×

จับตา 11 ฉากสำคัญ การเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม ปี 2565 เมื่อหนังตัวอย่างได้เริ่มฉายบางส่วนแล้ว

23.12.2021
  • LOADING...
NOW and NEXT 2022 POLITICS

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • THE STANDARD ชวนทุกคนติดตาม 11 ฉากสำคัญของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ปีหน้า หลังจากหนังตัวอย่างได้เริ่มฉายไปบางส่วนในปลายปีนี้ 

ปี 2564 รัฐบาลประยุทธ์ ต้องรับมือศึกใน ศึกใหญ่สำคัญที่ทุกสายตาจับจ้อง คือมรสุมและแรงกระเพื่อมภายในพรรคพลังประชารัฐเอง แม้จะมีเรื่องที่เป็นด้านบวกเกิดขึ้นกับนายกรัฐมนตรีและพลพรรครัฐมนตรีขั้วรัฐบาล เช่น ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง 72 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อไทย ยื่นวินิจฉัยประยุทธ์ ปมเอื้อสัมปทานรถไฟฟ้า, ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘ธรรมนัส’ ไม่ขาดคุณสมบัติ ส.ส.-รมต. ปมถูกยื่นถอดถอนเคยถูกศาลออสเตรเลียพิพากษาคดียาเสพติด 

 

แต่สถานการณ์โควิดสายพันธุ์เดลตากลับทวีความรุนแรงอย่างคุมไม่อยู่ วัคซีนหลักที่รัฐบาลมุ่งหมายจะใช้กลับไม่มาตามนัด วัคซีนเชื้อตายก็ไม่สามารถต่อกรได้เต็มที่ ยอดผู้เสียชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินพุ่งเกินขีดความสามารถการรองรับ จนรัฐบาลต้องปิดๆ เปิดๆ สถานประกอบการ ควบคุมกิจกรรมรวมตัว ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ เปิดแผลให้ถูกอภิปราย เรียกได้ว่าการได้คะแนนเสียงไว้วางใจจากการลงมติในสภาที่ได้ไปนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุผลการชี้แจงใดๆ แต่เป็นเรื่องของการพิสูจน์ฝีมือวิปรัฐบาล การชิงไหวชิงพริบของผู้ควบคุมเสียง ส.ส. วัดพลังกัน จนเหมือนจะจบลงที่การเคลียร์ใจ (แต่อาจไม่จบจริง เพราะยังมีศึกนับองค์ประชุมอีกหลายยก ไว้วัดพลัง วัดแรงกระเพื่อม ให้ติดตามกันต่อ)

 

NOW and NEXT 2022 POLITICS

 

ปี 2564 จึงเหมือนจะจบลงไม่สวยนักสำหรับรัฐบาล ที่เหมือนปลายปีท่าทีจะดีขึ้น เมื่อทิศทางนโยบายการจัดหาวัคซีนเริ่มเปลี่ยนแปลง แต่เหมือนโลกจะไม่เข้าข้างไทย เพราะโควิดสายพันธุ์โอไมครอนกลับทำให้สถานการณ์น่ากังวลอีกหน แม้จำนวนผู้ได้รับวัคซีนจะเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่จึงยังต้องจับตากันต่อ 

 

เช่นเดียวกับสถานการณ์ร้อนทางการเมือง ที่ท้ายปีมีสัญญาณปะทุขึ้น เรียกได้ว่าความเดือดร้อนที่ถูกซุกไว้ใต้พรมหลายๆ ด้านกำลังถูกเอาออกมา เตรียมเผาจริงในปีหน้า

 

THE STANDARD ชวนทุกคนติดตาม 11 ฉากสำคัญของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ปีหน้า หลังจากหนังตัวอย่างได้เริ่มฉายไปบางส่วนในปลายปีนี้ 

 

NOW and NEXT 2022 POLITICS

 

1. (ถ้า) เลือกตั้งปีหน้า จะเหลือพรรคเก่าแข่งกันกี่พรรค 

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ระบุว่าของขวัญปีใหม่ที่ดีที่สุดในปี 2565 สำหรับประชาชนคือการเลือกตั้งใหม่ เช่นเดียวกับผลสำรวจหัวข้อ ‘คาดหวังอะไรในปี 2565’ พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 70.7 คาดหวังได้รัฐบาลชุดใหม่ 

 

แต่ช้าก่อน THE STANDARD จะขอนำเสนอข้อมูลบางส่วน ว่าเวลานี้มีคำร้องยุบพรรคการเมืองเด่นๆ ที่อยู่ในมือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งจะออกหัวออกก้อยอย่างไรในปี 2565 คงเหนือการคาดเดา เพราะจากหนังตัวอย่างที่ออกมาในปีนี้ก็เรียกว่าพลิกล็อกกันหลายฉากเหมือนกัน 

 

ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่าแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) 5 คน สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.

 

ในศาลฎีกา มี 4 ส.ส. ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จากกรณีฝ่าฝืนจริยธรรม โดย 3 ใน 4 คือ ส.ส.รัฐบาล ทั้ง ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ, ฉลอง เทอดวีระพงศ์ และ ภูมิศิษฏ์ คงมี ทั้งสองคนเป็น ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ปมเสียบบัตรแทนกัน 

 

ต่อด้วยกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับฟ้องคดีทุจริตสนามฟุตซอลโคราช วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ  

 

ดังนั้นหากปีหน้ามีเลือกตั้งจริง พรรคต่างๆ ที่มีคำร้องยุบพรรค หรือนักการเมืองที่ถูกร้องอยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ กกต. ก็คงต้องร้อนๆ หนาวๆ กันไม่น้อย 

 

เริ่มที่พรรคเพื่อไทย มีกรณีน่าสนใจ เช่น

 

  • กรณีคลิปงานเลี้ยง ส.ส.เพื่อไทย ที่มีวิดีโอคอลจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พูดคุยกับสมาชิกพรรควางตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่ ก็ถูก สนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่น กกต. เรียบร้อย 

 

  • กรณีขับ ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ และ พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี ออกจากพรรคเพื่อไทย เนื่องจากโหวตสวนมติพรรค สนธิญา สวัสดี ได้ร้องต่อ กกต. ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

  • กรณี ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย กระทำการเรียกรับเงินต่ออธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่ง สนธิญา สวัสดี ได้ร้องต่อ กกต. เช่นกัน

 

  • กรณีที่ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ The Bottom Blues โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า พรรคเพื่อไทยสนับสนุนการเงินในการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง สนธิญา สวัสดี ได้ร้องต่อ กกต. เช่นกัน 

 

พรรคร่วมฝ่ายค้านอีกพรรคอย่างพรรคก้าวไกลก็มีคำร้องใน กกต. เป็นฝีมือของ ณฐพร โตประยูร ผู้เคยยื่นคำร้องยุบพรรคอนาคตใหม่มาแล้วนั่นเอง จากกรณีที่ณฐพรมีหลักฐานเชื่อมโยงว่าพรรคก้าวไกลกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง จากเหตุที่ผู้ชุมนุมกระทำความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้วพรรคการเมืองไปสนับสนุน หรือ ส.ส. ของพรรคก็ไปประกันตัว 

 

พรรครัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็มีเรื่องมีราวอยู่ใน กกต. เช่นกัน จากการที่ เทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นต่อ กกต. เพื่อให้พิจารณาดำเนินการการกระทำผิดของสมาชิกพรรค พปชร. จากกรณีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 3 จังหวัดนครศรีธรรมราช และมีสมาชิกพรรค พปชร. กลุ่มหนึ่ง นำโดย สายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช และ นิพันธ์ ศิริธร ส.ส.ตรัง ในฐานะรองหัวหน้าพรรค แถลงข่าวของสมาชิกพรรค พปชร. ที่เป็นเท็จ มีผลต่อคะแนนนิยมของพรรค ปชป. และผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค ปชป. ซึ่งการแถลงข่าวดังกล่าวถือว่านิพันธ์ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรครับรู้อยู่แล้ว แต่ไม่ทำการท้วงติงหรือทัดทาน ซึ่งมีโทษถึงขั้นยุบพรรค

 

และอีกกรณี สำหรับพรรค พปชร. คือเรื่องที่ ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นต่อ กกต. กรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียก 6 รัฐมนตรีพรรค พปชร. เข้าหารือเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม อาจเข้าข่ายบุคคลใดที่อาจมิใช่สมาชิกของพรรคการเมืองเข้าไปครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมภายในพรรคการเมืองได้

 

NOW and NEXT 2022 POLITICS

 

2. นักการเมืองเก่าในขวดเหล้าทั้งใหม่และเก่า 

สีสันการเมืองปีหน้า หลังจากที่สัญญาณเลือกตั้งดูจะชัดขึ้น เมื่อผ่านด่านแก้รัฐธรรมนูญเรื่องบัตรเลือกตั้งเสร็จสิ้น ต่อด้วยการรอกฎหมายลูก นักการเมืองบางส่วนหวนคืนพรรค บางส่วนประกาศเตรียมกลับมาทำการเมือง 

 

ปลายปีนี้ที่เราได้เห็นกันแล้วล่าสุด คือกรณี จาตุรนต์ ฉายแสง คัมแบ็กพรรคเพื่อไทย และข่าวความเคลื่อนไหวของอดีตสี่กุมารพลังประชารัฐ ได้แก่ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ภาพขณะนั่งจิบกาแฟ พูดคุยกับ อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และโพสต์ข้อความว่า “คุยกันหลายเรื่องครับ มุมมองของเราทั้งสองยังคงเป็นเรื่องอนาคตประเทศไทย แล้วจะมาเล่าให้ฟังต่อๆ ไปนะครับ” 

 

เช่นเดียวกับที่อุตตมได้โพสต์อีกภาพ และมีข้อความว่า “มาจิบกาแฟกันครับ ก็ได้พูดคุยเรื่องอนาคตของประเทศ ซึ่งผมเชื่อว่าคนไทยคงคิดถึงเรื่องนี้กันมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่ใกล้จะหมดปีแล้ว คิดว่าคนไทยต้องการเห็นโอกาสใหม่ๆ ต้องการมีความหวัง และเมื่อมีความหวัง ทุกคนก็จะสามารถร่วมกันสร้างความหวังนั้นให้เป็นความจริง ผมคงมีเรื่องมาแลกเปลี่ยนกันหลังปีใหม่อย่างแน่นอนครับ”

 

ปี 2565 จึงเป็นปีที่น่าติดตามคอยลุ้นว่า ใครจะกลับบ้านเก่าอีกไหม และใครจะสร้างบ้านใหม่อีกบ้าง 

 

NOW and NEXT 2022 POLITICS

 

3. ร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ เดิมพันยุทธศาสตร์เลือกตั้ง

ล่าสุดอีกเช่นกัน ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าอย่างเร็วที่สุด ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือกฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีการแก้ไขหลังจากรัฐธรรมนูญแก้ไขเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยจะได้พิจารณาในช่วงมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ปี 2565 

 

หลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้ยื่นร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับต่อสภาเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ก็จะมีร่างของพรรคอื่นๆ ที่จะเข้าสู่การยื่นเพื่อพิจารณา ซึ่งเชื่อว่าแต่ละร่างก็จะส่งผลต่อเกมการเมือง เตรียมวางยุทธศาสตร์ ปรับองคาพยพพรรคการเมือง พร้อมสู้ศึกเลือกตั้งกันเต็มที่ 

 

สำหรับร่างของพรรคอื่นๆ ที่รอเปิดเผยตอนนี้ พรรคก้าวไกลที่จะยื่นร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับเข้าสภาในเร็วๆ นี้ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล แย้มว่าร่างนี้จะสะท้อนภาพใหญ่ทั้งหมดที่พรรคกำลังทำและผลักดันจะเป็นประมาณไหน เมื่อเปิดออกมาแล้วก็จะผิดไปจากที่หลายคนคาดไว้ 

 

ด้าน ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ก็ให้สัมภาษณ์ว่าวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่น่าจะใช่ประเด็นหลัก แต่น่าจะเป็นการทำให้ระบบการเลือกตั้งมีความเป็นธรรมมากขึ้น เพิ่มกลไกในการตรวจสอบหรือความรับผิดชอบของผู้จัดการเลือกตั้งมากขึ้น เช่น มีบัตรเขย่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือแค่จัดการเลือกตั้งใหม่ในหน่วย 

 

สำหรับ พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง จะแก้ไขในส่วนที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดพรรคการเมืองของประชาชนที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นการทำให้การจัดตั้งทำได้ง่าย มุ่งเน้นกระบวนการส่งเสริมสนับสนุนมากกว่าการเข้ามาควบคุมกำกับแบบระบบระเบียบราชการจนยากที่จะปฏิบัติ และทำให้ยุบพรรคได้ยากหรือยุบไม่ได้เลย 

 

สำหรับการไพรมารีโหวตจะเป็นกระบวนการในการส่งเสริมให้เกิดกลไกประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง มากกว่าจะเป็นการบังคับให้ทำเหมือนๆ กันหมด เพราะพิสูจน์แล้วว่ากระบวนการเช่นนี้และวิธีคิดแบบราชการเขียนรายละเอียดแบบบล็อกเดียวกันทั้งหมดไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งเขียนมาอย่างไรพรรคการเมืองใหญ่ก็ทำได้หมด แต่จะกลายเป็นอุปสรรคกับพรรคการเมืองที่ประชาชนตั้งขึ้นมาที่ไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ ไพรมารีโหวตควรจะมี แต่ควรจะเป็นพัฒนาการของแต่ละพรรคและรูปแบบอาจจะต่างกัน

 

ต่อด้วยร่างกฎหมายลูกของพรรคร่วมรัฐบาล ล่าสุด ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอร่างแก้กฎหมายลูก 2 ฉบับเป็นฉบับเดียวกัน ประเด็นที่แก้ไขจะเป็นไปตามที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ คือระบบบัตร 2 ใบเท่านั้น

 

NOW and NEXT 2022 POLITICS

 

4. เช็กพลังสนามซ้อม เลือกตั้งซ่อม ก่อนเปิดสนามจริง

หลัง เทพไท เสนพงศ์ พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เขต 3 นครศรีธรรมราช ต้องเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพรรค พปชร. คว้าชัยไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ต่อมาหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 5 แกนนำ กปปส. พ้นเก้าอี้ ส.ส. ล่าสุดได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ชุมพร เขต 1 และสงขลา เขต 6 แทนตำแหน่งที่ว่างลง ซึ่งจะเลือกตั้งกันในเดือนมกราคมปีหน้า 

 

หนนี้พรรคร่วมรัฐบาลอาจต้องเปิดศึกกันเอง และเปิดแผลอีกหน หลังศึกเลือกตั้งเขต 3 นครศรีธรรมราช ที่ถึงขั้น อลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรค ปชป. อดีต ส.ส. 6 สมัย และอดีตรัฐมนตรี เขียนข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง ‘มารยาททางการเมือง และ 4 เหตุผลกรณีพรรคร่วมรัฐบาลไม่ส่งผู้สมัครแข่งกันเองในการเลือกตั้งซ่อม’ 

 

จึงต้องติดตามประเด็นร้อนตั้งแต่ต้นปีเสือดุเลยทีเดียว ว่าจะดุเด็ดเผ็ดมันขนาดไหน 

 

แต่นอกจากสนามเลือกตั้งซ่อมจะเป็นเวทีวัดพลังพรรคใหญ่แล้วก็เป็นสนามซ้อมเปิดตัวพรรคใหม่ไปในตัวเช่นกัน โดยล่าสุด กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ได้ลงพื้นที่เขต 6 จังหวัดสงขลา เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่เขต 6 ไปเรียบร้อย พร้อมสู้ศึกเลือกตั้งเต็มที่ โดยเป็นอีกพรรคที่ในปีหน้าถ้ามีเลือกตั้งก็เป็นที่จับตาว่าจะเจาะฐานพรรคใหญ่ได้แค่ไหน 

 

NOW and NEXT 2022 POLITICS

 

5. สัญญาณไฟเขียวเลือกตั้งผู้ว่าเมืองหลวง ปีหน้ามาชัวร์ (?) 

จากปี 2556 สู่ปี 2565 สัญญาณการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เหมือนจะชัดขึ้นว่ามีแน่ หลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาให้ข่าวเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ถึงสเปกของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ว่าไม่เคยยื้อจนกว่าจะพร้อม จะเร็วจะช้าต้องดูอีกที จะยื้ออะไรไปทำไม 

 

แต่อะไรๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้ เหมือนที่เคยเกิดมาแล้ว กับวาทะ ‘เขาอยากอยู่ยาว’ จาก บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติคว่ำไป 

 

เช่นเดียวกับสัญญาลมปากของ พล.อ. ประยุทธ์ ตอนเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เคยบอกว่าจะให้มีเลือกตั้ง แต่ก็เลื่อนมาหลายหน ก่อนจะได้เลือกในวันที่ 24 มีนาคม 2562

 

มาจนวันนี้ หากมองอย่างถอดบทเรียนแล้ว คงต้องรอให้ ‘เขา’ มีแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ที่จะมั่นใจว่าจะครองใจคนเมืองกรุงได้อยู่หมัด ซึ่งวันนี้ดูแล้วเหมือนจะยังไม่มีใครโค่นแคนดิเดตที่แข็งแกร่งที่สุดอย่าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ เมื่อดูจากการเปิดตัวแคนดิเดตตอนนี้ โพลหลายสำนักออกมาชัดเจนว่าชัชชาติทิ้งห่างคู่แข่งขาดลอย 

 

นอกจากการวางผู้ว่าฯ กทม. ไว้สำหรับยุทธศาสตร์เลือกตั้งใหญ่ ซึ่ง กทม. คาดว่าจะมี ส.ส. เพิ่มมาจาก 30 คนเป็น 34 คน หลังแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ตามที่มีการเพิ่มจำนวน ส.ส. จาก 350 เขต เป็น 400 เขตแล้วนั้น 

 

อีกปัจจัยที่ผู้มีอำนาจอาจต้องคำนึง คือบทบาทผู้ว่าฯ กทม. ในการรับมือการชุมนุมประท้วง ซึ่งผลลัพธ์จากการดำเนินนโยบายโครงการลงทุนในต่างจังหวัดโดยรัฐ หรือการให้เอกชนดำเนินโครงการอันก่อผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนนอกเมืองหลวง ก็กำลังเปิดแผลให้รัฐบาลที่เมืองหลวงกลายเป็นเป้าหมายการชุมนุมเรียกร้อง 

 

โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลประยุทธ์ อาจด้วยเพราะโควิด เราจึงยังไม่เห็นการระดมผู้คนมาชุมนุมขนานใหญ่บุกเมืองหลวงอย่างคราวชุมนุมต้านเขื่อนแม่วงก์ แต่อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ ดังจะเห็นได้ว่าทั้งการชุมนุมของกลุ่ม Save นาบอน กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ก็ออกมาปักหลักกันมากขึ้น 

 

บทบาทของผู้ว่าฯ กทม. จากการเลือกตั้ง ที่จะรับมือการชุมนุมประท้วง จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เชื่อว่า ‘เขา’ ที่เคยอยากอยู่ยาว ก็คงต้อคำนึงเช่นกันว่าการไฟเขียวเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2565 จะคุ้มไหม 

 

 

6. วิกฤตศรัทธา วงการตำรวจ กรณีผู้กำกับโจ้และกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานอุ้มหาย เผือกร้อนในมือประยุทธ์

ส่งท้ายปี 2564 สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน 10 ด้อย (ถดถอย) ประจำปี 2564 โดยหนึ่งในข้อด้อยที่เป็นจุดสนใจใหญ่ในรอบปีที่ผ่านมา คือกรณีการซ้อมทรมานของ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล (ผู้กำกับโจ้) ผลพวงของร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย 

 

โดยหลังเกิดคดีของ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้ ซ้อมทรมานผู้ต้องหาค้ายาเสพติด โดยใช้ถุงดำครอบหัวจนขาดอากาศหายใจกระทั่งเสียชีวิต กรณีดังกล่าวได้เพิ่มกระแสกดดันทำให้รัฐบาลต้องเร่งนำเอาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายที่เสนอไว้แล้วขึ้นมาพิจารณาโดยเร็ว จนกระทั่งวันที่ 16 กันยายน 2564 สภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านร่าง พ.ร.บ. วาระที่ 1 ด้วยเสียงเห็นชอบ 368 เสียง 

 

ในปีหน้าจึงยังคงต้องจับตาว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จะได้คลอดออกมาทันรัฐบาลประยุทธ์หรือไม่ ซึ่งหากคลอดสำเร็จก็อาจช่วยกู้ชื่อให้รัฐบาลได้ไม่น้อยในสายตาประชาคมโลกเลยทีเดียว

 

 

7. วิกฤตศรัทธา กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ 

อีกหนึ่งประเด็นร้อนที่คงต้องรอผลลัพธ์ปีหน้าซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่นั่นคือ เรื่องการลดหย่อนโทษให้ผู้ต้องขังคดีคอร์รัปชัน ที่ล่าสุดองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันออกแถลงคัดค้านการลดหย่อนโทษให้ผู้ต้องขังคดีคอร์รัปชัน จี้นายกรัฐมนตรีทบทวนด่วน โดยส่วนหนึ่งของแถลงการณ์กล่าวว่า  

 

“องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันในฐานะตัวแทนของสังคมในการสร้างพลังของคนไทยในการล้มล้าง ต่อต้านการคดโกงแผ่นดิน มีข้อสังเกตว่า ในการพระราชทานอภัยโทษเมื่อปี พ.ศ. 2559 ได้ยึดหลักว่าจะไม่พิจารณาลดหย่อนผ่อนโทษให้กับคดีคอร์รัปชัน คดีข่มขืน และคดียาเสพติด ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ได้ทำกันมาอยู่แล้ว ตามที่ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เคยกล่าวไว้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ ไม่ทราบว่าด้วยเหตุใดและโดยใคร ทำให้หลักเกณฑ์ที่เคยเป็นหลักความเชื่อมั่นของระบบยุติธรรมเปลี่ยนแปลงไป จนเอื้อประโยชน์ในการลดหย่อนผ่อนโทษให้กับนักโทษโดยเฉพาะคดีคอร์รัปชันอย่างไม่น่าได้ลดหย่อนรวดเร็วขนาดนั้น”

 

เรื่องนี้ไม่ได้มีแค่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่ออกมาให้ความเห็น แต่มีอีกหลายคน เช่น 

 

  • จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ผ่าน FM101 ต่อกรณีที่สังคมวิจารณ์กรณีที่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เสนอลดโทษนักโทษในคดีทุจริตคอร์รัปชัน โดยให้มุมมองว่าการแก้ไขเรื่องดังกล่าวมีช่องทางที่ทำได้ คือใช้ช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ 

 

  • ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ 5 ฉบับที่ออกมาหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

 

  • นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้ตั้ง กมธ. ตรวจสอบการขอพระราชทานอภัยโทษลดโทษผู้ต้องโทษจำคุกคดีทุจริตคอร์รัปชัน

 

  • พล.ต. นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ยื่นหนังสือต่อสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรม เปิดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษระหว่างปี 2563-2564 เพราะเชื่อว่าการขอพระราชทานอภัยโทษเนื่องในวันมหามงคลที่ผ่านมาทำลายหลักนิติธรรม เพราะมีการอภัยโทษให้แก่นักโทษร้ายแรงจากการทุจริตประพฤติมิชอบ

 

  • วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ขอตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์กับพวก กรณีเสนอลดโทษชั้นเยี่ยมให้แก่นักโทษคดีทุจริตจำนำข้าวว่าผิดกฎหมายอื่นใดหรือผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่าการกระทำของนายสมศักดิ์กับพวกส่อว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมาย 

 

  • พรรคประชาธิปัตย์ มีมติให้ยื่นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ต่อสภา เพื่อให้มีการแก้ไขในประเด็นที่สำคัญ เช่น รูปแบบโครงสร้างของคณะกรรมการราชทัณฑ์ ให้มีความอิสระ โปร่งใส และมีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง หลักเกณฑ์การลดวันต้องโทษจำคุก โดยเฉพาะคดีทุจริตจะมีการกำหนดความสำคัญไว้ให้มีกระบวนการที่รัดกุม และให้มีคณะกรรมการพิจารณาลดวันต้องโทษจำคุกคดีทุจริต โดยมีกระบวนสรรหาคณะกรรมการเช่นเดียวกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ให้มีความอิสระที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาขั้นต้น หากคดีที่มีคำพิพากษาให้ต้องโทษจำคุก 15 ปีขึ้นไป ต้องส่งไปให้ศาลที่คดีถึงที่สุดพิจารณาการลดวันต้องโทษจำคุก โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการรับโทษมาแล้วกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลได้มีคำพิพากษา เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วถึงจะมีสิทธิได้รับการพิจารณาลดโทษ เช่นเดียวกับคดียาเสพติดที่ร้ายแรงและคดีอื่นๆ ที่เป็นภัยต่อสังคมอย่างร้ายแรง

 

จนทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ ให้เวลาจัดทำรายงานผลการตรวจสอบ พร้อมกับข้อเสนอแนะ หรือแนวทางการแก้ปัญหาที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ต่อนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วัน ปีหน้าคงได้เห็นผลลัพธ์ว่าจะสนองตอบความคาดหวังของกระแสสังคมที่ออกมากันตอนนี้ได้หรือไม่ 

 

 

8. จับตาศาลรัฐธรรมนูญ ตำบลกระสุนตกที่ถูกคาดหวังและตั้งคำถามจากทุกฝ่าย

นับตั้งแต่มีตุลาการภิวัฒน์ในปี 2549 เป็นต้นมา บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นที่ถูกคาดหวัง ถูกจับตา และถูกวิพากษ์ตรวจสอบโดยผู้คนมากมาย 

 

ส่งท้ายปีนี้ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญถูกฝ่ายค้านตรวจสอบมามากมายในสภา ผ่านการอภิปรายรับทราบรายงานการดำเนินงานประจำปี 2563 ของศาลรัฐธรรมนูญ  

 

ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญเองก็กำลังถูก เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นตรวจสอบ หลังจากที่เรืองไกรเปิดเผยว่า ตนได้อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 แล้ว มีกรณีที่ต้องขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีการใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง หรือไม่ โดยที่รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง บัญญัติว่า   

 

“ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้”

 

ไม่มีข้อความใดที่บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำในอนาคตแต่อย่างใด อีกทั้งยังวินิจฉัยไปถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายซึ่งไม่รู้ว่าคือใคร และไม่ใช่คู่กรณีหรือผู้ถูกร้อง กรณีนี้จึงมีปัญหาที่ควรตรวจสอบว่า คำวินิจฉัย (กลาง) ที่ 19/2564 ในส่วนที่มีคำสั่งห้ามถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้นั้น ชอบหรือไม่

 

เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง ประกอบกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 จะเห็นได้ว่ามีเฉพาะกรณีตามความใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74 ที่ศาลอาจกำหนดให้มีผลไปในอนาคตขณะใดขณะหนึ่งหลังวันอ่านคำวินิจฉัย หรืออาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการในการบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ตามความจำเป็นหรือสมควร ตามความเป็นธรรมแห่งกรณีเท่านั้น ซึ่งกรณีคำสั่งดังกล่าวจึงมีปัญหาว่าอาจไม่เป็นไปตามมาตรา 74 อีกด้วย

 

กรณีนี้จึงมีเหตุที่ควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง โดยอ้างว่ามีอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสองนั้น ชอบหรือไม่ คำวินิจฉัยส่วนนี้เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (3) มาตรา 73 และมาตรา 74 หรือไม่ และจะปฏิบัติตามได้อย่างไร รวมทั้งคำวินิจฉัยในส่วนนี้จะมีสถานะหรือสภาพบังคับที่จะผูกพันองค์กรใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคสี่ ได้หรือไม่ และคำสั่งดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญเสียเองหรือไม่ เป็นการตีความอำนาจเกินเลยจนไกลไปจากหลักนิติธรรมหรือไม่

 

นับว่าเป็นอีกเหตุการณ์ที่หนีไม่พ้นเป็นประเด็นร้อนในปีหน้า ที่จะนำไปสู่กระแสวิพากษ์ต่อการทำงานของทั้งศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. อีกหนหนึ่ง ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาหัวหรือก้อย 

 

 

9. ศึกวัดพลังประชารัฐ จบ หรือ ไม่จบ 

ในปีหน้า ไม่เพียงศึกนอกที่รัฐบาลประยุทธ์ต้องรับมือ แต่ศึกในพรรค พปชร. เอง หลังจากที่ปี 2564 เรียกได้ว่ามาแรงจนต้องจับตาทุกสัญญาณที่ถูกส่งออกมา ว่าอะไรเป็นอะไร ใครคิดอะไร ใครหวังอะไร ในประเด็นความสัมพันธ์ 3 ป. เหตุการณ์ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ การลงมติในศึกซักฟอก การปลดฟ้าผ่า หรือกระทั่งล่าสุด วิวาทะเล็กๆ ในการรับมือข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งเกี่ยวพันกับบันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ระหว่างเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นกับรัฐบาล และคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองตันแบบ ‘สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ซึ่งมี ร.อ. ธรรมนัส เป็นประธานกรรมการ และคำสั่งนี้ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี 

 

แม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นแผลเล็กๆ ส่งท้ายปี แต่การที่สภาล่มอีกครั้งเมื่อเข้าสู่การพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมี ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรค พปชร. เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ก็เหมือนจะเป็นการจิ้มลงไปในแผลเล็กๆ ซ้ำอีกครั้ง ก่อนที่ปี 2565 จะต้องเจอศึกใหญ่ในสภา ทั้งการพิจารณากฎหมายลูก และกฎหมายสำคัญอื่นๆ รัฐบาลประยุทธ์คงได้เจอศึกวัดพลังกันอีกหลายยก และจะเป็นเครื่องวัดใจว่าจะเดิมพันยุบสภา หรือเผชิญกับวิกฤตสภาล่มอยู่เรื่อยๆ เช่นนี้ต่อไป 

 

THE STANDARD รวบรวมเหตุการณ์ ‘สภาล่ม’ ที่นับได้ถึง 12 ครั้งในวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน อ่านเพิ่มเติม: 2 ปีกว่า สภาล่ม 12 ครั้ง เปิดสถิติสภาล่มซ้ำซาก สัญญาณอันตรายของรัฐสภา”

 

 

10. จับตาพลังสื่อในวิกฤตเสรีภาพ จะตรวจสอบรัฐบาลได้เข้มข้นขึ้นหรือไม่

ภายใต้สถานการณ์โควิดที่อาจทำให้จำนวนผู้ออกมาร่วมชุมนุมเบาบางลง แต่ประเด็นของการชุมนุมในปี 2564 ที่ผ่านมา กลับแหลมคมจนทะลุเพดาน การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต่างก็ยังถูกตั้งคำถาม รวมถึงการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจควบคุมการเข้าไปรายงานข่าวในพื้นที่ชุมนุม 

 

หรือกระทั่งมีกรณีการออกคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่ 4/2563 กรณีการระงับการออกอากาศหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของ Voice TV และหรือสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ Voice TV, ประชาไท Prachatai.com, The Reporters, THE STANDARD และ เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH ที่ต่อมาก็ถูกประกาศยกเลิกไปหลังเกิดแรงต้านจากสื่อต่างๆ 

 

ปี 2565 จึงน่าสนใจอย่างมากว่า สื่อจะกลับมามีบทบาทเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หลังจากที่ส่งท้ายปี 2564 นี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในประเด็นการชุมนุมปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ว่าสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญผู้แทนสื่อจำนวนหนึ่ง เพื่อขอความร่วมมือให้งดหรือละเว้นการรายงานข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

 

ล่าสุดสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาวิชาการทางออนไลน์ในหัวข้อ ปรากฏการณ์ ‘ม็อบปฏิรูป’ กับขอบเขตการรายงานข่าวของสื่อมวลชน มีวิทยากรจากหลากหลายวิชาชีพมาร่วมแสดงความคิดเห็นอย่าง วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์  

 

ข้อมูลจากสำนักข่าวประชาไท รายงานความเห็นส่วนหนึ่งของผู้เสวนาไว้ เช่น ความเห็นของวสันต์ที่กล่าวว่า “กรณีที่มีคนสงสัยว่า การรายงานของสื่อจะต้องถือว่าผิดในโทษฐานผลิตซ้ำเสมอไปหรือไม่ ตนขอยกตัวอย่างกรณี สนธิ ลิ้มทองกุล เคยเอามาพูดบนเวทีว่า ฝ่ายตรงข้ามมีการหมิ่นหรือจาบจ้วงสถาบันฯ อย่างไรบ้าง ตอนแรกสนธิก็ไม่อยากจะพูด แต่ผู้ชุมนุมคาดคั้นให้พูด เพราะอยากรู้ว่ามีคนพูดไว้อย่างไร สนธิเลยพูดบนเวที ต่อมาก็โดนดำเนินคดีในมาตรา 112 แต่สุดท้ายศาลยกฟ้อง เพราะเป็นการพูดเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเท่านั้น ดังนั้นศาลดูเจตนาประกอบด้วย แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง เหมือนเวลาคนด่ากัน เราไม่จำเป็นต้องเอาคำด่ามาพูดต่อทุกอย่าง

 

เมื่อถามว่า อย่างข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อของผู้ชุมนุม สื่อสามารถรายงานได้หรือไม่ ตนมองว่าก็ต้องไปดูว่ามีรายละเอียดใดที่จาบจ้วงหรือละเมิดไหม ถ้าไปจาบจ้วงก็ต้องตัดออก เพราะมีความเสี่ยง การเป็นจำเลยนั้นไม่มีใครอยากเป็น การขึ้นโรงขึ้นศาลมันเหนื่อย ต่อให้สุดท้ายศาลตัดสินว่าเราไม่ผิด แต่กว่าจะถึงจุดนั้นมันเหนื่อยนะครับ แล้วจะเสี่ยงทำไม บางเรื่องอย่าเสี่ยงดีกว่า”

 

 

11. การดันเพดานปฏิรูปงบประมาณรายจ่ายประจำปี อีกแรงเสียดทานที่รัฐบาลต้องรับมือหากไม่ชิงยุบสภาในปี 2565

อีกประเด็นร้อนของการดันเพดานบทบาท ส.ส.ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หลังจากที่ปี 2564 ในการทำหน้าที่ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้เสนอต่อที่ประชุมกรรมาธิการงบประมาณให้มีการพิจารณางบประมาณส่วนราชการในพระองค์โดยละเอียด เพราะเอกสารชี้แจงงบประมาณมีเพียงแค่ 7 หน้าเท่านั้น โดยพิธากล่าวว่า ถ้าไม่มีรายละเอียด ไม่มีตัวแทนจากหน่วยงานดังกล่าวมาชี้แจง ก็ต้องเสนอให้มีการแขวนหรือเลื่อนการพิจารณางบประมาณหน่วยงานนี้ไปก่อน

 

แม้ท้ายสุดงบส่วนราชการในพระองค์จะไม่ถูกปรับลด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นดังกล่าวได้ถูกพูดถึงในพื้นที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนำมาทั้งแรงต้าน และความคาดหวังจากนอกสภา 

 

และปีนี้หากการยุบสภาไม่เกิดขึ้น และรัฐบาลประยุทธ์จะเดินหน้าก้าวข้ามปีเสือ เป็นรัฐบาลอยู่ครบ 4 ปีในปี 2566 เท่ากับว่าพรรคก้าวไกลจะได้ทำหน้าที่ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีอีกหน ปีหน้าจึงเป็นที่น่าจับตาว่าประเด็นนี้ ตลอดจนงบประมาณในแผนงานโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันฯ จะถูกตั้งคำถามในเรื่องไหน

 

ขณะที่พลังของเสียงประชาชนนอกสภาจะขยับผลักดันกันไปในทิศทางไหน หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับ 10 ข้อเสนอของผู้ชุมนุม โดยใน 10 ข้อดังกล่าวก็มีเรื่องงบประมาณด้วยเช่นกัน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising