×

‘นิสสัน’ ถึงจุดต่ำสุดในรอบ 25 ปี! ปิดโรงงาน 7 แห่ง ปลดคนงาน 2 หมื่นคน หลังขาดทุนยับ 4.5 พันล้านดอลลาร์

14.05.2025
  • LOADING...
นิสสัน

นิสสัน เตรียมปิดโรงงานผลิตรถยนต์ 7 แห่ง จากทั้งหมด 17 แห่งทั่วโลก ยอดขายสหรัฐฯ จีน ลดฮวบ หลังขาดทุนมหาศาล 4.5 พันล้านดอลลาร์ นับเป็นบททดสอบซีอีโอคนใหม่ที่เข้ามาบริหารท่ามกลางสงครามภาษีทรัมป์ อีกทั้งดีลควบรวมล้มไม่เป็นท่า ต้องสปีดปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เพื่อพลิกฟื้นรายได้ที่ขาดทุนเป็นประวัติการณ์รอบ 25 ปี หรือตั้งแต่ ปี 1999-2000

 

อีวาน เอสปิโนซา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอนิสสัน ผู้บริหารชาวเม็กซิกัน วัย 46 ปี กล่าวว่า นิสสันจะยุบรวมโรงงานหลายแห่งรวมถึงในประเทศไทย และย้ายการผลิตในอาร์เจนตินาไปที่บราซิล และบริษัทอยู่ระหว่างทบทวน ประเมินตลาดโลก รวมถึงญี่ปุ่นด้วย

 

เบื้องต้นจะปิด 7 โรงงาน ลดกำลังการผลิตต่อปีลงเหลือ 2.5 ล้านคัน จาก 3.5 ล้านคัน โดยไม่เปิดเผยว่าจะปิดโรงงานใดบ้าง

 

คำประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่บริษัทรายงานการขาดทุนสุทธิครั้งประวัติการณ์ โดยขาดทุน 670,000 ล้านเยน (4,500 ล้านดอลลาร์) หรือราว 1.48 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2024 

 

ส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทอยู่ที่ 69,800 ล้านเยน ลดลง 88% จากปีก่อน และบริษัทไม่จ่ายเงินปันผลใดๆ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

หากย้อนดูผลประกอบการสุทธิของบริษัทในปีงบประมาณ 2024 ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งบริษัทมีกำไรสุทธิ 426,600 ล้านเยน ตัวเลขที่ลดลงนั้นเกิดจากยอดขายที่ซบเซาในตลาดหลัก ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบสินทรัพย์ของบริษัทในอเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น

 

เอสปิโนซากล่าวว่า “ผลประกอบการทั้งปี เป็นการเตือนเรา และสะท้อนความจริงที่ว่า เรามีโครงสร้างต้นทุนที่สูงมาก ดังนั้นปีงบประมาณปัจจุบันจึงเป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านนิสสัน”

 

ทั้งนี้ บริษัทยังไม่ระบุเป้าหมายปีงบปัจจุบัน “เนื่องจากความไม่แน่นอนด้านภาษีสหรัฐฯ”

 

สำหรับนิสสันเดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ตั้งแต่การเลิกจ้างพนักงานทั่วโลก ปิดโรงงาน และยกเลิกแผนการลงทุน เลิกจ้างพนักงานเพิ่มอีก 11,000 คน หลังจากประกาศเลิกจ้างพนักงาน 9,000 คนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้พนักงานตกงานรวม 15% กระทบต่อพนักงานและผู้รับเหมาในภาคการผลิต การขาย และการบริหาร รวมถึงงานวิจัยและพัฒนา 

 

โดยการเลิกจ้างดังกล่าวเทียบได้กับแผนฟื้นฟูของนิสสันในช่วงปี 1999 หรือประมาณ 25 ปีที่แล้ว ซึ่งเคยเลิกจ้างพนักงาน 21,000 คน และปิดโรงงานในญี่ปุ่นหลังจากที่ประสบปัญหาทางการเงิน

 

ปัจจุบันบริษัทกำลังมองหา “โอกาสเพิ่มเติมในการลดต้นทุน และตั้งเป้าที่จะลดค่าใช้จ่าย 500,000 ล้านเยน ภายในเดือนมีนาคม 2027 รวมถึงการควบรวมโรงงาน

 

เอสปิโนซายอมรับว่า “โครงสร้างต้นทุน เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถดึงรายได้ในปัจจุบันกลับมา เพราะบริษัทมีเป้าหมายที่จะลดชิ้นส่วนยานยนต์และจัดระเบียบห่วงโซ่อุปทานใหม่รวมถึงพิจารณาการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในจีนไปยังประเทศอื่นๆ

 

เลี่ยงภาษีทรัมป์ เร่งปรับแผนปักฐานการผลิตในสหรัฐฯ 

 

อีกปัจจัยหลักที่นิสสันกำลังเผชิญ คืออุปสรรคจากนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ซึ่งกำหนดให้รถยนต์ที่ผลิตนอกสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทต้องเสียภาษี 25% 

 

ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายอื่นๆ ก็เผชิญชะตากรรมเดียวกัน ส่งผลให้ราคาหุ้นของนิสสันลดลงมากกว่า 20% ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งลดลงอย่างรวดเร็วกว่าคู่แข่ง มีการประเมินว่า หากไม่ปรับแผนรับมือภาษีทรัมป์ คาดว่าจะได้รับผลกระทบสูงถึง 450,000 ล้านเยน “เพราะนิสสันผลิตในญี่ปุ่นและเม็กซิโก”

 

รายงานข่าวระบุว่า เอสปิโนซาซึ่งรับตำแหน่งซีอีโอบริษัทนิสสันเมื่อเดือนที่แล้ว จะเน้นไปที่การหารือถึงความร่วมมือกับบริษัทนอกอุตสาหกรรมรถยนต์ แม้ว่านักลงทุนจะคาดหวังให้นิสสันควบรวมกิจการกับฮอนด้า มอเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมชาติ ซึ่งอดีตประธานบริษัทอย่าง มาโกโตะ อูชิดะ ยุติการเจรจาเรื่องการรวมกิจการในเดือนกุมภาพันธ์

 

เอสปิโนซากล่าวในการประชุมโต๊ะกลมกับสื่อครั้งก่อนว่า นิสสัน “ไม่มีข้อจำกัด” ในการสร้างความร่วมมือกับบริษัทอื่น เนื่องจากต้นทุนในการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับเทคโนโลยีการขับขี่อัจฉริยะและการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 

 

ในขณะเดียวกัน จุน เซกิ อดีตผู้บริหารของนิสสัน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่กับฟ็อกซ์คอนน์ ก็หวังที่จะสร้างความร่วมมือกับนิสสันเช่นกัน

 

ขณะเดียวกัน โทชิฮิโระ มิเบะ ประธานบริษัทฮอนด้า กล่าวในการแถลงข่าวอีกว่า การเจรจาใดๆ กับนิสสันเกี่ยวกับการควบรวมกิจการนั้น “ถูกรีเซ็ตเป็นศูนย์ และไม่มีความคืบหน้าใดๆ”

 

อย่างไรก็ตาม มิเบะกล่าวอีกว่า บริษัททั้งสองแห่งและมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ซึ่งเป็นพันธมิตรของนิสสัน ยังคงพิจารณาที่จะร่วมมือ “เชิงกลยุทธ์” 

 

เขาเสริมว่า “เรายินดีที่จะร่วมมือกับพันธมิตรหลายราย ตราบใดที่จะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าของนิสสันให้กลับมา

 

“การตัดสินใจดำเนินการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นการตัดสินใจที่เจ็บปวดและน่าเศร้ามาก เพราะดูจากมูลค่าของบริษัทยังคงไม่ยั่งยืน และหากเราไม่ทำอะไรสักอย่างตอนนี้ ปัญหาจะยิ่งแย่ลง” เอสปิโนซากล่าว

 

ภาพ: Anna Barclay / Getty images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising