×

นักวิทย์หวั่นเหตุท่อส่งก๊าซ Nord Stream รั่ว ก่ออันตรายต่อสภาพภูมิอากาศ หลังปล่อยก๊าซมีเทนออกมาสูงถึง 3 แสนเมตริกตัน

02.10.2022
  • LOADING...
Nord Stream

นักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาแสดงความวิตกกังวลว่า เหตุท่อส่งก๊าซ Nord Stream ใต้ทะเลบอลติกรั่วนั้นจะสร้างความเสี่ยงครั้งใหญ่ให้กับสภาพภูมิอากาศโลก เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดก๊าซมีเทนรั่วไหลออกมาในปริมาณมหาศาล ขณะที่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวว่า นี่อาจเป็นการปล่อยมีเทนภายในครั้งเดียวที่สูงสุดเท่าที่โลกเคยมีมา

 

เยอรมนีประมาณการว่า มีก๊าซมีเทนกว่า 300,000 เมตริกตันที่ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศหลังจากเกิดเหตุท่อส่งก๊าซรั่ว โดยมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้โลกร้อนได้มากที่สุดอันดับ 2 รองมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะเดียวกัน การรั่วไหลของก๊าซธรรมชาติยังเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำในบริเวณนั้นด้วย

 

ด้านนักวิจัยจาก GHGSat ได้ใช้ดาวเทียมตรวจสอบการรั่วไหลของก๊าซมีเทน โดยประเมินว่าอัตราการรั่วไหลจากรอยรั่ว 1 ใน 4 จุดอยู่ที่ 22,920 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งสูงเท่ากับการเผาถ่านหินประมาณ 286,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมงเลยทีเดียว ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากและสถานการณ์ก็น่าวิตก เพราะเหตุการณ์นี้ก็ได้ดำเนินต่อเนื่องมาหลายวันแล้ว แม้จะมีรายงานออกมาวานนี้ (1 ตุลาคม) ว่าการรั่วไหลของมีเทนดูเหมือนจะเบาบางลงแล้วก็ตาม

 

แมนเฟรดี คาลตาจิโรเน หัวหน้าหน่วยสังเกตการณ์การปล่อยก๊าซมีเทนระหว่างประเทศ (IMEO) ของ UNEP เปิดเผยว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นนี้แย่มาก นี่น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การปล่อยก๊าซที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา” อีกทั้งยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โลกกำลังต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย

 

ขณะนี้ทางการเดนมาร์กและสวีเดนกำลังสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าเกิดจากการระเบิดใต้ทะเล แต่รายละเอียดเกี่ยวกับสาเหตุของการระเบิดนั้นยังไม่ชัดเจน โดยนายกรัฐมนตรีของทั้งเดนมาร์กและสวีเดนออกมาแถลงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (27 กันยายน) ว่าการรั่วไหลน่าจะเป็นผลมาจากการกระทำโดยเจตนา ไม่ใช่อุบัติเหตุ และหน่วยงานความมั่นคงของสวีเดนระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (28 กันยายน) ว่าไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ที่ว่ามีมหาอำนาจจากต่างประเทศอยู่เบื้องหลัง

 

ภาพ: Danish Defence / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising