เพราะการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่หลายคนอยากออกห่างให้ไกลตัว อาจเพราะรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องความขัดแย้ง อำนาจ และผลประโยชน์ ถึงขนาดที่หลายคนปฏิเสธบทสนทนาหัวข้อการเมืองไปเลยก็มี
แต่เชื่อเถอะว่า ‘การเมือง’ ล้วนกระทบชีวิตเราทุกคน และใกล้ตัวเกินกว่าที่เราจะไม่แยแสหรือสนใจมันได้ เพราะนโยบายรัฐย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เพราะการเมืองที่มีเสถียรภาพย่อมบ่งบอกถึงความเชื่อมั่น ทิศทางการลงทุน และในอีกทางก็ยังเป็นภาพสะท้อนคุณภาพชีวิตของประชาชน
และต่อไปนี้คือการเมือง 2562 ที่ THE STANDARD มองว่ายังคงไม่ไปข้างหน้า แต่ยังวนเวียน วนลูป ซ้ำเดิม แม้ผู้มีอำนาจในเวลานี้จะพยายามโชว์ฝีมือ ‘การปฏิรูป’ ก็ตาม
ขณะเดียวกันการเมืองไทยในปี 2563 ยังคงน่าจับตา เพราะอุณหภูมิการเมืองที่สั่งสมมาในปีที่ผ่านมาพุ่งขึ้นถึงขีดความร้อนแรง และอาจนำพาคนไทยกลับไปสู่สมรภูมิแห่งความขัดแย้งอีกหน
ได้เลือกตั้ง-ได้คนแต่งตั้ง ได้นายกฯ คนเก่า ครม. ใหม่ อะไหล่เชียงกง ดงงูเห่า
ในที่สุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ยอมคืนอำนาจที่เป็นของประชาชนให้ประชาชนผ่านคูหาการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2562 ภายใต้บรรยากาศหรือวาทกรรมที่อีกฝ่ายเรียกว่า ‘การสืบทอดอำนาจ’ เพราะเขียนกติกาเอง ลงมาเล่นเอง และบางขณะก็ออกตัวว่าเป็นกรรมการกลาง
ผลการเลือกตั้งที่ใช้เวลานานกว่าปกติ แม้จะสามารถประกาศคะแนนได้อย่างเป็นทางการ แต่ก็ทำให้เกิดคำถามต่อการทำหน้าที่ของกรรมการกลางอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเฉพาะคณิตศาสตร์ทางการเมืองที่หลายคนตั้งชื่อว่า ‘สูตรพิสดาร’ ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศน้อยกว่าคะแนนของ ส.ส. เขตบางคนได้ที่นั่งในสภา
พรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ใต้ร่มเงาคนแดนไกลได้ที่นั่ง ส.ส. ในสภามากที่สุด แต่ไม่มี ส.ส. บัญชีรายชื่อคนดังได้เข้าสภาแม้แต่คนเดียว ขณะที่พรรคอนาคตใหม่หักปากกาเซียน กวาดที่นั่งถล่มทลายกว่า 80 คน ส่วนพรรคพลังประชารัฐ พรรคที่ถูกออกแบบมาให้เป็นกลไกรักษาอำนาจต่อเนื่องก็ได้ที่นั่งมาเป็นอันดับที่สอง ประกาศชู พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนเดิมเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในรัฐบาลเลือกตั้ง
เมื่อรัฐบาลผสม 18 พรรคการเมืองที่มีหัวหอกคือ ‘พลังประชารัฐ’ จับมือได้เสียงข้างมากในสภา ชนะพรรคที่ออกตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย 7 พรรค ปฏิบัติการเลือกนายกรัฐมนตรีจึงไม่มีพลิก เพราะมีเสียงตุนไว้แล้ว 250 เสียงในวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งคัดเลือกโดย คสช. เพื่อ คสช. เอง เพราะมี คสช. ที่เป็นกรรมการคัดเลือกเลือกตัวเองให้ได้เป็น ส.ว. ด้วย บางคนได้เป็น ส.ว. ยาวนานตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา
ข้ามฟากมาที่คณะรัฐมนตรี ด้วยมีพรรคร่วมมหาศาล ทำให้การจัดสรรปันส่วนกระทรวงต้องเผชิญกับแรงกระเพื่อมตลอด แต่ในที่สุดก็รอดพ้นมาได้ด้วยหน้าตาคณะรัฐมนตรีบางคนที่เป็นคนคุ้นเคยในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่เวลานี้เปลี่ยนค่ายเบอร์เดิมมาเป็นคนเก่าในร่มเงาใหม่ เช่น สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สมศักดิ์ เทพสุทิน ฯลฯ จนสื่อทำเนียบตั้งฉายาให้คณะรัฐมนตรีชุดนี้ว่า ‘รัฐเชียงกง’
การเมืองดำเนินไปภายใต้วิถีที่เรียกว่า ‘เสียงปริ่มน้ำ’ รัฐบาลมีเสียงเกินครึ่งสภามาไม่กี่เสียง จึงสุ่มเสี่ยงต่อการโหวตญัตติต่างๆ ในสภา ทำให้เกิดปฏิบัติการดูด ส.ส. ฟากรัฐบาลที่เริ่มต้นภาคแรกก่อนเลือกตั้ง ต้องมาดำเนินการต่อในภาคสองที่เรียกว่า ‘งูเห่า’ และแน่นอนว่างูหลายตัวจากพรรคฝ่ายค้านได้เลื้อยออกจากโรงฟัก โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ ถึงขนาดมีมติขับสมาชิก 4 คนที่ปันใจให้รัฐบาลออกจากพรรค
ปีที่ผ่านมา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังเป็นนักการเมืองที่เจอพายุถาโถมมากที่สุด แม้จะนำพาพรรคอนาคตใหม่ชนะการเลือกตั้ง ได้เหยียบสภาในฐานะ ส.ส. หยุดปฏิบัติหน้าที่ และต้องหลุดเก้าอี้เมื่อศาลวินิจฉัยปมถือหุ้นสื่อ พร้อมๆ กับการประกาศทำงานนอกสภาในหลายเรื่อง ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จะยังคงอยู่กับการเมืองไทยไปอีกนานตามวาทะแห่งปีที่ได้ประกาศต่อหน้าสื่อ
แน่นอนว่าปี 2562 เป็นจุดเริ่มต้นหวนคืนสู่ทาง ‘ประชาธิปไตย’ ที่ประชาชนได้เลือกผู้แทนทางอ้อมผ่านคูหาการเลือกตั้ง แต่ทว่ากลไกรัฐธรรมนูญได้ออกแบบให้คนบางกลุ่มไม่มีจุดยึดโยงหรือที่มาจากประชาชนโดยตรง ที่สำคัญคือมีอำนาจและบทบาทเทียบเท่าผู้แทนที่ประชาชนเลือกมา การปฏิรูปการเมืองประหนึ่งคำกล่าวอ้างให้ดูดี แต่วัฏจักรก็วนกลับมาที่เดิม ตั้งแต่ข้อครหาซื้อ ส.ส. ซื้อเสียง นักการเมืองโกง นักการเมืองไม่มีคุณธรรม ไม่ยึดอุดมการณ์ เอื้อพวกพ้อง หรือพร้อมที่จะแลกเสียงกับผลประโยชน์ เกิดเป็นดงงูเห่าซ้ำรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทำให้คนกลุ่มหนึ่งได้อยู่ในอำนาจต่อเนื่องผ่านกลไกที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ
ในวัฏจักรที่วนลูป ไม่อาจตัดสินฟันธงได้เสียทีเดียวว่ามีแต่ผู้ร้าย เพราะคนที่พยายามประคองตัวเองไว้ตามอุดมการณ์ความเชื่อก็มี เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประกาศทิ้งเก้าอี้ ส.ส. เมื่อพรรคหนุนคนชื่อประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี, ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เมื่อแนวทางไม่ตรงกัน, ชวน หลีกภัย มุ่งมั่นทำให้สภาเป็นปากเสียงชาวบ้านอย่างแท้จริง, อนุทิน ชาญวีรกูล ผนึกกำลัง มนัญญา ไทยเศรษฐ์ แบน 3 สารเคมีทางการเกษตรเพื่อชาวบ้าน, สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พ่ายในเกม แต่แรงนอกสภา, ส.ส. สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จากพรรคประชาชาติสวมหัวใจทำงานเพื่อคนท้องที่ ฯลฯ
สงครามความคิดคนรุ่นเก่า-ใหม่ จุดปะทะความชังชาติหรือรักชาติ
‘คนรุ่นใหม่’ กลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากในสมรภูมิการเมืองปี 2562 นับตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ก่อรูปทางการเมืองและมีกลุ่มผู้สนับสนุนหลักคือคนรุ่นใหม่ที่มีอาวุธสำคัญคือโซเชียลมีเดีย ถึงขนาดที่นักการเมืองบางคนบอกว่าพิษสงร้ายแรงมาก อดีตนักการเมืองบางคนออกปากว่า ‘ทำให้สังคมวิบัติ’
ขณะที่ความนิยมในโลกโซเชียลมีเดียของพรรคอนาคตใหม่พุ่งสูงและมียอดผู้ติดตามมากถึงขนาดที่กูรูหลายคนวิเคราะห์ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้ที่นั่งในสภา แถมด้วยการสร้างเซอร์ไพรส์ในหลายเขตก็มาจากอาวุธชนิดนี้
ความคิดของพรรคอนาคตใหม่ที่โยนสู่สังคม หลายเรื่องถูกมองว่าเป็นความท้าทายต่อระบบเก่า ตั้งแต่การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การปฏิรูปกองทัพ ต่อสู้กับระบบทุนผูกขาด ยุติระบบราชการรวมศูนย์ ฯลฯ ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายครั้ง รวมถึงการเมืองขั้วตรงข้ามที่หยิบมาเป็นประเด็นโจมตีว่าไม่รักประเทศ มุ่งแต่จะรื้อระบบ เป็นศัตรูประเทศด้วยการนิยามว่าเป็น ‘ลัทธิชังชาติ’
สำหรับลัทธิชังชาตินั้น หากจำแนกตาม ‘มือปราบชังชาติ’ นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ที่ยื่นใบลาออกมาร่วมงานกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ให้สัมภาษณ์กับไทยโพสต์ว่ามี 5 กลุ่มคือ
1. จาบจ้วงสถาบัน
2. ไม่ส่งเสริมทุกศาสนา นำศาสนามาสร้างความขัดแย้ง
3. ดูถูกประเทศไทย ด่าประเทศไทย ไม่สนใจจารีตประเพณี
4. ชักศึกเข้าบ้าน
5. ไม่ยอมรับการตัดสินของศาล
“อันนี้มันยากกว่าระบอบทักษิณ เพราะมันต้องใช้ความรู้ในการต่อสู้ สมัยสู้กับระบอบทักษิณเรื่องทุจริต เราต้องเอาหลักฐานมาสู้ แต่วันนี้เราต้องใช้ความเชื่อสู้ ต้องใช้ความรู้ไปสู้กับเขา ซึ่งมันยากกว่า มันต้องใช้ความเชื่อในตัวเองว่าสิ่งนั้นมันไม่ถูกต้อง ให้ประชาชนเห็นคล้อยตามเราว่าสิ่งนั้นไม่ถูก เช่น การดูถูกประเทศชาติของเรากันเอง มันไม่ถูก การไม่เอารากเหง้าของประเทศ แบบนี้มันไม่ถูก เรื่องพวกนี้เป็นการสร้างความเชื่อสู้กัน ซึ่งมันยากกว่า” นายแพทย์วรงค์กล่าว
ขณะที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ยืนยันว่าเราไม่ใช่พวกชังชาติ แต่เราคือคนรักชาติ ชาติที่มีประชาชนอยู่ในนั้น ชาติที่เคารพความเป็นมนุษย์ ชาติที่อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข และยืนยันว่าพวกเราไม่ใช่พวกล้มเจ้า เราต้องการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ถูกยกย่องเทิดทูน ไม่ใช่ถูกใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแอบอ้างใช้เป็นเครื่องมือทำลายล้างทางการเมือง”
การปะทะกันทางความคิดของคนสองรุ่นทำให้การเมืองไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การต่อสู้ทางความคิดที่ต้องการเปลี่ยน ในขณะที่อีกฝ่ายต้องการรักษา จึงต้องหาจุดประนีประนอม ความไม่เชื่อว่าคนรุ่นใหมคิดเองได้ คิดไม่เป็น ถูกล้างสมอง ถูกใช้เป็นข้อหาทางการเมืองเมื่อมีการเคลื่อนไหว ขณะที่ข้อหาคนรุ่นเก่าที่ความคิดตกยุค ไม่ทันสมัย อยู่แต่ความเคยชินก็ถูกสวนกลับ จึงทำให้พลังของคนสองวัยงัดง้างกันอย่างชัดเจนในปี 2562
การเมืองไทย 2563 จับตาความขัดแย้ง วาทกรรมสองมาตรฐานซ้ำรอย
1. การเมืองร้อน ธนาธรประกาศชุมนุม พามวลชนสู่ถนน
จุดแตกหักนี้มาจากกรณีที่ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ปมธนาธรให้เงินกู้กับพรรค ซึ่ง ศรีสุวรรณ จรรยา ได้ร้องว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง ทำให้ธนาธรประกาศนัดประชาชนแสดงพลังที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน ในวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ด้วยเชื่อว่ากระบวนการสอบสวนของ กกต. มีธง
ธนาธรบอกว่าการชุมนุมครั้งแรกเป็นเพียงการชิมลางวัดพลัง ส่วนจำนวนคนที่มานั้น ภาพที่ปรากฏตามสื่อได้ตอบคำถามแล้ว การปลุกมวลชนของธนาธรครั้งนี้ หากมองว่าวันหนึ่งจะต้องมาถึงก็ไม่ผิดนัก แต่ทว่ามันคือการประกาศว่าหากเขาจะนำมวลชนขับไล่รัฐบาลเพื่อต่อสู้กับความไม่ชอบธรรม ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อพรรคอนาคตใหม่ ก็มีแนวร่วมให้เห็นแล้ว
ที่สำคัญ เขาประกาศว่าในเดือนมกราคม 2563 อาจจะได้เห็นการลงถนน ซึ่งขอให้ซ้อมวิ่งไว้ได้แล้ว สอดรับกับการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงของนักกิจกรรมที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 มกราคม 2563 และประเด็นการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่อาจจะเร่งปฏิกิริยาให้เร็วและร้อนขึ้นอีก
หลายฝ่ายกังวลว่าจะซ้ำรอยการชุมนุมทางการเมืองอย่าง นปช. หรือ กปปส. ที่ต่อเนื่องยาวนานและจบลงด้วยการรัฐประหาร หรือจะเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ‘ความขัดแย้ง’ ได้หวนคืนชัดเจนอีกหน
2. เลือกตั้งท้องถิ่นครั้งประวัติศาสตร์
นับตั้งแต่ คสช. เข้ามายึดอำนาจก็ได้แช่แข็งทั้งการเลือกตั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ในปี 2562 ที่ผ่านมาได้ยอมคลายล็อกให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ทุกรูปแบบการปกครองท้องถิ่นได้หมดวาระลงแล้วนั้นคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2563
นัยหนึ่งคือการคืนอำนาจให้ประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ ได้เลือกผู้แทนมาพัฒนาท้องถิ่นของตนเองในระดับที่ใกล้ชิดกับประชาชน เศรษฐกิจฐานรากในห้วงดังกล่าวอาจได้รับแรงกระตุ้นจากการใช้เม็ดเงินผ่านการหาเสียง แต่อีกนัยหนึ่งคือการโชว์ภาพความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้เห็นว่าบัดนี้ประเทศไทยมีเสถียรภาพทางการเมืองที่ชัดเจนทุกระดับแล้ว
สำหรับการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครดูจะถูกจับตาเป็นพิเศษว่าใครจะได้เข้ามาบริหารเมืองหลวงของประเทศที่เต็มไปด้วยปัญหา และเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการเมืองของแต่ละฝ่ายที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นชื่อของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, รสนา โตสิตระกูล, นวลพรรณ ล่ำซำ ฯลฯ ต้องจับตาว่ารัฐบาลจะคลายล็อกให้เลือกเมื่อใด
3. คดีปารีณารุกป่า
ประเด็นนี้ถูกเปิดเผยโดย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่ไปยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบที่ดินกว่า 1,700 ไร่ของปารีณาที่ใช้ทำฟาร์มไก่ชื่อ ‘เขาสนฟาร์ม’ ที่สงสัยว่ารุกพื้นที่ป่าสงวนและ ส.ป.ก. นำมาซึ่งการตั้งคำถามจากสังคมในการดำเนินการตรวจสอบกรณีนี้ว่าจะเป็นมวยล้มต้มคนดูหรือไม่ เพราะมีประชาชนที่เข้าไปครอบครองที่ดินในลักษณะดังกล่าวถูกดำเนินคดีถึงขั้นติดคุกมาแล้ว
ปรากฏการณ์นี้ถึงขนาดที่ทำให้ปารีณา ‘ไปไม่เป็น’ เมื่อถูกซักถามจากสื่อมวลชนในวงสื่อที่รัฐสภา มิหนำซ้ำปฏิกิริยาจากรัฐมนตรีที่ดูแล ส.ป.ก. ยังดูเหมือนจะชิงตัดสินว่าปารีณาไม่มีความผิด แค่คืนที่ดินไปก็จบ ยิ่งทำให้สังคมคลางแคลงต่อกระบวนการมากขึ้น
อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ที่ดินฟาร์มไก่ 1,700 ไร่ พบว่าที่ดินดังกล่าวบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี และต่อมาได้มีการตั้ง 4 ข้อหาเพื่อดำเนินคดี แต่ทว่าในส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบข้อกฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน 682 ไร่นั้น ขณะนี้ยังคงรอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากกรมป่าไม้และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีความเห็นที่ไม่ตรงกันว่าสรุปแล้วสามารถดำเนินคดีกับปารีณาฐานรุกที่ป่า 682 ไร่ในช่วงก่อนประกาศเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ได้หรือไม่
วีระ สมความคิด ประกาศตามติดเรื่องนี้ไม่ปล่อย เพื่อพิสูจน์มาตรฐานของเจ้าหน้าที่และกระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียม ประเด็นนี้ในปี 2563 อาจกลายเป็นการย้อนกลับมาของวาทกรรมว่าด้วยเรื่องสองมาตรฐานก็เป็นได้
4. เปิดศึกซักฟอกรัฐบาล ฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจ
แน่นอนแล้วว่าพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้านที่มี ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง เข้ามาคุมทัพการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เตรียมที่จะยื่นซักฟอกรัฐบาลประยุทธ์ในช่วงต้นเดือนมกราคม ซึ่งคาดว่าศึกซักฟอกจะตามมาในห้วง 3 เดือนแรกของปี 2563
ทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในทางการเมืองมักมีการปรับคณะรัฐมนตรีตามมา แต่ต้องดูว่าฝ่ายค้านจะแค่เปิดแผลหรือสามารถทุบให้รัฐบาลสิ้นใจ มีหมัดน็อกหมัดเด็ดอะไรปล่อยออกมา หรือจะเป็นเพียงการขี่ม้าเลียบค่าย โหมโรงปี่กลอง แต่ไม่สามารถทำให้รัฐบาลสั่นไหว
เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรี ศึกภายในของรัฐบาลก็จะมีแรงกระเพื่อมตามมาอีก คนสมหวังไม่เป็นไร คนไม่สมหวังอาจมีปฏิกิริยา นโยบายจะถูกขับเคลื่อนต่อแค่ไหน เสถียรภาพรัฐบาลจะแข็งแรงขึ้นหรือไม่ ล้วนเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องจับตา
ปีเก่าผ่านไป ปีใหม่มาถึงแล้ว ชีวิตต้องดำเนินต่อไป การเมืองก็เดินหน้าต่อ มีเครื่องยนต์เศรษฐกิจผูกโยง จะติดๆ ดับๆ นิ่งสนิท หรือเดินเครื่องเต็มสูบ มีปัจจัยการเมืองเป็นเงื่อนไขสำคัญ
ทั้งหมดนี้เป็นการย้อนมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งปี เพื่อปรับปรุง แก้ไข ต่อยอด รวมทั้งเพื่อการวางแผนรับมือชีวิตเราในปี 2563 ต่อไป
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์