รัฐบาลไอร์แลนด์เหนือเผชิญแรงกดดันให้เดินหน้าปฏิรูปกฎหมายทำแท้งอย่างจริงจัง หลังคณะตุลาการศาลสูงสุดของสหราชอาณาจักรมีดุลยพินิจว่า กฎหมายดังกล่าวขัดต่ออนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งให้ความเคารพต่อสิทธิส่วนบุคคลและครอบครัวเป็นสำคัญ
ตุลาการมีมติ 4 ต่อ 3 ชี้ว่า การห้ามสตรีทำแท้งในกรณีที่ถูกข่มขืน ถูกบังคับขืนใจจากคนในครอบครัว หรือเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ เป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ดี ศาลสูงสุดของสหราชอาณาจักรระบุว่า ศาลไม่มีอำนาจตัดสินคดีเกี่ยวกับกฎหมายทำแท้งของไอร์แลนด์เหนือ เนื่องจากยังไม่ปรากฏเจ้าทุกข์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำที่ผิดกฎหมายอันเกี่ยวข้องกับกฎหมายทำแท้งที่เข้มงวด
ถึงแม้ว่าการวินิจฉัยของคณะตุลาการครั้งนี้จะไม่ใช่คำตัดสินชี้ขาด เนื่องจากศาลสหราชอาณาจักรปฏิเสธรับฟ้องคดีนี้ด้วยเหตุผลทางเทคนิค แต่กระนั้นก็ได้สร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาลและนักการเมืองไอร์แลนด์เหนือให้พิจารณาแก้กฎหมายการทำแท้งอย่างจริงจัง
ด้าน เลส อัลแลมบี ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไอร์แลนด์เหนือ (NIHRC) ซึ่งเป็นผู้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลสูงสุดของสหราชอาณาจักร แสดงความเห็นว่า ศาลได้เปิดช่องรับพิจารณาคดีและจะชี้ขาดว่า กฎหมายทำแท้งของไอร์แลนด์เหนือขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนของยุโรป หากมีผู้หญิงที่ตกเป็นเจ้าทุกข์จากกรณีเหล่านั้นออกมาฟ้องร้องต่อศาล นอกจากนี้เขายังเรียกร้องให้รัฐสภาสหราชอาณาจักรในเวสต์มินสเตอร์แสดงบทบาทช่วยผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายในไอร์แลนด์เหนือ
ขณะที่ บรีดากห์ ฮิวจ์ส ผู้อำนวยการ Royal College of Midwives ประจำไอร์แลนด์เหนือกล่าวว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง พร้อมกดดันเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรให้ทำตามสัญญาโดยการผลักดันกฎหมายต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิสตรีในไอร์แลนด์เหนือ
อ้างอิง: