×

ทำไม ‘นิสสัน’ ยุบไลน์ผลิตในไทยเหลือโรงงานเดียว ตามรอยฮอนด้า ‘EV จีน’ ฟาดแบรนด์ญี่ปุ่นวิ่งสู้ฟัด ปรับทัพเพื่อความอยู่รอด?

17.02.2025
  • LOADING...
nissan-thailand-factory

หลังจากที่นิสสันตัดสินใจยุติการควบรวมกิจการกับฮอนด้า มอเตอร์ และพยายามพลิกฟื้นธุรกิจ ล่าสุดทั่วโลกจับตาการปรับทัพของค่ายรถยนต์ ‘นิสสัน’ อีกครั้ง เมื่อประธานและซีอีโอนิสสัน มอเตอร์ ประกาศ ‘รัดเข็มขัด’ ครั้งใหญ่ ตั้งเป้าหมาย ‘ลด’ เริ่มตั้งแต่ ค่าใช้จ่าย 1 แสนล้านเยน หรือประมาณ 2.19 หมื่นล้านบาท 

 

ลดพนักงานทั้งหมด 9,000 คน ทั้งในส่วนของออฟฟิศและโรงงาน ลดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงลง 20% ลดกำลังการผลิตลง 1 ล้านคัน ด้วยการปิดโรงงาน 3 แห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงโรงงานหนึ่งแห่งในประเทศไทย

 

ตลอดจนวางแผนลดจุดคุ้มทุนของธุรกิจยานยนต์ในด้านปริมาณการผลิตลงเหลือ 2.5 ล้านคัน เทียบกับปัจจุบันที่ 3.1 ล้านคัน

 

มาโกโตะ อูชิดะ ซีอีโอของนิสสัน

 

โดย มาโกโตะ อูชิดะ ซีอีโอของนิสสัน ย้ำชัดว่า “แม้ปริมาณการขายของเราจะอยู่ที่ 3 ล้านคัน ไม่รวมยอดขายในจีน ก็เพียงพอที่จะสร้างผลกำไรได้”

 

อย่างไรก็ตาม หากดูจากแผนปรับธุรกิจนิสสันจะมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ มุ่งปรับทัพไปในทิศทางผลิตรถยนต์ใหม่ เช่น รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า(EV) รวมถึงการปรับปรุงรถยนต์มินิแวนที่ได้รับรางวัล และจะเสริมทัพด้วยรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ในตลาดจีน เพื่อให้สอดรับกับความต้องการที่หลากหลาย และสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในอนาคต 

 

จับตานิสสัน ประเทศไทย ปรับทัพใหญ่ ยัน ‘ไม่ปิดโรงงาน แต่ปรับไลน์ผลิตเหลือโรงงานเดียว’

 

สำหรับนิสสัน ประเทศไทย ก็เดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดต้นทุน เตรียมปรับโครงสร้างธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมยุบโรงงานแห่งแรกในไทยที่ อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ให้เหลือการผลิตที่โรงงานที่ 2 แห่งเดียว ภายในปี 2568

คำชี้แจงจากนิสสัน ประเทศไทย

 

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ตามที่นิสสัน มอเตอร์ ประกาศปิดโรงงานรถยนต์ 3 แห่งในตลาดสหรัฐอเมริกาและไทยตามนโยบายแผนฟื้นฟูกิจการ และโรงงานไทยปิดโรงงานที่ 1 มองว่าเป็นการปรับย้ายไลน์ผลิตให้เหมาะสมกับตลาดปัจจุบัน

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

โดยคาดว่านิสสัน ประเทศไทย โรงงานแห่งที่ 1 จะมีการปรับเปลี่ยนไปเป็นโรงงานขึ้นรูปและประกอบตัวถังและโลจิสติกส์ และนำไลน์ผลิตรถยนต์ไปรวมกับโรงงานแห่งที่ 2 

 

เบื้องต้นหลังจากนี้ โรงงานแห่งที่ 2 จะมีการผลิตรถยนต์นิสสันรุ่น NAVARA, TERRA, ALMERA และ KICKS หมายความว่าไปรวมกับโรงงานผลิตรถกระบะโรงงานเดียว

 

“การปรับทัพของนิสสัน ประเทศไทย คล้ายกับเหตุการณ์ปีที่แล้วที่ฮอนด้ายุบไลน์ผลิตที่อยุธยาไปปราจีนบุรี น่าจะไม่มีผลกับแรงงาน ไม่น่าจะมีประเด็นการตกงาน เพียงแต่ปรับไลน์การผลิตเพื่อแข่งขันกับ EV จีนและไฮบริด และเพื่อลดต้นทุนมากกว่า”

 

ทั้งนี้ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีโรงงานที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งผลิตและประกอบรถยนต์นั่งและรถกระบะจำนวน 2 โรงงาน กำลังผลิตรวม 370,000 คันต่อปี แบ่งเป็นโรงงานที่ 1 กำลังผลิต 220,000 คันต่อปี และโรงงานที่ 2 มีกำลังผลิต 150,000 คันต่อปี

 

กระทั่งล่าสุดมีการลงทุนโรงงาน นิสสัน พาวเวอร์เทรน ประเทศไทย (Nissan Powertrain Thailand-NPT) เป็นโรงประกอบแบตเตอรี่สำหรับเครื่องยนต์แบบอี-พาวเวอร์ ซึ่งถือเป็นสายการประกอบแห่งแรกนอกประเทศญี่ปุ่น และเป็น 1 ในโรงงานนิสสัน 4 แห่งทั่วโลกที่ประกอบแบตเตอรี่สำหรับระบบขับเคลื่อนอี-พาวเวอร์อีกด้วย

 

“การยุบรวมไปโรงงานเดียว ผมมองว่าก็เป็นเรื่องที่ดี ที่จะปรับไลน์ผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดโลก ทำให้ธุรกิจแข่งขันได้ ซึ่งนิสสันอยู่คู่กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมานาน โดยเฉพาะรถกระบะก็ขายดี และจริงๆ แล้วนิสสันไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นพัฒนารถไฟฟ้า EV ซึ่งนิสสันพัฒนารุ่น LEAF เป็นเจ้าแรกของบรรดาค่ายรถญี่ปุ่นด้วยซ้ำไป

 

ฉะนั้นหากย้อนดูแผนการปรับธุรกิจของนิสสัน ได้เตรียมเข้าสู่วงการรถ EV อย่างเต็มตัวมานานแล้ว ซึ่งปีที่แล้วประกาศว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่จากนิสสันมากถึง 19 รุ่น ภายในปี 2030 ซึ่งอยู่ในกลยุทธ์ Nissan Ambition 2030 และต้องการชิงส่วนแบ่งการตลาดรถ EV รวมถึงไทยที่พร้อมจะผลิตรุ่นไฮบริด เพราะตลาดในเมืองไทยเองก็ขายดีถึงสองเท่า

 

ยอดขายรถยนต์ในไทย

ภาพประกอบ: ยุทธพล ธไนศวรรย์

 

ยอดขายรถญี่ปุ่นร่วงทุกค่าย สวนทาง EV จีน

 

อย่างไรก็ตาม หากดูจากยอดขายและภาพรวมตลาดรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นปีที่ผ่านมา ก็จะพบว่าค่ายรถแบรนด์ญี่ปุ่นยอดขายร่วงทุกค่าย (ดังกราฟิก) หรือแม้แต่ปีที่แล้วบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น 2 แห่ง ประกาศหยุดสายการผลิตรถยนต์ในไทย 

 

โดย บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปิดโรงงานภายในสิ้นปี 2568 เพราะมีปัญหายอดขาย และการเข้ามาทำตลาดของ EV จีน

 

ขณะที่ บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศหยุดการผลิตรถยนต์ในไทยไปแล้วในปี 2567 เพราะผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่องทุกปี 

 

ส่วนผู้นำในตลาดรถยนต์รายใหญ่อย่างฮอนด้า ก็ปรับไลน์ผลิตยุบโรงงานที่อยุธยาไปรวมที่ปราจีนบุรี 

 

ขณะที่นิสสันก็ไม่หยุดนิ่ง นอกจากปรับเหลือโรงงานเดียว ปีที่ผ่านมาก็พยายามปรับแผนธุรกิจ ประกาศร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในจีน เตรียมพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อตีตลาดจีนและส่งออก 

 

อย่างไรก็ดี สำหรับนิสสัน ประเทศไทย ปักหมุดให้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถกระบะมากกว่า 100 ประเทศ ได้แก่ NISSAN TERRA และ NAVARA ซึ่งเป็นรุ่นที่ใช้มายาวนานในไทย และได้รับความนิยมจากความทนทานจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งบริษัทยืนยันว่าจะเข้ามาทำตลาดในไทยต่อเนื่อง

 

แบรนด์ญี่ปุ่น 5 ราย ดิ้นสู้! ลงทุน EV – ไฮบริดในไทย

 

ขณะที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น 5 ราย ขยายการลงทุนสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV), ไฮบริด ดังนี้ 

  • Toyota ลงทุน 5 หมื่นล้านบาท
  • Honda ลงทุน 5 หมื่นล้านบาท
  • Isuzu ลงทุน 3 หมื่นล้านบาท
  • Mitsubishi ลงทุน 2 หมื่นล้านบาท
  • ล่าสุด Mazda ลงทุน 5 พันล้านบาท ปักหมุดไทยเป็นฐานการผลิต B-SUV แบบ Mild Hybrid (MHEV)

 

“หลังจากนี้คาดว่านิสสัน ประเทศไทย จะออกมาแถลงแผนธุรกิจที่ชัดเจน ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป” สุรพงษ์กล่าว

 

ภาพ: Ian Forsyth / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising