×

ทำไมต้องเป็นแซลมอนนอร์เวย์? เยือนถิ่นปลาแซลมอนกลางมหาสมุทรแอตแลนติก ค้นหานิยามของ ‘คุณภาพ’ ที่ทั่วโลกไว้ใจ

02.05.2019
  • LOADING...
Norwegian Salmon

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ในเมือง Tromsø อันหนาวเหน็บที่อยู่ทางเหนือของประเทศนอร์เวย์ นอกจากจะเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักล่าแสงเหนือจากทั่วโลกแล้ว เมืองเล็กๆ แห่งนี้ยังเป็นบ้านของแซลมอนนับล้านชีวิตที่ถูกเพาะเลี้ยงและดูแลอย่างดี ก่อนจะกลายมาเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ถูกส่งกระจายไปทั่วทุกมุมโลก
  • บนผืนน้ำทะเลสีฟ้าอันกว้างใหญ่นอกชายฝั่งของเมือง Tromsø คือบ้านของปลาแซลมอนวัยกำลังโตนับล้านตัว ที่ถูกเลี้ยงอย่างประคบประหงม บางคนได้ยินคำว่า ‘ฟาร์มเลี้ยงปลา’ แล้วอาจนึกภาพปลาที่แออัดยัดเยียดอยู่ในกระชังแคบๆ แต่นั่นไม่ใช่วิถีการทำประมงของชาวนอร์เวย์
  • ฟาร์มเลี้ยงปลาแต่ละแห่งมีข้อกำหนดเหมือนกันคือ ในแต่ละกระชังจะสามารถเลี้ยงปลาได้เพียง 2.5% ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 97.5% เป็นพื้นที่เว้นว่างเอาไว้ให้ปลาแซลมอนสามารถแหวกว่ายไปมาได้อย่างอิสระ

แซลมอน คือหนึ่งในเมนูยอดนิยมของชาวโลก นอกจากจะมาพร้อมกับสีส้มสดใส และอุดมไปด้วยโอเมก้า 3 แล้ว ปลาชนิดนี้ยังสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับชาวนอร์เวย์อีกด้วย

 

หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดไปว่า แซลมอนส่วนใหญ่มีที่มาจากประเทศญี่ปุ่น แต่แท้จริงแล้วส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 90% ของแซลมอนสดในประเทศไทย ถูกแปะป้ายว่ามีต้นทางมาจากนอร์เวย์

 

Norwegian Salmon

 

ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมียอดนำเข้าอาหารทะเลจากนอร์เวย์กว่า 29,000 ตัน ขณะเดียวกันปลาแซลมอนอย่างเดียวก็ได้รับการสั่งแยกเพิ่มอีกเกินกว่า 10,000 ตัน โดยสามารถสร้างมูลค่าการส่งออกให้กว่า 4.8 พันล้านบาท

 

ไม่เพียงเท่านี้ หากย้อนกลับไปสามปีก่อนหน้า การนำเข้าปลาแซลมอนนอร์เวย์เข้าสู่ไทยเพิ่มสูงขึ้นนับ 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากความชื่นชอบครัวอาหารญี่ปุ่นอย่างซูชิและซาชิมิ

 

ในเมือง Tromsø อันหนาวเหน็บที่อยู่ทางเหนือของประเทศนอร์เวย์ นอกจากจะเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักล่าแสงเหนือจากทั่วโลกแล้ว ไกลออกไปจากชายฝั่ง กลางมหาสมุทรแอตแลนติกแห่งนี้ยังเป็นบ้านของแซลมอนนับล้านชีวิตที่ถูกเพาะเลี้ยงและดูแลอย่างดี ก่อนจะกลายมาเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ถูกส่งกระจายไปทั่วทุกมุมโลก

 

 

THE STANDARD มีโอกาสไปเยือนถิ่นปลาแซลมอน ณ เมือง Tromsø ประเทศนอร์เวย์ ตามคำเชิญของสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (Norwegian Seafood Council) และนี่คือเรื่องราวการเดินทางของปลาเนื้อสีส้มที่คนไทยหลงรัก

 

แหล่งที่มามีความสำคัญ

ในแต่ละวัน ปลาแซลมอนจากนอร์เวย์ได้รับการนำไปปรุงอาหารนับ 14 ล้านมื้อในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

 

นอร์เวย์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ส่งออกปลาแซลมอนรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีปริมาณผลผลิตราว 1.3 ล้านเมตริกตันต่อปี และเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ชาวประมง ฟาร์มเพาะพันธุ์ หน่วยงานค้นคว้าวิจัย รวมถึงรัฐบาล ไปจนถึงโรงแล่ปลาจะให้ความสำคัญกับคุณภาพของปลาแต่ละตัวที่ผ่านมือพวกเขาเป็นอย่างมาก

 

ตัวอ่อนปลาแซลมอนใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ในการฟักตัวออกจากไข่ปลา และใช้เวลาร่วมนับปีในฟาร์มน้ำจืด ระหว่างเป็นลูกปลาจนกระทั่งมีน้ำหนักประมาณ 60-100 กรัม เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนไปอยู่ในฟาร์มน้ำเค็ม

 

เมื่อถูกย้ายไปในทะเลแล้ว ปลาแซลมอนต้องอยู่ในกระชังตาข่ายในอ่าวทะเลเป็นระยะเวลาอีก 14-22 เดือน เพื่อเลี้ยงให้ตัวโตจนได้น้ำหนักตามที่ต้องการ สำหรับตัวเล็กน้ำหนักจะอยู่ 3-4 กิโลกรัม ส่วนตัวใหญ่อาจสูงถึง 6 กิโลกรัม ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการผลิตเตรียมส่งออก

 

ตลอดช่วงชีวิตอันยาวนาน 2-3 ปีของปลาแซลมอน พวกมันได้รับการดูแลอย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะในฐานะลูกปลาในฟาร์มน้ำจืดธรรมชาติ ก่อนย้ายสู่ฟาร์มในทะเลกว้างเมื่อโตขึ้นได้ประมาณปีหนึ่ง คุณภาพของแหล่งน้ำทั้งสองแห่งเอื้อต่อสุขภาพปลาที่แข็งแรง รวมถึงการดูแลอย่างใกล้ชิดจากสัตวแพทย์และทีมงานที่ปฏิบัติตามระเบียบในการเพาะเลี้ยงอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่จะต้องป้อนเข้าสู่ตลาด

 

Norwegian Salmon

 

บนผืนน้ำทะเลสีฟ้าอันกว้างใหญ่นอกชายฝั่งของเมือง Tromsø คือบ้านของปลาแซลมอนวัยกำลังโตนับล้านตัวที่ถูกเลี้ยงอย่างประคบประหงม บางคนได้ยินคำว่า ‘ฟาร์มเลี้ยงปลา’ แล้วอาจนึกภาพปลาที่แออัดยัดเยียดอยู่ในกระชังแคบๆ แต่นั่นไม่ใช่วิถีการทำประมงของชาวนอร์เวย์

 

ด้วยกฎที่เข้มงวด การวิจัยและพัฒนาที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้มาหลายสิบปี กลางอ่าวของทะเลนอร์เวย์ที่เรียกว่า ‘ฟยอร์ด’ มีกระชังเลี้ยงปลาวงใหญ่หลายวงเรียงรายอยู่คู่กับสถานีดูแลปลากลางทะเล

 

ฟาร์มเลี้ยงปลาแต่ละแห่งมีข้อกำหนดเหมือนกันคือ ในแต่ละกระชังจะสามารถเลี้ยงปลาได้เพียง 2.5% ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 97.5% เป็นพื้นที่เว้นว่างเอาไว้ให้ปลาแซลมอนสามารถแหวกว่ายไปมาได้อย่างอิสระ

 

ในแต่ละวัน สถานีดูแลปลากลางทะเลจะคอยมอร์นิเตอร์ชีวิตความเป็นอยู่ของปลาแซลมอนที่เลี้ยงเอาไว้อย่างใกล้ชิด โดยมีกล้องใต้ทะเลและเซนเซอร์จำนวนมากคอยสอดส่อง พร้อมทำหน้าที่ให้อาหารปลาตามเวลาที่คำนวณไว้เป็นอย่างดี

 

Norwegian Salmon

 

อาหารที่เอาไว้ใช้เลี้ยงปลาแซลมอนมีส่วนผสมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันปลา ปลาป่น โดยส่วนประกอบหลักมาจากน้ำมันพืช โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตจากพืช ซึ่งแซลมอนแต่ละตัวจะใช้อาหารประมาณ 6-7 กิโลกรัมตลอดช่วงชีวิต

 

นอกจากนี้ทางการนอร์วิเจียนยังให้ความสำคัญต่อเรื่องสารปฏิชีวนะด้วย โดยนับแต่ปลายปี 1980 ได้มีการลดการใช้ยาดังกล่าวลงจนแทบจะไม่มีสารเหล่านี้ตกค้างแล้ว การตรวจสอบขององค์กรต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศต่างช่วยยืนยันว่า ปลาแซลมอนนอร์เวย์ 99 เปอร์เซ็นต์ ปราศจากยาปฏิชีวนะ และหากพบสารปนเปื้อนก็มีกระบวนการทำความสะอาดก่อนส่งออก

 

Norwegian Salmon

 

ทั้งหมดนี้เกิดจากการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีหน้าที่ค้นคว้าและวิจัยวิธีการใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของปลา อีกทั้งฟาร์มปลาแต่ละแห่งยังต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากหน่วยงานควบคุมคุณภาพนับพันครั้งต่อปี กว่าที่แซลมอนของพวกเขาจะเติบโต และถูกส่งไปยังโรงแล่ปลา และกระจายไปเป็นเมนูอาหารของคนทั่วโลก

 

ยั่งยืนเพื่อวันหน้า

อุตสาหกรรมฟาร์มแซลมอนของนอร์เวย์ต่างมีเจตนารมย์ที่ชัดเจนในการสร้างระบบที่ยั่งยืนร่วมกับทางรัฐบาลและภาคส่วนอื่นๆ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่มี ให้สมบูรณ์แบบสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไปได้อนาคต

 

Norwegian Salmon

 

นโยบายหนึ่งที่ได้ถูกบังคับใช้อย่างเคร่งครัดคือ สั่งห้ามให้ปล่อยปลาลงทะเลอย่างเด็ดขาด ด้วยความกังวลว่าจะสร้างความสิ้นเปลืองทรัพยากร และหนำซ้ำปลาที่ปล่อยโดยไม่ได้รับการควบคุมนั้นย่อมไม่สามารถติดตามข้อมูลและใช้ศึกษาในเชิงสถิติได้ด้วย

 

ท้องทะเลนอร์เวย์มีฐานะเป็นทรัพยากรหลักที่ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ รัฐบาลนอร์เวย์จึงให้ความสำคัญในการปกป้องทรัพยากรส่วนนี้ผ่านแผนยุทธศาสตร์มหาสมุทรใหม่ โดยให้ความสนใจต่อการสร้างเศรษฐกิจบนฐานของความยั่งยืน โดยส่วนหนึ่งของแผนดังกล่าวคือ การระบุว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งสินค้าอาหารทะเลลงเกินครึ่งให้ได้ภายในปี 2030 และลดปัญหาขยะพลาสติกพร้อมไปกับการปกป้องความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในทะเล

 

ความใส่ใจของนอร์เวย์ต่อความยั่งยืนยังครอบคลุมไกลกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงความยั่งยืนทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย ผ่านความพยายามในการสร้างมูลค่าและรายได้ให้ผู้ประกอบการสามารถดำรงชีวิตได้

 

ทั้งความยั่งยืน ความปลอดภัย และคุณภาพที่การันตี กลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่ประทับตราลงบนตัวแซลมอนนอร์เวย์ ที่พร้อมจัดส่งผ่านกระบวนการควบคุมที่เคร่งครัดและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยให้ถึงมือปลายทางอย่างไทยภายใน 48 ชั่วโมง

 

Norwegian Salmon

 

จอน อีริค สทีนสลิด ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากสภาอุตสาหกรรมทะเลนอร์เวย์ ถึงกับกล่าวอย่างติดตลกว่า “คนไทยได้กินปลาแซลมอนสดใหม่กว่าคนนอร์เวย์” เพราะระบบการขนส่งภายในประเทศยังต้องใช้รถบรรทุกวิ่งเป็นเส้นทางยาวจากเหนือจรดใต้ ขณะที่จุดหมายปลายทางอย่างประเทศไทยใช้ระบบขนส่งทางอากาศจากสนามบินใกล้เคียง ทำให้คนไทยได้ลิ้มรสชาติปลาแซลมอนจากนอร์เวย์ที่สดใหม่ทุกวันโดยไม่ต้องแช่แข็ง

 

นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นตลาดสำคัญที่สภาอุตสาหกรรมทะเลนอร์เวย์ต้องการจะเน้นสร้างการรับรู้มากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะนอกจากยอดความต้องการแซลมอนนอร์เวย์ในไทยจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว พวกเขายังค้นพบว่า ยังมีความเข้าใจผิดๆ อีกมากมายเกี่ยวกับปลาแซลมอนที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

 

Norwegian Salmon

 

โดยเฉพาะเมื่อคนไทยจำนวนมากยังเข้าใจว่า ปลาแซลมอนส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น ในปีนี้เครื่องหมายการค้า หรือโลโก้ ‘Seafood From Norway’ จึงทวีความสำคัญมากกว่าเดิม

 

เมื่อยังมีงานอีกมากต้องทำ ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมทะเลนอร์เวย์จึงย้ายสำนักงานในภูมิภาคจากสิงคโปร์มาอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ และสื่อสารเกี่ยวกับอาหารทะเลจากนอร์เวย์มากยิ่งขึ้น

 

ไม่ต้องแปลกใจ ถ้าต่อจากนี้โลโก้ Seafood From Norway’ จะพบเห็นได้ตามภัตตาคารหรู ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะนั่นคือหนึ่งในแผนที่จะสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคคนไทยได้รู้ว่า อาหารทะเลที่ติดป้ายนี้การันตีคุณภาพที่ดีที่สุดตามแบบฉบับของนอร์เวย์

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X