×

13 สิ่งที่บ้านท่านผู้นำมี และเราสัมผัสได้จากการไปเที่ยว ‘เกาหลีเหนือ’

07.10.2019
  • LOADING...
เกาหลีเหนือ

เมื่อปลายปี 2016 มีคนยื่นตั๋วเข้าประเทศเกาหลีเหนือแบบไม่ต้องยุ่งยากชีวิต อย่างที่รู้กันว่าเกาหลีเหนือไม่ใช่ประเทศเปิดขนาดที่ว่าซื้อตั๋วเครื่องบินแล้วเข้าประเทศได้เลย นอกจากต้องมีบินสองสตอปแล้ว (ไม่มีบินตรง) ยังต้องซื้อบริการทัวร์ที่คุณคิม (คิมจองอึน – ท่านผู้นำเกาหลีเหนือ) อนุญาตให้เข้าประเทศอีกด้วย ไม่นับสิ่งจิปาถะอื่นๆ อีกมากมายทั้งก่อนและหลังเข้าประเทศ แต่เมื่อโอกาสลอยมาถึงหน้าทำไมต้องละทิ้ง และนี่คือ 13 สิ่งที่เราสัมผัสได้หลังจากไปเยือนเกาหลีเหนือ

 

เกาหลีเหนือ

 

1.

สายการบินที่ทำการบินเข้าสู่เขตน่านฟ้าของเกาหลีเหนือในปัจจุบันคือสายการบิน Air China สายการบินประจำชาติจีน และสายการบิน Air Koryo สายการบินประจำชาติเกาหลีเหนือ ซึ่งผู้โดยสารจำต้องต่อเครื่องที่สนามบินปักกิ่ง และใช้เวลาเดินทางจากปักกิ่งไปเปียงยางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ในอดีต Air Koryo เคยมีเส้นทางการบินไปเกาหลีใต้และประเทศไทยด้วย ปัจจุบันเหลือเส้นทางการบินตรงและมีไฟลต์สม่ำเสมอเพียงเส้นทางจากปักกิ่ง (จีน) เสิ่นหยาง (จีน) และวลาดิวอสตอค (รัสเซีย) เท่านั้น 

 

เกาหลีเหนือ

 

2.

เกาหลีเหนือมีชื่อเต็มๆ ว่า ‘สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี’ หรือ ‘Democratic People’s Republic of Korea’ เรียกสั้นๆ ว่า DPRK เมืองหลวงคือพยองยัง (ออกเสียงตามภาษาเกาหลี) หรือเปียงยาง ตามชื่อที่คนไทยนิยม ไกด์เกาหลีที่พูดภาษาไทยได้บอกว่า ผู้คนที่นี่เรียกเกาหลีเหนือว่า DPRK เพราะเกาหลีมีเพียงหนึ่งเดียวคือ Korea ไม่มีเหนือ ไม่มีใต้ เป็นคำที่เราสามารถเห็นได้ตามป้ายโฆษณาในกรุงเปียงยางพร้อมการชูนิ้วชี้หนึ่งนิ้ว

 

เกาหลีเหนือ

 

3.

ค่าเงินของเกาหลีเหนือไม่มีในตลาดโลก หน่วยเงินวอนเกาหลีเหนือคือ KPW นักท่องเที่ยวที่ไปจะต้องนำเงินหยวน เงินยูโร และดอลลาร์สหรัฐไปแลก นักท่องเที่ยวไม่สามารถซื้อของตามถนนได้ และพ่อค้าแม่ขายก็รู้ดีว่าไม่ควรทำ นักท่องเที่ยวสามารถใช้จ่ายเงินได้เฉพาะสถานที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น เช่น ร้านค้าในโรงแรม ร้านขายของที่ระลึกตามสถานที่ท่องเที่ยว (อัตราแลกเปลี่ยนจาก www.xe.com ระบุว่า 1 วอนเกาหลีเหนือมีค่าประมาณ 0.00111 ดอลลาร์สหรัฐ)

 

เกาหลีเหนือ

 

4.

ประชาชนที่นี่ได้รับที่อยู่อาศัย รวมถึงปัจจัย 4 และการศึกษาฟรี ซึ่งทั้งหมดถือเป็นสวัสดิการของรัฐที่ประชาชนสมควรได้รับ อาคารบ้านเรือนที่นี่มีหน้าตาเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว ตั้งเป็นบล็อกเรียงต่อกันไป ต่างกันที่สีห่อหุ้มตึก บางก็เป็นสีพาสเทล บางก็เป็นสีฉูดฉาด หรือไม่ก็สีทึมๆ ชวนให้หมองหม่น ส่วนร้านอาหารขายกันแบบเงียบๆ ไม่มีเมนูด้านนอกเชื้อเชิญ ไม่มีพนักงานมายืนเรียกลูกค้า

 

เกาหลีเหนือ

 

5.

รถไฟใต้ดินเกาหลีเหนือออกแบบสวยมาก ลักษณะคล้ายๆ รถไฟใต้ดินของประเทศรัสเซีย มีภาพเขียนบนเพดาน ผนัง หรือแม้กระทั่งโคมไฟระย้า บริเวณชานชาลามีข่าวจากหนังสือพิมพ์เพื่อให้ประชาชนได้อ่านระหว่างยืนรอรถด้วย การคมนาคมในกรุงเปียงยางยังมีรถราง รถแท็กซี่ รถบัส รถจักรยาน ที่นี่มีเลนจักรยานด้วย และคนส่วนมากเดินกันเก่งสุดๆ เดินเก่งเหมือนคนเกาหลีใต้เลย เวลาข้ามถนนต้องข้ามทางข้ามหรืออุโมงค์ข้ามเท่านั้น เพราะตำรวจจราจรมีทุกแยก ความน่ารักของตำรวจจราจรก็คือ พวกเขาจะยืนนิ่งๆ อยู่ในวงกลมของตัวเองโดยไม่ขยับตัวไปไหน และชุดของตำรวจราจรจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาลด้วย 

 

เกาหลีเหนือ

 

6.

ไกด์บอกกับเราว่า ภาษาเกาหลีเหนือจะมีความดั้งเดิมมากกว่าเกาหลีใต้ และบางคำแทบจะไม่ได้ยินแล้วในเกาหลีใต้ เช่น คำว่า มาก เกาหลีใต้จะใช้คำว่า 너무 (นอมู) แต่เกาหลีเหนือหากเป็นภาษาพูดจะใช้ว่า 굉장히 (เคงจังงี) หากเป็นภาษาเขียนก็จะใช้ 매우 (แมอู) นอกจากนี้พวกอาหารน้องไกด์ก็เคลมว่าของตนเองเป็นแบบดั้งเดิมกว่าเกาหลีใต้เช่นกัน ฉันว่าหน้าตาอาหารมีความต่างกันมากเหมือนหนังคนละม้วน ของเกาหลีเหนือจะไร้สีสัน ซีดเซียวเหมือนอาหารคนป่วย ในขณะที่เกาหลีใต้สดใสคัลเลอร์ฟูลมาก จากที่มีโอกาสลองลิ้มทั้งสองฝั่งนั้น เราว่าอร่อยกันคนละแบบ 

 

เกาหลีเหนือ

 

7.

ก่อนหน้านี้เกาหลีเหนือไม่ใช้ไทม์โซนเดียวกับเกาหลีใต้แม้จะอยู่ในเส้นลองจิจูดเดียวกันก็ตาม ซึ่งเวลาของเกาหลีเหนือจะช้ากว่าเกาหลีใต้ 30 นาที หรือเร็วกว่าประเทศไทย 1.30 ชั่วโมง ในขณะที่เกาหลีใต้เร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมง แต่เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 เกาหลีเหนือประกาศปรับใช้เวลาเดียวกับเกาหลีใต้ นับเป็นก้าวแรกของจุดเริ่มต้นในการรวมชาติ ส่วนเรื่องการนับปีนั้น เกาหลีเหนือใช้ปีตามปฏิทินของตัวเองว่า จูเช่ (Juche) โดยปีจูเช่ที่ 1 เริ่มนับจากปีเกิดของ คิมอิลซอง (คนปู่) ซึ่งเป็นคนสร้างประเทศ ปัจจุบันเกาหลีเหนืออยู่ในปีจูเช่ที่ 108 (ค.ศ. 2019)

 

เกาหลีเหนือ

 

8.

แม้เกาหลีเหนือจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเอากล้องถ่ายรูป โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์ดิจิทัลอื่นๆ เข้าประเทศได้แล้วก็ตาม แต่ก็มีบางสถานที่และคนบางกลุ่มที่เราไม่สามารถถ่ายรูปได้ เช่น พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งไกด์จะแจ้งให้เราทราบก่อนการเข้าชม การแสดงกายกรรมเปียงยาง การแสดงอารีรัง และที่สำคัญ ‘ทหาร’ นักท่องเที่ยวไม่อนุญาตให้ออกจากบริเวณโรงแรมโดยไร้เงาไกด์อย่างเด็ดขาด หากอยากชมเมืองแนะนำให้ไปเจรจากับไกด์ได้ 

 

เกาหลีเหนือ

 

9.

ไกด์เกาหลีเหนือที่พูดไทยได้บอกว่า ถ้าผู้หญิงสวยต้องเกาหลีเหนือ ถ้าผู้ชายหล่อต้องเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นเรื่องจริงหรือไม่นั้นต้องพิสูจน์กันเอง แต่ที่แน่ๆ ที่นี่มีเกิร์ลกรุ๊ปเหมือนกันกับที่ฝั่งใต้ ชื่อวงคือ Moranbong Band ซึ่งสมาชิกในวงนั้น คิมจองอึนเป็นผู้คัดเลือกเองด้วย และเพลงประจำวงเป็นเพลงปลุกใจเพื่อให้เกิดความรักชาติ และที่สำคัญคือรักผู้นำ 

 

เกาหลีเหนือ

 

10.

หนังสือที่วางขายในร้านหนังสือที่โรงแรม Pyongyang Koryo Hotel (ซึ่งเป็นโรงแรมที่เราเข้าพัก) มีแต่หนังสือที่เกี่ยวข้องกับผู้นำทั้ง 3 คน ได้แก่ คิมอิลซอง (คนปู่) คิมจองอิล (คนพ่อ) และคิมจองอึน (คนลูก ซึ่งเป็นผู้นำคนปัจจุบัน) ส่วนที่เหลือเป็นหนังสือเกี่ยวกับนิทานสอนเด็ก หนังสือภาษา สมุดแสตมป์คอลเล็กชันต่างๆ แล้วแต่วาระ และหนังสือภาพสถานที่ท่องเที่ยว ราคาของหนังสืออยู่ที่ 23 หยวนขึ้นไป (ประมาณ 90-100 บาท) ซึ่งถือว่าไม่แพงมากนัก และมีหนังสือพิมพ์ The Pyongyang Times ฉบับภาษาอังกฤษวางขายทุกวันเสาร์ จำหน่ายในราคา 50 บาทไทย ไกด์บอกอีกเช่นกันว่า หากหนังสือพิมพ์ฉบับใดมีหน้าท่านผู้นำ ห้ามพับหน้าหรือตัวเด็ดขาด 

 

เกาหลีเหนือ

 

11.

ซูเปอร์มาร์เก็ตของที่นี่มีทุกอย่างเหมือนที่เกาหลีใต้ ไม่ว่าเป็นโคชูจัง (ซอสพริกเกาหลี) ทเวนจัง (ซอสเต้าเจี้ยว) ขนมหวาน น้ำอัดลม ฯลฯ ไอศกรีมรสกล้วยคือของหวานขึ้นชื่อที่มีเกือบทุกมื้ออาหารที่โรงแรม ถ้ามองไปตามถนนหนทางของกรุงเปียงยางแล้ว เราจะไม่เห็นร้านค้าข้างทาง แผงลอย หาบเร่ ที่นี่มีการจัดระเบียบ โดยร้านค้าจะมีลักษณะเป็นตู้สี่เหลี่ยมตั้งวางเป็นระยะๆ หรือบางที่ก็วางเรียงกันเป็นแนวยาว 

 

เกาหลีเหนือ

 

12.

แฟชั่นเกาหลีเหนือสไตล์ ชุดแบบคิมจองอิล (คนพ่อ) ยังคงได้รับความนิยมในหมู่มวลผู้ชายเกาหลี ผู้หญิงนิยมสวมรองเท้าส้นสูงพร้อมกับถือร่ม ซึ่งร่มของแต่ละคนนั้นไม่ธรรมดา บางคันฉลุลายวิจิตรเวอร์วัง บางคันลูกไม้มาเต็ม ไกด์บอกว่าร่มที่เห็นนี่ราคาไม่ใช่ถูกๆ นะ แต่จะให้เทียบเป็นค่าเงินก็ไม่ได้อีก เพราะมันไม่มีจริงในตลาดโลก ส่วนชุดประจำชาติเกาหลีเหนือเรียกว่า โจโกรี ในขณะที่เกาหลีใต้เรียกว่า ฮันบก ความแตกต่างอยู่ที่สีสันที่ฉูดฉาดกว่า สดใสกว่า และลวดลายมีรายละเอียดมากกว่าของเกาหลีใต้ 

 

เกาหลีเหนือ

 

 

13.

วัยรุ่นที่นี่ก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ สังสรรค์ เล่นกีฬา เรียนหนังสือ มีแฟน ทำงาน ถ้าเป็นผู้ชาย แน่นอนว่าต้องเป็นทหารรับใช้ชาติ แต่งงาน มีลูก ชรา แล้วก็นอนหลับอย่างสงบ เรื่องหนึ่งที่เราสงสัย เพราะเห็นทั้งจากการไปเกาหลีใต้และจากซีรีส์ต่างๆ การจับมือกันระหว่างคนสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันนั้นยังคงเป็นปริศนาต่อไปเมื่อเราถามไกด์นักศึกษาว่า ทำไมถึงจับมือกันแบบนั้น “ก็เป็นเพื่อนสนิทไง” เราถามกลับ “ไม่ใช่ว่าเขารู้สึกดีๆ ต่อกันเหรอ หรืออะไรทำนองแบบรักเพศเดียวกันน่ะ” 

 

“ไม่มีคอนเซปต์แบบนี้ในประเทศเรานะ” 

 

จบ

 

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising