×

‘NFT x Sports’ หรือว่า 2022 จะเป็นปีทองของแฟนกีฬานักสะสมรุ่นใหม่?

24.12.2021
  • LOADING...
Sports

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • หัวใจของ NFT คือการเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเพียงหนึ่งเดียว (หรือจำนวนจำกัด) ที่ไม่สามารถผลิตใหม่หรือทำซ้ำได้ จุดนี้เองที่เข้ากับสิ่งที่เป็นเสน่ห์ที่สุดสำหรับเกมกีฬา ซึ่งก็คือ ‘ห้วงเวลา’ ที่มีความหมายและถูกจดจำในฐานะวินาทีประวัติศาสตร์
  • เป้าหมายสูงสุดสำหรับแบรนด์ องค์กร หรือทีมกีฬา คือการหารายได้จากมหาสมุทรสีฟ้าแห่งใหม่ ซึ่งมีกรณีตัวอย่างที่ดีมากๆ อย่าง NBA Top Shot โปรเจ็กต์ของ NBA ที่นำช็อตเด็ดไฮไลต์ในประวัติศาสตร์มาทำในรูปแบบ NFT และสามารถสร้างรายได้มากกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีกลาย
  • ผลการศึกษาของ Deloitte ระบุว่า ภายในสิ้นปี 2022 จะมีแฟนกีฬาจำนวนมากถึง 4-5 ล้านคนจากทั่วโลก ที่จะใช้จ่ายหรือได้รับของขวัญที่เป็นของสะสมในรูปแบบ NFT (NFT Sports Collectible)

เวลานี้สำหรับคนรุ่นใหม่แล้วหากไม่รู้จักเป็นอย่างดี อย่างน้อยก็ย่อมเคยได้ยินหรือเคยผ่านตาชื่อของ Non-Fungible Token หรือ NFT มาบ้างไม่มากก็น้อย ในแง่มุมของผลงานศิลปะที่มีเพียงหนึ่งเดียวและมิอาจทำซ้ำได้บนเทคโนโลยีบล็อกเชน

 

ในวงการกีฬานั้น การรับรู้เรื่องของ NFT ตลอดปี 2021 ก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่แค่การก้าวกระโดดแบบคุณลุงช่างประปา ‘Super Mario’ แต่เป็นความเร็วระดับเหนือเสียงของเจ้าหนูเม่นสายฟ้า ‘Sonic’ ที่ก้าวเข้ามาอยู่ในโลกของเกมกีฬาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

 

NFT กับกีฬามาป๊ะกันแหมได้อย่างไร? และมันจะเดินทางไปสู่จุดไหนในปี 2022

 

เราลองมาหาคำตอบไปพร้อมกัน

 

Sports

 

ทำไม NFT จึงมีความหมายกับกีฬา?

เพราะโดยหัวใจของ NFT คือการเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเพียงหนึ่งเดียว (หรือจำนวนจำกัด) ที่ไม่สามารถผลิตใหม่หรือทำซ้ำได้ จุดนี้เองที่เข้ากับสิ่งที่เป็นเสน่ห์ที่สุดสำหรับเกมกีฬา ซึ่งก็คือ ‘ห้วงเวลา’ ที่มีความหมายและถูกจดจำในฐานะวินาทีประวัติศาสตร์

 

ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่น วินาทีที่ โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ ลากบอลเข้าไปยิงผ่าน ดาวิด เด แฮ ในเกมที่แอนฟิลด์เมื่อต้นปี 2020 ก่อนที่แฟนบอลลิเวอร์พูลจะเริ่มร้องเพลง We’re gonna win the league เป็นครั้งแรก

 

หรือการเข้าโค้งของ แม็กซ์ แวร์สเตปเพน ในรอบที่ 58 ของรายการอาบูดาบี กรังด์ปรีซ์ ที่เบียดเอาชนะ ลูอิส แฮมิลตัน ได้ก่อนที่จะทะยานเข้าเส้นชัยคว้าแชมป์โลกสมัยแรกของตัวเองมาครองได้สำเร็จ

 

หรือสดๆ ร้อนๆ วินาทีที่ สตีเฟน เคอร์รี ปล่อยบอลจากมือในเกมที่โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส พบนิวยอร์ก นิกส์ และกลายเป็นการชู้ต 3 คะแนนครั้งที่ 2,974 สร้างสถิติใหม่ในการยิง 3 คะแนนสูงสุดตลอดกาล

 

จริงอยู่ที่สิ่งเหล่านี้อาจจะหาดูได้ทั่วไปในโลกอินเทอร์เน็ต แต่สำหรับแฟนกีฬาตัวจริง มันจะดีกว่าแค่ไหนหากเราคือคนที่ได้ครอบครองช่วงเวลาเหล่านี้ ‘อย่างเป็นทางการ’

 

เหมือนกับภาพการแข่งกีฬาหรือภาพนักกีฬาที่หาได้ทั่วไป แค่กดค้นหาบนเบราว์เซอร์ แต่เมื่อมันปรากฏบนกระดาษอาร์ตที่ใช้เทคนิคการพิมพ์สวยงามและมีจำนวนจำกัดแล้ว กระดาษแผ่นเดียวนี้บางทีมีมูลค่ามากกว่าทองคำหรือเพชรเสียอีก

 

อย่างไรก็ดี ห้วงเวลานั้นเป็นเพียงแค่รูปแบบหนึ่งของสิ่งที่ NFT สามารถมอบให้แก่แฟนกีฬาได้ ยังมีอีกมากมายหลายสิ่งและหลายรูปแบบที่สามารถทำได้

 

 

 
 
 
 
 
View this post on Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

A post shared by Curry Brand (@currybrand)

 

 

การปฏิวัติโลกกีฬาด้วย NFT และ Fan Token

ในยุคดิจิทัล NFT และ Fan Token (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Crypto, Fan Token และ NFT นวัตกรรมใหม่ที่จะพลิกโฉมหน้าของวงการฟุตบอลอีกครั้ง) กำลังเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของอุตสาหกรรมกีฬาอีกครั้ง

 

เพราะนี่คือวิธีใหม่ในการคอนเน็กต์ระหว่างแบรนด์ ทีม หรือนักกีฬา เข้ากับแฟนๆ ที่ดูเหมือนจะไร้ขีดจำกัด ขึ้นอยู่กับว่าจะคิดหาวิธีการอย่างไรในการดึงดูดแฟนกีฬายุคใหม่

 

หลังจากที่คนที่ขยับตัวไวกว่าอย่าง NBA, บุนเดสลีกา หรือทีมฟุตบอลอย่างบาร์เซโลนา รีบวิ่งสู่สนามแข่งแห่งใหม่ทันที ก็เริ่มมีคนที่ขยับตามกันมาอย่างมากมาย และค่อยๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับเกมกีฬาจนเริ่มรู้สึกเป็น ‘สิ่งปกติ’ ไปแล้ว เหมือนที่ปัจจุบันแฟนฟุตบอลไม่รู้สึกอะไรกับการเห็นสปอนเซอร์ทีมกีฬาที่มาจากบริษัทรับพนันข้ามชาติชื่อประหลาดๆ

 

แน่นอนว่าเป้าหมายสูงสุดสำหรับแบรนด์ องค์กร หรือทีมกีฬา คือการหารายได้จากมหาสมุทรสีฟ้าแห่งใหม่ ซึ่งมีกรณีตัวอย่างที่ดีมากๆ อย่าง NBA Top Shot โปรเจกต์ของ NBA ที่นำช็อตเด็ดไฮไลต์ในประวัติศาสตร์มาทำในรูปแบบ NFT และสามารถสร้างรายได้มากกว่า 700 ล้านดอลลาร์เมื่อปีกลาย

 

ขณะเดียวกัน Fan Token สามารถเป็น ‘พลัง’ ของแฟนกีฬาได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจจะโหวตได้ว่าจะให้นักกีฬาลงสนามในรูปแบบไหน เปิดตัวด้วยเพลงอะไร ไปจนถึงแม้แต่การเลือกว่าพวกเขาอยากจะดูคอนเทนต์อะไรจากทีมต่อไป

 

Fan Token ยังอาจจะนำมาเล่น ‘กล่องสุ่ม’ หรือการเสี่ยงโชคเพื่อรับสิทธิพิเศษ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในโลกความจริง เช่น การได้สิทธิ์ Meet & Greet นักกีฬาที่ชื่นชอบ หรือการได้ไอเท็มสุดพิเศษที่มีแค่คนเดียวในโลกที่จะใช้บน Metaverse

 

ไม่นับเรื่องของ Play-to-Earn ที่บรรดาทีมและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเกมกีฬาจะพยายามคิดค้นวิธีเพื่อที่จะดึงดูดให้แฟนๆ เหล่านี้มีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งก็มีตัวอย่างเช่น F1 Delta Time เกมรถแข่งฟอร์มูลาวัน

 

เราจะได้เห็นไอเดียเจ๋งๆ ใหม่ๆ ออกมาตลอดปีหน้า เหมือนที่ล่าสุดเราได้เห็น ‘สเตฟ​ เคอร์รี’ กับแบรนด์ Under Armour ที่ทำรองเท้ารุ่นพิเศษ Genesis Curry Flow ที่ออกจำหน่ายให้แฟนๆ ซื้อด้วยเงินสด แต่จะได้ไปใช้ใน Metaverse ในเกมแทน

 

 

 
 
 
 
 
View this post on Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

A post shared by Sorare (@sorare)

 

 

2022 ปีทองของ Sport NFT

เพื่อเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่เขียนๆ ไปข้างต้นไม่ใช่การทึกทักไปเอง มีข้อมูลจากสถาบัน Deloitte ที่เปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับการเติบโตของ NFT ในเกมกีฬาว่า ในปี 2022 นี้คาดว่าจะมูลค่าสูงกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

โดยผลการศึกษาระบุว่า ภายในสิ้นปี 2022 จะมีแฟนกีฬาจำนวนมากถึง 4-5 ล้านคนจากทั่วโลก ที่จะใช้จ่ายหรือได้รับของขวัญที่เป็นของสะสมในรูปแบบ NFT (NFT Sports Collectible) โดยได้แรงส่งเสริมมาจากการเติบโตของตลาด NFT ในภาพรวม เช่น ภาพวาดดิจิทัล หรือเพลงดิจิทัล ซึ่งเฉพาะแค่เดือนสิงหาคม 2021 เดือนเดียวทำรายได้มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

Deloitte ยังระบุว่า สิ่งที่ยังเป็นไฮไลต์สำหรับ NFT ของวงการกีฬายังคงเป็นวิดีโอแบบลิมิเต็ดหรือการ์ดสะสม โดยมูลค่าของ NFT แต่ละชิ้นนั้นจะขึ้นอยู่กับความนิยมของนักกีฬา ความสำคัญของเหตุการณ์ หรือการเสริมคอนเทนต์เข้าไปใน NFT และความต้องการของตลาดในเวลานั้น

 

ประเด็นที่น่าสนใจคือการ ‘ทดสอบความเป็นเจ้าของ’ ที่แพลตฟอร์มและผู้สร้างคอนเทนต์ที่ยังเป็นพื้นที่สีเทาจะต้องหาจุดสมดุลที่ยอมรับกันให้ได้ทั้งสองฝ่าย

 

เพราะยังมีประเด็นเรื่อง Intellectual Property Rights (IPR) หรือกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องปกป้องเจ้าของสิทธิ์ตัวจริง เพียงแต่คำถามคือ ใครจะเป็นเจ้าของตัวจริง? เช่น ภาพโมเมนต์ของนักกีฬาในการแข่งขัน ลิขสิทธิ์จะเป็นของนักกีฬาหรือองค์กรที่จัดการแข่งขัน?

 

สำหรับตลาดที่มีการเติบโตที่น่าสนใจคือตลาดฟุตบอล โดย Sorare ที่เป็นเหมือนเกมแฟนตาซีออนไลน์ที่ใช้ Fan Token ในการซื้อผู้เล่น สามารถทำรายได้มากถึง 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2021

 

กลุ่มที่อาจจะกระโดดตามเข้ามาและน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือสายเกมเมอร์ ที่อาจจะใช้จ่ายนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแลกกับไอเท็มที่เชื่อมโยงกับเกมได้

 

Sports

สองนักกีฬาบนเวทีนี้ไม่ใช่แข่งกันธรรมดา แต่เป็นการแข่งเพื่อ Minting หรือการสร้าง NFT ขึ้นในงานอีเวนต์จริงครั้งแรกของโลกในชื่อ Genesis ซึ่งมีขึ้นที่ฟลอริดา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา

 

สรุปแล้ว NFT ของเล่นหรือของจริง?

เรื่องนี้น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนที่อาจจะยังไม่อินหรือไม่เข้าใจเกี่ยวกับ NFT แอบถามอยู่ในใจ ซึ่งถ้ายึดจากเทรนด์ของโลกและสิ่งที่ Deloitte คาดการณ์แล้ว ดูเหมือนเราจะปฏิเสธไม่ได้ที่ช้าหรือเร็ว NFT จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับแฟนกีฬาทุกคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

และมันไม่ใช่แค่สิ่งที่ทำกันสนุกๆ หากแต่เป็นการขับเคลื่อน (Movement) ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังในอนาคต

 

อย่างง่ายที่สุดคือวิถีของแฟนกีฬานักสะสมที่จะเปลี่ยนไป จากเดิมที่อาจจะสะสมชุดแข่ง การ์ด รองเท้า อุปกรณ์กีฬาต่างๆ ก็จะเพิ่ม NFT ที่เป็นวิดีโอไฮไลต์โมเมนต์ประวัติศาสตร์ หรือการ์ดนักกีฬาที่อยู่บนบล็อกเชน หรืองานอาร์ตต่างๆ ที่เกี่ยวกับวงการกีฬาก็มีให้เลือกซื้อมากมาย

 

จากนั้นในอนาคตเราอาจจะได้เห็นการนำเทคโนโลยีอื่นเข้ามาผสมผสาน เช่น AR, VR หรือวิดีโอ 3D คุณภาพสูงจนแทบจะเหมือนจริง และแน่นอนว่า Metaverse จะเข้ามามีส่วนด้วย

 

เพราะสุดท้ายแล้วถึงเทคโนโลยีจะล้ำยุคแค่ไหน หัวใจของการสะสมสำหรับมนุษย์ยังคงเหมือนเดิม

 

มีไว้เพื่อแสดงหรือหวงแหนครอบครองไว้ส่วนตัว

  

ป.ล. ลองเข้าไปดูได้ว่า Sports NFT มีอะไรน่าสนใจบ้างได้ที่ https://opensea.io/collection/sports 🙂

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising