สำนักข่าว BBC รายงานว่า วิน เทง หนึ่งในผู้นำอาวุโสของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของเมียนมา และเป็นผู้สนับสนุน ออง ซาน ซูจี ถูกนำตัวมายังกรุงเนปิดอว์โดยกำลังตำรวจและทหาร โดยหลังเกิดการรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เขาได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อโดยวิจารณ์กองทัพและพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดหลายครั้ง
โดย BBC ภาคภาษาเมียนมาได้สัมภาษณ์วิน เทง ทางโทรศัพท์ในช่วงเช้ามืด ซึ่งเขาบอกว่ากำลังถูกนำตัวมายังกรุงเนปิดอว์ และบอกว่าเขากำลังถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับการยุยงปลุกปั่น ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิต แม้ว่าเขาจะไม่ได้รับแจ้งข้อกล่าวหาที่แน่ชัดก็ตาม
“พวกเขาไม่ชอบเกี่ยวกับสิ่งที่ผมกำลังพูด พวกเขากำลังกลัวในสิ่งที่ผมกำลังพูด” เขาระบุ
ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวของการทำอารยะขัดขืนในเมียนมาก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีการชุมนุมของคณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่บริเวณภายนอกมหาวิทยาลัยดากองในเมืองย่างกุ้งในช่วงบ่ายวันศุกร์ (5 กุมภาพันธ์) เพื่อแสดงพลังสนับสนุน ออง ซาน ซูจี ที่ไม่ปรากฏตัวตั้งแต่วันจันทร์ที่เกิดเหตุรัฐประหาร และคาดว่าถูกควบคุมตัวอยู่ในบ้าน กลุ่มผู้ชุมนุมยังชูสัญลักษณ์สามนิ้วเพื่อต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการ ติดริบบิ้นสีแดงซึ่งเป็นสีประจำพรรค NLD ของซูจี รวมถึงตะโกนว่า ‘Long Live Mother Suu’ หรือ ‘แม่ซูจงเจริญ’ อีกด้วย
“เราจะไม่ยอมให้คนในรุ่นของพวกเราต้องทนทุกข์ภายใต้เผด็จการทหารเช่นนี้” มิน สิธุ นักศึกษารายหนึ่งระบุกับสำนักข่าว AFP ขณะที่ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา มีผู้ถูกจับกุม 4 ราย จากการประท้วงบนท้องถนนที่หน้ามหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งในเมืองมัณฑะเลย์
นอกจากนี้ยังมีการประท้วงอีกจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นในหลายส่วนของเมียนมา มีประชาชนในบางเมืองรวมถึงนครย่างกุ้งได้ทำการประท้วงโดยการเคาะหม้อและกระทะ รวมถึงร้องเพลงเกี่ยวกับการปฏิวัติ และมีการจัดแฟลชม็อบในเวลากลางวัน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ ครู และข้าราชการก็จัดการประท้วงย่อยๆ รวมถึงนัดหยุดงานประท้วง และยังคงสวมใส่สัญลักษณ์ที่แสดงการไม่ยอมรับการรัฐประหาร เช่น ริบบิ้นสีแดงด้วย
ผู้คนจำนวนมากยังใช้พื้นที่โลกออนไลน์ในการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร โดยแม้กองทัพจะสั่งแบนการใช้งาน Facebook เป็นการชั่วคราวเมื่อวันพฤหัสบดี แต่พลเมืองเมียนมาจำนวนมากก็หันไปใช้แพลตฟอร์มอื่น เช่น Twitter และ Instagram ขณะที่ Twitter เองปฏิเสธที่จะให้ความเห็นหลังสำนักข่าว BBC สอบถามไปว่าพบเห็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้ใหม่หรือจำนวนการทวีตหรือไม่
ขณะที่ปฏิกิริยาในระดับโลก หลังจากโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกร้องให้กองทัพ ‘สละอำนาจ’ และปล่อยตัวเจ้าหน้าที่และนักเคลื่อนไหวที่ถูกควบคุมตัว พร้อมขู่คว่ำบาตรเมียนมาอย่างรุนแรง ล่าสุดคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ออกแถลงการณ์แสดงความ ‘กังวลอย่างยิ่ง’ ต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเมียนมาและการควบคุมตัวสมาชิกในคณะรัฐบาล ซึ่งรวมถึงซูจี และประธานาธิบดีวิน มินต์ พร้อมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยทันที
แถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุถึงความต้องการในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแสดงความกังวลต่อข้อจำกัดของภาคประชาสังคม ผู้สื่อข่าว และคนทำงานด้านสื่อ แสดงความสนับสนุนองค์กรในระดับภูมิภาคโดยเฉพาะอาเซียน และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ไขต้นตอของวิกฤตในรัฐยะไข่ และสร้างเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการเดินทางกลับของผู้พลัดถิ่นอย่างปลอดภัย สมัครใจ ยั่งยืน และสง่างามด้วย ทว่าสำนักข่าว Nikkei ระบุว่าถ้อยคำในแถลงการณ์ดังกล่าวได้ถูกปรับให้มีความอ่อนลง โดยไม่ได้การประณามการรัฐประหาร เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากจีนและรัสเซีย
ภาพ: Myat Thu Kyaw / NurPhoto via Getty Images
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: