ในปี 2019 มีเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นจำนวนมาก ไล่ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นบัญชีดำบริษัทเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมจากจีนทั้ง Huawei และ ZTE ด้วยเหตุผลด้าน ‘ความมั่นคง’ ซึ่งถูกเคลือบทับประเด็นทางการเมืองอีกที
การเปิดตัวสมาร์ทโฟน ‘จอพับ’ จากค่ายผู้ผลิตมือถือแต่ละเจ้า ประเด็นความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งานที่ถูกยกระดับให้เป็นวาระสำคัญของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมากขึ้น ด้าน ‘ลิบรา’ เงินดิจิทัลแบบมูลค่าคงที่ก็สร้างความหวั่นใจให้กับผู้บังคับใช้กฎหมายทั่วโลก ส่วนศึกสตรีมมิงก็มีเค้าลางจะถึงจุดเดือดเมื่อเจ้าตลาดคอนเทนต์ ‘ดิสนีย์’ ลงมาคลุกวงในด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ยังมีความสำเร็จของงานวิจัย คอมพิวเตอร์ควอนตัมขั้นสูง (Quantum Supremacy) โดย Google และการชิงเปิดตัวให้บริการ 5G ของหลายๆ ประเทศที่เมื่อเป็นรูปธรรมแล้วก็น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับทุกอุตสาหกรรมบนโลกใบนี้ได้อย่างมหาศาล
และนี่คือประเด็นที่น่าจับตาในโลกเทคโนโลยีปี 2019 ที่จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงปี 2020
การรุกกลับสหรัฐอเมริกาของ Huawei จะพลิกหมากบนกระดานได้หรือไม่?
เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ในปีที่ผ่านมา Huawei แบรนด์สมาร์ทโฟนอันดับสองของโลกยังคงไม่สามารถเร่งเครื่องแซงหน้าค่ายผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่างซัมซุงขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกได้ (ไตรมาสล่าสุด Q3/2019 ครองส่วนแบ่ง 18% เป็นรองซัมซุงที่มีส่วนแบ่ง 21% ข้อมูลจาก Counterpoint Research) ซึ่งสาเหตุสำคัญก็มาจากการที่ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมสัญชาติจีนรายนี้ถูก ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำห้ามบริษัทในประเทศทำธุรกิจด้วยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลเรื่องความมั่นคงของประเทศ เนื่องจาก Huawei และรัฐบาลจีน ‘ดูจะ’ มีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
จริงอยู่ที่ถึงแม้ในเชิงภาพรวมบริษัท Huawei อาจจะไม่ได้รับผลกระทบขนาดนั้น เพราะรายได้ช่วงไตรมาส 3/2019 ที่ผ่านมาจากการเปิดเผยของบริษัทก็เติบโตขึ้นถึง 24.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีรายได้และกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้นที่ 610,800 ล้านหยวน และ 53,140 ล้านหยวนตามลำดับ ส่วนยอดขายสมาร์ทโฟนก็เพิ่มขึ้นถึง 26% มาอยู่ที่ 185 ล้านเครื่อง
แต่ถ้ามองในเชิงความมั่นใจของผู้บริโภค ก็ต้องยอมรับว่า Huawei ถึงคราวเคราะห์จริงๆ โดยเฉพาะการที่พวกเขาไม่สามารถทำธุรกิจกับบริษัทในสหรัฐฯ ได้ ทั้งการจำหน่ายสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์โครงสร้างขั้นพื้นฐานสำหรับการติดตั้งโครงข่ายการเชื่อมต่อ หรือการไม่สามารถใช้บริการจาก Google ในผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนของตัวเอง ซึ่งส่งผลกระทบเสียหายไม่น้อย
ถึงขนาดที่สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งและนักวิเคราะห์หลายรายเคยกล่าวถึงสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงของ Huawei ‘Mate 30’ ที่เปิดตัวออกมาในช่วงกันยายนว่าเป็นหนึ่งในสมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดแห่งปี แต่กลับต้องมากตกม้าตายเพราะการไม่รองรับแอปพลิเคชันและบริการของ Google
อย่างไรก็ดี Huawei ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากจะแก้เกมด้วยการใช้กลยุทธ์ร้องเรียน ‘ความยุติธรรม’ ที่ระบุว่าถูกสหรัฐฯ กลั่นแกล้งด้วยสารพัดวิธีผ่านพื้นที่สื่ออย่างต่อเนื่องแล้ว Huawei ก็ยังโต้กลับด้วยการเปิดตัวระบบปฏิบัติการ ‘HarmonyOS’ ที่จะถูกใช้กับผลิตภัณฑ์ในระบบ IoT ของตัวเองในอนาคต
แม้ว่าระบบปฏิบัติการดังกล่าวจะถูกหมายมั่นปั้นมือพัฒนาขึ้นมาใช้งานกับผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายของ Huawei ที่ทุกอย่างจะเชื่อมโยงถึงกันกับผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ในระบบนิเวศของ IoT ตามสมการ 1+8+N (สมาร์ทโฟน 1 เครื่อง, อุปกรณ์อื่นๆ อีก 8 อย่าง) แต่ก็ไม่ปิดกั้นโอกาสและความเป็นไปได้ที่ระบบปฏิบัติการนี้จะถูกนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตอย่างเต็มรูปแบบ แทนที่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์แบบเปิดจาก Google ในปัจจุบัน
นั่นหมายความว่า Huawei ได้วางแผนเตรียมทางหนีทีไล่ให้กับตัวเองไว้เสร็จสรรพแล้ว หากต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้งจริงๆ แถมยังได้สนับสนุนชุมชนนักพัฒนาให้เข้ามาร่วมกันช่วยพัฒนาซอฟต์แวร์บน HarmonyOS อีกด้วย
ยังเร็วเกินไปที่จะชี้ชัดว่า HarmonyOS ใช่หมากเด็ดตัวสำคัญที่จะช่วยให้ Huawei พลิกเกมที่พวกเขาตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำบนกระดานที่กำลังเดินอยู่จริงหรือเปล่า หรือเป็นกุญแจที่นำไปสู่ความปรองดองสมานสามัคคีได้เหมือนชื่อของมันหรือไม่
แต่อย่างน้อยที่สุด ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นแล้วว่า Huawei ไม่ยอมตกเป็นฝ่ายถูกกระทำข้างเดียว และก็มีทางเลือกเป็นของตัวเองเหมือนกัน
สำคัญที่สุดคงต้องจับตาความคืบหน้าปมความบาดหมางในศึกสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนในปี 2020 ให้ดีว่าจะคลี่คลายหรือทรุดหนักกว่าเดิม เพราะไม่ว่าเหรียญจะออกด้านไหน มันก็จะส่งผลกระทบกับสถานการณ์ของ Huawei ได้อย่างมีนัยไม่ต่างกัน
‘Libra’ ว่าที่สกุลเงินสากลดิจิทัลโลก กับคำถามและความท้าทายที่ต้องแบกรับ
ทันทีที่ Facebook และสมาคมลิบราได้เปิดตัวโปรเจกต์เงินดิจิทัลมูลค่าคงที่ (Stable Coin) ออกมาเมื่อกลางปี 2019 โดยชูจุดเด่นเรื่องการช่วยให้ผู้ที่เคยมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการเงินในอดีตสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างเสรี เหล่า Regulator หรือผู้ออกกฎนโยบายที่เกี่ยวข้องในหลายประเทศทั่วโลกก็แสดงความกังวลกันถ้วนหน้า
เหตุผลก็เพราะว่า ‘ท่าที’ ลิบราดูจะมีความพยายามเข้ามาแทนที่เงินตราสกุลต่างๆ ที่ใช้กันในหลายประเทศ ซึ่งจะทำให้อำนาจอธิปไตยของประเทศต่างๆ ถึงคราวต้องสั่นคลอน บ้างก็กังวลว่ามันอาจจะถูกใช้เป็นช่องทางของอาชญากรรม การกระทำการต่างๆ ที่ผิดกฎหมาย หลบเลี่ยงภาษีหรือการฟอกเงิน
นอกจากนี้ก็ต้องไม่ลืมว่า Facebook ยังมีคดีติดตัวกรณีการทำข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานรั่วไหลไปกับ Cambridge Analytica เมื่อปีที่แล้ว และการทำข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานรั่วไปกับผู้พัฒนาแอปฯ กลุ่ม Third Party อีกหลายระลอก
ไม่แปลกที่แม้แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเคยออกมาประกาศกร้าวด้วยตัวเองว่าเขาไม่สนับสนุนให้ลิบราเกิดขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีสกุลเงินเพียงสกุลเดียวที่มั่นคง และถูกใช้อย่างแพร่หลายนั่นคือ ‘ดอลลาร์สหรัฐ’
เมื่อรัฐบาลในประเทศประกาศตัวไม่สนับสนุน ขณะที่อีกหลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มตั้งคำถามกับท่าทีของลิบราและสมาคม ผลที่ตามมาจึงทำให้พาร์ตเนอร์ผู้ให้บริการด้านธุรกรรมชั้นนำที่เคยตกปากเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมลิบรา เช่น PayPal, Visa, Mastercard, eBay, Stripe, Mercado Pago และ Booking Holdings ประกาศถอนตัวออกจากสมาคมกันต่อเนื่อง
แถม มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook ก็เพิ่งถูกคณะกรรมการสภาบริการทางการเงินของสหรัฐฯ เรียกตัวไปชี้แจงในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง
กระนั้นก็ดี เชื่อว่าลึกๆ แล้ว Facebook และสมาคมลิบรายังไม่ถอดใจเรื่องแผนการเปิดตัวให้บริการคาลิบราและลิบราแต่อย่างใด โดยเมื่อไม่นานมานี้ THE STANDARD มีโอกาสได้สัมภาษณ์ เบนจามิน โจ รองประธานของ Facebook อาเซียน ซึ่งเขาให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ‘อาเซียน’ เป็นอีกหนึ่งในตลาดสำคัญที่ลิบราน่าจะเข้ามาแก้เพนพอยต์ด้านบริการทางการเงินได้
ขณะที่ แพทริก เอลลิส (Patrick Ellis) หนึ่งในสมาชิกบอร์ดบริหารของสมาคมลิบรา ก็เพิ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ในประเด็นที่ใกล้เคียงกันเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยบอกว่าถึงแม้ทางสมาคมยังไม่มีแผนการที่ชัดเจนในการให้บริการเงินดิจิทัลลิบรา แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ปี 2020 เราจะได้เห็นลิบราแน่นอน โดยยืนยันจะทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามข้อกังวลต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้สามารถเปิดตัวผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดได้
นั่นหมายความว่าความท้าทายที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างความกังวลใจให้กับทางสมาคมในการเปิดตัวเงินดิจิทัลดังกล่าวแต่อย่างใด
อีกปัจจัยหนุนที่น่าจะช่วยเร่งปฏิกิริยาให้ลิบราเกิดขึ้นได้เร็วกว่าเดิม คือการที่จีนซึ่งถือเป็นหนึ่งในคู่รักคู่แค้นของสหรัฐฯ ก็หวังจะชิงเปิดตัวใช้งานเงินดิจิทัล DCEP (Digital Currency Electronic Payments) ในช่วงที่ลิบราและสมาคมถูกรุมตั้งคำถามจากทั่วสารทิศเช่นกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ อาจจะส่งผลให้สหรัฐฯ ตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในเชิงการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและนวัตกรรม
และสหรัฐฯ ก็คงไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นแน่นอน
ส่วนจะเป็นเหมือนที่ซักเคอร์เบิร์กเคยเล่นเกมจิตวิทยากับเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ตอนที่ขึ้นให้การมากน้อยแค่ไหน อีกไม่กี่อึดใจเราคงได้รู้กัน (ซีอีโอ Facebook เคยบอกไว้ว่าสหรัฐฯ จะเสียเปรียบจีนหากปล่อยให้ยักษ์ใหญ่แดนมังกรเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลได้ก่อน)
5 ประเด็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีต้องจับตาในปี 2020
1. 5G ประเทศไทยจะตามไทม์ไลน์ กสทช. หรือเปล่า? – หลังจากเป็นที่ถกเถียงกันมานาน ในที่สุดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็มีมติเห็นชอบเดินหน้าจัดการประมูล 5G ทั้ง 4 คลื่นความถี่ ได้แก่ 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz ขึ้น
โดยคาดว่าการประมูลจะมีขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะสามารถเริ่มติดตั้งโครงข่ายได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 และหากการดำเนินงานทั้งหมดเป็นไปตามแผนการและกรอบเวลาที่ได้วางเอาไว้ คนไทยอาจจะได้ใช้บริการ 5G เริ่มต้นจากย่าน EEC ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2563
2. การรุกคืบของอีคอมเมิร์ซจีน ลดบทบาทแม่ค้า-พ่อค้าคนกลาง – ไม่มีใครปฏิเสธอีกแล้วว่าการช้อปบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั้ง Lazada, Shopee และ Central JD ฯลฯ สะดวกสบายและเต็มไปด้วยส่วนลดที่หาไม่ได้จากการช้อปปิ้งแบบออฟไลน์
แต่ประเด็นที่อดเป็นห่วงไม่ได้คือการที่ Alibaba Group ทุ่มเงินมูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท เข้ามาลงทุนจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะแห่งแรกในประเทศไทยอย่างเป็นทางการใน EEC ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าสินค้าจากจีนจะทะลักเข้ามาในไทยได้ง่ายและเร็วขึ้นกว่าเดิม
แม้จะยังไม่มีใครทราบถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกก็ยืนยันว่าการเข้ามาของ Alibaba ในครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ด้านการขยายธุรกิจของแพลตฟอร์มจากจีน แต่พ่อค้าแม่ค้าคนกลางหลายรายที่ทำธุรกิจด้วยการนำเข้าสินค้าจากจีนมาขายในไทยก็เริ่มแสดงความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกิจการของพวกเขากันแล้ว
3. ปลดล็อกกฎหมายไรด์แชริ่งจะเกิดขึ้นได้ไหม – กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีการเปิดเผยจากฝั่งกระทรวงคมนาคมว่าเตรียมจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาการให้บริการรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมาย โดยจะออกกฎกระทรวง 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1. กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน และ 2. กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และการออกใบอนุญาตสำหรับนิติบุคคลที่ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการรับจ้างบรรทุกผู้โดยสาร
โดยคาดว่าร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ จะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือนมีนาคม 2563 ที่จะถึงนี้ เริ่มต้นจาก ‘รถยนต์ส่วนบุคคล’ ก่อนจะตามมาด้วยจักรยานยนต์
และหากเป็นไปตามที่กระทรวงคมนาคมประกาศไว้จริง เราคงจะได้เห็นผู้บริการหน้าใหม่ที่ไม่ใช่ Grab เข้ามาแหวกว่ายในสังเวียนนี้แน่นอน และน่าจะทำให้การแข่งขันดุเดือดกว่าเดิม เพราะที่ผ่านมาเหตุผลที่ทำให้ LINE MAN และ GET ยังไม่เข้ามาให้บริการในกลุ่มนี้ เนื่องจากติดข้อจำกัดด้านกฎหมาย
4. ความนิยมของสื่อโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มลำโพงอัจฉริยะ – สำนักข่าว The Guardian ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจผ่าน 20 เทรนด์เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 โดยหนึ่งในนั้นคือการที่สื่อโฆษณาจะมาใช้จ่ายกับแพลตฟอร์มลำโพงอัจฉริยะมากขึ้น หลังจากที่ Alexa ของ Amazon และ Google Home โดย Google สามารถเจาะตลาดเข้าไปตั้งในบ้านของผู้บริโภคบางส่วนได้แล้ว
โดย Amazon เองก็ใช้ Alexa เป็นหนึ่งในช่องทางรีเทลขายสินค้าของพวกเขาเช่นกัน แต่เมื่อมองย้อนกลับมาในบริบทประเทศไทยที่ลำโพงอัจฉริยะอาจจะยังไม่แพร่หลายสักเท่าไร ตรงข้ามกับ ‘พอดแคสต์’ ที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะได้เห็นแบรนด์ และเหล่าเอเจนซีให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มนี้มากขึ้น
5. สินเชื่อรายย่อยโดย Non-financial จะประสบความสำเร็จไหม? – ปีนี้ Non-financial หรือผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มพาตัวเองเข้ามารุกผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากขึ้นแล้ว ตัวอย่างเช่น กรณีที่ Lazada เริ่มให้บริการสินเชื่อรายย่อยกับผู้ค้าบนแพลตฟอร์ม, กสิกร และ LINE เปิดตัว LINE BK เพื่อเตรียมมุ่งหน้าสู่การปล่อยสินเชื่อในปี 2020 หรือล่าสุดกับ Grab ที่ได้กระซิบบอกกับ THE STANDARD แล้วว่าปีหน้า พวกเขาตั้งเป้าจะเป็น ‘ฟินเทค’ เต็มตัว!
สาเหตุก็เพราะปัจจุบันยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ และผู้ประกอบการหลายรายก็มองเห็นโอกาสในการเข้ามาสร้างรายได้จากบริการเหล่านี้ โดยอาศัยความได้เปรียบจากการเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการคัดกรองว่าลูกค้ารายใดมีแนวโน้มจะเป็นลูกหนี้ที่ดี
ดังนั้นในปี 2020 ที่จะถึงนี้ เราน่าจะได้เห็นบริการในกลุ่มสินเชื่อรายย่อยจาก Non-financial ทะยอยเปิดตัวกันอีกเป็นจำนวนมากแน่นอน ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือกลายเป็นหนี้เสียในสัดส่วนเท่าไร ต้องตามดูกันยาวๆ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.counterpointresearch.com/global-smartphone-share/
- www.reuters.com/article/us-facebook-cryptocurrency/facebooks-libra-lacks-solid-plan-for-launch-governing-board-member-idUSKBN1YN1I3
- https://www.theguardian.com/technology/2019/dec/14/twenty-tech-trends-for-2020-tesla-cybertruck-iphone-12-5g-nintendo-vr-ai-amazon
- เมื่อเดือนตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ชัดเจนว่า ประเทศไทยและรัฐบาลพร้อมเปิดรับความร่วมมือกับ Huawei อย่างเต็มกำลังในการเข้ามาพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานด้าน 5G ในประเทศ
- ปีหน้าจะเป็นอีกหนึ่งปีที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมเกม โดยเฉพาะแวดวง ‘เกมคอนโซล’ โดย Sony เตรียมจะเปิดตัว Playstation 5 ออกมาในช่วงปลายปี ด้าน Microsoft ก็ไม่น้อยหน้า เพราะเตรียมส่ง Xbox Series X มาท้าชนเช่นกัน
- การทำ ‘ดาวเทียมอินเทอร์เน็ตฟรี’ ทั่วโลก เป็นหนึ่งในธุรกิจที่น่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น หลังล่าสุดมีข่าวลือออกมาว่า Apple เตรียมจะตบเท้าเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ ตามหลัง SpaceX และ Amazon ที่เคยประกาศแผนธุรกิจไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งผลที่ตามมาอาจจะทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลกต้องตั้งท่ารับมือให้ดี