×

โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู แผลสดสังคมไทย กับ 4 มาตรการรัฐ คุมเข้มปืน-ทำสงครามยาเสพติด ก่อนเป็นแผลเรื้อรัง?

โดย THE STANDARD TEAM
12.10.2022
  • LOADING...
หนองบัวลำภู

หลังจากเกิดเหตุการณ์สูญเสียภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลได้ประกาศทำสงครามกับปัญหายาเสพติดอีกครั้ง 

 

วันนี้ (12 ตุลาคม) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน สั่งการให้กวดขันกฎหมายอาวุธปืน ต่อจากนี้ไปต้องมีการรับรองจากผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องไม่มีเรื่องทางจิต และจะปรับปรุงกฎหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

ส่วนเรื่องปัญหายาเสพติดต้องควบคุมทั้งการนำเข้าและส่งออก รวมถึงนำผู้เสพเข้าสู่ระบบ เมื่อพบเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องต้องลงโทษเด็ดขาดอย่างทันที นอกจากนี้ ที่ประชุมให้มีการเน้นระบบดูแลสุขภาพจิตในโรงเรียน การบำบัดฟื้นฟูต้องทำทันที ทำระบบจิตเวชอย่างเป็นระบบ

 

4 มาตรการ แก้ปัญหาอาวุธปืน-ยาเสพติด

 

ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด ประกอบด้วย 

 

  1. มาตรการอาวุธปืน 

 

  • กวดขันการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนและกระสุนปืนอย่างเข้มงวดในการออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต และการพกพา
  • ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตรงตามกฎหมาย มีการตรวจสอบและรับรองทางจิตว่าไม่เป็นผู้วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน สำหรับในส่วนความประพฤติหรือพฤติกรรมต้องได้รับการรับรองจากผู้บังคับบัญชา ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ว่าไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคม และมีมาตรการตรวจสอบทบทวนเพื่อพิจารณาคุณสมบัติในทุกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม
  • เพิกถอนใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน เมื่อพบปัญหาทางจิต การใช้ยาเสพติด และมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม 
  • กวาดล้างจับกุมอาวุธเถื่อนและการซื้อขายออนไลน์อย่างจริงจัง
  • ทบทวนกฎหมายที่จำเป็นให้มีความทันสมัย

 

  1. มาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 

 

  • ควบคุมการนำเข้าและส่งออกสารเคมีที่นำไปใช้ผลิตยาเสพติด ‘โซเดียมไซยาไนด์’     
  • เร่งติดตาม สืบสวนขยายผล ทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติด และยึดอายัดทรัพย์สิน     
  • บูรณาการนำผู้เสพเข้าระบบศูนย์ข้อมูลที่ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ป.ป.ส. 
  • ทบทวนกรณีผู้เสพเป็นผู้ป่วย โดยเฉพาะประเด็นปริมาณการครอบครอง เพื่อนำไปสู่การบำบัดฟื้นฟู
  • สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

 

  1. มาตรการบำบัดผู้ติดยาเสพติด  

 

  • ค้นหาคัดกรองผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูง (Serious Mental Illness with High Risk to Violence: SMI-V) เข้าสู่สถานฟื้นฟูฯ ภาคีเครือข่าย
  • เร่งรัดการจัดตั้งศูนย์คัดกรองให้ครอบคลุมทุกตำบล ทั้งของกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสถานบำบัดรักษาที่มีมาตรฐานสากล
  • บูรณาการการบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment) ให้ครอบคลุมทุกตำบล
  • พัฒนาพฤตินิสัย ร่วมกับการบำบัดฟื้นฟู โดยเฉพาะกลุ่มที่ก่อความรุนแรง หรือเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง และใช้กำไล EM เพื่อการติดตามดูแล 

 

  1. การพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต   

 

  • จัดตั้งระบบดูแลสุขภาพจิตในโรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่ง สถานประกอบกิจการที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาวุธร้ายแรง
  • บำบัดฟื้นฟูทันที โดยจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอ จัดตั้งหน่วยบูรณาการจิตเวชฉุกเฉินทุกอำเภอ ระบบดูแลเบื้องต้นทางจิตเวชทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
  • ใช้ชุมชนบำบัด เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษาจิตเวชทางไกล การดูแลต่อเนื่องในชุมชนในผู้ป่วยจิตเวชเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง

 

มหาดไทยเตรียมนิรโทษกรรมปืนเถื่อน

 

ขณะที่ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการควบคุมดูแลการใช้อาวุธปืนว่า แบ่งอาวุธปืนมี 2 ส่วน คือ ปืนที่มีใบอนุญาต และปืนเถื่อน ซึ่งเรื่องการขอใบอนุญาตผู้มีอาวุธปืนใหม่ ต้องมีมาตรการตรวจสอบ เรื่องการเปลี่ยนแปลง เรื่องสภาพจิตใจ สุขภาพจิตด้วย โดยจะต้องไปเขียนรายละเอียดทางการแพทย์เพิ่มเติม

 

ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแค่เรื่องของปัญหาสุขภาพจิต แต่รวมถึงเรื่องความประพฤติแต่ละคน ดังนั้นการจะดูว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ ไม่ว่าแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่สามารถที่จะดูออก จึงมีการหารือว่าจะต้องมีคนรับรอง เช่น ถ้าเป็นข้าราชการต้องมีผู้รับรอง อาทิ ผู้บังคับบัญชา ว่ามีความประพฤติที่เป็นภัย หรือดื่มสุราแล้วขาดสติ หรือเป็นคนที่มีอารมณ์และใช้ความรุนแรงหรือไม่ ดังนั้นจึงมีข้อสรุปได้ว่าการขออนุญาตรายใหม่ต้องดูความประพฤติด้วย

 

ส่วนคนเก่าที่ครอบครองอาวุธปืนอยู่แล้วนั้น มีมติว่าจะต้องทบทวนในการที่จะให้มีและใช้อาวุธปืน ซึ่งอาจให้คิดทบทวนในระยะ 3 ปี หรือ 5 ปี ว่าต้องคิดทบทวนกันอีกครั้งทั้งในเรื่องความประพฤติ ว่ามีความจำเป็นต้องใช้อยู่หรือไม่ รวมถึงผู้ที่ต้องพ้นจากหน้าที่ยังมีความจำเป็นที่ต้องครอบครองอยู่หรือไม่ หากไม่จำเป็นก็สามารถเพิกถอนได้ แต่ในกรณีก่อเหตุความผิดจะสามารถเพิกถอนได้ทันที

 

พล.อ. อนุพงษ์ ยังกล่าวถึงการสร้างความเข้าใจกับสังคมว่า การครอบครองอาวุธปืนให้ใช้เก็บรักษาอยู่ที่บ้านเพื่อป้องกันทรัพย์สินเท่านั้น ไม่ได้ให้พกพาไปไหน หากพบว่าพกพาก็อาจเพิกถอนได้ เช่น การพกพาอาวุธปืนไปดื่มสุรา ซึ่งมีกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อแก้ปัญหาอาวุธปืนที่มีอยู่ในระบบใบอนุญาต 

 

ส่วนอาวุธปืนเถื่อน มีข้อยุติว่าจะต้องออกกฎหมายให้นำมาคืน ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการในลักษณะนี้แล้ว แต่ครั้งนี้จะให้นำมาคืนโดยไม่มีความผิดทางอาญา และไม่ให้ขึ้นทะเบียน แต่ถ้าพบว่ายังครอบครองปืนเถื่อนต่อไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีความเข้มงวดตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมย้ำว่าจะไม่ใช้คำว่านิรโทษกรรม แต่จะออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)

 

ขณะที่เรื่องยาเสพติด พล.อ. อนุพงษ์ระบุว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกฝ่ายเข้มงวดในการปฏิบัติ เช่น หากพบว่าในพื้นที่ใดมี และเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลย เรื่องนี้จะต้องมีผลทั้งทางกฎหมายและพิจารณาทั้งในเรื่องของการรับราชการ ในส่วนของมหาดไทย หากชาวบ้านรู้ว่าในพื้นที่มียาเสพติด แต่ฝ่ายปกครองไม่รู้ ต้องมีการประเมิน หากกฎหมายให้สามารถหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ก็จะต้องทำ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจะต้องทำงาน 

 

“ถ้าทุกคนรู้ตัวว่ายาเสพติดเป็นภัยต่อประเทศชาติในทุกเรื่อง ทั้งทางด้านศักยภาพการแข่งขัน ด้านเศรษฐกิจ… ทุกคนต้องร่วมมือกันทำ ถ้ามาตรการไม่ดีก็สามารถติติงกันได้ แต่หากวิพากษ์และสร้างกระแสไปในทางที่ผิดก็จะไม่สามารถช่วยอะไรได้ ซึ่งเรื่องยาเสพติดเป็นความรับผิดชอบของสังคมโดยรวม” พล.อ. อนุพงษ์กล่าว

 

ผบ.ตร. เปิดระบบ JCoMS รับแจ้งเบาะแสโดยตรง 

 

พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยว่า หากใครมีข่าวหรือเบาะแสการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ สามารถแจ้งเบาะแสผ่านทางสายด่วน 191 และ 1599 รวมถึงผ่านระบบบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนของจเรตำรวจออนไลน์ http://www.jcoms.police.go.th/notice (JCoMS) ของจเรตำรวจ ซึ่งข้อมูลจะรายงานมาโดยตรง และไม่ระบุตัวตนของผู้แจ้งข้อมูลแต่อย่างใด 

 

นอกจากนี้ยังให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูง ตั้งแต่ระดับผู้บังคับการจนถึงผู้กำกับสถานีตำรวจแต่ละพื้นที่ ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้าน สร้างความมั่นใจในการแจ้งข้อมูลมากยิ่งขึ้น 

 

หากพบว่ามีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จะไม่ได้โดนดำเนินคดีเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจคนนั้น แต่จะรวมถึงผู้บังคับบัญชาอีก 2 ระดับ ฐานควบคุมลูกน้องไม่ดี ปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายไปกระทำความผิดเสียเอง จะต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด 

 

“การประชุมในวันนี้ได้หารือระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และกระทรวงสาธารณสุข จากนี้จะร่วมมือกันอย่างเข้มข้นในการปูพรมค้นหา โดยใช้งบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) คาดว่าใช้เวลา 2-3 เดือนจะทราบว่ามีพื้นที่สีแดงต้องเฝ้าระวังเหตุคลุ้มคลั่งปริมาณเท่าใด และควรแก้ไขอย่างไร ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงสถานบำบัดในพื้นที่ รวมถึงมาตรการดูแลของตำรวจด้วย” พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าว

 

ผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง มีโอกาสติดซ้ำ 70%

 

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงกรณีการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติดที่กลับมาเสพยาเสพติดว่า ผู้ติดยาเสพติดถือเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำค่อนข้างสูง ในระบบการรักษาของกระทรวงสาธารณสุขจะมีศูนย์คัดกรองที่จะมีในทุกตำบล 

 

แบ่งคนไข้ออกเป็น ผู้ป่วยอาการรุนแรง จะต้องรักษาในโรงพยาบาลของกรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ ศูนย์บำบัดรักษาโดยเฉพาะ ที่จะต้องบำบัดรักษาโดยเฉพาะผู้ป่วยสีแดง ส่วนผู้ที่ติดแต่อาการไม่มากนัก จะรักษาในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไป เป็นระบบการรักษาผู้ป่วยนอก 

 

ส่วนผู้ที่มีอาการน้อยหรือใช้ไม่มากนักก็จะรักษาในชุมชน โดยการรักษาจะมีระยะเวลาการรักษาและกระบวนการ แต่ที่สำคัญคือหลังการรักษาตามกระบวนการในระยะแรกแล้ว อย่างที่ทราบดีว่าผู้ป่วยเป็นผู้ป่วยเรื้อรังจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูงในเชิงวิชาการ ทั่วโลกผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อรักษาไป 1 ปี โอกาสกลับมาเสพใหม่มีสูงกว่า 70% 

 

เพราะฉะนั้นระบบการรักษาในชุมชนฟื้นฟูถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะหากผู้ป่วยรักษาแล้วสภาพแวดล้อมยังเหมือนเดิม ก็จะกลับมาเหมือนเดิม ดังนั้นจะต้องดูแลทั้งวงจร เพราะฉะนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลรักษาผู้ป่วยสีแดง เมื่อรักษาหาย สุดท้ายก็มีสภาพทางสมองและจิตใจที่จะต้องมีการติดตาม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising