เท้าในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น ดังนั้น การเตรียมพร้อมสำหรับพาราลิมปิกคือ การเตรียมกรุงโตเกียวให้พร้อมสำหรับสังคมสูงวัย ความท้าทายของสังคมสูงวัยเป็นเรื่องที่ประเทศพัฒนาแล้วทุกประเทศต้องพบเจอในอนาคต 

 

“ในกรณีนี้ โตเกียวจึงได้ใช้โอกาสของพาราลิมปิกในการเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายที่จะช่วยให้เมืองของเราสามารถช่วยให้ทุกคนที่มีความพิการ หรือความต้องการพิเศษใช้งานได้อย่างเต็มที่สำหรับทุกคน”

 

สะท้อนให้เห็นว่า ญี่ปุ่นมองไกลไปกว่าแค่การสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมมหกรรมกีฬาครั้งนี้ แต่ยังคิดไกลเผื่อไปถึงสังคมที่น่าอยู่สำหรับคนญี่ปุ่นเองในวันข้างหน้าด้วย 

 

ตัดภาพไปที่ธงโอลิมปิก ซึ่งโบกสะบัดอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์โอลิมปิกในเมืองลูเซิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายนอกของอาคารมีคติของมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติที่เขียนว่า 

 

Tokyo olympic 2020

 

Citius, Altius, Fortius (เร็วขึ้น, สูงขึ้น, แข็งแกร่งขึ้น) 

 

ซึ่งมหกรรมโอลิมปิกได้ทำหน้าที่ในการสร้างแรงบันดาลใจตามคำขวัญนี้ในโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว เมื่อปี 1964 ด้วยการปลุกใจให้กับผู้คนที่กำลังพยายามต่อสู้ เพื่อนำพาประเทศออกจากสภาวะผู้แพ้สงครามด้วยมหกรรมกีฬาได้สำเร็จ 

 

ในโอลิมปิกครั้งนี้ บทบาทสำคัญที่สุดยังคงเป็นมหกรรมที่จะนำเอานักกีฬาชั้นนำของโลก มาช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนแบบติดขอบสนามเช่นที่เคยเป็นมา

 

ขณะที่นอกสนามที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ยุ่งเหยิงขึ้นในทุกวัน รวมไปถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว, เร็วขึ้น, สูงขึ้น, แข็งแกร่งขึ้น จึงอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับการแข่งขันในอนาคต แต่ต้องเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า ความยั่งยืน หรือ Sustainable เข้าไปด้วย

 

ซึ่งโอลิมปิก 2020 ในกรุงโตเกียว ได้นำคำนี้มาสอดแทรกไว้ตรงกลางของแผนทุกอย่าง ทั้งการใช้สนามกีฬาที่มีอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ การใช้พลังงานทดแทนสำหรับการแข่งขัน และการนำเอาขยะอิเล็กทรอนิกส์มาผลิตเป็นเหรียญรางวัลสำหรับการแข่งขันทั้งหมด 5,000 เหรียญ 

 

ท่ามกลางสถานการณ์ของโอลิมปิกที่ถูกตั้งคำถามถึงความฟุ่มเฟือยอย่างไร้ประโยชน์ การพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้เอง คือสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะได้เห็นจากโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวในปี 2020 และเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งที่ญี่ปุ่นจะแสดงศักยภาพให้โลกเห็นถึงการพัฒนาเมืองด้วยนวัตกรรมและการต้อนรับขับสู้ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกอีกครั้ง

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising