Notre-Dame on Fire คือภาพยนตร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ไฟไหม้มหาวิหาร Notre-Dame ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2019 โดยได้ Jean-Jacques Annaud (ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Seven Years in Tibet และ Enemy at the Gates) มารับหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวและความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้
ภาพยนตร์จะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ไฟไหม้มหาวิหาร Notre-Dame โดยจะค่อยๆ พาผู้ชมเข้าไปสำรวจถึงต้นตอของสาเหตุไฟไหม้ ไปจนถึงการคลี่คลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยผู้คนจากทุกฝ่าย
สิ่งแรกที่รู้สึกได้คือ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความเป็นภาพยนตร์สารคดีมาก เพราะนำเสนอเรื่องราวความจริงของสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพียงแต่ในครั้งนี้เรื่องราวเหล่านั้นถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสายตาของผู้กำกับ โดยใช้เทคนิคทางภาพยนตร์เข้ามาเสริมสร้างเรื่องราวให้ดูมีโครงและน้ำหนักมากขึ้น โดยเฉพาะวิธีการเล่าเรื่องและวิธีการลำดับภาพ
ซึ่งสิ่งที่ Jean-Jacques Annaud เลือกที่จะโฟกัสในภาพยนตร์ก็คือ ทีมนักดับเพลิงที่เป็นคีย์หลักสำคัญในการหยุดเหตุการณ์มหันตภัยไฟไหม้ในครั้งนี้ โดยช่วงครึ่งหลังของเรื่องนั้น ภาพยนตร์จะพาเราไปเกาะติดอยู่กับทีมนี้แทบจะตลอดเวลา ซึ่งทำให้ใครหลายคนรู้สึกถึงความสมจริงราวกับยืนอยู่ในสถานการณ์นั้นด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังพาเราไปดูทีมอื่นๆ ที่ให้ความช่วยเหลือและประสานงานกับทีมนักดับเพลิงในการแก้ไขสถานการณ์ครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
ถึงแม้ภาพยนตร์จะเทน้ำหนักไปที่ทีมนักดับเพลิงเป็นส่วนใหญ่ แต่ภาพยนตร์ก็ยังคงเน้นย้ำกับคนดูเรื่อง ‘ความสามัคคี’ ของมวลมนุษย์อยู่เสมอ อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ภายในเรื่องนั้นเราจะไม่ได้เห็นแค่การทำงานของทีมดับเพลิงเพียงทีมเดียว แต่จะได้เห็นทั้งตำรวจ, ผู้ดูแลวิหาร, สถาปนิก และทหาร ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อแก้ไขปัญหาและสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดนั้นก็ส่งต่อมวลอารมณ์เรื่อง ‘ความสามัคคี’ ของมวลมนุษย์ในยามวิกฤตมาสู่ผู้ชมได้เป็นอย่างดี
และองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผู้ชมจดจ่ออยู่กับเนื้อหาเหล่านั้นได้ก็คือ งานภาพและฉากที่เรียกได้ว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีรองลงมา หรืออาจจะดีกว่าเนื้อหาก็เป็นได้ เพราะภาพยนตร์ค่อนข้างจะให้ความสำคัญในจุดนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความอลังการของมหาวิหาร Notre-Dame และการนำเสนอภาพความงดงามทั้งภายในและภายนอกมหาวิหาร รวมไปถึงภาพที่เกิดเหตุตอนไฟไหม้ด้วยเช่นกัน
นอกจากสิ่งที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว สิ่งหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่รู้สึกว่าอาจจะทำให้ใครหลายคนรู้สึกรำคาญได้ก็คือ ตัวละครที่เต็มไปด้วยความงุนงงในการกระทำของตัวเอง นั่นก็เพราะว่าพวกเขาหลายคนสามารถที่จะยับยั้งเหตุการณ์เหล่านั้นได้ ก่อนที่มันจะกลายเป็นเรื่องลุกลามบานปลายจนยากเกินจะควบคุม
แต่หากมองในมุมกลับกัน สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอก็คือ ‘ความจริง’ และบางครั้งในสถานการณ์จริงก็อาจจะมีคนประเภทนั้นอยู่จริงๆ
ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนชอบและคิดว่าดีพอสมควรในภาพยนตร์เรื่องนี้เลยก็คือ ภาพยนตร์บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าในบางครั้งมหันตภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นมานั้น ก็มีต้นเหตุมาจากความประมาทเลินเล่อและมักง่ายของมนุษย์ที่มองข้ามสิ่งเล็กๆ ไป จนทำให้มันกลายเป็น ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ ที่นำพาปัญหาต่างๆ ตามมาทีหลัง
มีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย สิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหาพอสมควรก็คือ การที่ตัวภาพยนตร์เลือกที่จะหยิบยืมวิธีการเล่าเรื่องแบบสารคดีมาใช้ ทำให้บางช่วงของภาพยนตร์ขาดตอนไป โดยเฉพาะการกระทำของตัวละครบางตัวที่ภาพยนตร์เลือกที่จะกระโดดข้ามไปเลย เห็นอีกทีก็คือใส่ชุดพร้อมรับมือกับสถานการณ์แล้ว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ยังอยู่ในมหาวิหาร ถึงแม้จะเป็นภาพยนตร์ที่มอบประสบการณ์ความสมจริงให้กับคนดูมากเพียงใด แต่ก็ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ มากมายตลอดทั้งเรื่องด้วยเช่นกัน
และอีกสิ่งหนึ่งที่คิดว่ามีปัญหาหนักพอๆ กันคือ ช่วงท้ายของเรื่องที่ค่อนข้างรู้สึกว่าเอื่อยมากถ้าเทียบกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นภายในเรื่อง เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่ในช่วงท้ายของเรื่องมักจะดำเนินไปข้างหน้าด้วยบทสนทนา และการตามหานู่นตามหานี่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบทสนทนาเหล่านั้นก็ไม่ได้มีความแปลกใหม่อะไรเลยถ้าหากเทียบกับภาพยนตร์ในแนวเดียวกัน
ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าผู้กำกับอาจจะกำลังหาทางลง หรือหาฉากบางอย่างเพื่อสร้างอิมแพ็กให้คนดูได้รู้สึกว่าเรื่องราวของพวกเขานั้นมันช่างชวนให้น่าเสียน้ำตายิ่งนัก แต่สำหรับผู้เขียนคิดว่าน่าจะให้ผลตรงกันข้ามมากกว่า เพราะถ้าพูดกันตามตรงแล้ว ภาพยนตร์สามารถที่จะเล่าให้รวบรัดหรือกระชับได้มากกว่านี้ ถ้าไม่ได้มัวแต่ขายงานภาพเพียงอย่างเดียว
โดยรวมแล้ว Notre-Dame on Fire เป็นภาพยนตร์ที่ดูได้เพลินๆ แต่ก็ไม่ได้สร้างความหวือหวาหรือน่าสนใจอะไรมากมายให้กับคนดูนักนอกจากความสมจริง มิหนำซ้ำยังเต็มไปด้วยบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ ตลอดทาง เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีแนวทางในการนำเสนอเหมือนกับภาพยนตร์สารคดี ทำให้ผู้ชมทุกคนแทบจะทราบถึงเหตุการณ์ในตอนจบกันดีอยู่แล้วว่าจะมีบทสรุปแบบไหน แต่ภาพยนตร์ก็กลบสิ่งเหล่านั้นด้วยงานภาพและฉากแทน ซึ่งก็ทำออกมาได้ดีและดูอลังการมากในบางฉาก จนทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมนักดับเพลิงในสถานการณ์นั้นจริงๆ
แม้เส้นทางที่ภาพยนตร์ปูมานั้นจะเต็มไปด้วยบาดแผลมากมายที่ดูไม่ค่อยจะสวยหรูสักเท่าไร แต่สิ่งสำคัญที่เนื้อหาภายในเรื่องพูดถึงอยู่ตลอดเวลาอย่าง ‘ความสามัคคี’ ของมวลมนุษย์นั้น ก็คงเป็นสิ่งที่สวยงามที่สุดบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยเถ้าธุลีจากเปลวเพลิง และนั่นคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการจะสื่อก็เป็นได้
‘ความสามัคคีคือกุญแจสำคัญที่จะนำพาให้มวลมนุษย์ผ่านพ้นมหันภัยต่างๆ ไปได้ ถึงแม้มันจะยากลำบากแค่ไหน เราก็จะผ่านพ้นมันไปได้อย่างแน่นอนถ้าทุกคนร่วมมือกัน’
Notre-Dame on Fire มีกำหนดเข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่างได้ที่นี่