สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิดในเกาหลีเหนือยังเป็นที่จับตามองจากทั่วโลก โดยรายงานล่าสุดในวันนี้ (20 พฤษภาคม) พบว่ามีประชาชนที่เกิดอาการไข้สูงและเป็นไปได้ว่าอาจเสี่ยงติดเชื้อ รวมแล้วมากถึงกว่า 2.2 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 9% จากจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 25.9 ล้านคน ขณะที่พบผู้เสียชีวิตจากโควิดแล้วอย่างน้อย 65 คน ตามรายงานของสำนักข่าวกลางเกาหลี (Korean Central News Agency: KCNA) สื่อทางการเกาหลีเหนือ
ที่ผ่านมา ก่อนจะยอมรับว่าเกิดการระบาดของโควิดภายในประเทศ รัฐบาลเปียงยางใช้เวลากว่า 2 ปีครึ่งในการปฏิเสธข้อเสนอให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนจากนานาชาติ และยืนกรานด้วยความมั่นใจว่า ระบบสังคมนิยมของเกาหลีเหนือสามารถปกป้องประชากรจากไวรัสร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 6 ล้านคนได้
แต่สถานการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะยิ่งเลวร้ายลง ท่ามกลางประชากรจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ส่งผลให้นานาชาติต่างแสดงความกังวลว่า ศักยภาพและโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขของเกาหลีเหนือที่มีอยู่อย่างจำกัดอาจจะทำให้ไม่สามารถรับมือกับ ‘คลื่นยักษ์’ ของโรคระบาดอันร้ายแรงนี้ได้ ในขณะที่รัฐบาลเปียงยางยังคงไม่ยอมเปิดรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ ซึ่งอาจส่งผลให้วิกฤตการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงจนเข้าขั้น ‘หายนะ’
เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการระบาดที่เกิดขึ้น
- เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีเหนือประกาศยอมรับว่า มีประชาชนในกรุงเปียงยางไม่ทราบจำนวนมีผลตรวจเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเป็นบวก โดย คิมจองอึน ผู้นำสูงสุด สั่งการให้ใช้มาตรการฉุกเฉินขั้นสูงสุด รวมถึงการล็อกดาวน์ทั่วประเทศเพื่อรับมือการระบาด
- ขอบเขตการระบาดจนถึงวันนี้ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจน โดยสื่อต่างประเทศรายงานว่า กรุงเปียงยางเป็นศูนย์กลางการระบาด แต่สื่อทางการเกาหลีเหนือยังคงรายงานเรื่องนี้โดยใช้ภาษาที่คลุมเครือ
- สำนักข่าว KCNA รายงานว่า จำนวนประชาชนที่มีอาการ ‘ไข้สูง’ แพร่กระจายอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ยังไม่ระบุว่าสาเหตุของอาการไข้สูงนั้นเกิดจากอะไรและเป็นกลุ่มเสี่ยงโควิดหรือไม่
- ตัวเลขล่าสุดวันนี้ พบประชาชนที่มีไข้สูงเพิ่มอีกกว่า 263,000 คน รวมทั้งหมดมากกว่า 2.2 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับโควิดเพิ่มอีก 2 คน รวม 65 คน
- คิมชินกอน ศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยเกาหลีในกรุงโซลของเกาหลีใต้ ระบุว่าประชาชนเกาหลีเหนือที่มีไข้สูงส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ติดเชื้อโควิด โดยสาเหตุที่รัฐบาลเปียงยางไม่มีการยืนยันจำนวนผู้ติดเชื้อ เนื่องจากชุดตรวจโควิดในประเทศนั้นมีจำกัด
- องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดของโควิด รัฐบาลเกาหลีเหนือได้รายงานผลตรวจเชื้อประชาชนจำนวน 64,200 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้นั้น มีจำนวนการตรวจเชื้อโควิดราว 172 ล้านครั้ง
- มีการตั้งข้อสังเกตว่า การระบาดของโควิดในเกาหลีเหนืออาจมีความเชื่อมโยงกับการจัดแสดงขบวนพาเหรดทางทหารครั้งใหญ่ในเปียงยาง เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งคิมจองอึนได้กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ท่ามกลางประชาชนและทหารหลายหมื่นคน
- โดยเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนอาจระบาดเข้าสู่เกาหลีเหนือผ่านทางพรมแดนทางเหนือที่ติดกับจีน หลังจากที่เปิดให้มีการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างสองประเทศเมื่อเดือนมกราคม
อุปสรรคและความท้าทาย
- ความท้าทายหลักของเกาหลีเหนือต่อสถานการณ์ระบาดของโควิดครั้งนี้ คือประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ในขณะที่ระบบสาธารณสุขของประเทศยังไม่มีความพร้อมที่จะรับมือผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยขาดแคลนทั้งยาและอุปกรณ์การแพทย์
- ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เกาหลีเหนือมีประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ไม่มีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงจำนวนมาก และอัตราการฉีดวัคซีนของทางการตามที่มีรายงานคือ 0 อีกทั้งยังไม่มียารักษาโควิด
- ภาวะขาดแคลนดังกล่าวในขณะที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภายนอก ทำให้เป็นไปได้ที่วิกฤตโควิดในเกาหลีเหนืออาจจบลงโดยมีอัตราผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด
- ดร.คี พัค ผู้อำนวยการโครงการนโยบายสุขภาพเกาหลีของโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับแพทย์เกาหลีเหนือและเดินทางไปเกาหลีเหนือมากกว่า 20 ครั้ง ให้ความเห็นถึงความไม่พร้อมในมาตรการทางด้านการแพทย์ของเกาหลีเหนือ เนื่องจากความสามารถในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีจำกัด และยังขาดแคลนอุปกรณ์จำเป็นสำหรับการรักษา ทั้งออกซิเจน, เครื่องช่วยหายใจ, ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และยาปฏิชีวนะ
- เขามองว่าหนึ่งในสิ่งที่สามารถช่วยรักษาผู้ป่วยโควิดได้อย่างเห็นผล คือยาต้านไวรัสที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ เช่น Paxlovid ที่มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 และไม่ต้องใช้วิธีการจัดเก็บหรือการขนส่งแบบพิเศษ ซึ่งเขามองว่านานาชาติควรเร่งส่งยา Paxlovid และอุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้ให้เกาหลีเหนือโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
- นอกจากนี้ ดร.คียังเรียกร้องให้นานาชาติเร่งส่งชุดตรวจเชื้อแก่เกาหลีเหนือ เนื่องจากศักยภาพในการตรวจเชื้อของเกาหลีเหนือนั้นอยู่ในระดับที่ย่ำแย่
- โดยรายงานสถานการณ์จากสำนักงานภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ WHO ระบุว่า เกาหลีเหนือมีการตรวจเชื้อโควิดให้ประชาชนในแต่ละสัปดาห์เพียงประมาณ 1,500 คน ซึ่งหากตัวเลขดังกล่าวคือศักยภาพสูงสุด ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะตรวจเชื้อผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีไข้สูงกว่า 2.2 ล้านคน โดยการตรวจเชื้อนั้นยังเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคในกรณีที่จะให้ยา Paxlovid แก่ผู้ป่วยโควิด
- จองแจฮุน ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์ป้องกันของมหาวิทยาลัยกาชอนในเกาหลีใต้ เตือนผลกระทบจากภาวะขาดแคลนยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในเกาหลีเหนือว่าอาจส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจากเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มสูงถึง 1% ซึ่งมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ที่มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.1%
- ขณะที่ อันคยองซู หัวหน้าขององค์กร DPRKHEALTH.ORG ซึ่งเป็นเว็บไซต์ติดตามปัญหาสุขภาพในเกาหลีเหนือ ระบุว่า ที่ผ่านมาชาวเกาหลีเหนือจำนวนมากพยายามปรับตัวให้ใช้ชีวิตกับระบบการแพทย์ที่มีปัญหาและซื้อยากินด้วยตัวเอง
เกาหลีเหนือรับมือยังไง
- นับตั้งแต่พบการระบาด รัฐบาลเกาหลีเหนือได้สั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศ โดยแยกกักตัวประชาชนในหน่วยงานและชุมชนทั้งหมด พร้อมส่งกำลังทหารเร่งแจกจ่ายยาให้ร้านขายยาต่างๆ ในเปียงยาง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครู และนักศึกษาแพทย์ รวมกว่า 11,000 คน เพื่อช่วยในการติดตาม ตรวจสอบ และรักษาประชาชนที่มีไข้สูงทั่วประเทศ
- ผู้เชี่ยวชาญมองว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมา เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลเปียงยางอาจพยายามดำเนินนโยบายเพื่อ ‘ใช้ชีวิตอยู่กับไวรัส’ ให้ได้ในระดับหนึ่ง
- โดยคิมจองอึนยังคงสั่งให้เจ้าหน้าที่เดินหน้าโครงการก่อสร้าง เกษตรกรรม และโครงการอื่นๆ ของรัฐตามกำหนดการเดิม ซึ่งในช่วงบ่ายของวันที่ประกาศข่าวการระบาดของโควิด รัฐบาลเปียงยางยังเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธ 3 ลูก และยืนยันว่าจะดำเนินการทดสอบอาวุธต่อไป
- ฮงมิน นักวิเคราะห์จากสถาบันเพื่อการรวมชาติแห่งเกาหลีในกรุงโซล กล่าวว่า การรับมือสถานการณ์ระบาดของทางการเกาหลีเหนือ ส่วนใหญ่จะเน้นการแยกกักตัวบุคคลที่มีอาการในค่ายพักพิง เนื่องจากไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะบังคับใช้การล็อกดาวน์แบบปิดเมืองเช่นเดียวกับจีน อีกทั้งรัฐบาลเปียงยางยังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศที่เปราะบางอยู่แล้ว
โอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือจากต่างชาติ?
- สถานการณ์ระบาดที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงอย่างน่ากลัวนี้ ทำให้หลายฝ่ายมีความหวังว่ารัฐบาลเกาหลีเหนืออาจยอมรับความช่วยเหลือจากภายนอกประเทศ ทั้งการจัดส่งวัคซีน ยารักษาและยาต้านไวรัส ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ
- โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่า เกาหลีเหนือจะไม่เอ่ยปากขอความช่วยเหลือแบบตรงๆ แต่จะดูก่อนว่าชาติที่เสนอความช่วยเหลือ เช่น เกาหลีใต้หรือสหรัฐฯ นั้น มีท่าทีเช่นไร
- ขณะที่เป้าหมายสำคัญสำหรับการรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ คือการมีวัคซีนที่เพียงพอสำหรับฉีดให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ส่วนการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั้งประเทศนั้นดูจะเป็นเรื่องที่สายเกินไป
- อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองในอีกแง่ว่า ความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือที่ยังคงพยายามผลักดันการพัฒนาโครงการด้านเศรษฐกิจและการทหาร แม้ว่าจะเผชิญการระบาดของโควิดที่รุนแรง แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลเปียงยางนั้นเตรียมใจที่จะยอมรับความสูญเสียจากวิกฤตโรคระบาดนี้ได้ในระดับหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ มากกว่าที่จะยอมรับวัคซีนหรือความช่วยเหลืออื่นๆ จากต่างชาติ
ภาพ: KIM WON JIN / AFP
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2022/05/19/opinions/north-korea-covid-19-outbreak-deaths-park/index.html
- https://apnews.com/article/covid-health-seoul-south-korea-north-8d68bcdc4ee1669185ffb8fa2f4c2460
- https://www.pbs.org/newshour/world/equipped-with-few-tools-north-korea-struggles-to-fight-covid-outbreak
- https://wusfnews.wusf.usf.edu/2022-05-19/heres-what-we-know-about-north-koreas-covid-outbreak-and-its-ability-to-handle-it
- https://www.newsobserver.com/news/article261546037.html