×

Nomadland (2020) ถอนพิษทุนนิยมและความโศกเศร้าด้วยอ้อมกอดของธรรมชาติ

03.07.2021
  • LOADING...
nomadland-2020

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • Nomadland สร้างจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงตามที่ได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือแนวสารคดีชื่อ Nomadland: Surviving America in the Twenty-First Century งานเขียนของ เจสสิกา บรูเดอร์ ซึ่งบอกเล่าสิ่งที่ต้องเรียกว่าเป็น ‘ปรากฏการณ์’ หลังภาวะฟองสบู่แตกช่วงปลายทศวรรษ 2000 ที่คนรุ่นบูมเมอร์เรือนหมื่นเรือนแสน (หรือคนที่อายุเลขห้าและเลขหก) เลือกรูปแบบการใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายด้วยการตะลอนไปเรื่อยๆ บนรถอาร์วี (RV) หรือรถบ้านเคลื่อนที่ในดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลของอเมริกา และระหว่างนั้นก็หาเลี้ยงตัวเองด้วยหน้าที่การงานที่มีลักษณะชั่วครู่ชั่วยาม
  • การแสดงของแม็กดอร์มานด์ใน Nomadland เป็นตัวอย่างของคำจำกัดความที่ว่า ‘Acting Is Reacting’ โมเมนต์ที่น่าจดจำของหนังได้แก่หลายๆ ช่วงที่ตัวละครอยู่ในห้อมล้อมของธรรมชาติ และปฏิกิริยาตอบสนองของตัวละครบอกให้ผู้ชมรับรู้โดยไม่มีข้อกังขาว่า เธอค่อยๆ หลุดพ้นจากความโศกเศร้าที่เกาะกุม ผลิบานและงอกงามในแบบฉบับของตัวเธอ

 

ใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้หนังบุกเบิกตะวันตก น่าจะต้องเคยได้ดูผลงานขึ้นหิ้งของ จอห์น ฟอร์ด ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็น ‘หนึ่งในหนังตะวันตกที่ดีที่สุดเท่าที่สร้างกันมา’ เรื่อง The Searchers (1956) กระทั่งจดจำฉากเปิดและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากปิดอันสุดแสนคลาสสิกและไอคอนิกได้ไม่ลืมเลือน

 

นั่นคือภาพตัวเอกของเรื่องในช่วงหลังจากภารกิจตามหาหลานสาวที่ถูกพวกอินเดียนแดงจับตัวไปสิ้นสุดลง หนุ่มใหญ่ยืนเก้ๆ กังๆ อยู่ตรงเฉลียงด้านหน้าด้วยท่าทีลังเลว่าเขาควรจะเดินเข้าไปสังสรรค์กับเจ้าของบ้านหรือไม่ แต่สุดท้ายแล้วพระเอกของเราก็เหมือนจะรู้ตัวว่าเขาเป็นส่วนเกินของประชาคมแห่งนี้ และเลือกที่จะหันหลังกลับคืนสู่อ้อมกอดของพื้นที่อันรกร้างของตะวันตกแดนเถื่อนท่ามกลางแสงแดดเจิดจ้า (ซึ่งตัดกันอย่างสิ้นเชิงกับบรรยากาศมืดทึมภายใน) อย่างเดียวดาย จากนั้น กล้องที่ตั้งอยู่ด้านในตัวบ้านก็สิ้นสุดเรื่องทั้งหมดด้วยภาพบานประตูถูกปิดตามหลังตัวละคร

 

นับเนื่องจนถึงตอนนั้น อย่างหนึ่งที่ผู้ชมสรุปได้แน่ชัดก็คือ ตัวละครอย่าง อีธาน เอ็ดเวิร์ดส์ (จอห์น เวย์น) เป็นคนจำพวกที่จนแล้วจนรอด ไม่อาจจะหลอมรวมหรือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือชุมชนใด และต้องใช้ชีวิตกลางแจ้งอย่างคนที่ถูกสาปให้ต้องรอนแรมไปเรื่อยๆ ‘ในท่ามกลางสายลม’

 

ช่วยไม่ได้หากใครจะเชื่อมโยงหนังเรื่อง Nomadland ของ โคลอี เจา ซึ่งเพิ่งชนะรางวัลออสการ์หนังยอดเยี่ยมเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านพ้นไป กับ The Searchers ของ จอห์น ฟอร์ด ด้วยเหตุที่มันบอกเล่าเรื่องราวของคนจำพวกเดียวกัน นั่นคือ ‘ชนเผ่า’ ที่เลือกหนทางวิถีของการร่อนเร่พเนจรไปเรื่อยๆ และไม่สามารถหยั่งรากฝังลึก ณ แห่งหนไหนได้อย่างถาวร

 

หรืออันที่จริง ช็อตเริ่มต้นและช็อตรองสุดท้ายของหนังเรื่อง Nomadland ก็ได้รับอิทธิพลจากช็อตเปิดและช็อตปิดของ The Searchers กล้องที่จับภาพจากด้านในโกดังและตัวบ้านที่มืดทึม มองเห็นตัวละครด้านนอกแต่เพียงลำพังในท่ามกลางฉากหลังซึ่งเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล และขณะที่พล็อตหลักของ The Searchers ว่าด้วยตัวละครที่สืบเสาะการมีชีวิตอยู่ของหลานสาวตัวเอง แต่ยิ่งเวลาผ่านพ้นไป คนดูก็เริ่มเชื่อมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า จุดประสงค์แท้จริงของการแกะรอยครั้งนี้ก็เพื่อฆ่าเธอทิ้งเพราะถือว่าสายเลือดคนขาวอันบริสุทธิ์ของเธอสกปรกและแปดเปื้อนไปแล้ว

 

ไม่มากไม่น้อย ชื่อหนังของ จอห์น ฟอร์ด ก็ไม่ได้มีความหมายทางกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่ลึกๆ แล้วมันคือการพาผู้ชมไปสำรวจห้วงคิดคำนึงของตัวละคร และพร้อมๆ กันนั้นก็ค้นหาแสงสว่าง (อันแสนริบหรี่) ในท่ามกลางสภาพจิตใจที่ปกคลุมด้วยเมฆหมอกของความเคียดแค้นอย่างขมุกขมัว

 

 

ว่าไปแล้ว สภาพจิตใจของของเฟิร์น (ฟรานเซส แม็กดอร์มานด์) ตัวเอกของหนังเรื่อง Nomadland ก็หม่นมืดและหม่นมัวพอกัน แม้ว่าจะด้วยเหตุผลคนละอย่างโดยสิ้นเชิง

 

ข้อความตัวหนังสือในช่วงเปิดเรื่องบอกให้รู้ว่า เหมืองยิปซัมที่เธอและสามีทำงานมาตลอดทั้งชีวิตต้องปิดตัวลง อันเป็นผลพวงจากวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ในปี 2008 เหตุการณ์ดังกล่าวนำพาให้ชุมชนเล็กๆ ที่พึ่งพาการดำรงอยู่ของกิจการดังกล่าวต้องพลอยปิดฉากไปด้วย แต่นั่นก็เป็นเพียงครึ่งเดียวของความหนักอึ้งที่เจ้าตัวต้องแบกรับ อีกหนึ่งได้แก่การสูญเสียคนรักจากความเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไม่หวนคืน และทั้งหลายทั้งปวงก็นำพาให้ผู้หญิงวัยเลยเกษียณอย่างเธอ ผู้ซึ่งไม่รู้สึกยึดโยงกับอะไรอีกแล้ว เริ่มต้นเฟสสุดท้ายของชีวิตด้วยการซื้อรถแวนคันเก่า และใช้ชีวิตที่ไม่ต้องผูกมัดตามแบบฉบับของนักร่อนเร่พเนจร โดยอัตโนมัติ การออกเดินทางของตัวละครก็คือกระบวนการประคบประหงมสภาวะจิตใจที่บอบช้ำ

 

สมมติเล่นๆ ว่าสิ่งที่หนังของ โคลอี เจา บอกเล่าเป็นเรื่องที่เสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นจากจินตนาการ คุณค่าของมันก็คงจะเป็นเพียงแค่ดราม่าส่วนบุคคล ซึ่งดีกรีของความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงของผู้ชมก็คงเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน หมายความว่าใครเก็บเกี่ยวหรือถอดบทเรียนอะไรได้แค่ไหนก็แค่นั้น 

 

 

ข้อเท็จจริงที่ชวนให้ฉงนสนเท่ห์อย่างยิ่งยวดก็คือ หนังเรื่อง Nomadland สร้างจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงตามที่ได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือแนวสารคดีชื่อ Nomadland: Surviving America in the Twenty-First Century งานเขียนของ เจสสิกา บรูเดอร์ ซึ่งบอกเล่าสิ่งที่ต้องเรียกว่าเป็น ‘ปรากฏการณ์’ หลังภาวะฟองสบู่แตกช่วงปลายทศวรรษ 2000 ที่คนรุ่นบูมเมอร์เรือนหมื่นเรือนแสน (หรือคนที่อายุเลขห้าและเลขหก) เลือกรูปแบบการใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายด้วยการตะลอนไปเรื่อยๆ บนรถอาร์วี RV หรือรถบ้านเคลื่อนที่ในดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลของอเมริกา และระหว่างนั้นก็หาเลี้ยงตัวเองด้วยหน้าที่การงานที่มีลักษณะชั่วครู่ชั่วยาม

 

หรือพูดง่ายๆ มันเป็นวิถีชีวิตที่หันหลังให้กับการสั่งสมความมั่งคั่งร่ำรวย ซึ่งเป็นระบบนิเวศพื้นฐานของอเมริกามาต่อเนื่องยาวนาน ในแง่หนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นนับเป็นปฏิกิริยาโต้กลับ หรือบางทีอาจจะเรียกว่ากระบวนการเยียวยาตัวเองของคนรุ่นลุงป้า ที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยเป็นม้าศึกที่ช่วยขับเคลื่อนให้เครื่องจักรทุนนิยมอันมหึมาทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทว่าจนแล้วจนรอด สิ่งที่ได้รับเป็นการตอบแทนก็คือการถูกระบบอันโหดเหี้ยมเลือดเย็นบดขยี้และคายทิ้งอย่างไม่ใยดี

 

ฉากที่ชาว ‘นอแมด’ หลายคนแชร์ประสบการณ์รอบกองไฟถึงเหตุผลที่นำพาให้พวกเขาใช้ชีวิตแบบคนไม่มีราก อธิบายห้วงคิดคำนึงและความมุ่งหวังของนักพเนจรได้อย่างเป็นรูปธรรม ว่าไปแล้ว นี่เป็นเสมือนโอกาสสุดท้ายที่พวกเขาได้ใช้ชีวิตตามที่หัวใจปรารถนา และไม่ใช่การตรากตรำงานหนักจนหมดสภาพหรือแม้กระทั่งถึงแก่ความตาย

 

แต่ก็นั่นแหละ สิ่งที่นับเป็นแก่นสารของหนังก็ไม่ใช่เรื่องลึกล้ำหรือแปลกใหม่ และมันแอบแฝงจิตวิญญาณของหนังอเมริกันยุค 1970 ที่มักจะบอกเล่าเนื้อหาว่าด้วยการต่อต้านสถาบัน ตลอดจนการแสวงหาความหมายทางจิตวิญญาณของตัวละคร (ข้อน่าสังเกตก็คือ คนหนุ่มสาวตอนนั้นก็คือคนเจเนอเรชันเดียวกับลุงป้าในหนังเรื่องนี้นั่นเอง) เอาเข้าจริงๆ แล้ว กับดักหรือความท้าทายจริงๆ ของคนทำหนังเป็นเรื่องของแท็กติกและกลวิธีในการบอกเล่า

 

This image released by Searchlight Pictures shows writer-director Chloé Zhao, from left, director of photography Joshua James Richards and actress Frances McDormand on the set of “Nomadland.” (Searchlight Pictures via AP)

 

หมายความว่าด้วยซับเจกต์ที่ถูกสื่อสารนับครั้งไม่ถ้วน หนังของ โคลอี เจา ก็แทบไม่หลงเหลือทางเลือกที่หลากหลายให้ก้าวเดิน เป็นไปได้ว่าถ้าคนทำหนัง ‘มือหนัก’ เกินไป ผลลัพธ์ก็อาจกลายเป็นการเทศนาสั่งสอนคนดู หรือหนังที่มาพร้อมกับวาระทางการเมือง หรือกลับกัน ถ้าคนทำหนัง ‘มือเบา’ หรือลดราวาศอกให้กับการเผชิญหน้ากับความถมึงทึงของชีวิต มันก็เสี่ยงกับข้อกล่าวหาโลกสวย หลงละเมอเพ้อพก หรือแม้กระทั่ง ‘โรแมนติไซส์’ ความเป็นจริงอันแสนโหดร้าย

 

ส่วนที่นับว่าน่าทึ่งก็ตรงที่หนังของ โคลอี เจา เอาตัวรอดจาก ‘การหนีเสือปะจระเข้’ หรือสถานการณ์ที่ถูกบีบให้ต้องเลือกระหว่างเดินไปซ้ายหรือขวาได้อย่างแยบยล ด้วยสไตล์การนำเสนอแบบมินิมัลลิสต์ ซึ่งไม่ได้ผูกติดกับการเล่าเรื่องอย่างหมกมุ่น หรือว่ากันตามจริง เส้นเรื่องของหนังเรียวบางมากๆ และหลายครั้งข้อมูลที่เรียงร้อยก็มีลักษณะละไว้ในฐานที่เข้าใจ (ผ่านการลำดับภาพแบบ Jump Cut) และผู้ชมต้องลากเส้นประเพื่อปะติดปะต่อและเชื่อมโยงเอาเอง

 

กระนั้นก็ตามกลไกด้านภาพและเสียง (และดนตรีประกอบ) ก็กลับทำงานร่วมกันอย่างสอดประสานกลมกลืน และผลลัพธ์ที่ปรากฏเบื้องหน้าก็ทำให้พูดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากบอกว่ามันสละสลวย คล้องจองและหมดจดงดงามราวกับบทกวี ข้อสำคัญ สิ่งละอันพันละน้อยไม่ได้ทำงานกับผู้ชมในระดับโสตทัศน์เพียงลำพัง ทว่ามันยึดกุมผู้ชมในระดับของความนึกคิดและจิตวิญญาณ ไม่มากไม่น้อย นั่นนำพาให้ในท้ายที่สุดแล้ว การค้นหาและค้นพบของตัวละครก็กลายเป็นการค้นหาและค้นพบของผู้ชมด้วยเช่นกัน ตัวละครได้รับการปลอบประโลมอย่างไร ผู้ชมก็เหมือนกับได้รับสิ่งเดียวกัน

 

อีกอย่างหนึ่งที่ควรระบุอย่างเป็นกิจจะลักษณะได้แก่การที่ผู้สร้างไม่เคยเบือนหน้าหนีจากความเป็นจริง เฟิร์นอาจจะเป็นตัวละครที่ โคลอี เจา อุปโลกน์ขึ้น ทว่าผู้ชมน่าจะสังหรณ์ได้ไม่ยากว่าผู้คนที่รายล้อมตัวเอก อย่าง บ็อบ เวลส์ ผู้ซึ่งเปรียบเสมือนศาสดาพยากรณ์ของชนเผ่าเร่ร่อน สแวงกี คุณป้านักพายเรือคายัก และ ลินดา เมย์ เพื่อนรักของเฟิร์น (ซึ่งทั้งหมดล้วนใช้ชื่อจริง) เป็นคาแรกเตอร์ที่ไม่ได้ห่างไกลไปจากชีวิตในท่ามกลางสายลมแสงแดดของพวกเขาเท่าไรนัก แม้ว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังจะเป็นเรื่องที่ผูกขึ้นก็ตาม และความที่ผู้ชมบอกไม่ได้ว่าเส้นแบ่งระหว่างเรื่องแต่งกับความเป็นจริงเริ่มต้นและสิ้นสุดตรงไหน ก็ยิ่งทำให้โลกในหนังเรื่อง Nomadland ไม่ได้อยู่ห่างไกลจากโลกของคนดู

 

 

แล้วก็มาถึง ฟรานเซส แม็กดอร์มานด์ ซึ่งคว้าออสการ์นักแสดงนำหญิงไปครองครั้งที่ 3 อย่างหนึ่งที่มองเห็นได้จะแจ้ง เฟิร์นเป็นคาแรกเตอร์ที่ตรงข้ามอย่างชนิดสีขาวสีดำกับบทแม่ผู้ทวงความยุติธรรมให้กับลูกสาวผู้วายชนม์ในหนังเรื่อง Three Billboards Outside Ebbing, Missouri นอกจากจะไม่หลงเหลือความกราดเกรี้ยวดุดัน ผู้ชมยังสัมผัสได้ถึงความอ่อนไหวอ่อนโยน ความไม่เหมือนกันอีกอย่างก็คือ หนังของ โคลอี เจา ไม่ได้ถูกออกแบบให้นักแสดงได้โชว์ออฟแต่อย่างใด มวลของอารมณ์ของหนังเกิดขึ้นอย่างสั่งสมและค่อยเป็นค่อยไป หรือว่ากันตามจริงแล้ว การแสดงของแม็กดอร์มานด์ใน Nomadland เป็นตัวอย่างของคำจำกัดความที่ว่า ‘Acting Is Reacting’ โมเมนต์ที่น่าจดจำของหนังได้แก่หลายๆ ช่วงที่ตัวละครอยู่ในห้อมล้อมของธรรมชาติ และปฏิกิริยาตอบสนองของตัวละครบอกให้ผู้ชมรับรู้โดยไม่มีข้อกังขาว่า เธอค่อยๆ หลุดพ้นจากความโศกเศร้าที่เกาะกุม ผลิบานและงอกงามในแบบฉบับของตัวเธอ

 

เรื่องน่าเสียดายประการหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือ Nomadland เป็นหนังที่ชนะออสการ์หนังยอดเยี่ยมเรื่องแรกในรอบ 36 ปีที่ (ยัง) ไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเรา และกลายเป็นว่าพวกเราต้องดูผ่านสตรีมมิง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดตอนนี้ แต่พูดอย่างไม่ต้องอ้อมค้อม หนังเรื่อง Nomadland ก็เป็นอย่างที่ ฟรานเซส แม็กดอร์มานด์ ในฐานะโปรดิวเซอร์ พูดไว้ตอนที่เธอขึ้นรับรางวัล นี่เป็นหนังที่ทุกคนควรได้ยลโฉมบนจอภาพที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

 

 

เหตุผลก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ภาพยนตร์ไม่ได้เป็นเพียง ‘คอนเทนต์’ ทางด้านภาพและเสียง อรรถรสของมันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับช่องทางการรับชม และ Nomadland ก็เป็นหนังที่ให้ความสำคัญกับความครบถ้วนสมบูรณ์ของภาพและเสียง ความใหญ่โตของจอภาพ สมาธิอันต่อเนื่องของการชม ประสบการณ์ร่วมของคนดู บรรยากาศแวดล้อมที่เอื้ออำนวย หรือสรุปง่ายๆสั้นๆ มันถูกออกแบบมาให้พวกเราดื่มด่ำซึมซับคุณค่าอันแสนวิเศษในโรงภาพยนตร์

 

ซึ่งก็ได้แต่แอบหวังลึกๆ ว่าโอกาสเช่นนั้นจะยังคงไม่หลุดลอย

 

 

ป.ล. Nomadland สตรีมทางช่อง Disney+ Hotstar หรือสามารถเช่าชมเฉพาะเรื่องทาง Google Play และ Apple TV

 

Nomadland (2020)

กำกับ-โคลอี เจา
ผู้แสดง-ฟรานเซส แม็กดอร์มานด์, เดวิด สเตแธม, ลินดา เมย์, บ็อบ เวลส์, ฯลฯ

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X