×

ครม. ไฟเขียวงบกลาง 261 ล้านบาท แก้น้ำท่วม 12 จังหวัดภาคเหนือ สทนช. เร่งแก้น้ำท่วมเร่งด่วน ยโสธร-อุบลฯ

โดย THE STANDARD TEAM
10.09.2019
  • LOADING...
แก้น้ำท่วม 12 จังหวัดภาคเหนือ

สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (10 ก.ย. 2562) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบกลางปี 2562 วงเงิน 261 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ตามที่ สทนช. เสนอ โดยมีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการใน 12 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง สุโขทัย และอุตรดิตถ์ 

 

โดยโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการ มีจำนวน 78 โครงการ สามารถเพิ่มแหล่งเก็บกักได้ 2.8 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ได้รับประโยชน์ 41,100 ไร่ ลดผลกระทบได้ 17,328 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 34,300 ครัวเรือน ประกอบด้วยโครงการพัฒนาแก้มลิง ปรับปรุง/ซ่อมแซมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และขุดลอกแหล่งน้ำ ดำเนินการโดยกรมชลประทาน และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งโครงการดังกล่าวจะสามารถแก้ไขและบรรเทาปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือ ในระยะเร่งด่วน 1-2 เดือนนี้ได้

          

นอกจากการเร่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือแล้ว จากการลงพื้นที่ติดตามนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดยโสธรและอุบลราชธานีเมื่อวานที่ผ่านมา (9 ก.ย. 2562) นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสั่งการให้ สทนช. ประสานหน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่เร่งรัดการบริหารจัดการน้ำ ทั้งการระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังโดยเร่งด่วน รวมถึงการพิจารณาแผนงาน โครงการที่สามารถรองรับปริมาณน้ำที่ท่วมไปเก็บกักในแหล่งน้ำต่างๆ ใกล้เคียงเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในอนาคต ไม่เพียงการระบายทิ้งอย่างเดียว ขณะเดียวกัน แหล่งเก็บน้ำทุกแห่งต้องพิจารณาปรับลดการระบายน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุดเนื่องจากการติดตามสถานการณ์ฝนระยะ 7 วันนี้ ภาคเหนือตอนบนและตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนฝนเริ่มลดลง

 

ทั้งนี้ สทนช. จะมีการพิจารณาแผนงานโครงการในพื้นที่ 2 จังหวัดที่ยังประสบปัญหาอุทกภัยขณะนี้เป็นกรณีเร่งด่วน ทั้งงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรแล้วในปี 2562 เช่น เขื่อนป้องกันตลิ่ง ปรับปรุงซ่อมแซมเสริมความมั่นคงพนังกั้นน้ำ อาคารบังคับน้ำ รวม 11 โครงการ ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่า ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 6 โครงการ และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 5 โครงการ รวมถึงหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณาปรับแผนงานที่จำเป็นเร่งด่วน สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องในปีงบประมาณ 63 ใน 2 จังหวัด รวม 88 โครงการ แบ่งเป็นจังหวัดยโสธร 30 โครงการ อุบลราชธานี 58 โครงการ งบประมาณ 1,900 ล้านบาท ประกอบด้วย การทำแก้มลิง ขุดลอกสระ คลอง ห้วย การพัฒนา ปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพประตูระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำ พนังกั้นน้ำ/คันกั้นน้ำ คิดเป็นพื้นที่ได้รับประโยชน์ 95,000 ไร่ รับน้ำได้เพิ่มขึ้น 3.6 ล้านลูกบาศก์เมตร

         

“นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการแก้ปัญหาอุทกภัยเร่งด่วนในพื้นที่จังหวัดยโสธรและอุบลราชธานี ทั้งการเร่งระบายในพื้นที่ที่น้ำท่วมเพื่อลดความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนด้วยยังคงมีมวลน้ำจากแม่น้ำชี-ลำน้ำยัง ลำน้ำเซบาย ไหลลงสู่แม่น้ำมูลตอนล่างที่ราบมากกว่า ประกอบกับยังคงมีมวลน้ำจากแม่น้ำมูลตอนกลางไหลลงตอนล่างในเวลาเดียวกัน ทำให้น้ำในลำน้ำมูลตอนล่างสูงขึ้น จึงต้องเร่งการระบายน้ำโดยการสูบน้ำ-ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำให้ลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาปรับแผนการระบายน้ำ คาดว่ามีน้ำค้างทุ่งประมาณ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 20 วันจากเดิมประมาณ 30 วัน ภายใต้เงื่อนไขว่าไม่มีปริมาณฝนตกมาเพิ่มเติม 

 

“รวมถึงพิจารณาการผันน้ำ จูงน้ำ ไปยังแหล่งเก็บกักเดิมหรือใหม่ การเพิ่มพื้นที่ชลประทาน การเชื่อมโยงแหล่งน้ำ โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ซึ่ง สทนช. ได้ประสานหน่วยเกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เร่งสำรวจความพร้อมศักยภาพของแหล่งน้ำในจังหวัดใกล้เคียง เพื่อดึงน้ำส่วนเกินจากฝนที่ตกลงมาเก็บไว้ใช้ โดยเฉพาะในพื้นที่การเกษตรให้มากที่สุด ขณะที่แผนระยะกลาง และระยะยาว สทนช. จะเร่งขับเคลื่อนโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการ เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งสำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำชีล่าง-เซบาย-เซบก และลุ่มน้ำมูลตอนล่าง งบประมาณปี 2563 วงเงิน 45 ล้านบาท ตามที่การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีมติอนุมัติเห็นชอบโครงการแล้วเมื่อ 24 ก.ค. 2561” เลขาฯ สนทช. กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising