×

20 ภาพข่าวโควิด ปี 2564 ‘สูญเสีย สูญหาย แต่จะไม่พ่ายแพ้’

โดย THE STANDARD TEAM
04.01.2022
  • LOADING...
Covid news photo in 2021

ตลอดปี 2564 มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย หลายเหตุการณ์ผ่านมาแล้วผ่านไป แต่อีกหลายเหตุการณ์ยังคงวนเวียนและต่อเนื่อง หรืออาจลากยาวข้ามไปปีหน้า

 

หนึ่งในเหตุการณ์ที่ประชาชนยังคงต้องเผชิญ คือ ‘สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด’ ในจำนวนหลายหมื่นภาพถ่ายจากช่างภาพของ THE​​​ STANDARD ที่บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดปี 2564 

 

นี่คือ 20 ภาพที่คัดสรรมาเฉพาะสถานการณ์โควิด เพื่อบอกเล่าแก่ผู้อ่าน และย้อนทวนความทรงจำเป็นบทเรียน รวมถึงมองภาพในอนาคตไปพร้อมๆ กันว่า แม้จะสูญเสีย และสูญหายหลายสิ่งไปในชีวิต แต่พวกเราจะไม่ยอมพ่ายแพ้

 

Covid news photo in 2021

 

ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน งานสวดอภิธรรมศพและการฌาปนกิจของน้าค่อม-อาคม ปรีดากุล หรือ ค่อม ชวนชื่น เป็นไปด้วยความเรียบง่าย และรักษาความปลอดภัยด้วยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด โดยรถอาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ดำเนินการรับร่างน้าค่อม ชวนชื่น มาบำเพ็ญกุศลตามความประสงค์ของญาติ เมื่อร่างน้าค่อมเดินทางมาถึงที่วัด เจ้าหน้าที่ที่สวมชุดป้องกัน PPE ได้นำร่างขึ้นไปบนเมรุทันที เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร


 

Covid news photo in 2021

16 พฤษภาคม 2021 , เขตหลักสี่ , หน่วยงานและบริษัทเจ้าของแคมป์ได้นำอาหาร-น้ำดื่ม ให้คนงานในแคมป์ย่านหลักสี่ สั่งปิดห้ามเข้าออก หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 , ช่างภาพ : ฐานิส สุดโต

 

หลังมีการปิดแคมป์คนงานห้ามเข้าออก ปรากฏว่าพบปัญหาคนงานในแคมป์หลักสี่ออกมาจากพื้นที่อาศัย บางคนออกไปเข้าร้านสะดวกซื้อ บางคนออกไปตลาดซื้อของกินกลับมา ส่วนคนที่เหลือก็กักตัวอยู่ในแคมป์คนงาน โดยไม่มีหน่วยงานนำอาหารหรือมาดูแลจุดเข้าออกแต่อย่างใด 

 

ต่อมามีหน่วยงานและบริษัทเจ้าของแคมป์ได้นำอาหารเข้ามาให้ รวมถึงเทศกิจจากเขตหลักสี่ได้เข้ามาประจำจุดต่างๆ เพื่อดูแลพื้นที่ไม่ให้มีการเดินทางเข้าออก โดยมีคนงานมารอรับอาหารจำนวนมาก เป็นข้าวกล่อง และอาหารแห้งที่สามารถนำไปประกอบอาหารรับประทานเองได้ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต


 

Covid news photo in 2021

 

บริเวณชุมชนแฟลตดินแดง มีกลุ่มผู้ติดโควิดรวม 7 คน รอการประสานงานเพื่อหาเตียงรักษาอยู่บริเวณใต้ตึกของแฟลตดินแดง โดยได้ไปตรวจเชิงรุกที่จุดตรวจ MRT ศูนย์วัฒนธรรม ผลออกมาว่าติดเชื้อ 

  

ในเวลาต่อมาทางกลุ่มเส้นด้ายเข้าช่วยเหลือ นำเต็นท์มากางให้ที่บริเวณด้านล่างระหว่างตึกแฟลตดินแดง เพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ และเป็นการแยกผู้ติดเชื้อออกจากกลุ่มญาติ ก่อนจะประสานการรักษาอย่างเร่งด่วนต่อไป เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2564

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร


 

Covid news photo in 2021

 

THE STANDARD ลงพื้นที่แคมป์ก่อสร้างซอยวัดไผ่ตัน ย่านสะพานควาย กรุงเทพฯ คนดูแลคนงานในแคมป์ให้ข้อมูลกับเราว่า มีคนงานทั้งหมด 330 ราย พบติดโควิดจำนวน 148 ราย ไปโรงพยาบาลแล้ว 69 ราย และแยกส่วนที่อยู่กันชัดเจนระหว่างผู้ติดเชื้อและที่ยังไม่พบเชื้อ

 

อย่างไรก็ตาม ที่แคมป์นี้มีหญิงตั้งครรภ์ 9 เดือนตรวจพบเชื้อโควิด ซึ่งทราบผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา และต้องรอเตียงอยู่หลายวัน กระทั่งวันที่ 28 มิถุนายน 2564 จึงได้เข้ารับการรักษาตัว

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร


 

Covid news photo in 2021

1 กรกฎาคม 2021 , วัดโสมนัสวรวิหาร , การช่วยเหลือประชาชนของกองทัพบกสวมชุด PPE ป้องกันตนเองในการประกอบพิธีและฌาปนกิจศพของครอบครัวที่สูญเสียญาติพี่น้องจากโรคโควิด-19 , ช่างภาพ : ฐานิส สุดโต

 

เจ้าหน้าที่ต้องทำการฌาปนกิจศพจำนวน 4 ครอบครัว ไล่เลียงเวลาคือ 13.00 น., 14.00 น., 15.00 น. และ 19.00 น. ซึ่งเมรุของวัดโสมนัสวรวิหาร มีเตาเผาศพจำนวน 3 เตา แต่ละศพจะใช้เวลานาน 3 ชั่วโมง ขณะที่ช่วงรอยต่อของช่วงเวลาที่ไม่มีการเผาศพผู้ป่วยโควิด ก็จะใช้เพื่อฌาปนกิจศพที่เสียชีวิตจากโรคทั่วไป

  

หนึ่งในครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วยโควิดรายหนึ่งบอกกับ THE STANDARD ว่า เธอต้องเดินทางมาที่วัดนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว นั่นหมายความว่าเธอได้สูญเสียบุคคลในครอบครัวจากโควิดไปแล้ว 3 คน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต


 

Covid news photo in 2021

5 กรกฎาคม 2021 , ศูนย์พักคอย วัดสะพาน เขตคลองเตย , เด็กวัย 4 เดือนและครอบครัวติดโควิด ถูกส่งตัวมา ทั้งครอบครัวติดโควิดแต่ยังรอเตียงรักษา , ช่างภาพ : ฐานิส สุดโต

 

เจ้าหน้าที่ต้องทำการฌาปนกิจศพจำนวน 4 ครอบครัว ไล่เลียงเวลาคือ 13.00 น., 14.00 น., 15.00 น. และ 19.00 น. ซึ่งเมรุของวัดโสมนัสวรวิหาร มีเตาเผาศพจำนวน 3 เตา แต่ละศพจะใช้เวลานาน 3 ชั่วโมง ขณะที่ช่วงรอยต่อของช่วงเวลาที่ไม่มีการเผาศพผู้ป่วยโควิด ก็จะใช้เพื่อฌาปนกิจศพที่เสียชีวิตจากโรคทั่วไป

  

หนึ่งในครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วยโควิดรายหนึ่งบอกกับ THE STANDARD ว่า เธอต้องเดินทางมาที่วัดนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว นั่นหมายความว่าเธอได้สูญเสียบุคคลในครอบครัวจากโควิดไปแล้ว 3 คน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต


 

Covid news photo in 2021

6 กรกฎาคม 2021 , ย่านหนองแขม , ตามภารกิจ ทีมอาสาสมัครเราต้องรอด ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด อาการหนักยังต้องรอเตียง , ช่างภาพ : ศวิตา พูลเสถียร

 

ผู้ป่วยโควิดวัยชราหายใจเองไม่ได้แล้ว แม้จะมีเครื่องผลิตออกซิเจนที่ทีมอาสาสมัครเอาไปให้ใช้ก่อนหน้า ญาติต้องโทรมาขอความช่วยเหลือ ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ ทีมอาสาเราต้องรอด ทำได้เพียงสอนวิธีการหายใจ และให้กำลังใจผู้ป่วยที่อยู่ปลายสาย ขณะที่เสียงหายใจที่ปลายสายรวยรินมากๆ ถือเป็นช่วงเวลาบีบหัวใจของทุกฝ่ายที่อยู่ร่วมเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร


 

Covid news photo in 2021

7 กรกฎาคม 2021 , ย่านดินแดง , เจ้าหน้าที่รับศพผู้ป่วยโควิด หลังรอเตียง 5 วัน ก่อนเสียชีวิตในห้องพัก , ช่างภาพ : ศวิตา พูลเสถียร

 

เจ้าหน้าที่จากหน่วยกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งที่เข้ามาเก็บร่างผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นหญิง อายุ 50 ปี ป่วยด้วยโรคโควิด โดยผู้เสียชีวิตรายนี้เดิมมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานและมีภาวะอ้วน และรอการจัดสรรเตียงมากว่า 5 วัน จนกระทั่งเสียชีวิตในห้องพักย่านดินแดง และเจ้าหน้าที่จะนำศพไปฌาปนกิจที่วัดห้วยขวางต่อไป

 

ผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่ในห้องพักรวม 6 คนกับญาติและลูก และทั้งหมดติดเชื้อโควิด แต่ได้รับการส่งต่อเพื่อรักษาที่โรงพยาบาลบุษราคัมแล้ว ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้สมาชิกทั้งหมดพยายามหาสถานที่ตรวจโควิด จนกระทั่งได้แล็บของเอกชน พบผลตรวจติดโควิดจริง ต่อมาจึงพยายามหาโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษา และได้พยายามติดต่อเบอร์สายด่วนต่างๆ แต่คำตอบที่ได้คือให้รอ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 

 

คำเตือน: รูปภาพอาจทำให้กระทบกระเทือนจิตใจ

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร


 

Covid news photo in 2021

7 กรกฎาคม 2021 ,วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน , ประชาชนรอคิวตรวจโควิดข้ามคืน ตั้งแต่วันที่ 7 เพื่อเข้ารับการตรวจในวันที่ 8 กรกฎาคม , ช่างภาพ : ศวิตา พูลเสถียร

 

ประชาชนเดินทางมารอคอยการตรวจโควิดที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน โดยจำกัดการตรวจที่วันละ 900 ราย เฉพาะประชาชนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น เริ่มเปิดรับบัตรคิวเวลา 06.00 น.

 

สำหรับคิวแรกมาตั้งแต่เวลา 18.00 น. ก่อนการตรวจอีกวัน โดยปักหลักอยู่ริมกำแพงวัด ต่อมามีประชาชนทยอยมาอย่างต่อเนื่อง จนคิวยาวล้นขึ้นไปบนพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสวัดพระศรีมหาธาตุ ทำให้ทางวัดต้องเปิดให้เข้าไปรอยังพื้นที่ด้านในของวัด โดยคิวยาววนรอบเจดีย์ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร


 

Covid news photo in 2021

9 กรกฎาคม 2021 , วัดบางขุนเทียนนอก , แม้ฝนตก ประชาชนยังคงปักหลักรอคิวตรวจโควิดฟรี , ช่างภาพ : ฐานิส สุดโต

 

ที่บริเวณจุดตรวจโควิดเชิงรุก พื้นที่วัดบางขุนเทียนนอก ถนนพระราม 2 ซอย 28 (จอมทอง 19) แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กทม. ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดตรวจโควิดที่ กทม. จัดให้บริการฟรีสำหรับประชาชน 

 

มีประชาชนทยอยเดินทางมารอรับคิวตรวจต่อเนื่อง ตั้งแต่เด็กอายุน้อยที่สุดคือ 3 ขวบ จนถึงผู้สูงอายุ บางคนต้องผิดหวังเพราะคิวเริ่มจะเต็ม และจะไม่ได้รับการตรวจในวันนี้ ต้องรอ โดยระหว่างรอมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ต้องหาที่หลบ แต่ก็ต้องรักษาคิวของตัวเองไว้ด้วยการนำขวดน้ำดื่ม ขวดเจลแอลกอฮอล์ หรือร่ม วางไว้แทน พร้อมๆ กับหลายคนเริ่มถอดใจ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต


 

Covid news photo in 2021

12 กรกฎาคม 2021 , ชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ , วิกฤตโควิด ผู้ติดเชื้อในชุมชนต้องกางเต็นท์นอนรอเตียง , ช่างภาพ : ศวิตา พูลเสถียร

 

สถานการณ์ที่ชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ เป็นภาพสะท้อนวิกฤตโควิดได้ในทุกมิติ ตั้งแต่การตรวจหาเชื้อและการรอเตียง ซึ่ง ‘นก’ ประธานชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ บอกกับ THE STANDARD ว่า ชุมชนแห่งนี้มี 545 หลังคาเรือน มีประชากรรวมประชากรแฝงประมาณ 3,200 คน เคยตรวจโควิดไปแล้วประมาณ 70% ช่วงที่มีการตรวจเชิงรุกที่ชุมชนคลองเตย แต่สถานการณ์ปัจจุบันที่มีการระบาดหนักขึ้นไม่สามารถหาที่ตรวจเชื้อได้ ชาวบ้านบางส่วนใช้บริการตรวจผ่านคลินิกแห่งหนึ่ง ค่าบริการ 800 บาท ทั้งที่ไม่ทราบมาก่อนว่าผลตรวจจากคลินิกแห่งนี้ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานเพื่อหาเตียงรองรับได้

 

จุดเริ่มต้นของการทำพื้นที่กางเต็นท์ให้ผู้ติดเชื้อในชุมชนเริ่มจากมีผู้ติดเชื้อคนหนึ่งต้องไปกางเต็นท์นอนอยู่คนเดียวนอกบ้าน เพราะบ้านมีสภาพคับแคบ กลัวคนในบ้านติดเชื้อด้วย เห็นแล้วสงสารมากจึงประสานไปที่จุดกักตัวชั่วคราว วัดสะพาน คลองเตย แต่ได้รับแจ้งว่าที่นั่นก็เต็ม จึงประกาศเสียงตามสายว่าจะทำโครงการนี้ หากมีใครคัดค้านขอให้ส่งจดหมายมาที่ประธานชุมชน เวลาผ่านไป 1 วันไม่มีใครคัดค้าน จึงเริ่มทำสถานที่กักกันตั้งแต่วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม และเสร็จในวันอาทิตย์ มีคนในชุมชนที่ติดเชื้อ 5 คนแยกตัวมานอน และทุกคนยังรอเตียงอยู่ ขณะที่บางคนติดเชื้อแล้วแต่ไม่มีใบรับรองผลตรวจที่ใช้หาเตียงได้ ก็เป็นปัญหาที่ยังไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร


 

Covid news photo in 2021

15 กรกฎาคม 2021 , คลองสามวา , วิกฤตโควิดเตียงเต็ม THE STANDARD ลงพื้นที่ร่วมกับอาสาสมัครกลุ่มเส้นด้าย ติดตามเคสผู้ป่วยโควิด ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ พยายามนำตัวส่งที่โรงพยาบาล , ช่างภาพ : ศวิตา พูลเสถียร

 

THE STANDARD ลงพื้นที่พร้อมกลุ่มเส้นด้าย ขณะที่กำลังรอรถพยาบาลมารับผู้สูงอายุวัย 59 ปี ที่มีโรคประจำตัวไปส่งที่โรงพยาบาลบุษราคัม ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายระหว่างการประสานงานว่ารถพยาบาลของหน่วยงานไหนจะมารับกันแน่ เพราะไม่มีระบบข้อมูลกลาง หลายครั้งที่แจ้งเคสชนกันทำให้เกิดปัญหาทับซ้อน แต่ที่สุดก็มีรถพยาบาลมารับ แต่นี่คือหนึ่งในครอบครัวที่โชคดีได้รับการช่วยเหลือเท่านั้น ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ต้องเผชิญชะตากรรมนี้โดยลำพัง เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร


 

Covid news photo in 2021

15 กรกฎาคม 2021 , วัดชินวรารามวรวิหาร จังหวัดปทุมธานี , พระพงษ์เพชร สันติกาโร สวมใส่ชุด PPE สีขาว ซึ่งถูกสวมทับอยู่ภายใต้จีวรสงฆ์เพื่อทำหน้าที่เป็นสัปเหร่อ ประกอบพิธีเผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด , ช่างภาพ : ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

นี่คือภาพของ ‘พระพงษ์เพชร สันติกาโร’ กำลังสวมใส่ชุด PPE สีขาว ซึ่งถูกสวมทับอยู่ภายใต้จีวรสงฆ์เพื่อทำหน้าที่เป็นสัปเหร่อ ช่วยเจ้าหน้าที่แบกโลงศพผู้เสียชีวิตจากโควิดขึ้นฌาปนกิจบนเมรุ วัดชินวรารามวรวิหาร ตำบลบางขะแยง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564

 

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม


 

Covid news photo in 2021

22 กรกฎาคม 2021 , สถานีกลางบางซื่อ , บรรยากาศการฉีดวัคซีนโควิด คนแน่นและแออัด สำหรับการเปิด Walk-in ให้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี คนท้อง 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้ที่มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป , ช่างภาพ : ศวิตา พูลเสถียร

 

วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 เป็นวันแรกที่ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ได้เปิดให้ Walk-in รับบริการฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 1 ให้กับ 3 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป โดยจะต้องแสดงเอกสารการตั้งครรภ์ที่ได้รับการรับรองจากแพทย์ และผู้ที่มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป 

 

ขณะที่บรรยากาศวันแรกของการเปิดให้ Walk-in ฉีดวัคซีน มีประชาชนเดินทางมาเป็นจำนวนมากจนแน่นทางเข้าสถานี หลายคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร


 

Covid news photo in 2021

24 กรกฎาคม 2021 , วัดบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี , พิธีฌาปนกิจ แพรพัชร์ ธัญวัฒน์ทวีสุข พยาบาลด่านหน้าที่ติดโควิด จนสียชีวิต , ช่างภาพ : ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

พิธีฌาปนกิจศพของ แพรพัชร์ ธัญวัฒน์ทวีสุข พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค ได้เสียชีวิตลง หลังติดเชื้อโควิดจากการทำงาน โดยทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ด่านหน้าประจำจุดตรวจโควิด และได้ถูกนำศพออกจากโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค ในเวลาประมาณ 13.00 น. ก่อนจะถูกนำไปฌาปณกิจที่วัดบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เวลา 14.00 น. และนำอัฐิไปบรรจุที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564

 

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม


 

Covid news photo in 2021

28 กรกฎาคม 2021 , โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ , นิติเวชลำเลียงศพผู้เสียชีวิตจากโควิดเข้าตู้คอนเทนเนอร์ – ตู้แช่เย็นศพโควิด, ช่างภาพ : ฐานิส สุดโต

 

โรงพยาบาลคือด่านหน้าของวิกฤตโควิด แต่ในโรงพยาบาลยังมีหน่วยที่ชื่อว่า ‘นิติเวช’ หรือหลายคนเรียกว่าห้องดับจิต ซึ่งพวกเขาทำหน้าที่เหมือนด่านสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วย สถานการณ์ที่นิติเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ หนักหนาไม่แพ้แพทย์-พยาบาลด่านหน้าที่ต้องดูแลผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าที่ระบบจะรองรับไหว

 

เจ้าหน้าที่แผนกนิติเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวกับ THE STANDARD ว่า เมื่อก่อนพวกเขาไม่ได้เจอศพเยอะขนาดนี้ เมื่อก่อนผ่าศพวันละ 3 เคส ไม่เกิน 5 เคส แต่ทุกวันนี้ต้องผ่าศพเกิน 10 เคสทุกวัน ซึ่งแน่นอนว่ามาจากโควิด ยิ่งถ้าเป็นศพที่ส่งมาจากข้างนอกต้องตีว่าติดเชื้อโควิดไว้ก่อน และทำการตรวจโควิดกับทุกศพ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต


 

Covid news photo in 2021

ห้องไอซียูผู้ป่วยโควิด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

 

THE STANDARD มีโอกาสเข้าไปดูห้อง ICU ผู้ป่วยโควิดที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สถานการณ์ที่นี่ไม่แตกต่างจากทุกโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แพทย์ทุกคนที่เราพูดคุยด้วยสะท้อนตรงกันว่า สิ่งที่บั่นทอนจิตใจพวกเขามากที่สุดไม่ใช่ภาระงานที่หนัก แต่คือการต้องปฏิเสธการรักษาคนไข้ เพราะไม่สามารถรองรับได้จริงๆ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤตระดับที่ต้องรีบรักษาทันที เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต


 

Covid news photo in 2021

 

อาสาสมัครชมรมแพทย์ชนบท ได้เดินทางมาปฏิบัติภารกิจที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ระหว่างวันที่ 4-9 สิงหาคม 2564 เพื่อตรวจโควิดเชิงรุกด้วย Antigen Test Kit (ATK) 

 

แม้เจ้าหน้าที่จะเหนื่อยเมื่อยล้าจากการทำงาน รอยหน้ากากที่ปรากฏบนใบหน้าจากการทำหน้าที่เป็นเวลานาน คือเครื่องยืนยันถึงความทุ่มเทในการทำหน้าที่ และแม้ต้องตรวจเป็นวันสุดท้าย แต่หากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทางชมรมก็พร้อมที่จะพิจารณาเพื่อปฏิบัติภารกิจนี้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม: https://thestandard.co/more-thai-people-die-from-covids-and-other-diseases/


 

Covid news photo in 2021

10 สิงหาคม 2021 , โรงพยาบาลรามาธิบดี , เจ้าหน้าที่นิติเวชกำลังเก็บร่างผู้เสียชีวิตที่ติดเชื้อโควิด ซึ่งนอนเสียชีวิตภายในห้องฉุกเฉิน (ER) , ช่างภาพ : ฐานิส สุดโต

 

เจ้าหน้าที่นิติเวชกำลังเก็บร่างผู้เสียชีวิตที่ติดเชื้อโควิด ซึ่งนอนเสียชีวิตภายในห้องฉุกเฉิน (ER) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เหตุการณ์นี้สะท้อนวิกฤตเตียงในโรงพยาบาลที่ยังคงเต็ม ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยโควิดอาการหนักเข้าทำการรักษาได้ จึงต้องนอนรออยู่ภายในห้องฉุกเฉินจนกระทั่งเสียชีวิต ร่างไร้วิญญาณจะถูกห่อสามชั้นตามมาตรฐานการแพทย์ และขนย้ายมาที่ ‘ห้องสุดท้าย’ หรือแผนกนิติเวชในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ติดเชื้อโควิดที่เสียชีวิตอีกจำนวนมากที่ไม่มีข้อมูลเข้าระบบไปปรากฏในสถิติของ ศบค. เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต


 

Covid news photo in 2021

18 กันยายน 2021 , วัดเกาะสุวรรณาราม เขตสายไหม , ทีม สายไหมต้องรอด จัดพิธีส่งดวงวิญญาณผู้เสียชีวิตจากโควิด พร้อมกับประกาศตามหาญาติมารับอัฐิ , ช่างภาพ : ศวิตา พูลเสถียร

 

ที่วัดเกาะสุวรรณาราม เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร ทีม ‘สายไหมต้องรอด’ จัดพิธีทำบุญส่งดวงวิญญาณผู้เสียชีวิตจากโควิด หลังจากวัดเผาศพครบ 200 ศพ พร้อมกับประกาศตามหาญาติของผู้เสียชีวิตอีก 18 รายที่ยังไม่มาติดต่อขอรับอัฐิ เนื่องจากมีบางรายเสียชีวิตทั้งครอบครัว เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2564

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X