×

น้อมจิตต์ การฝ่าฟันที่ไม่มีคำว่า ‘ง่าย’ จากแบรนด์ชุดนักเรียนชื่อดัง สู่ก้าวที่ท้าทายในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ [ADVERTORIAL]

12.10.2022
  • LOADING...
น้อมจิตต์

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • รู้หรือไม่ว่าผู้ริเริ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ N Mark Plaza และศูนย์การค้า Happy Land นั้นขยับขยายมาจากแบรนด์ชุดนักเรียนชื่อดังอย่าง ‘น้อมจิตต์’ ที่เริ่มต้นจากร้านขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปย้อนไปเมื่อเกือบ 60 ปีก่อน ซึ่งบอกได้เลยว่าเส้นทางการเติบโตนี้ ‘ไม่ง่าย’ และนี่ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ SMEs ของไทย
  • อนันต์ จิตรมีศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้อมจิตต์ อินคอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ซึ่งรับช่วงดูแลธุรกิจเป็นรุ่นที่ 2 ร่วมกับพี่น้องอีก 4 คน อันมาพร้อมกับความท้าทายของธุรกิจ ด้วยมีศูนย์การค้ามาปักหมุดในทำเลบางกะปิมากขึ้น ทำให้ธุรกิจเจอคู่แข่งที่มากขึ้นด้วย ในขณะเดียวกัน อนันต์และผู้บริหารรุ่น 2 ทุกคนก็ต้องรับผิดชอบธุรกิจมากขึ้น ซึ่งอนันต์ยอมรับว่าแม้จะมีไฟในการทำสิ่งต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไปเลยคือ ‘ประสบการณ์’ ในการทำธุรกิจ
  • สิ่งหนึ่งที่ทำให้น้อมจิตต์สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคง คือความช่วยเหลือจาก ‘ธนาคารไทยพาณิชย์’ หรือ SCB ที่ไม่เพียงดูแลด้านการเงินเท่านั้น แต่ยังนำทีมที่เต็มไปด้วยประสบการณ์เข้ามาให้คำแนะนำอีกด้วย

หากพูดถึง ‘น้อมจิตต์’ เชื่อว่าทุกคนจะนึกถึงชุดนักเรียนที่มีโลโก้เป็นเด็กผู้ชายหันหลัง และในวัยเด็กหลายคนย่อมเคยใส่อย่างแน่นอน

 

แต่รู้หรือไม่ว่า ‘น้อมจิตต์’ ไม่ได้ทำธุรกิจชุดนักเรียกตั้งแต่แรก หากเริ่มต้นด้วย ‘ร้านขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป’ เมื่อเกือบ 60 ปีก่อน ขยับขยายเติบโตจนมาเป็นแบรนด์ที่เรารู้จักกันอย่างทุกวันนี้ และตอนนี้ยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่าง N Mark Plaza และศูนย์การค้า Happy Land อยู่ด้วย

 

แต่กว่าจะถึงวันนี้บอกได้เลยว่า ‘ไม่ง่าย’ และนี่ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ SMEs ของไทย ที่ก่อร่างสร้างตัวเองจนเติบใหญ่มาได้อย่างแข็งเกร่ง

 

เริ่มต้นด้วย ‘ร้านขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป’

อนันต์ จิตรมีศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้อมจิตต์ อินคอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริหารที่รับช่วงดูแลธุรกิจเป็นรุ่นที่ 2 เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า เกิดจากการแต่งงานของคุณพ่อและคุณแม่ในปี 2504 หลังจากนั้นก็เริ่มเปิดร้านด้วยกัน

 

“พอแต่งงานกันก็เริ่มเปิดร้าน โดยที่ตกลงกันว่าใช้ชื่อของคุณแม่ คุณแม่ผมชื่อน้อมจิตต์นะครับ ก็เลยใช้ชื่อร้านน้อมจิตต์ ยุคแรกเป็นการขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป สมัยก่อนเขาจะเรียกว่าผ้าโหล”

 

จากร้านขายผ้าโหลสู่การขายชุดนักเรียนนั้นเกิดจากการที่คุณแม่ไปวงเวียนใหญ่แล้วไปเจอร้านขายชุดนักเรียนอยู่ร้านหนึ่ง คนต้องไปเข้าแถวซื้อ แต่ร้านกลับเปิดประตูให้เข้าไปซื้อทีละคน กลายเป็นไอเดียธุรกิจขึ้นมา

 

แม้จะดูเป็นธุรกิจที่ขายดี แต่ความยากของการทำชุดนักเรียนอยู่ที่แต่ละปีจะมี ‘ช่วงเวลาทอง’ อยู่เพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น คือในช่วงเปิดเทอมใหม่ๆ ที่พ่อแม่จะหาซื้อชุดให้ลูกก่อนจะขึ้นชั้นเรียนใหม่ หากสำหรับธุรกิจแล้วต้องเย็บตุนทั้งปี

 

“ความยากคือการที่เราจะต้องกะสต๊อกให้ถูกต้องให้ได้ สต๊อกต้องแม่นยำ แล้วเมื่อสมัยก่อนก็ไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ ไม่มีระบบ ใช้มือเขียนอย่างเดียวเลย

 

“อีกเรื่องคือมีขนาดที่เยอะมากเพื่อให้ลูกค้าใส่ได้พอดีกับรูปร่าง กลายเป็นธุรกิจที่ต้องสู้กับเสื้อผ้าตัดเย็บด้วย ดังนั้นสต๊อกก็เป็นเรื่องใหญ่มากเลยในสมัยนั้น ทำอย่างไรให้ประเมินสต๊อกให้ถูกต้อง อันนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ไม่ค่อยมีคนอยากทำชุดนักเรียนเท่าไรครับ”

 

ล้มลุกกับการ ‘ขยายสาขา’ และการบริหารคน

ด้วยความที่ยุคก่อนไม่มีห้างซึ่งเป็นศูนย์รวมการซื้อสินค้าเหมือนทุกวันนี้ ทำให้การขยายธุรกิจได้นั้นจึงต้องไปเปิดร้านตามทำเลต่างๆ เอง ซึ่งในยุคนั้นได้มีการลองไปเปิดที่สะพานควาย แต่ก็ไม่สำเร็จจนต้องเลิกไป

 

ต่อมาคุณพ่อของอนันต์มาเจอทำเลใหม่ตรงบางกะปิบริเวณแฮปปี้แลนด์ แล้วชอบมาก จึงซื้อตึกก่อน 10 คูหา แล้วก็ทำเป็นเหมือนกับ Department Store คล้ายๆ กับว่าเป็นห้าง มีซูเปอร์มาร์เก็ต มีเสื้อผ้า แล้วก็มีชุดนักเรียนด้วย

 

“แถวนี้โรงเรียนเยอะมากนะครับ แล้วก็คู่แข่งคงไม่มี” อนันต์เล่าถึงเหตุผลที่พ่อของเขาทุ่มทุนซื้อตึกทีเดียว 10 คูหา

 

ถึงจะไม่มีคู่แข่งเพราะศูนย์การค้ายังไม่มีมาเปิด แต่ความท้าทายคือการบริหารงานจากคูหาไม่กี่ห้องมาเป็นร้านขนาดใหญ่ที่เปิดขายมากถึง 3 ชั้น ทำให้ต้องใช้พนักงานจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนอย่างที่รู้กันว่าการบริหารคนถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่ยากที่สุด

 

“เมื่อมีพนักงานก็จะมีปัญหามากในเรื่องการบริหาร ทำให้แม่เร่งเมื่อไรผมจะเรียนจบจะได้มาช่วยงาน ผมในตอนนั้นก็เลยไม่มีโอกาสไปทำงานหาประสบการณ์จากที่อื่นเลย พอเรียนจบมาก็เลยต้องมาช่วยงานที่ครอบครัว”

 

การเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัวของอนันต์มาพร้อมกับความท้าทายของธุรกิจ ด้วยมีศูนย์การค้ามาปักหมุดในทำเลบางกะปิมากขึ้น ทำให้ธุรกิจเจอคู่แข่งที่มากขึ้นด้วย ในขณะเดียวกัน อนันต์ก็ต้องรับผิดชอบธุรกิจมากขึ้น ซึ่งเขายอมรับว่าแม้จะมีไฟในการทำสิ่งต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไปเลยคือ ‘ประสบการณ์’ ในการทำธุรกิจ

 

ความช่วยเหลือจาก SCB ที่ช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

“ด้วยไม่มีประสบการณ์จริง ก็ประสบปัญหา แต่เราดีที่ได้ไทยพาณิชย์เข้ามาช่วยเมื่อปี 2535 มาสร้างอาคารด้านหน้าที่เป็นห้างอย่างทุกวันนี้”

 

ความช่วยเหลือดังกล่าวกลายเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานกว่า 30 ปี อนันต์เล่าว่า เมื่อสร้างเสร็จแทนที่ธุรกิจจะไปได้ดี กลับเจอวิกฤตยอดขายที่ลดลง ทำให้ขาดความคล่องตัวเรื่องเงินทุนหมุนเวียน

 

“ไทยพาณิชย์เป็นแบงก์ที่ดีมากเลย อุ้มชู ประคองให้เรามาเรื่อยๆ แล้วผมก็มีความยากลำบากอยู่ประมาณสัก 4-5 ปี ในช่วงที่เราปรับตัวไม่ได้ ไม่มีเงินหมุนเวียน ซื้อมาขายขาดทุนอะไรอย่างนี้ จนถึงปี 2540 ที่ผมได้เข้ามาดูแลเต็มตัว จึงได้รื้อธุรกิจครั้งใหญ่”

 

การดูแลเต็มตัวทำให้อนันต์ตัดสินใจเลิกทำ Department Store เปลี่ยนมาเป็นตัดล็อกให้คนอื่นเช่า ซึ่งเป็นยุคที่คนตกงานพอดี มีร้านเล็กร้านน้อยเกิดขึ้นเต็มไปหมดเลย และยังเป็นยุคที่ตะวันนาเปิดท้ายเริ่มต้นพอดีเลยครับ นอกเหนือจากเดอะมอลล์บางกะปิและแม็คโครที่เข้ามาเปิดในทำเลใกล้เคียงกัน

 

“เดิมทางครอบครัวผมเคยคิดว่าถ้าเราทำทางเดินเชื่อมกับเดอะมอลล์ เราจะมีปัญหาเพราะลูกค้าจะไปฝั่งเดอะมอลล์หมด แต่สุดท้ายเราก็ทำสะพานลอยเชื่อม เพราะคิดว่าการเชื่อมจะทำให้ลูกค้าเดินไปมาสะดวก ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะเรามีลูกค้าเข้ามาเดินมากขึ้น ทำให้ร้านค้าต่างๆ ขายดีไปด้วย”

 

เดิมทางน้อมจิตต์มีแผนจะขยายธุรกิจไปยังทำเลบางใหญ่เพราะมีที่อยู่ 10 ไร่ แต่ที่สุดก็ต้องยกเลิกโปรเจกต์นี้ไป เพราะทางห้างแฮปปี้แลนด์ไอทีพลาซ่าซึ่งอยู่ติดกันอยากจะขายธุรกิจทั้งหมด ทำให้ต้องทุ่มเงินมาซื้อตรงนี้แทน ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจาก SCB

 

“การทำโครงการนี้ใช้เงินก้อนใหญ่มาก หลักหลายร้อยล้านบาท ซึ่งผมไปนำเสนอกับธนาคารอื่นๆ แต่เขาก็ไม่เข้าใจที่ผมทำ มีเพียง SCB ที่เข้าใจ ตลอดจนให้คำแนะนำต่างๆ อันนี้ผมยอมรับว่า SCB เก่งจริงๆ ที่มองภาพออก”

 

เส้นทางที่ไม่ราบรื่น

อนันต์เล่าต่อว่า ตั้งแต่ทำธุรกิจมามีปัญหาครั้งใหญ่ 2 รอบ คือรอบแรกตลาดสดที่อยู่หลังห้างมีการขายให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์จนเป็นที่มาของการรื้อตลาด ซึ่งแต่เดิมมีลูกค้าวันละหลายพันคน เมื่อไม่มีตลาด ลูกค้าที่เข้ามาเดินในห้างก็ลดลงไปด้วย

 

ปัญหาใหญ่อีกรอบคือการปรับปรุงย่านนี้เพื่อต่อยอดรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ทำให้รถติดอย่างหนัก ลูกค้าก็ไม่อยากมาเส้นนี้ ยิ่งมาเจอโควิดอีก ทำให้รายได้ลดลงไป 30-40% เลยทีเดียว

 

กระนั้นอนันต์ก็ไม่ท้อ เลือกที่จะลุยต่อด้วยการรีโนเวตแฮปปี้แลนด์ใหม่ มีการทำลานจอดรถเพิ่ม ปรับการตกแต่งใหม่ทั้งหมด ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดี มีทราฟฟิกเพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับตอนที่ซื้อมาใหม่ๆ

 

นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมผลักดัน Smart City ซึ่งเขตบางกะปิจะถูกพัฒนาเป็น Smart District อีกแห่งหนึ่งในย่านชานเมืองของกรุงเทพฯ โดยจะมีสกายวอล์กยาวประมาณ 1.5 กิโลเมตร ที่จะมี Sky Hall ขนาดใหญ่ถึง 3 จุด ซึ่งจะทำให้บริเวณนี้แข็งแรงขึ้น และคาดว่าจะมีคนมาเดินเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า

 

“ที่มองว่าเพิ่มขึ้น 3 เท่า เพราะว่าย่านนี้มีตลาดสด มีห้างทั้งหมด 4-5 ห้าง อยู่ด้วยกันเป็นกระจุกเลย ซึ่งจะทำให้ดึงคนจากที่อื่นๆ มาตรงนี้เยอะมาก”

 

ขณะเดียวกันได้มีการวางแผนรีโนเวตน้อมจิตต์ด้านหน้าให้เป็นห้างที่ชื่อว่า N Mark Plaza โดยจะลดพื้นที่ขายสินค้าให้น้อยลง แต่เปลี่ยนมาเป็นจุดนัดพบสำหรับผู้คนก่อนที่จะกลับบ้าน โดยชั้นล่างจะเสร็จประมาณปลายปีนี้ ส่วนชั้น 2 ประมาณต้นปีหน้า และในอนาคตจะปรับให้เปิดตลาด 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

 

นอกจากนี้ยังมีการเดินหน้าสู่โลกออนไลน์ซึ่งลูกค้าจำนวนมากใช้งานมากขึ้น โดยเริ่มจากร้านนวดต่างๆ ให้สามารถเข้ามาจอง Booking ก่อนในแอปพลิเคชัน ตลอดจนขายคูปองล่วงหน้าในราคาพิเศษ

 

คำแนะนำถึงผู้ประกอบการ SMEs รายอื่นๆ

ท้ายนี้อนันต์ได้หยิบยกประสบการณ์ของตัวเองเพื่อเป็นคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ SMEs รายอื่นๆ ว่า

 

“เอาประสบการณ์จากครอบครัวผมก่อนแล้วกันนะครับ คือพวกผมเป็นพวกที่ผมมักจะเรียกตัวเองว่าเป็นครอบครัวที่ทำธุรกิจ คือเป็นครอบครัวมากกว่า ไม่ได้เอาธุรกิจนำทีเดียว ซึ่งการเป็นครอบครัวก็จะทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี รักใคร่กลมเกลียวกัน

 

“คุณพ่อผมซึ่งปัจจุบันอายุ 90 ปีแล้ว แกก็มีความสุข เห็นลูกๆ ได้ทำงาน คุยกัน อะไรกัน แกก็มีความสุข และครอบครัวผมก็มีความสุข เพราะว่าถ้าผมไม่มีพี่มีน้องทำงานด้วยผมก็ไม่เอานะ ผมก็ไม่ไหว เพราะคนเดียวมันสารพัดปัญหา แล้วถ้าเราคนเดียวผมก็ไม่เอา ผมก็ไม่ทำเหมือนกัน ผมบอกต้องมาช่วยกัน แล้วเวลาที่มีประเด็นหรือมีปัญหา มันใช้การถกคิด ทำให้เห็นปัญหารอบด้าน ความผิดพลาดใหญ่ๆ ก็ไม่เกิด”

 

ส่งเหล่านี้จะกลายเป็นประสบการณ์และความรู้ที่ถูกส่งต่อให้กับคนในครอบครัวหรือผู้บริหารรุ่นต่อไป ที่สามารถหยิบเอาเรื่องราวเหล่านี้มาเป็นแนวทางในการบริการงานที่จะทำให้ประสบความสำเร็จต่อไป

 

สำหรับคนทำธุรกิจ SMEs ที่กำลังมองหาเพื่อนทางธุรกิจที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุนในด้านต่างๆ สามารถลองเข้าไปอ่านข้อมูลและบทความอื่นๆ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจได้ที่ https://www.scb.co.th/th/sme-banking/articles/success-story-and-inspiration-case/nomjitt-Success-Stories-SCB-Branding-Campaign.html 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising