สถานการณ์การขาดแคลนอาหารที่เรื้อรังของเกาหลีเหนือกำลังเป็นเรื่องน่ากังวลมากยิ่งขึ้น โดยแหล่งข่าวหลายแหล่งระบุในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มว่าจะมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากความอดอยาก
ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า เกาหลีเหนือเข้าสู่จุดที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ทุพภิกขภัย ‘Arduous March’ เมื่อช่วงทศวรรษ 1990 ที่เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารครั้งรุนแรง จนคร่าชีวิตผู้คนหลายแสนคน หรือประมาณ 3-5% ของจำนวนประชากรที่แข็งแรง 20 ล้านคนในเวลานั้น
ข้อมูลการค้า ภาพถ่ายดาวเทียม และการประเมินต่างๆ โดยองค์การสหประชาชาติและหน่วยงานของเกาหลีใต้ล้วนบ่งชี้ว่า ขณะนี้ปริมาณอาหารในเกาหลีเหนือ “ลดลงต่ำกว่าปริมาณที่จำเป็นต่อการตอบสนองความต้องการขั้นต่ำของมนุษย์” ลูคัส เรนจิโฟ-เคลเลอร์ นักวิเคราะห์วิจัยแห่งสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ กล่าว พร้อมทั้งเสริมว่า แม้อาหารจะถูกแจกจ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะนึกไม่ถึงในเกาหลีเหนือที่ชนชั้นสูงและกองทัพได้รับความสำคัญเป็นอันดับแรก แต่ถึงกระนั้นคุณก็อาจจะต้องเสียชีวิตจากความอดอยาก
เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าว โดยโซลเพิ่งประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตจากความอดอยากในบางพื้นที่ของเกาหลีเหนือ แม้การหาหลักฐานมาสนับสนุนข้อกล่าวอ้างเหล่านั้นทำได้ยาก เนื่องจากการแยกตัวโดดเดี่ยวของประเทศ แต่ก็แทบไม่มีใครตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้
นายกรัฐมนตรีฮันด็อกซู กล่าวกับ CNN เมื่อวันพฤหัสบดี ว่า “ข่าวกรองของเราแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์เลวร้ายลง”
ขณะที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรเกาหลีเหนืออยู่ในภาวะขาดอาหารอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด แต่ 3 ปีของการปิดพรมแดนและการแยกตัวโดดเดี่ยวของประเทศกลับยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก
สัญญาณที่บ่งชี้ว่าสถานการณ์วิกฤตเพียงใดก็คือ คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ได้จัดการประชุมพรรคแรงงานเป็นเวลา 4 วันในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงภาคการเกษตรของประเทศ พร้อมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปขั้นพื้นฐานในโครงการเกษตรกรรมและเศรษฐกิจของรัฐ และระบุถึงความจำเป็นที่รัฐจะต้องเสริมการควบคุมภาคการเกษตร
หน่วยงานพัฒนาชนบทของเกาหลีใต้เชื่อว่า การผลิตพืชผลของเกาหลีเหนือในปีที่แล้วต่ำกว่าปีก่อนหน้า 4% จากการประสบปัญหาน้ำท่วมและสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งชี้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเกาหลีเหนือนั้นโทษใครไม่ได้นอกจากรัฐบาล เปียงยางเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวสำหรับปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิดทำให้รัฐบาลเกาหลีเหนือโดดเดี่ยวตัวเองรุนแรงขึ้น โดยมีการสร้างรั้วชั้นที่สองตามแนวชายแดน 300 กิโลเมตรที่ติดกับจีน และจำกัดการค้าบริเวณชายแดน ซึ่งปกติก็มีน้อยมากอยู่แล้ว
ยุนลีนา นักวิจัยอาวุโสของ Human Rights Watch กล่าวว่า “มีการออกคำสั่งยิงทิ้งพวกลักลอบข้ามแดนเมื่อเดือนสิงหาคม 2020 ตลอดจนคำสั่งห้ามการเดินทางและการค้า ซึ่งรวมไปถึงการค้าอย่างเป็นทางการที่ก่อนหน้านี้มีอยู่เพียงเล็กน้อย”
ยิ่งไปกว่านั้นในปีที่ผ่านมาเกาหลีเหนือยังใช้ทรัพยากรอันมีค่ายิ่งไปกับการทดสอบขีปนาวุธจำนวนมากเป็นประวัติการณ์
กระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้ระบุว่า เปียงยางยังคงให้ความสำคัญกับโครงการขีปนาวุธและนิวเคลียร์มากกว่าการหาอาหารมาเลี้ยงประชาชน
รองโฆษกอีฮโยจอง กล่าวในการบรรยายสรุปเมื่อเดือนที่แล้วว่า “ตามรายงานของสถาบันวิจัยในประเทศและต่างประเทศ หากเกาหลีเหนือนำเอางบประมาณที่ใช้กับการยิงขีปนาวุธเมื่อปีที่แล้วมาใช้กับเสบียงอาหาร ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการซื้ออาหารหลายล้านตัน”
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า ต้นตอของปัญหาคือการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดมานานหลายปี และความพยายามของคิมที่จะเพิ่มการควบคุมของรัฐให้มากขึ้นนั้นมีแต่จะทำให้สิ่งต่างๆ แย่ลง
“เกาหลีเหนือจำเป็นต้องเปิดพรมแดน พวกเขาจำเป็นต้องกลับมาเริ่มต้นทำการค้าใหม่ และจำเป็นต้องนำสิ่งเหล่านี้เข้ามาเพื่อปรับปรุงการเกษตร เกาหลีเหนือต้องการอาหารเพื่อเลี้ยงประชาชน แต่ตอนนี้พวกเขาให้ความสำคัญกับการโดดเดี่ยวและการปราบปราม” ยุนกล่าว
พัคจิน รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ ให้สัมภาษณ์กับ CNN เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “หนทางเดียวที่เกาหลีเหนือจะหลุดพ้นจากปัญหานี้ได้คือกลับมาสู่โต๊ะเจรจา ยอมรับข้อเสนอด้านมนุษยธรรมของเรา และเลือกทางเลือกที่ดีกว่าเพื่ออนาคต”
ภาพ: API / Gamma-Rapho via Getty Images
อ้างอิง: