×

NOPE (2022) ‘เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม’ ราคาที่ต้องจ่ายของการจ้องมอง

18.08.2022
  • LOADING...
NOPE (2022)

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • NOPE ของ Jordan Peele (Get Out และ Us) ชวนคนดูสำรวจภาพยนตร์ในสถานะของการเป็น Cinema of Attraction หรือภาพยนตร์ (หรือภาพเคลื่อนไหวอื่นๆ) ที่ทำทุกอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนดู และผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่พวกเราเตลิดเปิดเปิง กระนั้นก็ตาม ความแยบยลของ NOPE อยู่ตรงที่ผู้ชมจะมองหนังในมิติของการเป็นอุปมาอุปไมย (Metaphor) ก็ได้ เป็นปริศนาธรรม (Riddle) ก็ได้ เป็นหนังวิพากษ์วิจารณ์สังคม (Social Commentary) ก็ได้ หรือเอาจริงๆ เป็นแค่หนังนิยายวิทยาศาสตร์เขย่าขวัญ ที่ไม่ต้องสืบหาความหมายเลยก็ได้อีกเช่นกัน
  • ใครที่เป็นแฟนหนังของ Steven Spielberg คงสังเกตได้ว่า หนังของ Jordan Peele ได้รับอิทธิพลจากงานคลาสสิกอย่างน้อยสามเรื่อง ที่แน่ๆ ก็คือ Jaws (1975) ที่เปลี่ยนจากการไล่ล่าฉลามเป็นไล่ล่าเอเลี่ยน และเปลี่ยนจากท้องทะเลสีครามเป็นท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ไพศาล อีกเรื่องก็คือ Close Encounters of the Third Kind (1977) ซึ่งว่าไปแล้ว หนังทั้งสองเรื่องก็พูดถึงการพบเจอวัตถุประหลาดในระยะประชิดเหมือนกัน อีกทั้งพิษสงของสิ่งแปลกปลอมจากนอกโลกก็ยังคล้ายคลึงกัน อันได้แก่การที่พวกมันทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ทำงาน ส่วนเรื่องที่สามก็คือ Raiders of the Lost Ark (1981) หรืออีกนัยหนึ่ง ฉากไคลแมกซ์ของหนังเรื่องนั้นซึ่งว่าด้วยการไม่จ้องมอง ก็น่าจะส่งมอบแรงบันดาลใจไม่มากก็น้อยต่อฉากไคลแมกซ์ของ NOPE ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

 

*หมายเหตุ: ข้อเขียนเปิดเผยเนื้อหาสำคัญตามสมควร*

 

หนึ่งในเรื่องเล่าอันแสนโด่งดังที่โยงอยู่กับการถือกำเนิดของภาพยนตร์ และถูกบอกต่อๆ กันมายาวนาน ได้แก่เหตุการณ์เมื่อครั้งพี่น้องลูมิแอร์นำภาพเคลื่อนไหวไปฉายขึ้นจอ ณ กรุงปารีส และหนึ่งในนั้นก็คือหนังที่บันทึกภาพของขบวนรถไฟวิ่งมาเทียบชานชาลา

 

ว่ากันว่าในทันทีที่ผู้ชมแถวหน้าเห็นหัวรถจักรเคลื่อนเข้ามา พวกเขาก็พากันส่งเสียงร้องและวิ่งหลบไปที่ด้านหลังห้องฉายด้วยความตื่นตระหนกและหวาดกลัว

 

เรื่องเล่าดังกล่าวเจือปนข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหนก็ไม่มีใครบอกได้ แต่อย่างน้อยนี่เป็นกรณีตัวอย่างที่บอกให้รู้ว่า ส่วนประกอบที่สำคัญมากๆ ของภาพยนตร์ได้แก่สิ่งที่เรียกว่า Spectacle หรือการสร้างความตื่นตาตื่นใจ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือหนึ่งในเงื่อนไขปัจจัยหลักที่นำพาให้ภาพยนตร์ไม่ได้เป็น ‘ประดิษฐกรรมที่ไร้อนาคต’ อย่างที่พวกลูมิแอร์เคยทำนายไว้ และมันอยู่ยงคงกระพันจนถึงทุกวันนี้

 

แต่ประเด็นปัญหาก็คือ สิ่งที่เรียกว่า Spectacle มักจะอายุสั้น และหลังจากที่ใครๆ เล่นซ้ำสักพัก คนดูก็ไม่ตื่นเต้นกับภาพรถไฟเคลื่อนเข้ามาอีกแล้ว เช่นเดียวกับทุกวันนี้ที่คนดูก็ไม่อ้าปากค้างเวลาเห็นไดโนเสาร์ตัวเป็นๆ โลดแล่นบนจอ และผู้สร้างต้องแสวงหามายากลทางด้านภาพอื่นๆ มาล่อหลอก ซึ่งว่าไปแล้ว การเสาะหาโน่นนี่นั่นมาปรนเปรอสายตาของคนดูก็กลายเป็นมหกรรมที่ใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น เพราะภาพเหล่านี้คือ ‘Money Shot’ หรือช็อตทำเงินทำทอง 

 

ข้อสำคัญ Spectacle หรือสิ่งที่เรียกร้องการมองเห็นในปัจจุบันไม่ได้อยู่แต่เฉพาะในโรงหนังเท่านั้น มันปรากฏในทุกแพลตฟอร์มที่รองรับภาพเคลื่อนไหว ขณะที่ในทางกลับกัน ใช่หรือไม่ว่าคนดูอย่างเราๆ ท่านๆ อยู่ในยุคสมัยที่ภาพเหล่านั้นไม่เพียงแค่ดึงดูดหรือล่อหลอก แต่หลายครั้งมัน ‘กลืนกิน’ พวกเราอย่างไม่ทันตั้งตัว และกว่าที่จะฉุกคิดขึ้นมาได้ วันเวลาในชีวิตก็อันตรธานไปอย่างไร้ร่องรอย นั่นยังไม่ต้องพินิจพิเคราะห์ว่าทั้งหลายท้ังปวงที่พวกเราบริโภคเข้าไป มันคือสารอาหารหรือสิ่งปฏิกูลทางสายตากันแน่

 

 

ในแง่หนึ่ง หนังเรื่อง NOPE ของ Jordan Peele (จอร์แดน พีล) (Get Out และ Us) ชวนคนดูสำรวจภาพยนตร์ในสถานะของการเป็น Cinema of Attraction หรือภาพยนตร์ (หรือภาพเคลื่อนไหวอื่นๆ) ที่ทำทุกอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนดู และผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่พวกเราเตลิดเปิดเปิง กระนั้นก็ตาม ความแยบยลของ NOPE อยู่ตรงที่ผู้ชมจะมองหนังในมิติของการเป็นอุปมาอุปไมย (Metaphor) ก็ได้ เป็นปริศนาธรรม (Riddle) ก็ได้ เป็นหนังวิพากษ์วิจารณ์สังคม (Social Commentary) ก็ได้ หรือเอาจริงๆ เป็นแค่หนังนิยายวิทยาศาสตร์เขย่าขวัญ ที่ไม่ต้องสืบหาความหมายเลยก็ได้อีกเช่นกัน

 

ปมเรื่องหลักของ NOPE เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์อันแสนแปลกประหลาด นั่นคือจู่ๆ เหรียญห้าเซ็นต์ก็ตกจากก้อนเมฆเบื้องบนใส่เบ้าตาของ Otis Haywood Sr. (Keith David) เจ้าของฟาร์มเลี้ยงม้าที่ใช้ถ่ายทำหนังฮอลลีวูด เจ้าตัวทนพิษบาดแผลไม่ไหวและเสียชีวิต หกเดือนผ่านไป Otis Jr. หรือ OJ. (Daniel Kaluuya) ลูกชายผู้ซึ่งต้องสืบทอดกิจการต่อจากพ่อและกำลังประสบภาวะยอบแยบทางการเงิน เพราะเขาไม่มีทักษะด้านธุรกิจแม้แต่น้อย ได้สังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่างบนฟากฟ้ายามค่ำคืนที่ดูคล้ายกับ UFO และ OJ. เชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้พ่อสิ้นลมมาจากบรรดาข้าวของที่ร่วงหล่นจากวัตถุประหลาดนี้ (ซึ่งมีทั้งเศษเหรียญ กุญแจบ้าน และอีกจิปาถะ) และเป็น Emerald หรือ Eme (Keke Palmer) น้องสาวบุคลิกฉูดฉาดที่เสนอไอเดียว่าพวกเขาน่าจะหาทางสร้าง ‘ชื่อเสียงและรายได้’ จากการบันทึกภาพจานผีจากนอกโลกนี้ 

 

เนื้อหาถัดจากนี้ก็ ‘ดูเหมือน’ จะซื่อๆ ง่ายๆ นั่นคือการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องไม้เครื่องมือและบุคลากรเพื่อตามล่าช็อตเด็ด ซึ่งทั้งสองเชื่อว่าจะช่วยให้พวกเขาลืมตาอ้าปากจากความฝืดเคือง 

 

 

ใครที่เป็นแฟนหนังของ Steven Spielberg คงสังเกตได้ว่า หนังของ Jordan Peele ได้รับอิทธิพลจากงานคลาสสิกอย่างน้อยสามเรื่อง ที่แน่ๆ ก็คือ Jaws (1975) ที่เปลี่ยนจากการไล่ล่าฉลามเป็นไล่ล่าเอเลี่ยน และเปลี่ยนจากท้องทะเลสีครามเป็นท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ไพศาล อีกเรื่องก็คือ Close Encounters of the Third Kind (1977) ซึ่งว่าไปแล้ว หนังทั้งสองเรื่องก็พูดถึงการพบเจอวัตถุประหลาดในระยะประชิดเหมือนกัน อีกทั้งพิษสงของสิ่งแปลกปลอมจากนอกโลกก็ยังคล้ายคลึงกัน อันได้แก่การที่พวกมันทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ทำงาน ส่วนเรื่องที่สามก็คือ Raiders of the Lost Ark (1981) หรืออีกนัยหนึ่ง ฉากไคลแมกซ์ของหนังเรื่องนั้นซึ่งว่าด้วยการไม่จ้องมอง ก็น่าจะส่งมอบแรงบันดาลใจไม่มากก็น้อยต่อฉากไคลแมกซ์ของ NOPE ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

 

แต่อิทธิพลของงานขึ้นหิ้งเหล่านั้นและของคนอื่นๆ (Alfred Hitchcock, Stanley Kubrick, M. Night Shyamalan ฯลฯ) ก็เปรียบได้กับสารตั้งต้น และสไตล์การบอกเล่าของ Jordan Peele ก็ทำให้ NOPE ไม่ได้เป็นแค่ร่างทรง และมีจังหวะก้าวเดินในแบบของตัวเอง ซึ่งถ้าพูดตรงๆ มันไม่ได้พยายามเอาอกเอาใจหรือพะเน้าพะนอ หรือมีแบบแผนการบอกเล่าที่เกาะเกี่ยวได้ง่ายดาย และนี่เป็นหนังประเภทที่คนดูไม่อาจเข้าใจได้ทันท่วงที หรือต้องใช้เวลาทบทวนและตกผลึกกับรายละเอียดน้อยใหญ่ที่คนทำหนังสอดแทรกเข้ามา และดูจะไม่ค่อยปะติดปะต่อกับโครงเรื่องหลักเท่าใดนัก

  

ไล่เรียงตั้งแต่วิธีการที่คนทำหนังแบ่งสัดส่วนเนื้อหาออกเป็นตอนๆ และใช้ชื่อม้าแต่ละตัวในคอกของ OJ. เป็นหัวเรื่อง (Ghost, Lucky และ Jean Jacket) ซึ่งว่าไปแล้ว ชื่อของมันก็ทั้งยั่วล้อกับสิ่งที่บอกเล่า และท้าทายการเชื่อมโยงความหมายของคนดูพอสมควร แต่นั่นก็เป็นแง่มุมที่น่าฉงนสนเท่ห์น้อยกว่าเรื่องที่ Jordan Peele จั่วไว้ตั้งแต่ตอนเปิดเรื่อง อันได้แก่เหตุการณ์น่าขนพองสยองเกล้าในอดีตระหว่างถ่ายทำซิตคอมในสตูดิโอ เมื่อลิงชิมแปนซีซึ่งเป็นทั้งซูเปอร์สตาร์และ ‘จุดขาย’ (หรือ Spectacle) ของโชว์เกิดคลุ้มคลั่งจากเสียงปังของลูกโป่งแตกและอาละวาดไล่ฆ่าเกือบทุกคน ยกเว้นนักแสดงเด็กเชื้อสายเอเชียที่ชื่อ Jupe ผู้ซึ่งแอบอยู่ใต้โต๊ะและเฝ้ามองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความอกสั่นขวัญแขวน

 

 

ผู้ชมได้พบกับ Jupe (Steven Yeun) อีกครั้งในฐานะอดีตดาราเด็กที่ผันตัวเองมาเป็นเจ้าของธีมพาร์กแนวบุกเบิกตะวันตก ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากไร่ปศุสัตว์ของ OJ. หนังบอกว่าเขายังคง ‘หากิน’ กับโศกนาฏกรรมเมื่อครั้งกระนั้นอย่างเลือดเย็น (ด้วยการเก็บค่าเข้าชมนิทรรศการที่แสดงข้าวของต่างๆ ในวันเกิดเหตุ) และล่าสุดเขากำลังเตรียมเปิดการแสดง ‘สิ่งมหัศจรรย์ครั้งใหม่’ ที่เจ้าตัวเพิ่งค้นพบ ซึ่งเขาบอกว่ามันจะเป็นโชว์ที่เปลี่ยนให้คนดูกลายเป็นคนละคน 

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ดูปลีกย่อยแต่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือเรื่องเล่าของ Eme ที่บอกว่าพวกเธอเติบโตมาจากครอบครัวที่อยู่เบื้องหลังการสร้างหนังมายาวนาน และจ็อกกี้ปริศนาในภาพเคลื่อนไหวชุดแรกของโลกจากการบันทึกของนักประดิษฐ์รุ่นบุกเบิกที่ชื่อ Eadweard Muybridge ซึ่งกินเวลาแค่สองวินาที ก็คือปู่ทวดของปู่ทวดของเธอ เนื้อหาส่วนของปู่ทวดนี่มั่วแน่ๆ ทว่าภาพเคลื่อนไหวของ Eadweard Muybridge ซึ่งปรากฏให้ผู้ชมได้เห็นช่วงเครดิตต้นเรื่อง (และนับเป็น Spectacle หรือสิ่งมหัศจรรย์ครั้งแรกบนแผ่นฟิล์ม) ยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่าใครคนนี้เป็นคนผิวดำ หรือถ้าอ้างจากประโยคคำพูดของ Eme ดาราหนังและนักแสดงผาดโผนคนแรกในโลกภาพยนตร์เป็นคนผิวดำ แต่ก็นั่นแหละ ชะตากรรมของเขาก็ละม้ายกับของคนผิวสีและชนกลุ่มน้อยนับไม่ถ้วนในฮอลลีวูดที่หน้าประวัติศาสตร์ไม่จดจำ หรือถ้าหากจะว่าไปแล้ว การหลงลืมก็ถือเป็นความเลือดเย็นในอีกรูปแบบเบื้องหลังกระบวนการสร้าง Spectacle เพื่อบำรุงบำเรอความสุขในการเฝ้ามองของคนดู 

 

ไม่ว่าจะอย่างไร ในฐานะที่หนังเรื่อง NOPE เป็นเสมือนเหลนของเหลนของภาพเคลื่อนไหวของ Eadweard Muybridge ส่วนของ Spectacle ก็นับได้ว่าดึงดูดจริงๆ อันได้แก่งานกำกับภาพของ Hoyte Van Hoytema (Her และ Dunkirk) ที่ถ่ายทอดความเวิ้งว้างว่างเปล่าของท้องฟ้ายามค่ำคืน ที่ความขมุกขมัวและมืดสลัวช่วยสร้างบรรยากาศที่น่าหวาดหวั่นพรั่นพรึงได้อย่างสะดุดตา รวมทั้งภาพของทุ่งโล่งกว้างตอนกลางวันที่กลับสร้างสถานการณ์จนมุม เพราะตัวละครวิ่งหนีไปทางไหนก็ไม่แตกต่างกัน

 

 

จุดแข็งอีกอย่างของหนังก็คือการแสดงของ Daniel Kaluuya กับ Keke Palmer ซึ่งเป็นคู่สีตรงข้าม คนหนึ่งแทบไม่พูดอะไรเลย และสีหน้าบ่งบอกความเจ็บปวดขื่นขม อีกคนกลับจ้อไม่หยุด และแอ็กติ้งของเธอก็นับเป็น Spectacle ในตัวมันเอง ทว่ามันกลายเป็นการรับ-ส่งบทบาทที่ลงตัว และผู้ชมสัมผัสได้ถึงความแนบแน่นและผูกพัน 

 

รวมๆ แล้วในยุคสมัยที่หนังแต่ละเรื่องพยายามจะเป็นส่วนหนึ่งของยูนิเวิร์สหรือมัลติเวิร์สของหนังหลายเรื่องรวมกัน NOPE ของ Jordan Peele เป็นหนังเรื่องเดียวโดดๆ ที่ใช้คำว่าออริจินัลได้เต็มภาคภูมิ หรืออีกนัยหนึ่ง มันไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ทั้งๆ ที่ว่าไปแล้วมันหยิบโน่นผสมนี่จากหนังเรื่องโน้นเรื่องนี้ ภายใต้กรอบเนื้อหาที่มีแบบแผนตายตัว ทว่าจนแล้วจนรอด การดูหนังเรื่องนี้ก็อาจเปรียบได้กับการพาตัวเองไปอยู่ในโลกใบที่พวกเราเชื่อว่าเคยไปเยือนแล้วหลายหน แต่สุดท้ายกลับลงเอยด้วยความรู้สึกที่ว่ามันดูแปลกใหม่ หรืออย่างน้อยก็แทบจะไม่มีอะไรสักอย่างที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่ารู้จักหรือคุ้นเคย

 

 

NOPE (2022)

 

ผู้กำกับ – Jordan Peele

นักแสดง – Daniel Kaluuya, Keke Palmer และ Steven Yeun

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X