วันนี้ (18 กุมภาพันธ์) ที่อาคารรัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลุกขึ้นชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของ ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เกี่ยวกับโครงการเมืองอุตสาหกรรมต้นแบบแห่งอนาคตจะนะ ในเขตพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ว่าตนขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ข้อมูลของประเสริฐพงษ์ มีเฉพาะฝ่ายตรงข้ามที่คัดค้าน และเป็นเพียงการตัดแปะเท่านั้น
กรณีการซื้อขายที่ดิน มีการร้องเรียนไปที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ซึ่งเดือนธันวาคม 2563 ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินเพื่อแจ้งยุติการตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว เพราะเป็นเรื่องการพิพาทเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินตามกฎหมายแพ่ง ดังนั้นการกล่าวหาตนว่าไปใช้อำนาจหน้าที่และเอื้อนายทุนนั้นเป็นกล่าวหาเป็นเท็จทั้งสิ้น เพราะเรื่องนี้เป็นเพียงการพิพาทในเรื่องสิทธิในที่ดินเท่านั้น โดยจะต้องไปพิสูจน์ว่าใครมีสิทธิในที่ดินดีกว่ากัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องไปฟ้องศาลตามกฎหมายแพ่ง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวตนเองทั้งสิ้น
นอกจากนี้ การออกเอกสารสิทธิที่ดินดังกล่าวก็ไม่ได้ออกทับที่ดินสาธารณะ จึงขอให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการออกโฉนดที่ดินเพื่อเอื้อประโยชน์นายทุน การซื้อขายที่ดินในพื้นที่ ถ้าเจ้าของที่ดินไม่เต็มใจแล้วจะขายได้อย่างไร ทั้งหมดเป็นการซื้อขายที่ดินตามปกติ ไม่ได้มีการแย่งที่ดินชาวบ้านใดๆ ทั้งสิ้น ที่มีการกล่าวหาตนเอื้อประโยชน์พวกพ้องตนเองนั้น ยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ คนเป็นนายก อบจ. จะไปย้ายเจ้าหน้าที่ที่ดินเพื่อให้เอื้อประโยชน์ได้อย่างไร การสำรวจที่ดินก็ไม่ได้ทำเฉพาะพื้นที่ 4 ตำบลในอำเภอจะนะเพื่อใช้สำหรับพัฒนาเฉพาะนิคมเมืองอุตสาหกรรมต้นแบบจะนะเท่านั้น แต่ดำเนินการสำรวจ เราทำรังวัดทุกอำเภอในสงขลา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามประกาศของที่ดินจังหวัดเมื่อปี 2561 แต่ตนเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีปี 2562
“ท่านกำลังจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ผมเป็น ส.ส. 8 สมัย 25 ปี ไม่เคยใช้เอกสารทำนองนี้มาอภิปรายในสภา ท่านเพิ่งเป็น ส.ส. สมัยแรก แต่ถ้าท่านไม่ได้เป็น ส.ส. พร้อมผมตั้งแต่ปี 2535 จะรู้ว่า ส.ส. เวลานั้น ทุกคนจะเสนอญัตติเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้านับจากปี 2547 มาถึงวันนี้ประเทศไทยเรามีคนตายเพราะความไม่สงบประมาณ 6,000 คน ใช้งบประมาณปีละ 2 หมื่นล้านบาท จนถึงปัจจุบันทุ่มงบแก้ไขปัญหานี้ไปมากกว่า 4 แสนล้านบาท ทุกคนอยากเห็นการแก้ไขในทุกด้าน บัดนี้ปัญหาความไม่สงบดีขึ้นมาก เดินทางได้อย่างสะดวก การศึกษาก็ได้รับการพัฒนาไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ผลิตคนได้ประมาณ 30,000 คนต่อปี เหลือแต่การแก้ไขปัญหาความยากจน” นิพนธ์กล่าว
นิพนธ์กล่าวด้วยว่า สภาแห่งนี้เคยออกกฎหมายศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) วางโครงสร้างการแก้ไขปัญหาใหม่ทั้งหมด และให้เลขาธิการ ศอ.บต. ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เวลานี้ ศอ.บต. ใช้อำนาจตามกฎหมายมาตรา 10 ว่าด้วยกรณีเพื่อประโยชน์การแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้อาจกำหนดให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษเพื่อวางกรอบแนวทางการแก้ไขปัญห สาเหตุที่คณะรัฐมนตรีกำหนดพัฒนาพื้นที่จังหวัชายแดนภาคใต้ เพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับการดำรงชีวิตของประชาชน โดยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบขยายโครงการเมืองต้นแบบไปที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเวลาที่ ครม. อนุมัตินั้น ตนยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แล้วแบบนี้ตนจะไปใช้อำนาจหน้าที่ได้อย่างไร ครม. ส่งเสริมให้เอกชนมาลงทุน เอกชนต้องรับความเสี่ยง ยอมรับว่าโครงการนี้คนไม่เห็นด้วยมาก และคนที่ไม่เห็นด้วยเหล่านั้นตนก็รู้จัก และเขาก็ไม่ได้คัดค้านโครงการนี้เป็นโครงการแรก เช่น โครงการก่อสร้างโรงแยกแก๊สที่ไทยจะพัฒนาร่วมกับมาเลเซีย เป็นต้น
“มาถึงตอนนี้คนคัดค้านโครงการที่อำเภอจะนะก็เริ่มน้อยลง แต่ผมก็เคารพความเห็นที่แตกต่าง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอำเภอจะนะมีความจำเป็น เพราะจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการเจริญเติบโตต่ำมากแค่ 1.5 % ส่งผลให้แรงงานไทยต้องออกไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย บริษัทเอกชนไปลงทุนที่ดินก็เพื่อนำไปพัฒนา เขาจะไปซื้อที่ดินกับใครก็เป็นการตกลงกันเอง บางคนค้าขายกับบริษัททีพีไอมานาน ก็ย่อมต้องรู้จักกัน ซึ่งผมไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ ใครจะรู้จักใครก็ไปว่ากันเอาเอง ค่านายหน้าก็ว่ากันเองของเอกชน เอกชนไปรับความเสี่ยงเอาเอง ผมไม่ยุ่งเรื่องการซื้อขายที่ดิน เพียงแต่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาอำเภอจะนะเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาคใต้ เอกชนถือครองที่ดินในอำเภอจะนะแค่ 14% เท่านั้น ไม่ได้อยู่ในมือนายทุนแต่อย่างใด จึงขอยืนยันว่าผมไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ไปเอื้อประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น” นิพนธ์กล่าว
นอกจากนี้ นิพนธ์ยังได้ชี้แจงข้อกล่าวหา กรณีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น โดยระบุว่า สำหรับกรณีที่มีการกล่าวหาตนเองเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) สงขลา ในเรื่องการอุดหนุนงบประมาณให้สมาคมกีฬา เป็นประเด็นที่มีการโต้เถียง จนกระทั่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหนังสือมายังจังหวัดสงขลาเมื่อเดือนมกราคม 2564 โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นการกระทำทุจริตแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้ ป.ป.ช. ชี้แล้วว่าไม่มีการทุจริต เงินนี้อุดหนุนเพื่อพัฒนากีฬาของสงขลาเพื่อนำไปสู่การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ทั้งสนามแข่งขันและการเตรียมตัวนักกีฬา และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ให้ความเห็นว่าท้องถิ่นสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้
เช่นเดียวกับกรณีไม่จ่ายเงินรถซ่อมบำรุง ตนยืนยันว่ามีเจตนาเดียว คือ การรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศ โดยเมื่อครั้งรับตำแหน่งนายก อบจ. ปรากฏว่าก่อนนั้น ผู้บริหารชุดก่อนได้มีการซื้อรถซ่อมบำรุงพิเศษ โดยต่อมาผู้บริหารขณะนั้นได้ขยายเวลาให้กับผู้มาซื้อเอกสารเพื่อเสนอราคา ทั้งๆ ที่ต้องยกเลิกการให้ซื้อเอกสารดังกล่าว จากนั้นเมื่อขยายเวลาแล้วมีผู้มาซื้อซองหนึ่งราย คือ บริษัท เอส พีเค ออโต้เทค จำกัด โดยมีข้อสังเกตว่ามีการปลอมลายมือชื่อผู้ดำเนินการ เพื่อเข้าไปยื่นเอกสารประกวดราคา จนเป็นที่มาของการแจ้งความเพื่อกล่าวหาเรื่องการใช้เอกสารเท็จ การจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์นั้น ตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เมื่อตนได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง ก็มีบุคคลเข้ามาร้องเรียนขอให้ระมัดระวังเรื่องการตรวจรับรถซ่อมดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแบบเดียวกับการจัดซื้อรถดับเพลิง ต่อมาเมื่อมีการตรวจสอบระบบรถและพบว่าไม่มีปัญหา ก็ต้องนำรถไปขึ้นทะเบียนก่อน ถึงจะดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้ขาย ทว่ามีหนังสือจากจังหวัดสงขลาโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัด ระบุว่า มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดซื้อจ้าง จึงต้องสอบสวนและนำมาสู่การชะลอการจ่ายเงิน เพราะหากมีการจ่ายเงินไปโดยที่มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงินไปก็อาจมีความผิดตามกฎหมาย คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ทำให้ยังไม่มีการจ่ายเงิน
“ผมคิดว่าถ้าให้เวลาผมมากกว่านี้ก็อภิปรายได้ แต่พูดเดี๋ยวไปก็จะมีคนประท้วง ผมมีหลักฐานว่ามีขบวนการทำเชื่อมโยงกัน และเสนอไปยังอัยการเพื่อขอความเป็นธรรมแล้ว ผมทำไปเพื่อปกป้องประโยชน์ของแผ่นดิน ท่านอย่ามากล่าวหาผมลอยๆ อย่างนั้น ขอบคุณที่ทำให้ผมมีโอกาสชี้แจงในวันนี้” นิพนธ์กล่าวในที่สุด
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล