×

ไก่-ณฐพล บุญประกอบ กับ 6 หนังสารคดีที่ไม่ใช่แค่สนุก แต่ยังเป็นกระจกสะท้อนตัวเราเอง

14.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว เชื่อว่าสิ่งที่ดีที่สุดในการดูภาพยนตร์คือการได้เห็นตัวเองจากภาพยนตร์เรื่องนั้นเหมือนการส่องกระจกที่ทำให้เรารู้จักตัวเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้มากขึ้น

สำหรับหลายคนที่ยังรู้สึก ‘ขยาด’ เวลาได้ยินคำว่า ‘ภาพยนตร์สารคดี’ วันนี้ THE STANDARD POP ได้ชวน ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์ 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ที่เปลี่ยนคำว่าสารคดีให้กลายเป็นภาพยนตร์คลุกวงในตลอด 55 วัน ระหว่างโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศของ ตูน บอดี้สแลม ที่สนุก ดูเพลิน และเรียกน้ำตาให้กับหลายคน มาแนะนำภาพยนตร์สารคดีในดวงใจที่ไม่ใช่แค่ดูสนุก แต่ยังทำหน้าที่เป็น ‘กระจก’ สะท้อนให้เห็นตัวตนของคนดูในหลายๆ แง่มุม ไม่ว่าจะในฐานะคนทำหนังหรือคนธรรมดาทั่วไปก็ตาม

 

1. The Act of Killing (โจชัว ออพเพนไฮเมอร์, 2012)

 

 

ผู้กำกับเป็นคนอเมริกัน ทำหนังเรื่องนี้ด้วยการให้คนที่เคยเป็นนักฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่อินโดนีเซียทำหนังขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เพื่อเชิดชูวีรกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของตัวเอง และ The Act of Killing เป็นหนังสารคดีเบื้องหลังการถ่ายทำเรื่องนี้อีกที

 

อย่างแรกคือเขาใช้ศาสตร์ของภาพยนตร์ในการดึงเบื้องลึกของคนออกมา ไม่ใช่แค่การตัดต่อนะ แต่เป็นกระบวนการทำหนัง เขาให้ซับเจกต์เผยตัวตนออกมาผ่านการทำหนังเรื่องหนึ่ง ส่วนผู้กำกับมีหน้าที่แค่บันทึกเรื่องราวเอาไว้ การทำงานแบบนี้เป็นวิธีคิดที่ไม่ใช่แค่นั่งสัมภาษณ์อย่างเดียว ซึ่งจริงๆ ก็แอบมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของผมในการทำหนังเรื่อง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว พาร์ตหนังซ้อนหนังที่สะท้อนด้านลึกของพี่ตูนออกมาด้วยเหมือนกัน  

 

 

ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้มีความคล้ายบ้านเราในแง่ความรุนแรงเชิงความคิดอยู่มากๆ แล้วอินโดนีเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านเรา ก็ยิ่งรีเลตกับมันได้ง่าย แม้ว่าหนังจะไม่มีฉากรุนแรง ไม่เห็นเลือดแม้แต่หยดเดียว

 

ผมคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดในการดูหนังอะไรก็ตามคือการเห็นตัวเองในนั้น มันเหมือนการดูกระจก แล้วเราได้รู้จักตัวเอง ได้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของคนที่อยู่อีกซีกโลกหรืออะไรก็ตาม แล้ว The Act of Killing เป็นกระจกที่บานใหญ่มาก

 

2. Hooligan Sparrow (เย่ไห่เหยียน, 2016)

 

เย่ไห่เหยียน

 

หนานฟูหวัง

 

เป็นหนังจีนที่ทำโดย หนานฟูหวัง นักศึกษาปริญาโทที่นิวยอร์ก ตอนแรกเธอจะทำหนังเกี่ยวกับ NGO คนหนึ่งในจีนชื่อ เย่ไห่เหยียน ที่รณรงค์เรื่องสิทธิสตรี สิทธิแรงงานต่างๆ ซึ่งการเป็น NGO ในจีนนี่เสี่ยงตีนมาก คนที่ลุกมาต่อต้าน ประท้วงรัฐบาลต้องโดนหมายหัวแบบรุนแรงมาก แล้วเกิดเคสข่มขืนเด็กประถมเมืองหนึ่ง เย่ไห่เหยียนกลับไปเพื่อถือป้ายประท้วง แล้วผู้กำกับก็ไปถ่าย สุดท้ายเลยกลายเป็นโดนคุกคามจากทางการจีนไปด้วย แทนที่หนังจะเป็นเรื่องเย่ไห่เหยียนอย่างเดียว ก็กลายเป็นว่าผู้กำกับก็เอาตัวเองเข้าไปเป็นตัวละครหนึ่งในหนังด้วยเหมือนกัน

 

แต่หนังเรื่องนี้ต้องดูเองนะ เวลาเล่ามันจะเฉยๆ แต่ถ้าดูแล้วจะพีกมาก เพราะหนานฟูหวังเป็นคนบ้าดีเดือดเลย ถือกล้อง ถ่ายตอนวิ่งหนีตำรวจ ผมเคยเจอเขาตอนเรียนที่อเมริกานะ เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่เรียนปริญญาโทเหมือนกัน แต่หนังที่เขาทำกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เขากลับประเทศไม่ได้ มันท้าทายมากนะ ทุกวันนี้เธอก็โดนแบล็กลิสต์จนกลับประเทศไม่ได้

 

สุดท้าย Hooligan Sparrow ก็เป็นกระจกสะท้อน อย่างแรกคือในฐานะคนทำหนังว่า ฟังชันก์ของกล้องที่เรามีในมือมันทำอะไรได้บ้าง อีกอย่างก็สะท้อนสังคมใกล้ตัวเรา เพราะเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะทางการพยายามปกปิดข่าวนี้ ไม่เปิดโอกาสให้คนลุกมาตั้งคำถามกับความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในการไต่สวนคดี ที่เหลือก็คงไม่ต้องอธิบายต่อแล้วมั้ง (หัวเราะ)

 

3. Searching for Sugar Man (มาลิก เบนด์เจลลูล, 2012)

 

 

หนังเกี่ยวกับนักดนตรีในอเมริกาชื่อ Rodriguez ที่มีผลงานออกมา 2-3 อัลบั้มแต่ไม่มีคนสนใจ แล้วก็หายไป แต่ปรากฏว่าเพลงของเขาไปดังมากในแอฟริกาใต้ ในฐานะเพลงที่ใช้ในการต่อสู้เรื่องการแบ่งแยกผิวสี โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลยนะ เขาดังขนาดเหมือนเป็น จอห์น เลนนอน ของที่นั่นเลยนะ ทีนี้ก็มีข่าวลือว่าเขาเผาตัวตาย ยิงตัวตาย ไม่ก็โอเวอร์โดสตายไปแล้ว หนังเรื่องนี้ก็ไปตามหาว่าศิลปินคนนี้อยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่

 

พอไปเจอจริงๆ ปรากฏว่า Rodriguez เป็นคนจนมาก ติดดิน เป็นที่รักของชุมชน แบบลงสมัครเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านแบบนั้นเลย ยังทำงานหนักโดยไม่ได้สนใจเรื่องชื่อเสียง แล้วเราเห็นว่าไอ้ความเป็นศิลปินจริงๆ มันใหญ่กว่าวงการบันเทิง มันลึกกว่าการเป็นดาราเยอะนะ เพราะถึงเขาจะได้ไปเล่นที่แอฟริกาใต้หลายครั้ง แต่ก็ยังใช้ชีวิตแบบใส่รองเท้ายางห่วยๆ แม้ว่าจะเป็น จอห์น เลนนอน ของที่นั่นแล้ว จะย้ายไปแล้วใช้ชีวิตอยู่ในคฤหาสน์หรูๆ ก็ได้ แต่เขาไม่เอา คอนเสิร์ตที่ไปก็ไม่เอาเงิน เพราะเขารู้สึกว่านั่นไม่ใช่ของเขา เป็นแค่โบนัสในชีวิต

 

4. Salaam Cinema (โมห์เซน มัคฮ์มัลบัฟ, 1995)

 

 

โมห์เซน มัคฮ์มัลบัฟ เป็นผู้กำกับที่ดังมากในอิหร่าน อารมณ์แบบท่านมุ้ยเมืองไทย แล้วเขาประกาศว่าจะทำหนังเรื่องหนึ่งเพื่อฉลองครบรอบ 100 ปีของศาสตร์ภาพยนตร์ ลงโฆษณาเปิดแคสติ้งนักแสดงในหนังสือพิมพ์ แล้วมีคนมาสมัครประมาณ 5,000 คนจนเหมือนเกิดจลาจล ในหนังก็เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในห้องแคสติ้ง

 

แต่หนังไปไกลกว่านั้นเยอะมาก มีการคุยไปถึงขั้นตั้งคำถามว่า ภาพยนตร์คืออะไรกันแน่ เพราะบางคนที่มาแคสติ้งก็อ้อนว้อนโมห์เซนว่า ขอให้เขาแคสต์ผ่านและได้อยู่ในหนังเถอะ เขายอมทำได้ทุกอย่างเพราะเขารักหนังมากจริงๆ หนังมันมีอำนาจมากแค่ไหนที่สั่งให้คนทำอะไรก็ได้ต่อหน้ากล้อง ผมชอบเรื่องนี้มาก เพราะมันเบลอเส้นแบ่งของภาพยนตร์ไปหมดเลยว่าอะไรคือภาพยนตร์ อะไรคือสารคดี

 

5. 5 Broken Cameras (เอหมัด เบอร์นาด และกาย ดาวีดี, 2011)

 

 

เป็นหนังเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ชายแดนอิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยมีคนที่ชื่อ เอหมัด ที่อยู่ฝั่งปาเลสไตน์ เขาเป็นคนชอบถ่ายวิดีโอมาก คือถ่ายเมีย ถ่ายลูก ถ่ายเพื่อนตัวเองตลอดเวลา พอมีคนประท้วงว่าอิสราเอลมารุกล้ำพื้นที่สร้างคอนโดมิเนียมในดินแดนปาเลสไตน์ก็ไปถ่าย แล้วชื่อหนัง 5 Broken Cameras ก็มาจากการที่เขาถ่ายจนกล้องพังคามือไป 5 ตัว บางตัวก็พังเพราะกระสุนปืน เพราะระเบิด เพราะโดนทุบ เป็นหนังที่บันทึกความเปลี่ยนแปลง 7-8 ปีในแบบที่องค์กรระหว่างประเทศทำไม่ได้ เพราะคือมุมมองจากคนที่อยู่ตรงนั้นจริงๆ

 

ความน่าสนใจอีกอย่างคือ เอหมัดที่เป็นคนถ่ายคือคนปาเลสไตน์ แต่ผู้กำกับที่เป็นคนบรรยายเรื่องราวในสารคดีเป็นคนทำหนังชาวอิสราเอลที่ข้ามฝั่งมาเพราะอยากเข้าใจปัญหา และอยากทำงานเกี่ยวกับความขัดแย้งตรงนี้ เลยร่วมมือกับเอหมัดที่อยู่คนละฝั่งเพื่อสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา

 

 

หนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นพลังของคนทำงานสื่อ แม้เอหมัดจะเป็นแค่คนชอบถ่ายวิดีโอเฉยๆ แต่ฟุตเทจที่ผลิตออกมา ต่อให้เป็นมืออาชีพก็ทำไม่ได้ เพราะทุกคนมีมุมมองและเรื่องเล่าของตัวเอง แล้วมันแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งในระดับสเกลของมนุษย์จริงๆ ไม่ใช่แค่ข้อมูลที่เห็นตามข่าว มันเป็นความรู้สึกของชีวิตที่เกิดขึ้น และถูกเรียบเรียงและถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ได้ทรงพลังมาก

 

6. Casting JonBenet (คิตตี้ กรีน, 2017)

 

 

เรื่องนี้มีฉายใน Netflix ด้วย เป็นเรื่องเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมลูกสาวคนเล็กของครอบครัวหนึ่งในอเมริกา เป็นคดีที่เกิดขึ้นมา 30 ปี แล้วจับฆาตกรไม่ได้ ทั้งๆ ที่เด็กตายในบ้านตัวเอง แล้วก็มีหลักฐาน จดหมายขู่เอาเงินที่ดูปลอมมากๆ อยู่ แต่ปิดคดีไม่ลง

 

หนังใช้วิธีเหมือน Salaam Cinema คือประกาศให้คนมาแคสติ้งเป็นคนในครอบครัว รวมทั้งคนที่ตายด้วย แล้วตัดสลับกระบวนการแคสต์ของแต่ละคนออกมา ที่มีทั้งตอนที่แต่ละคนพยายามสวมบทบาทและแสดงความคิดเห็นที่มีต่อคดีนี้ แล้วตัดสลับกับหนังที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยอีกทีหนึ่ง

 

ความพีกของเรื่องนี้คือ ผมรู้สึกว่าถ้าคดีเป็นเหมือนหลุมดำที่ถมไม่เป็น หนังไม่ได้เล่าถึงเรื่องในหลุมดำนะ แต่หนังโชว์ให้เห็นว่าคนรอบๆ หลุมดำนั้นคิดเห็นกับมันอย่างไร ความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวเราคืออะไร เราจะได้เห็นความคิดของคนที่มาแคสต์เป็นบทแม่หลายๆ คนว่าอิจฉาลูกหรือเปล่าวะ หรือพี่ชายต้องเป็นคนฆ่าแน่ๆ เพราะว่ารำคาญน้อง ฯลฯ ทุกคนจะวิเคราะห์คาดเดากันไปต่างๆ นานา สะท้อนให้เห็นความคิดรอบๆ หลุมดำที่ผมคิดว่าเจ๋งมาก

 

เรื่องนี้มีฉายใน Netflix ด้วยนะ แต่โดนด่าฉิบหายเลย เพราะพออยู่ใน Netflix แล้วคนคาดหวังว่าจะต้องมีการไขคดี แต่ในเรื่องนี้มันเซอร์มาก ไม่มีอะไรแบบนั้นเลยโดนด่า (หัวเราะ) แต่เป็นหนังที่ดีมากนะ แค่อยู่ผิดที่เท่านั้นเอง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising