×

สื่อญี่ปุ่นเผยแพร่บทความ ศ.ดร.ฐิตินันท์ ชี้ชนชั้นนำไทยควรพยายาม ‘ประนีประนอม’ ในขณะที่ยังทำได้

04.06.2023
  • LOADING...

เว็บไซต์ Nikkei Asia เผยแพร่บทความแสดงความคิดเห็นโดย ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพาดหัวว่า ‘ชนชั้นนำของไทยควรพยายาม ‘ประนีประนอม’ ในขณะที่ยังทำได้’

 

เนื้อหาบทความบรรยายถึงสถานการณ์การเมืองของไทยภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ว่าแม้ผลเลือกตั้งที่ออกมาจะมีความชัดเจน แต่สถานการณ์ยังคงดูมืดมนและไม่มั่นคง เนื่องจากฝ่ายอนุรักษนิยมยังพยายามขัดขวางพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจากการเข้าทำหน้าที่รัฐบาลชุดใหม่ 

 

ขณะที่ ศ.ดร.ฐิตินันท์ ยังชี้ถึงสัดส่วน ส.ส. ของพรรคก้าวไกลที่ได้ 151 ที่นั่ง และเพื่อไทยที่ได้ ส.ส. 141 ที่นั่ง ว่ามีจำนวนคิดเป็น 58% ของสัดส่วน ส.ส. ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการ ‘ปฏิเสธซึ่งหน้า’ ต่อยุคเผด็จการทหารที่ครอบงำการเมืองไทยผ่านการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ตลอดจนรัฐธรรมนูญที่ผลักดันโดยกองทัพในปี 2550 และ 2560 ซึ่งพยายามทำให้ระบบการเลือกตั้งเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายอนุรักษนิยม

 

นอกจากนี้ บทความยังฉายให้เห็นภาพความสำเร็จที่เกินจริงของพรรคก้าวไกล ซึ่งสามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้โดยปราศจากการทุ่มเงิน และใช้ความพยายามในการเดินสายไปทั่วประเทศเพื่อส่งข้อความการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงแก่ประชาชน ในขณะที่พรรคการเมืองดั้งเดิมของไทยยังคงจ่ายเงินให้หัวคะแนนเพื่อระดมผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยเงินสดและเครือข่ายอุปถัมภ์

 

ชัยชนะของพรรคก้าวไกลส่วนใหญ่มาจากวาระการปฏิรูป ซึ่งรวมถึงการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อให้ยุติธรรมและโปร่งใสมากขึ้น

 

ขณะที่การต่อสู้เพื่อชนะหัวใจและความคิดของคนไทยไม่ได้เกี่ยวกับนโยบายประชานิยมและการจัดการกับความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย-คนจน คนในเมือง-ชนบท ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก่อนหน้าได้ใช้ประโยชน์มาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544 

 

โดยสมรภูมิใหม่และกระบวนทัศน์ใหม่ของการเมืองไทยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างกองทัพและสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนปฏิรูประบบอำมาตยาธิปไตยและตุลาการ

 

สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้น บทความชี้ว่าสาเหตุที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 2 รองจากก้าวไกล เป็นเพราะการขับเคลื่อนพรรคในฐานะพรรคประชานิยมของตระกูลชินวัตร ซึ่งมีความตั้งใจที่จะนำอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร กลับจากการลี้ภัยในดูไบ

 

สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลผสมภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล โดยมีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ยังอยู่ระหว่างการรอ ซึ่งบทความยังชี้ถึงอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะกรณีของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในยุครัฐบาลทหาร ที่ยังคงยืนหยัดขัดขวางการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพิธา ที่ต้องใช้เสียงข้างมากจากทั้งสองสภาจำนวน 376 เสียงในการโหวตรับรองเขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

 

ขณะที่รัฐธรรมนูญยังให้เวลา กกต. ถึง 60 วันในการรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานเกินความจำเป็นในการชะลอโมเมนตัม และทำลายประกาศิตของพรรคใดๆ ก็ตามที่ได้รับการสนับสนุนอย่างถล่มทลายจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

 

และเมื่อสรุปผลเลือกตั้งแล้วจะมีกระบวนการ 1 เดือนเพื่อเตรียมการประชุมสภาและเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ ก่อนที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในที่สุด โดยรัฐบาลชุดใหม่จะเข้ารับตำแหน่งไม่เกินกลางเดือนสิงหาคม ในขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังคงทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไปในระหว่างนี้

 

ศ.ดร.ฐิตินันท์ ชี้ว่าความล่าช้าในกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลถึง 3 เดือนนั้นเป็นไปโดยเจตนา เพื่อช่วยให้กลุ่มศูนย์กลางอำนาจที่จัดตั้งขึ้นมีโอกาสที่จะกำหนดผลลัพธ์ของการเลือกตั้งให้เป็นผลลัพธ์ที่เอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์ของพวกเขา

 

ขณะที่พรรคก้าวไกลยังเผชิญความท้าทาย ทั้งรอยร้าวกับพรรคเพื่อไทยที่เริ่มปรากฏ และปมถือครองหุ้นสื่อที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบโดย กกต. ซึ่ง ศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวว่า “กลุ่มผู้มีอำนาจกำลังพยายามขัดขวางวาระอันครอบคลุมของพรรคก้าวไกล ในการคลายปมลำดับชั้นทางสังคมและการเมืองของไทยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง และก้าวไปสู่ความเสมอภาคที่มากขึ้น ตลอดจนปฏิรูปศูนย์กลางอำนาจแบบดั้งเดิม เพื่อปลดปล่อยพลังและความสามารถทางเศรษฐกิจที่แข่งขันได้ ซึ่งถูกฉุดรั้งมาเป็นเวลานาน โดยกองทัพและสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นอยู่ด้านหน้าและเป็นศูนย์กลางของการถกเถียงและการดำเนินการที่จะเกิดขึ้น”

 

อย่างไรก็ตาม บทความเน้นย้ำว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพิธา และพรรคก้าวไกล แต่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยระเบียบทางการเมืองที่มีอยู่ ซึ่งย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ผ่านมา จะตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบและกดดันที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลง

 

“ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดคือการประนีประนอมและยอมผ่อนปรน ปล่อยให้กองทัพ สถาบันกษัตริย์ และสถาบันดั้งเดิมอื่นๆ เจรจาต่อรองเพื่อรักษาสิทธิพิเศษบางส่วนแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ด้วยสัญญาณที่ชัดเจนนี้ หากระเบียบทางการเมืองแบบเก่ายังคงเล่นเกมเก็บรักษาอำนาจไว้เช่นในอดีต ครั้งนี้พวกเขาอาจเสี่ยงที่จะสูญเสียทุกอย่าง เนื่องจากพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งจากเบื้องล่างและจากคนรุ่นต่างๆ จะยังคงเดินหน้าต่อไป”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X