วันนี้ (4 พฤษภาคม) นรวิชญ์ หล้าแหล่ง ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ ศุภชัย ใจสมุทร ในฐานะนายทะเบียนของพรรคภูมิใจไทย ออกมาแถลงข่าวว่า ผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทยได้มีการฟ้อง เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย กรณีปราศรัยที่จังหวัดนครพนม ว่านโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่นำเสนอต่อพี่น้องประชาชนในการหาเสียงเลือกตั้งนั้น อยู่ในวิสัยที่ประชาชนคนทั่วไปสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยสุจริต และสามารถแสดงความคิดเห็น ทั้งเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้น ไม่เข้าข่ายการกระทำผิดต่อกฎหมายใดๆ อยู่แล้ว
ทั้งนี้ การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายกัญชาเสรีนั้น ได้มีคำวินิจฉัยของศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ พ.1650/2566 ระหว่าง พรรคภูมิใจไทย กับ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ว่า “…การกล่าวหรือแสดงความคิดเห็นของจำเลยในเรื่องของกัญชา ทำให้ประชาชนได้รับทราบถึงประโยชน์และโทษของกัญชา จึงถือได้ว่าเป็นประโยชน์แก่สุขภาพของประชาชนเป็นส่วนมาก…”
ฉะนั้น การที่เศรษฐาในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย และในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ได้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตไม่เห็นด้วยกับนโยบายกัญชาเสรี แต่เห็นด้วยในนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ จึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต และเป็นการให้ความรู้แก่พี่น้องประชาชน และยังเป็นการแสดงจุดยืนของ เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ว่า “หากได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะไม่มีนโยบายกัญชาเสรีอย่างแน่นอน จะมีแต่เพียงนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์เท่านั้น” ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ถือว่าเป็นการใส่ร้ายพรรคภูมิใจไทย จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 (5)
ส่วนกรณีที่ว่า “…หากเลือกพรรคภูมิใจไทยจะได้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกรอบ…” นั้น นรวิชญ์กล่าวว่า ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และสนับสนุนให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ก่อนเลือกตั้ง อนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ประกาศว่า “…ไม่ยอมรับให้คน 250 คนที่ไม่ได้มาจากพี่น้องประชาชนมาเลือกนายกรัฐมนตรีของพวกผม…” แต่ท้ายที่สุดในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อนุทินกลับโหวตให้ พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ตามคลิป Yes or No ของ #TheStandardNews ในการตอบคำถาม Yes หรือ No ในประเด็นคำถามว่า “แก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ว. เลือกนายกฯ” อนุทินก็ตอบว่า “NO” นั่นหมายความว่าอนุทิน ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะให้ตัดอำนาจ ส.ว. 250 คนในการเลือกนายกรัฐมนตรีออก และนอกจากนี้ ยังตอบคำถามเกี่ยวกับ “คุณประยุทธ์” ว่า “GOOD” จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เศรษฐาจะเข้าใจ และเชื่อโดยสุจริตว่าหาก พล.อ. ประยุทธ์ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคภูมิใจไทยก็ยังคงสนับสนุนให้ พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น กรณีการปราศรัยของเศรษฐาที่จังหวัดนครพนม ที่มาจากความเชื่อโดยสุจริต ไม่เป็นการใส่ร้ายพรรคภูมิใจไทย จึงไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 (5) แต่อย่างใด
นรวิชญ์ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า การที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับเศรษฐานั้น จะส่อเป็นฟ้องเท็จ อาจเข้าข่ายเป็นการใส่ร้ายเศรษฐาในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 (5) เสียเอง อีกทั้งการที่พรรคภูมิใจไทยรับรู้ รับทราบถึงการที่ผู้สมัคร ส.ส. ในพรรคของตนไปฟ้องเศรษฐาแล้ว แต่ยังกลับปล่อยปละละเลย ไม่ห้ามปราม อาจถือได้ว่าพรรคภูมิใจไทยไม่ควบคุมสมาชิกพรรคให้ดำเนินการด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม ซึ่งอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 101 ที่อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และให้เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคได้
“จึงขอให้พรรคภูมิใจไทยรีบสั่งการให้ผู้สมัคร ส.ส. พรรคของตน ถอนฟ้องคดีเศรษฐาเสียโดยเร็ว” นรวิชญ์กล่าวในที่สุด