×

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2020: ยินดีต้อนรับสู่ปลายวัฏจักรของการเติบโต เตรียมพร้อมกับโลกที่ชะลอตัว

โดย SCB WEALTH
24.12.2019
  • LOADING...
แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2020

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2019 รุนแรงกว่าที่สำนักวิจัยหลายๆ แห่งคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ IMF รวมถึงธนาคารกลางของแต่ละประเทศ รวมถึงไทยได้มีการทยอยปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในระดับโลกและระดับประเทศลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2018 ถึงปัจจุบัน
  • แนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2020 คาดว่ายังคงมีการเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวตามวัฏจักรชะลอตัว (Late Cycle) และผลของสงครามการค้าที่กระทบตลอดทั้งปีหากเทียบกับปี 2019 ที่สหรัฐฯ-จีนทยอยปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าตอบโต้กันเป็นระยะๆ ส่งผลให้ผลกระทบเริ่มรุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 โดยประเทศหลักๆ อย่างสหรัฐฯ และเยอรมนีเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค 
  • กล่าวโดยสรุป ปี 2020 ยังคงเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกและไทยมีอัตราการขยายตัวและอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำตามวัฏจักรเศรษฐกิจที่เข้าสู่ช่วงชะลอตัว ส่วนสงครามการค้า หากยังคงดำเนินต่อไปจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น เร็วขึ้น และรุนแรงขึ้น

จากปี 2019 ที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด ในปี 2020 โลกยังคงมีความเสี่ยงอีกมากมายที่ต้องเผชิญหน้า ซึ่งล้วนเป็นผลพวงมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ทั้งสงครามการค้าที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ และอาจลุกลามกลายเป็นสงครามค่าเงินและสงครามเทคโนโลยี ความไม่แน่นอนของ Brexit ขณะเดียวกันก็ยังมีจุดเปลี่ยนเมื่อการเลือกตั้งสหรัฐฯ ใกล้เข้ามา แม้ในปี 2020 จะมีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ปัจจัยเหล่านี้ก็ยังเป็นสิ่งที่โลกต้องจับตา

 

เศรษฐกิจ 2019: ชะลอตัวตามวัฏจักร แต่ถูกซ้ำเติมจากสงครามการค้า ความเชื่อมั่นตกต่ำ

จริงๆ แล้วมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ได้มีการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2019 ไว้แล้วว่ามีโอกาสชะลอตัว โดยเหตุผลหลักคือการเข้าสู่ปลายวัฏจักรของการเติบโต (Late Cycle) ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การที่อัตราการเติบโตของ GDP ทั่วโลกปรับตัวขึ้นไปสูงสุดในปี 2017 ที่ 3.8% หลังจากนั้นการขยายตัวก็เริ่มชะลอตัวลงเหลือ 3.6% ในปี 2018 (ข้อมูลจาก IMF) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติเช่นกันของภาวะเศรษฐกิจที่จะมีการชะลอตัว หลังจากมีการขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ในช่วงปี 2007-2009 ทั้งนี้โดยเฉลี่ยวัฏจักรการเติบโตขึ้น-ลงของเศรษฐกิจ 1 รอบใช้เวลาประมาณ 7 ปี

 

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2020

 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2019 นั้นรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ของสำนักวิจัยหลายๆ แห่ง ส่งผลให้ IMF รวมถึงธนาคารกลางของแต่ละประเทศ รวมถึงไทยได้มีการทยอยปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในระดับโลกและระดับประเทศลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2018 ถึงปัจจุบัน

 

ล่าสุดเดือนตุลาคม IMF คาดการณ์อัตราเติบโตของ GDP โลกในปี 2019 เหลือเพียง 3% ส่วนในระดับประเทศ คาดการณ์สหรัฐฯ ไว้ที่ 2.4% จีน 6.1% ยูโรโซน 1.2% ญี่ปุ่น 0.9%

 

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2020

 

ปัจจัยกดดันที่เข้ามาแทรกซ้อนคือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2018 ที่ก็ต้องยอมรับอีกครั้งว่า ‘รุนแรงเกินคาด’ เช่นกัน จากจุดเริ่มต้นที่ทั้งสองประเทศขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้ากัน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไปๆ มาๆ มูลค่าการเก็บภาษีสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากทางสหรัฐฯ ที่เก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นไปเกือบ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ปัจจัยดังกล่าวถือว่ามีแรงกดดันอย่างมากต่อการค้าระหว่างประเทศ สะท้อนไปที่มูลค่าการส่งออกของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกลดลงอย่างมากในปี 2019 เช่น จีน เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย ที่มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับลดลงจากปี 2018 ส่งผลลุกลามไปถึงกิจกรรมในภาคการผลิตสินค้าที่ตกต่ำอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ผลิตสินค้าไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะสั่งซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าในปริมาณเท่าไรจึงจะเหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภค

 

ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์เริ่มออกมาเตือนแล้วว่าอาจจะลุกลามถึงภาคบริการ ซึ่งแม้ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่หากภาพรวมเศรษฐกิจแย่ลงมากก็คงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น Brexit ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน และการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรป 

 

ภาพรวมของสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นถือว่าส่งผลกระทบอย่างมากจนทำให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่น (Confidence Crisis) ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดต่อภาคธุรกิจ ทำให้กิจกรรมการค้าการลงทุนชะลอตัว ตลาดการเงินผันผวนสูง และกระทบต่อการลงทุนในตลาดทุนเช่นกัน

 

นโยบายการเงินผ่อนคลายถูกนำกลับมาใช้เป็นครั้งแรกหลังจากเกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป เพื่อเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำ หลังจากได้รับผลกระทบอย่างมากจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้ง รวม 0.50% พร้อมประกาศว่าจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับธนาคารพาณิชย์จากระดับ -0.40% เป็น -0.50% พร้อมกับการกลับมาดำเนินนโยบาย QE อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2019 วงเงินซื้อสินทรัพย์ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน

 

ด้านเศรษฐกิจไทยปี 2019 ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก โดย SCB EIC คาดว่าปีนี้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจจะเหลือ 2.5% หลังจากครึ่งปีแรก  GDP อยู่ที่ 2.6% เป็นผลการส่งออกที่หดตัว การลงทุนภาคเอกชนภาคเอกชนชะลอตัว ขณะที่รายได้ภาคท่องเที่ยวลดลงเพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่า อย่างไรก็ตามมีเพียงการบริโภคภายในประเทศที่ยังเติบโต จากแรงหนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาในปีนี้

 

นอกจากนี้ปี 2019 เศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.25% ถือเป็นระดับต่ำที่สุดในประวัติการณ์ 

 

ขณะเดียวกันภาครัฐมีนโยบายให้หน่วยงานทางเศรษฐกิจเช่น ธปท., กระทรวงการคลัง, ตลท. และ ก.ล.ต. มีนโยบายเศรษฐกิจในทางเดียวกันเพื่อให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2020: เติบโตต่ำ อาจเห็นสัญญาณฟื้นตัวอ่อนๆ

แนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2020 คาดว่ายังคงมีการเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวตามวัฏจักรชะลอตัว (Late Cycle) และผลของสงครามการค้าที่กระทบตลอดทั้งปีหากเทียบกับปี 2019 ที่สหรัฐฯ-จีนทยอยปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าเป็นการตอบโต้กันเป็นระยะๆ ส่งผลให้ผลกระทบเริ่มรุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปี 2019

 

โดยประเทศหลักๆ อย่างเช่นสหรัฐฯ และเยอรมนีเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (การเติบโตของเศรษฐกิจลดลงแบบไตรมาสต่อไตรมาสติดต่อกัน 2 ไตรมาส) เนื่องจากภาคการส่งออกและกิจกรรมการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างมากจากสงครามการค้า

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรปมีความพร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก พร้อมกับอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเศรษฐกิจในปี 2020 จึงทำให้บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ประเมินว่าโอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยในปี 2020 ตามที่ตลาดการเงินกังวลมากในขณะนี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำ (ทั้งนี้แม้ SCBS จะประเมินว่าผลบวกจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในรอบนี้จะไม่มากเท่ากับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2007-2009 แต่เพียงพอที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจและตลาดการเงินได้ในระดับหนึ่ง)

 

สำหรับภูมิภาคที่ยังคงเป็นความหวังที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกคือประเทศเกิดใหม่และประเทศที่กำลังพัฒนาที่คาดว่าอัตราการเติบโตยังคงอยู่ในระดับสูง เช่น จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ร่วมกันส่งผลให้อัตราการเติบโตอยู่ในระดับสูงกว่า 4%

 

จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจในปี 2020 คือหาก โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทบทวนมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน (ล่าสุดสหรัฐฯ-จีนกำลังมีการเจรจาการค้าและมีสัญญาณที่ดีขึ้น) เนื่องจากเห็นได้ชัดเจนว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองมาก เพราะสินค้านำเข้าที่ถูกเก็บภาษีในรายการหลังๆ มีสัดส่วนของสินค้าอุปโภคและบริโภคมากขึ้น ซึ่งยังไม่สามารถที่จะหาแหล่งสินค้าประเทศอื่นมาทดแทนสินค้าของประเทศจีนได้ในระยะเวลาสั้นๆ รวมถึงภาคเกษตรสหรัฐฯ เองที่ได้รับผลกระทบจากการที่จีนหยุดการนำเข้า เนื่องจากสหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน 2020 ดังนั้นเชื่อว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คงต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเช่นกัน นอกเหนือจากการเรียกคะแนนเสียงจากการทำสงครามการค้ากับจีนเพียงอย่างเดียว หากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก็จะทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวได้ ซึ่ง SCBS ประเมินว่าน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นไม่เกินไตรมาสที่ 1 ของปี 2020 เพื่อให้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวทันเลือกตั้ง

 

สำหรับการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP โลกในปี 2020 ล่าสุด IMF คาดไว้ที่ระดับ 3.4% ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ไม่สูงนักที่ 2.1% ลดลงจากปี 2019 ที่คาดว่าจะเติบโต 2.4% ด้านยูโรโซนอยู่ที่ระดับ 1.4% ญี่ปุ่น 0.5% และจีน 5.8% ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ทศวรรษที่อัตราการเติบโตของจีนต่ำกว่า 6%

 

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2020

 

ประเด็นความเสี่ยงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในปี 2020 ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ขยายวงไปเป็นสงครามเทคโนโลยี สงครามค่าเงิน และสงครามการเงิน ซึ่งหากลุกลามก็จะกลายเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจรอบใหม่ ประเด็นต่อมาคือหากอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง ในขณะที่ยังคงต้องติดตามมาตรการภาษียานยนต์และชิ้นส่วนระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป ส่วนญี่ปุ่นต้องติดตามผลกระทบจากการขึ้นภาษีการบริโภคและความขัดแย้งกับเกาหลีใต้

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2020 คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 2.8% ใกล้เคียงกับปี 2019 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีโอกาสปรับลดอีกอย่างน้อย 0.25% มาอยู่ที่ 1.25% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่า 1% ด้านค่าเงินบาท คาดว่าจะยังคงทรงตัวที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นด้านการส่งออกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก แต่อัตราการชะลอตัวคาดว่าจะไม่รุนแรงเท่ากับปี 2019 ส่วนที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ได้แก่ การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าปี 2019 เนื่องจากงบประมาณที่เพิ่มขึ้นและรัฐบาลมีเวลาทำงานเต็มที่ ส่วนการบริโภคในประเทศยังคงเป็นเสาหลักสำคัญของการเติบโต โดยได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่คาดว่าจะมีเป็นระยะๆ

 

SCBS ประเมินว่าการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังจะส่งผลดีต่อการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจในปี 2020 เพราะนโยบายที่สอดคล้องกันจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในช่วงเวลาสำคัญ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีโอกาสผ่อนคลายนโยบายที่เคยคุมเข้มไว้ก่อนหน้าเพื่อช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่สร้างความเสี่ยงให้กับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเช่นกัน

 

กล่าวโดยสรุป ปี 2020 ยังคงเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกและไทยมีอัตราการขยายตัวและอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำตามวัฏจักรเศรษฐกิจที่เข้าสู่ช่วงชะลอตัว ส่วนสงครามการค้า หากยังคงดำเนินต่อไปจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น เร็วขึ้น และรุนแรงขึ้น

 

ทั้งนี้ต้องติดตามว่ามาตรการผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐฯ ยุโรป และจีน จะเห็นผลได้มากน้อยแค่ไหน โดยนอกจากสหรัฐฯ จะชะลอการทำสงครามการค้าแล้วยังมีอีกความหวังหนึ่งคือการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ล่าสุดได้หันมาให้ความสำคัญกับวิกฤตความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดการเงินผ่านการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งถูกใช้เป็นดัชนีชี้วัดการเกิดขึ้นของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต หากธนาคารกลางสหรัฐฯ สามารถลดความกังวลของตลาดการเงินได้ก็จะสามารถช่วยแก้ไขวิกฤตความเชื่อมั่นได้อย่างมาก 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X