×

สำรวจโรงพยาบาลสนามนนทบุรี ด่านหน้าวิกฤตโควิด-19 ที่พยายามทำให้สะดวกสบายที่สุด

27.04.2021
  • LOADING...
สำรวจโรงพยาบาลสนามนนทบุรี ด่านหน้าวิกฤตโควิด-19 ที่พยายามทำให้สะดวกสบายที่สุด

โรงพยาบาลสนามถือเป็นด่านหน้าสำคัญในการรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานการณ์ที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมเฉพาะเดือนเมษายนทะลุ 30,000 คนแล้ว มีผู้ป่วยรักษาอยู่มากกว่า 25,000 คน นี่คือที่มาของวิกฤตเตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ ทำให้ต้องเปิดโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือกลุ่มสีเขียว ขณะเดียวกันโรงพยาบาลสนามยังเป็นที่รองรับผู้ป่วยอาการกลุ่มสีเหลืองในโรงพยาบาลที่อาการดีขึ้นให้มาพักฟื้นเพื่อจะได้เหลือเตียงว่างรองรับผู้ป่วยรายอื่นๆ

นพ.รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ความเป็นมาของโรงพยาบาลสนามนนทบุรีคือขยายเตียงขึ้นเรื่อยๆ ขยายจนได้ 800-900 เตียง แต่พอคำนวณผู้ป่วยแล้วอัตราการครองเตียงสูงขึ้น คนที่มีอาการปานกลางจนถึงอาการรุนแรงมีมากขึ้น ประมาณกลางเดือนเมษายนช่วงเทศกาลสงกรานต์ เราก็ทำนายเลยว่าหลังสงกรานต์ตัวเลขน่าจะสูงขึ้นมาก วันที่ 15 เมษายนเราก็มีการประชุมกัน คำนวณดูแล้วว่าเตียงของเราที่อยู่ในโรงพยาบาลทั้งหมดไม่เพียงพอแน่นอน

 

“นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายกฯ อบจ.) ก็บอกว่า ช่วงนี้โรงเรียนปิด เรามีโรงเรียนของ อบจ. เองแล้ว ศักยภาพในเชิงโครงสร้างเหมาะสม มีห้องแยกเป็นสัดส่วน มีลิฟต์ มีคีย์การ์ด มีระบบรักษาความปลอดภัย ไม่ต้องใช้กำลังทหาร และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ในการเฝ้า ก็เลยตกลงกันมาใช้ที่นี่ ศักยภาพมีทั้งหมด 4 ตึก แต่ละตึกมี 44 ห้อง ห้องละ 8 คน การจัดเตียงที่นี่ระยะห่างระหว่างเตียงก็ได้มาตรฐาน จำนวนก็ไม่แออัดเกินไป ที่สำคัญคือมีเครื่องปรับอากาศ นอนสบายไม่เดือดร้อนเหมือนโรงพยาบาลสนามบางที่” นพ.รุ่งฤทัยกล่าว 


นพ.รุ่งฤทัยกล่าวต่อไปว่า ส่วนสถานการณ์เตียง ICU ที่จังหวัดนนทบุรีถือว่าน่าเป็นห่วง มีเตียง ICU จำนวน 12 เตียง ใช้ไปแล้วประมาณ 8-10 เตียง เหลือว่างจริงๆ ประมาณ 2-3 เตียงเท่านั้น

ขณะที่คนไข้กลุ่มอาการสีเหลืองที่ต้องนอนโรงพยาบาลรับได้ 110 เตียง ซึ่งคำนวณไว้สำหรับผู้ติดเชื้อในจังหวัด 1,500 คน ตอนนี้ผู้ป่วยในจังหวัดนนทบุรีมาถึงจุดนั้นแล้ว

 

“การบริหารจัดการคือต้องให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่อาการดีขึ้นย้ายมาอยู่โรงพยาบาลสนามที่จังหวัดนนทบุรีออกแบบไว้ให้สะดวกสบายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” นพ.รุ่งฤทัยกล่าว 

 

นพ.รุ่งฤทัยกล่าวด้วยว่า ผู้ป่วยบางทีไม่เข้าใจการสื่อสารเรื่องต่างๆ บางทีเราบอกว่าอาการดีแล้วมาอยู่โรงพยาบาลสนามเถอะ จะได้เอาเตียงไว้ให้ผู้ป่วยที่อาการหนัก คนป่วยก็อาจจะไม่มั่นใจอยากอยู่โรงพยาบาล แต่ผมคิดว่าปัญหานี้แก้ไขได้ถ้าเราช่วยกันประชาสัมพันธ์

 

“โรงพยาบาลสนามเราก็มีมาตรฐานด้านการแพทย์ระดับหนึ่ง มาตรฐานด้านความเป็นอยู่ให้ชีวิตใกล้เคียงกับที่บ้านก็ระดับหนึ่ง เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกก็อาจไม่เหมือนอยู่บ้าน แต่ที่นี่มีไวไฟแรงมาก มีอุปกรณ์การนอนให้ แต่บางเรื่องมันอาจขาดตกบกพร่องไปไม่เหมือนอยู่บ้าน แต่คนที่มาอยู่ที่นี่ก็ไม่มีเสียงบ่นอะไร มีแต่เสียงยอมรับและชื่นชม” นพ.รุ่งฤทัยกล่าวในที่สุด

 


พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X