ศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียวคืออะไร
สำหรับศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว จังหวัดหนองคาย (One Stop Service: OSS) เกิดขึ้นตามนโยบายของ เศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องการแก้ไขปัญหาการส่งออก ขั้นตอนพิธีศุลกากร การค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว ไปยังจีน เพื่อพัฒนาให้เป็นบริการ One Stop Service ที่ทำให้การบริการภาครัฐรวมอยู่ในระบบเดียวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตั้งเป้าให้หนองคายเป็นจังหวัดแรกในการดำเนินการ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16-17 เมษายน 2567 ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (คปธ.) และที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย อารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. เคยลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการด้านการค้าชายแดนจังหวัดหนองคาย ตามที่นายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน) มอบหมาย เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และการขอรับการสนับสนุน ภายหลังจากที่มีการเปิดศูนย์ฯ
ครั้งนั้นมี สมภพ สมิตะสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนและติดตามการดำเนินการในพื้นที่ปฏิบัติงานจริง
ขณะที่การดำเนินการของศูนย์ฯ เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นการนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าต่างๆ มาปฏิบัติงานร่วมกัน ณ สำนักงานศุลกากรหนองคาย เช่น ด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตร ด่านตรวจอาหารและยาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด่านตรวจประมงของกรมประมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในกรณีที่ต้องมีการเปิดตรวจหรือบูรณาการระหว่างหน่วยงาน
ภาคต่อมาขอติดตามความคืบหน้า ยุคแพทองธาร
ระหว่างวันที่ 9-10 มกราคม 2568 ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ พร้อมคณะ ร่วมลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาศูนย์ฯ เป็นครั้งที่ 2 ที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งกรมศุลกากรได้พัฒนาและเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 โดยมีความก้าวหน้าในการดำเนินการ และแนวทางการแก้ไขข้อจำกัดและอุปสรรคของหน่วยงานสำหรับการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจดังนี้
- ความก้าวหน้าการพัฒนาการให้บริการ
- การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาระบบการตรวจปล่อยสินค้า (Autoload) โดยนำกล้อง CCTV มาใช้ในการตรวจสอบทะเบียนรถและหมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าขาออกบริเวณด่านพรมแดน โดยเทียบกับข้อมูลที่กำหนดไว้ในใบขนส่งสินค้าขาออก ทำให้ลดภาระและความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในการบันทึกข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ผ่านระบบเอกสาร การส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีความรวดเร็วมากขึ้น และสามารถตรวจสอบข้อมูลการส่งออกสินค้าได้อย่างโปร่งใส
- การบูรณาการการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบการส่งออกสินค้าเกษตรประเภทผลไม้ทางรถไฟ ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างกรมศุลกากร (สำนักงานศุลกากรหนองคาย) และกรมวิชาการเกษตร (ด่านตรวจพืชหนองคาย) ในการตรวจสอบหมายเลขตู้คอนเทนเนอร์และหมายเลขซีล จากเดิมที่เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชหนองคายจะต้องมาร่วมตรวจสอบความถูกต้องของหมายเลขและความสมบูรณ์ของซีลร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรหนองคายก่อนออกใบรับรองสุขอนามัยพืช เป็นการขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรหนองคายตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์ดังกล่าวจากข้อมูลในระบบ e-Phyto ที่ด่านตรวจพืชหนองคายส่งให้กับสำนักงานศุลกากรหนองคาย
- แนวทางการแก้ไขข้อจำกัดและอุปสรรคของหน่วยงาน
- ด้านนโยบาย
- ปรับลดค่าใช้จ่ายการเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างรถไฟ การขนส่งสินค้าทางรถไฟไปสาธารณรัฐประชาชนจีนใช้เวลาการขนส่งน้อยกว่าทางเรือ และประหยัดต้นทุนการขนส่งมากกว่าทางเครื่องบิน โดยใช้เส้นทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน แต่จะมีการเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างรถไฟจากรางความกว้าง 1 เมตร เป็นรางมาตรฐานที่มีความกว้าง 1.435 เมตร ที่สถานีรถไฟท่านาแล้ง สปป.ลาว มีค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000-20,000 บาทต่อตู้ หากมีการปรับลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนการขนส่งทางรางต่ำกว่าทางเรือและทางเครื่องบินเป็นจำนวนมาก
- ส่งเสริมการส่งออกสินค้าประมงและอาหารทะเลผ่านการขนส่งทางราง ขณะนี้ไทยเริ่มส่งสินค้าประมงและอาหารทะเล (กุ้งสุกแช่แข็งจำนวน 24 ตัน) ไปยังจีนเป็นครั้งแรกเมื่อต้นเดือนมกราคม 2568 ช่วยประหยัดระยะเวลาการขนส่งจากเดิมที่ใช้ทางเรือและทางบกได้มากถึง 14 วัน และลดต้นทุนการขนส่งที่หากใช้รถบรรทุกในการขนส่งสินค้า 15-20 ตัน จะมีต้นทุนถึงประมาณ 4 ล้านบาท
- ยกระดับมาตรการความปลอดภัยในการขนส่งระหว่างประเทศ จากการสอบถามผู้ปฏิบัติงานระหว่างการลงพื้นที่เกี่ยวกับมาตรฐานและความปลอดภัยในการใช้ซีลปิดตู้ระหว่างการขนส่ง พบว่าบางกรณีเมื่อการขนส่งถึง สปป.ลาว จะมีการเปิดหรือถอดตู้ขนส่งทางประตูซ้ายที่ไม่มีซีลปิด ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพและปริมาณสินค้าระหว่างการขนส่งได้
- ด้านกระบวนการปฏิบัติงาน
- เพิ่มความรวดเร็วในการตรวจคนข้ามแดน กรณีการนำกล้อง CCTV มาใช้ในการตรวจสอบทะเบียนรถและหมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าขาออกบริเวณด่านพรมแดน แม้ว่าจะเกิดความสะดวกรวดเร็วกับการตรวจสอบสินค้าและยานพาหนะในการขนส่ง แต่ยังมีขั้นตอนที่คนขับรถบรรทุกจะต้องขออนุญาตผ่านเข้า-ออกที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ดังนั้นหากมีการปรับปรุงขั้นตอน วิธีการ หรือเพิ่มความรวดเร็วในการอนุญาตผ่านเข้า-ออกที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จะทำให้การขนส่งสินค้าขาออกทั้งระบบมีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
นอกจากนี้การเพิ่มความรวดเร็วในการอนุญาตผ่านเข้าออกที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจะช่วยลดความแออัดของประชาชนที่เดินทางข้ามพรมแดนทั้งขาเข้าและขาออกประมาณเดือนละ 4 แสนคน โดยเฉพาะในช่วงวันศุกร์-อาทิตย์ ที่มีความแออัดมาก
2. เพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ห้องปฏิบัติการ โดย อย. จะต้องตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหาร เครื่องมือแพทย์ ยา เครื่องสำอาง ยาเสพติด รวมทั้งการตรวจแมลงศัตรูพืชหรือสารตกค้างของผักผลไม้ ซึ่ง อย. จะต้องนำตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการ (Central Lab) โดยจะใช้เวลาตรวจสอบ 24 ชั่วโมง ทำให้ต้องชะลอการนำเข้าสินค้าไว้ระหว่างรอผลการตรวจสอบ ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการตรวจสอบดังกล่าวให้เกิดความรวดเร็ว เลขาธิการ อย. อยู่ระหว่างจัดทำบันทึกความร่วมมือกับอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเพื่อนำเทคโนโลยีที่ใช้ในห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ของด่านตรวจพืชเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่สามารถตรวจสอบและทราบผลได้ทันที มาขยายผลดำเนินการเพิ่มเติมสำหรับด่านตรวจพืชหนองคาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้าให้รวดเร็วมากขึ้น
3. สนับสนุนอุปกรณ์และเทคโนโลยีมาใช้ในการขนส่งทางรถไฟ สถานีรถไฟหนองคายเป็นจุดตรวจคนและสัมภาระที่เดินทางข้ามพรมแดนทางรถไฟ แต่ปัจจุบันยังไม่มีเครื่อง X-Ray ในการตรวจสอบ ทำให้ใช้เวลาในการตรวจสอบคนและสัมภาระประมาณ 40-60 นาทีต่อจำนวนผู้เดินทาง 200 คน
ทั้งนี้ รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์และเทคโนโลยีในการตรวจสอบการขนส่งทางรางผ่านสถานีรถไฟนาทา เพื่อให้เป็นมาตรฐานและเกิดความรวดเร็วเช่นเดียวกับการขนส่งทางถนนผ่านรถบรรทุกที่ด่านพรมแดน
- ด้านงบประมาณ
กรมศุลกากรอยู่ระหว่างการขอรับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาคารสำนักงานเพื่อรองรับโครงการจุดพักรถบนพื้นที่ 16 ไร่ และสถานีตรวจสอบน้ำหนักหนองสองห้อง ทั้งนี้ การตรวจสอบบริเวณดังกล่าวจะทำให้การขนส่งสินค้าผ่านด่านพรมแดนมีความรวดเร็วมากขึ้น
มีข้อสังเกตด้วยว่าการใช้ประโยชน์ทางประวัติศาสตร์ของสถานีรถไฟนาทา เนื่องจากแผนการสร้างทางรถไฟที่มีขนาดกว้างเท่ามาตรฐานของประเทศต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางในภูมิภาคระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน ให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น จะต้องมีการรื้อทิ้งสถานีรถไฟนาทาที่มีการสร้างตั้งแต่ปี 2498 ซึ่งจะมีอายุครบ 70 ปีในปีนี้
ดังนั้นสามารถปรับปรุงสถานีรถไฟนาทาให้เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์หรือพิพิธภัณฑ์ เพื่ออนุรักษ์โครงสร้างของสถานีและเก็บรวบรวมความเป็นมาของการขนส่งสินค้าทางรถไฟได้