×

ศาลพิพากษาจำคุก ‘นริศร ทองธิราช’ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ปมคลิปเสียบบัตรแทนกัน รวม 16 เดือน ไม่รอลงอาญา

โดย THE STANDARD TEAM
22.09.2022
  • LOADING...
นริศร ทองธิราช

วันนี้ (22 กันยายน) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีระหว่าง อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้อง นริศร ทองธิราช อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลย

 

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวาระที่สอง เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำเลยนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นบัตรจริงของจำเลยและของสมาชิกรัฐสภารายอื่นหลายใบ เสียบเข้าไปในเครื่องออกเสียงลงคะแนนและกดปุ่มเพื่อแสดงตนและลงมติ 

 

ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2556 จำเลยนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นบัตรจริงของจำเลยและของสมาชิกรัฐสภารายอื่นจำนวนหลายใบ เสียบเข้าไปในเครื่องออกเสียงลงคะแนนและกดปุ่มเพื่อแสดงตนและลงคะแนน 

 

ศาลเห็นว่าจำเลยเบิกความรับว่า บุคคลที่ปรากฏในคลิปวีดิทัศน์คือจำเลย อันเจือสมกับคำเบิกความของนางสาว ร. ศาลส่งคลิปวีดิทัศน์ไปตรวจพิสูจน์แล้วไม่พบร่องรอยการตัดต่อ ฟังได้ว่า จำเลยนำบัตรหลายใบเสียบเข้าไปในเครื่องลงคะแนนตามที่ปรากฏภาพในคลิปวีดิทัศน์ทั้ง 3 คลิปจริง

 

การที่จำเลยนำบัตรหลายใบใส่เข้าไปในเครื่องลงคะแนนตามที่ปรากฏในคลิปวีดิทัศน์ เป็นการลงคะแนนแทนสมาชิกรายอื่นหรือไม่ พยานโจทก์หลายปากเบิกความว่า บัตรในคลิปวีดิทัศน์เป็นบัตรจริง และมีจำนวนมากกว่า 1 ใบ เหตุที่ทราบว่าเป็นบัตรจริงเนื่องจากเป็นบัตรที่มีรูป การกระทำของจำเลยเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนอันส่งผลให้ปรากฏผลการลงคะแนนหลายครั้งสำหรับบัตรแต่ละใบได้ 

 

จึงฟังว่าจำเลยลงคะแนนแทนสมาชิกรายอื่น เมื่อไม่มีการออกบัตรใหม่แทนบัตรใบเดิม จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยจะมีบัตรจริงหลายใบดังที่อ้าง บัตรเดิมไม่สามารถลงคะแนนได้ จึงไม่มีประโยชน์ที่จำเลยจะต้องนำบัตรที่ถูกยกเลิกแล้วมาใช้ บัตรจริงและบัตรสำรองจะแสดงผลการลงคะแนนเพียงครั้งเดียว จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องใส่ทั้งบัตรจริงและบัตรสำรองลงในเครื่องอ่านบัตร ภาพตามคลิปวีดิทัศน์ปรากฏว่ามีสัญญาณไฟกะพริบทุกครั้งที่ใช้บัตรแต่ละใบ แสดงว่าเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนทั้งสิ้น พยานหลักฐานฟังได้ว่าจำเลยลงคะแนนแทนสมาชิกรายอื่นจริง

 

ปัญหาต่อไปคือการกระทำของจำเลยตามที่ปรากฏในคลิปวีดิทัศน์เป็นเหตุการณ์ตามฟ้องหรือไม่

 

ศาลเห็นว่าเสียงที่ปรากฏในคลิปวีดิทัศน์ตรงกับข้อความรายงานการประชุมรัฐสภา ซึ่งได้บันทึกถ้อยคำของผู้เข้าร่วมประชุมไว้แบบแทบทุกถ้อยคำ ย่อมนำมาเปรียบเทียบกับเสียงที่ปรากฏในคลิปวีดิทัศน์ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยตามที่ปรากฏในคลิปวีดิทัศน์เป็นเหตุการณ์ตามฟ้อง

 

แม้ต่อมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 แต่ก็หาได้มีผลเป็นการลบล้างว่าไม่มีการกระทำของจำเลยอันมิ

 

ชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้น หรือมีผลกลับกลายเป็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดที่จำเลยอ้างเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 130 (1)

 

ศาลเห็นว่าการใช้เอกสิทธิ์ดังกล่าวต้องชอบด้วยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ตลอดจนอยู่ภายใต้คำปฏิญาณตน เอกสิทธิ์ดังกล่าวจึงมิได้เป็นข้อยกเว้นความรับผิดทางอาญาให้จำเลยสามารถลงมติแทนสมาชิกรัฐสภารายอื่นได้ การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นการกระทำต่างวันเวลากัน ความผิดในแต่ละคราวอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากกันได้ จึงเป็นความผิด 2 กรรม

 

ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ

 

ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 2 กระทงเป็นจำคุก 16 เดือน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดใดๆ มาก่อนก็ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษแก่จำเลยได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X