วันนี้ (16 มกราคม) นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงเอกสารที่มีการเผยแพร่ว่าเป็นรายงานของคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของ ป.ป.ช. ที่เตือนคณะรัฐมนตรีว่าโครงการเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญนั้น
เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ไม่ใช่ความเห็นของ ป.ป.ช. และไม่ทราบว่ามาจากหน่วยงานใด หรือเป็นความเห็นของคณะทำงานที่รวบรวมความเห็นเพื่อเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่หรือไม่ แต่หากเป็นความเห็นของ ป.ป.ช. จะต้องผ่านมติของกรรมการฯ เท่านั้น ซึ่งตอนนี้คณะกรรมการยังไม่มีความเห็นใดๆ เกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องรอคณะกรรมการแต่ละคนส่งความเห็นสรุปกลับมา ก่อนจะมีมติและส่งความเห็นกลับมาให้รัฐบาล
เอกสารระบุดิจิทัลวอลเล็ตเสี่ยงทุจริตเชิงนโยบาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารดังกล่าวที่เผยแพร่มีข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. จากข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลที่ควรพิจารณาหลายประเด็น เช่น
ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย: เนื่องจากเงื่อนไขการแจกเงินไม่ตรงตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายตอนหาเสียง จากเดิม 4 แหล่ง โดยการบริหารงบประมาณมาเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยการอ้างเหตุวิกฤตเศรษฐกิจ และเงื่อนไขในการแจกเงินเปลี่ยนไป
ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ: รัฐบาลดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล ดังนั้นภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็น ตลอดจนผลกระทบ กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือ และภาระทางการเงินการคลังในอนาคต
ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย: จากข้อมูลประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ได้ผลสรุปชัดเจนแล้วว่าสภาวะเศรษฐกิจยังไม่เข้าข่ายวิกฤต โดยมีการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจจะขยายตัวในช่วง 2566-2568 ในระดับปานกลาง
ดังนั้นรัฐบาลจะตรา พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อมาดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเพียงครั้งเดียว จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ มิฉะนั้นจะมีความเสี่ยงที่จะผิดเงื่อนไขมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
อ้างอิง: