รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ส่งสัญญาณว่า จะไม่นำเข้าเครื่องในหมูจากสหรัฐฯ มาเพิ่ม เหตุไม่เข้าข่ายสินค้าขาดแคลน ต่างจากข้าวโพดที่ไทยนำเข้าสุทธิ หลังกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูยื่นหนังสือขอความเห็นใจ
พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาแก้ไขปัญหากำแพงภาษีกับสหรัฐอเมริกา ส่งสัญญาณว่าจะไม่นำเข้าเครื่องในหมูจากสหรัฐฯ เพิ่ม เนื่องมาจากปัจจุบันการผลิตหมูในไทยเหลือจนสามารถส่งออกได้ ไม่ขาดแคลน แตกต่างจากข้าวโพดที่เป็นสินค้าที่ไทยขาดแคลน (Net Importer)
“หมูในไทยต้องกินอาหารสัตว์ แต่เนื่องจากอาหารสัตว์ในไทยไม่ได้ถูกเท่าไหร่ ทำให้ต้นทุนหมูในไทยแพงหน่อย การเลี้ยงหมูในไทยก็มีจำนวนไม่มากเท่าสหรัฐฯ Economy of Scale ไม่ได้ ต้นทุนเลยแพงกว่า นอกจากนี้หมูในประเทศไทยก็ไม่ขาดแคลนและมีเหลือนิดหน่อยพอส่งออกด้วยซ้ำ จึงไม่เข้าเงื่อนไขเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้ามาเพิ่ม” พิชัยกล่าว หลังจากการประชุมหารือแนวทางการดำเนินการของไทยต่อกรณีนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมการประชุม เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568
นอกจากนี้ พิชัยยังกล่าวอีกว่า แม้การนำเข้าหมูจากสหรัฐฯ ที่มีราคาถูกกว่าเข้าประเทศไทยผลประโยชน์จะตกอยู่กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจว่า ความเป็นประเทศไทย มีทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคไทยมีจำนวนเยอะ ถ้าผู้บริโภคกินหมูในราคาถูกลงแม้เล็กน้อย ก็อาจทำให้ผู้ผลิตได้รับผลกระทบไปหมดเลยได้ รัฐบาลจึงต้องเลือกยังไม่นำเข้า แต่ต้องค่อยๆ พัฒนาให้ผู้ผลิตไทยมีขีดความสามารถมากขึ้น เพื่อให้ต้นทุนถูกลง และพร้อมที่จะขายในประเทศและส่งออกไปได้
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกว่า 1,000 คน เดินทางไปยังกระทรวงการคลังและหอการค้าไทยฯ ยื่นหนังสือขอความเห็นใจ เหตุห่วงว่า รัฐบาลไทยเตรียมเจรจาเปิดทางนำเข้าเครื่องในหมูจากสหรัฐฯ ซึ่งจะกระทบอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู และห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดที่มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องจาก กฎหมายสหรัฐฯ ไม่ห้ามการใช้สารเร่งเนื้อแดง หากผู้บริโภครับประทานเนื้อสัตว์หรือเครื่องในที่มีสารตกค้างดังกล่าว จะมีผลเป็นความเสี่ยงต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ และแม้จะนำเข้ามาเพื่อผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงกลุ่มสุนัขและแมว ก็ไม่เป็นผลดีกับสุขภาพสัตว์เลี้ยง และอาจเกิดข้อจำกัดในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปตามมา
ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ไม่รับประทานเครื่องในหมู ยกเว้นไส้และกระเพาะ ที่นำไปทำไส้กรอก สตู หรือเป็นส่วนประกอบของยา ดังนั้นอาจเกิดเหตุที่ผู้ผลิตสหรัฐฯ นำเครื่องในหมูมาทุ่ม (Dump) ทิ้งในเมืองไทย ทำให้ราคาเครื่องในหมูตกต่ำลง จนส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต
ภาพ: AThonglor / Shutterstock