×

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเหตุเขื่อนยูเครนระเบิด น่ากังวลแค่ไหน ใครอยู่เบื้องหลัง

07.06.2023
  • LOADING...

วานนี้ (6 มิถุนายน) เกิดเหตุระทึกขึ้นอีกครั้งในยูเครน เมื่อเขื่อนโนวา คาคอฟคา (Nova Kakhovka) เขื่อนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในแคว้นเคอร์ซอนเกิดระเบิดขึ้น ทำให้มวลน้ำมหาศาลไหลทะลักทลายแนวกั้นน้ำ และเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้กับแม่น้ำดนิโปร ขณะที่ตัวเลขผู้ที่ได้รับผลกระทบตอนนี้สูงถึง 42,000 คนด้วยกัน

 

เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นหนึ่งในสถานการณ์ที่สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนครั้งรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 เพราะกระแสน้ำได้กวาดกลืนเอาบ้านเรือน พืชผล อาหาร และน้ำสะอาดไปหมด อีกทั้งยังซ้ำเติมสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนที่ย่ำแย่อยู่แล้วจากภาวะสงครามให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิม

 

THE STANDARD สรุปรวบสถานการณ์มาให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจกันว่าเขื่อนโนวา คาคอฟคาสำคัญอย่างไร ใครคือผู้ก่อเหตุ และขอบเขตความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นน่ากังวลแค่ไหน… ติดตามประเด็นทั้งหมดได้ในบทความชิ้นนี้

 

  • เขื่อนโนวา คาคอฟคา อยู่ตรงไหนของยูเครน

 

พิกัดของเขื่อนแห่งนี้ตรงตามชื่อตัว นั่นคือเมือง ‘โนวา คาคอฟคา’ ในแคว้นเคอร์ซอน ทางตอนใต้ของยูเครน ซึ่งปัจจุบันกองกำลังของรัสเซียสามารถยึดครองเอาไว้ได้ โดยเขื่อนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟคา มีความสูง 30 เมตร ยาว 3.2 กิโลเมตร มีพื้นที่รวมถึง 2,155 ตารางกิโลเมตร เริ่มสร้างขึ้นในปี 1956 หรือยุคของโจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียต และเสร็จสิ้นอีกทีคือในยุคของนิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำโซเวียตคนใหม่

 

เขื่อนดังกล่าวตั้งอยู่บนแม่น้ำดนิโปร ซึ่งเป็นแนวหน้าของสมรภูมิรบที่กองกำลังรัสเซียและทหารยูเครนเปิดฉากห้ำหั่นกันอย่างไม่ลดละ และมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะเขื่อนที่ส่งน้ำจืดไปยังคาบสมุทรไครเมีย รวมถึงเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ติดอันดับท็อป 10 ของโลก

 

รายงานยังระบุอีกด้วยว่าเขื่อนแห่งนี้มีปริมาณกักเก็บน้ำมหาศาลถึง 18 ลูกบาศก์กิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับทะเลสาบเกรตซอลต์ (Great Salt Lake) ในรัฐยูทาห์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นทะเลสาบเกลือที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกตะวันตก 

 

เมื่อมวลน้ำขนาดมหึมาทะลักออกมา มันจึงไหลเข้าท่วมพื้นที่อยู่อาศัยเบื้องล่าง ส่งผลให้วานนี้ประชาชนนับพันคนต้องรีบอพยพหนีตายออกจากบ้านของตัวเองก่อนที่ระดับน้ำจะท่วมหนักจนถึงจุดอันตราย ซึ่งในบางพื้นที่ใช้เวลาเพียงแค่ 5 ชั่วโมงเท่านั้นน้ำก็ท่วมสูงจนคนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้

 

  • ใครอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดเขื่อน

 

คำถามนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถตอบฟันธงได้แน่ชัด เพราะทั้งยูเครนและรัสเซียต่างก็กล่าวโทษว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ก่อเหตุระดมยิงเขื่อนจนแนวกั้นน้ำทลายลงมา ขณะที่เจ้าหน้าที่บางคนกล่าวว่าไม่ได้มีใครระเบิดเขื่อน แต่เป็นเพราะโครงสร้างของเขื่อนอ่อนแอและได้รับความเสียหายมาก่อนหน้าแล้ว เมื่อเผชิญกับแรงดันมหาศาลของน้ำจึงเกิดระเบิดเอง เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมด THE STANDARD ขอสรุปไล่เรียงแถลงการณ์จากทุกฝ่าย ดังนี้

 

เริ่มต้นจากฝั่งของยูเครนกันก่อน เนื่องจากเป็นฝ่ายแรกที่ออกมากล่าวชัดเจนว่ารัสเซียเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตี

 

โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กล่าวโทษว่ากองกำลังรัสเซียระเบิดโรงไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟคาจากด้านใน เมื่อเวลา 02:50 น. ของวานนี้ตามเวลาท้องถิ่นพร้อมระบุด้วยว่ารัสเซียต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฐานะผู้ก่อการร้าย ขณะที่โฆษกกองทัพยูเครนกล่าวเสริมว่า เหตุที่รัสเซียจงใจระเบิดเขื่อน เพราะต้องการสร้างอุปสรรคขัดขวางไม่ให้กองกำลังยูเครนสามารถข้ามแม่น้ำดนิโปรไปโจมตีโต้ตอบฝ่ายของตนเองได้

 

ฝั่งของรัสเซียก็กล่าวอ้างอีกแบบหนึ่ง โดยดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า ยูเครนต่างหากที่จงใจทำลายเขื่อน เพราะหวังที่จะตัดช่องทางส่งน้ำไปยังไครเมีย และพยายามหันเหความสนใจจากแผนโต้ตอบกลับกองกำลังของรัสเซีย

 

แต่ก่อนที่เพสคอฟจะกล่าวเช่นนี้ ก็มีเจ้าหน้าที่ของรัสเซียบางคนที่กล่าวว่า ‘ไม่ได้มีเหตุโจมตีใดๆ เกิดขึ้นที่เขื่อน’ 

 

วลาดิเมียร์ โรโกฟ (Vladimir Rogov) เจ้าหน้าที่จากรัสเซียที่อยู่ในซาปอริซเซีย เปิดเผยว่า เหตุที่เขื่อนพังนั้นเป็นเพราะเขื่อนแห่งนี้เคยได้รับความเสียหายมาก่อนแล้ว เมื่อเผชิญกับแรงดันน้ำมหาศาลจึงเกิดระเบิดขึ้นด้วยตัวมันเอง เช่นเดียวกับสำนักข่าว TASS ของรัสเซียที่รายงานข่าวในลักษณะเดียวกันวานนี้

 

  • ผลกระทบน่ากังวลแค่ไหน

 

โมฮัมเหม็ด ฮาเดอร์ซาเดห์ (Mohammad Heidarzadeh) อาจารย์อาวุโสประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโยธาแห่งมหาวิทยาลัยบาธในอังกฤษ กล่าวว่า เขื่อนคาคอฟคาเป็นหนึ่งในเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกหากดูกันในแง่ของความจุน้ำ

 

“เห็นได้ชัดว่าเหตุเขื่อนระเบิดครั้งนี้จะสร้างผลเสียต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในระยะยาวเป็นวงกว้าง ไม่เพียงแต่กับยูเครนเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านและในระดับภูมิภาคด้วย” ฮาเดอร์ซาเดห์กล่าว พร้อมเสริมว่าเขื่อนคาคอฟคามีลักษณะเป็น ‘เขื่อนถม’ หรือหมายความว่าวัสดุที่ใช้ก่อสร้างเขื่อนคือกรวดและหินเป็นหลัก โดยส่วนแกนเขื่อนที่อยู่ตรงกลางนั้นจะเป็นดินเหนียวที่มีความแข็งแรง

 

“เขื่อนประเภทนี้มีความเสี่ยงที่ถูกทำลายได้ง่ายมาก และเมื่อเกิดการแตกร้าวขึ้นก็มักจะถูกน้ำกัดเซาะได้อย่างรวดเร็ว” 

 

ฮาเดอร์ซาเดห์อธิบายว่า หากเขื่อนประเภทนี้เกิด ‘ความเสียหายแค่เพียงบางส่วน’ ก็เพียงพอแล้วที่กะเทาะให้เขื่อนพังทลายลงมาทั้งหมด เพราะการไหลตัวของน้ำจะเข้าชะล้างวัสดุที่เป็นดินได้อย่างง่ายดายในเวลาเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

 

หลังเกิดเหตุเขื่อนระเบิด ทางการได้สั่งอพยพประชาชนแข่งกับเวลา ก่อนที่มวลน้ำมหาศาลจะไหลเข้าท่วมเขตที่อยู่อาศัยจนเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยทางการประเมินว่ามีผู้ที่อยู่ในเขตเสี่ยงภัยน้ำท่วมทั้งหมดราว 42,000 คนด้วยกัน และเมื่อดูตัวเลขจนถึงช่วงเช้าวันนี้จะพบว่ามีประชาชนที่อพยพจากบ้านของตัวเองแล้วกว่า 1,400 คนในแคว้นเคอร์ซอน ขณะที่ข้อมูลจากโอเล็กซานเดอร์ โปรคูดิน (Oleksandr Prokudin) หัวหน้าฝ่ายบริหารกองทัพประจำแคว้นเคอร์ซอนกล่าวว่า มีบ้านกว่า 1,800 หลังคาเรือนบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำดนิโปรที่จมอยู่ใต้บาดาลเป็นที่เรียบร้อย

 

โปรคูดินกล่าวในวันนี้ว่า มีแนวโน้มที่ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 1 เมตรในช่วง 20 ชั่วโมงต่อจากนี้ ขณะที่กระทรวงพลังงานของยูเครนระบุว่า มีประชาชนราว 12,000 คนในเคอร์ซอนที่ตอนนี้ตกอยู่ในสภาพไร้ไฟฟ้าใช้

 

แม้จะเคราะห์ดีที่ตอนนี้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว แต่มีเรื่องน่าเศร้าคือยูเครนไม่สามารถช่วยชีวิตสัตว์น้อยใหญ่ไว้ได้ โดยข้อมูลจากสวนสัตว์โนวา คาคอฟคา เผยว่ามีสัตว์อย่างน้อย 300 ตัวที่ตายลงเมื่อวานนี้

 

ผู้สื่อข่าวของ CNN ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย โดยรายงานว่าน้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วมถนนหลายแห่ง รวมถึงในพื้นที่ของเมืองเคอร์ซอน ซึ่งเป็นเมืองเอกของแคว้นแห่งนี้ หลายพื้นที่น้ำท่วมขังสูงจนเส้นทางสัญจรถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

 

นอกจากนี้ ทหารของยูเครนยังเปิดเผยกับ CNN ด้วยว่า พวกเขาเห็นทหารรัสเซียถูกกระแสน้ำพัดไหลไปตามแรงน้ำ ขณะที่กองกำลังรัสเซียบางส่วนต้องหนีออกจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนิโปรหลังเขื่อนทลายลงมา โดยมีทหารรัสเซียจำนวนมากได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

 

สิ่งที่น่ากังวลต่อจากนี้คือ การที่เขื่อนพังถล่มได้เพิ่มความเสี่ยงให้กับเคอร์ซอนซึ่งเป็นแนวหน้าของสมรภูมิรบที่มีการยิงปะทะกันอย่างต่อเนื่อง ยิ่งระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเท่าไรก็ยิ่งเป็นอันตรายกับชีวิตของประชาชนเป็นทวีคูณ ซึ่งขณะนี้องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) กำลังประสานงานกับองค์กรพันธมิตรด้านมนุษยธรรมเพื่อเร่งช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 

 

หลายภูมิภาคของยูเครนที่ปกติต้องพึ่งพาน้ำจากเขื่อนแห่งนี้ก็ต้องเร่งสงวนการใช้น้ำเป็นการด่วน โดยเขื่อนโนวา คาคอฟคา ถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของประชาชนนับล้านคนในแคว้นเคอร์ซอน แคว้นดนิโปร และแคว้นซาปอริซเซีย โดยน้ำในเขื่อนหลักๆ แล้วจะถูกนำไปใช้สำหรับทำการเกษตรในทางตอนใต้ของแคว้นเคอร์ซอนและคาบสมุทรไครเมีย ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและการผลิตอาหารด้วย

 

ขณะเดียวกัน หัวหน้าฝ่ายช่วยเหลือของ UN ยังได้เน้นย้ำถึงอันตรายของกระแสน้ำที่กำลังพัดเข้าสู่ย่านที่อยู่อาศัยของพลเมืองในขณะนี้ เพราะแรงน้ำอาจพัดพาเอาระเบิดหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ หลงเข้าไปอยู่ในเขตที่ ‘เคย’ ปลอดภัยได้ด้วย อีกทั้งยังมีความกังวลว่ากระแสน้ำดังกล่าวอาจปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีและน้ำมันที่รั่วไหลออกจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งในที่สุดก็จะไหลลงไปสู่แม่น้ำดนิโปร ขณะที่มวลหมู่ปลาที่เคยว่ายวนอยู่ในเขื่อนแห่งนี้ก็จะค่อยๆ ตายลง

 

รุสลัน สเตรเล็ตส์ (Ruslan Strilets) รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของยูเครน กล่าวว่า มีน้ำมันอย่างน้อย 150 เมตริกตันจากเขื่อนรั่วไหลลงสู่แม่น้ำดนิโปร และความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นประเมินไว้ที่ 50 ล้านยูโร (53.8 ล้านดอลลาร์) 

 

สำหรับคำถามที่ว่ากระแสน้ำจะลดลงเมื่อใดนั้น อิฮอร์ ซีโรตา (Ihor Syrota) ซีอีโอของ Ukrhydroenergo ซึ่งดูแลโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้งหมดในยูเครนคาดการณ์ว่า น้ำที่ท่วมขังจะแตะระดับสูงสุดในเวลาประมาณ 05.00 น. ของวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น แต่ระดับน้ำจะไม่ลดลงทันทีหลังจากขึ้นถึงจุดสูงสุด เพราะมวลน้ำจะไหลต่อเนื่องไปอีก 2 วัน ในวันที่ 4 น้ำถึงจะเริ่มลดลง และหลังจากนั้นภายใน 8-10 วันน้ำจะไหลลงทะเลดำจนแห้งทั้งหมด

 

ด้านเซเลนสกีกล่าวว่า การประเมินความเสียหายจะชัดเจนขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หลังจากนี้ เพราะยูเครนต้องรอดูจนกว่าน้ำจะแห้งหมด จึงจะทราบได้ว่ามีความเสียหายมากน้อยแค่ไหน และจะต้องแก้ไขกันอย่างไรต่อไป

 

  • จะเกิดปัญหาซัพพลายน้ำไปยังไครเมียหรือไม่

 

การที่เขื่อนพังทลายมีความเสี่ยงที่จะทำให้ระดับน้ำของคลองไครเมียเหนือ (North Crimean Canal) ลดลงด้วย

 

โดยปกติแล้วคลองนี้ทำหน้าที่ในการจัดหาน้ำให้กับไครเมียมากถึง 85% ของการใช้งานน้ำทั้งหมดในพื้นที่ดังกล่าว โดยน้ำส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อทำการเกษตร ขณะที่บางส่วนถูกใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรมในทะเลดำ และน้ำประมาณ 1 ใน 5 ของคลองดังกล่าวจะถูกใช้สำหรับดื่มกินและความต้องการสาธารณะอื่นๆ แต่ด้วยความที่สถานการณ์เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ เมื่อวานนี้ จึงยังคงต้องรอการประเมินความเสียหายที่ชัดเจนจากเจ้าหน้าที่ต่อไป

 

  • สร้างความเสี่ยงแก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียมากน้อยเพียงใด

 

การที่เขื่อนพังทลายลงมาทำให้หลายฝ่ายจับตาว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะสร้างความเสี่ยงให้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียมากน้อยเพียงใด เพราะโรงไฟฟ้าแห่งนี้ต้องพึ่งพาน้ำจากเขื่อนเพื่อนำมาใช้ในระบบหล่อเย็น

 

ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ออกมากล่าวว่า จากการประเมินขั้นต้นขณะนี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียยังไม่ได้รับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่รุนแรงใดๆ แต่ถึงเช่นนั้น ในช่วงเวลาหลังจากนี้ระดับน้ำในบ่อหล่อเย็นจะต้องไม่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้โรงไฟฟ้ามีน้ำเพียงพอสำหรับกระบวนการหล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์

 

กรอสซีกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของ UN ที่ประจำการอยู่ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวรายงานว่า ระดับน้ำในเขื่อนลดลงราว 5 เซนติเมตรต่อชั่วโมง จึงประเมินว่าน้ำที่จะปั๊มขึ้นมาใช้สำหรับกระบวนการหล่อเย็นหลักของเครื่องปฏิกรณ์จะอยู่ได้อีกราว 2-3 วันต่อจากนี้ แต่หลังจากนั้นพวกเขาจะใช้น้ำจากแหล่งทรัพยากรอื่นมาทดแทนได้ ซึ่งมีทางเลือกมากมาย โดยแหล่งทางเลือกหลักคือบ่อหล่อเย็นขนาดใหญ่ที่อยู่ติดกับโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ซึ่งประเมินแล้วว่ามีน้ำเพียงพอที่จะใช้งานได้นานหลายเดือน

 

ภาพ: Satellite image (c) 2023 Maxar Technologies

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising